รายงาน: เปิดคำฟ้อง-บรรยากาศวันพิพากษา ‘โจ กอร์ดอน’
กรณีการตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนของโจ กอร์ดอน เป็นที่กล่าวขานอีกครั้งหลังกระแส “อากง” เกินขึ้นไม่นาน โดยวานนี้ (8 ธ.ค.) มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมาเฝ้าทำข่าวและถ่ายรูปโจระหว่างเดินลง จากรถควบคุมผู้ต้องขังไปยังห้องขังรวมใต้ถุนศาลอาญา โดยโจ ในชุดนักโทษและใส่ตรวนที่ขาได้กล่าวทักทายกองทัพผู้สื่อข่าวสั้นๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Thank you for coming”
บรรยายกาศภายในห้องพิจารณาคดี 812 มีผู้คนล้นจนไม่มีที่นั่ง ทั้งผู้สนใจติดตามคดี เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา นักข่าวฯ สำหรับคนในครอบครัวของเขา ไม่มีใครเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้
เมื่อผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ หนึ่งในนั้นได้สอบถามโจเกี่ยวกับคำให้การต่อพนักงานที่ทำการสืบเสาะ พฤติการณ์ตามคำสั่งศาลไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเขาให้การไว้ว่า 1.ไม่เคยสนใจการเมืองไทยมาก่อน 2.ไม่เคยรู้จักกับใครทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง 3.ไม่ใช่นายสิน แซ่จิ้ว [เจ้าของบล็อกที่ถูกฟ้อง] และ 4.ไม่เคยโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาอธิบายว่า การให้การเช่นนี้ขัดกับการรับสารภาพของเขา ทำให้ทนายความส่วนตัวรีบออกมาแจ้งต่อศาลว่า คำให้การนี้หมายถึงในกรณีอื่น นอกเหนือจากกรณีที่ถูกฟ้องนี้ จากนั้นโจจึงได้ยืนยันต่อศาลว่า เป็นดังที่ทนายความชี้แจง
เมื่อเป็นที่เข้าใจตรงกัน ผู้พิพากษาจึงอ่านคำตัดสินระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 , มาตรา 116 (2),(3) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3),(5) ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
สภาพลักลั่นในช่วงแรกเกิดขึ้นนี้ อาจเป็นดังที่โจ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศนับสิบคนที่ (นั่งยองๆ) ล้อมวงสัมภาษณ์เขากันสดๆ ทันทีหลังฟังคำพิพากษา ว่า เขาไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการยุติธรรมเท่าไรนัก และในการมาฟังคำพิพากษาในวันนี้เขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษกับประเทศ นี้ (เหตุการณ์ล้อมวงสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บน บัลลังก์ระหว่างรอเจ้าหน้าที่พิมพ์รายงาน ซึ่งผู้พิพากษาก็ไม่ได้ว่ากล่าวแต่อย่างใด)
“มันทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ช่วงหนึ่งที่เขาตอบคำถามนักข่าว
ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณาคดี นักข่าวพากันรุมซักถาม อานนท์ นำภา ทนายความ โดยมีนักข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศบางคนถามว่าข้อความที่หมิ่นคืออะไร ซึ่งทำให้นักข่าวอาวุโสพากันหัวเราะและแซวทนายความ ว่าหากทนายตอบคำถามนี้ อาจต้องเป็นจำเลยเสียเอง อย่างไรก็ตาม อานนท์ ระบุว่าข้อความในบล็อกนั้นเป็นข้อความทางวิชาการ และแปลเนื้อหาในหนังสือ The King Never Smiles บางบท
หากใครเคยเข้าไปอ่านบล็อกดังกล่าวก่อนจะถูกทางการปิดกั้นก็จะเห็นว่า มีการเขียนบรรยายว่า เป็นไปเพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์ในอีกด้านหนึ่งของประเทศไทย พร้อมทั้งกำชับให้ผู้อ่านให้อ่านเชิงอรรถเพื่อพิจารณาว่าข้อสรุปของผู้เขียน Paul M. Handley เชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด
นอกจากนี้ทนายความยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีนี้นับว่าได้รับโทษน้อยที่สุดเพียง 2 ปีครึ่งจากโทษเต็ม 5 ปี เพราะโดยปกติคดีหมิ่นที่ผ่านๆ มามีฐานของโทษต่อหนึ่งกรรมอยู่ที่ 6 ปี และ 10 ปี
ขณะที่นางอลิซาเบธ แพรตต์ กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาที่มาร่วมฟังคำพิพากษาตอบคำถามผู้สื่อข่าวในเรื่องโทษ ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรมันก็ยังเป็นโทษที่หนักมากสำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็น
No comments:
Post a Comment