2013-05-08

พลเมืองไทย ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะต้องภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองของตนเอง

คุณนายสมิท พิมพา พลเมืองไทย ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะต้องภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองของตนเอง พลเมืองคือผู้มีศักดิ์ศรี คือผู้ที่เท่าเทียมหรือค่อนข้างเท่าเทียมกับผู้อื่น พลเมืองคือผู้ที่ไม่ปรารถนาที่จะไปครองงำใคร แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมาครอบงำหรืออุปถัมภ์ค้ำจุนตนเอง พลเมืองไม่ใช่ไพร่ และพลเมืองไม่ใช่ราษฎร ไพร่คือผู้ที่ยอมรับสถานภาพสูง ต่ำ บงการ รับใช้ อุปถัมภ์ ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ไพร่คือผู้ที่เห็นตัวเองเป็นผู้น้อย ผู้อยู่ใต้การอุปถัมภ์และมุ่งเสาะแสวงหาผู้อุปถัมภ์ ส่วนราษฎรคือ ผู้ที่ยอมรับอำนาจและกฎหมายของผู้ปกครอง แต่ไม่สนใจปกครองตนเอง หรือการมีส่วนร่วมในทางการเมือง การปกครอง คนไทยไม่ค่อยจะรู้จักความแตกต่างของคำว่า ประชาชน ราษฎร ไพร่ และพลเมือง ระบบการศึกษาของไทยก็ไม่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง และไม่ภาคภูมิยินดีกับการที่ประชาชนพ้นจากความเป็นไพร่มาเป็นพลเมือง แท้ที่จริงแล้วคนไทยไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า การที่คนไทยอยู่กันอย่างไพร่นั้นหมายถึงอยู่อย่างไร? คนไทยที่ต้องการพึ่งพาตนเอง หยิ่งทระนงในศักดิ์ศรี ต้องการให้คนอื่นปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ค่อยจะมีให้เห็นมากนัก ตรงกันข้ามกับคนไทยที่ชอบให้คนมาอุปถัมภ์ ชอบมีผู้ใหญ่ไว้พึงพิง คนไทยไม่ลำบากใจหรือละอายใจที่จะอยู่ใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของผู้อื่น คำว่าประชาชน ราษฎร และพลเมือง คนไทยใช้จนแทบจะแทนกันเลยที่เดียว ประหนึ่งว่าสามคำนี้เป็นคำเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ประชาชน” มีใช้มาทุกยุคสมัย หมายถึงคนที่ไม่ใช่ผู้ปกครองในสมัยโบราณประชาชรเป็นไพร่หรือเป็นทาสเกือบทั้งหมด หมายถึงมีสถานะต่ำ เป็นลูกน้อง เป็นข้าช่วงใช้ของขุนนาง และผู้ปกครอง การเมืองสมัยใหม่ได้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นไพร่หรือทาสให้กลายเป็นเสรีชน ที่มีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน รวมเรียกอดีตไพร่ อดีตทาส ขุนนางและผู้ปกครอง รวมทั้งชนชั้นต่างๆว่า “ราษฎร” คือผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การเปลี่ยนราษฎร ให้เป็นพลเมือง โดยความหมายของพลเมืองนั้น คือราษฎรที่นอกจากจะเสียภาษีและปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมีบทบาทและอำนาจบทบาททางการเมือง คืออย่างน้อยมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่างๆต่อทางการเมือง ทั้งยังมีสิทธิเข้าร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่วนรวมร่วมกับรัฐด้วย ราษฎรนั้นเป็นฝ่ายรับกฎหมาย นโยบาย กิจการ หรือกิจกรรมของรัฐ พลเมืองนั้นอาจเป็นฝ่ายรุกเพื่อเรียกร้องกฎหมาย นโยบาย และกิจกรรมของรัฐตามที่ตนเองเห็นพ้อง ราษฎรที่ดีนั้นเป็นฝ่ายรับและว่านอนสอนง่าย ส่วนพลเมืองที่ดีนั้นต้องเป็นฝ่ายรุกได้ และต้องไม่เฉื่อยชา อยากเข้าช่วยทำและสามารถเข้าทำการต่างๆแทนรัฐได้พอควร ราษฎรนั้นจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้น้อย ส่วนพลเมืองจะคิดว่าตนมีสิทธิมีเสียงมีส่วนร่วมในบ้านเมือง เป็นที่น่าเสียดายว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยของไทยนั้น ไม่ได้เปลี่ยนให้ราษฎรเป็นพลเมืองสักเท่าไร อันที่จริงเราเองก็ไม่ได้ตระหนักกันด้วยว่า การเป็นพลเมืองนั้นต่างกับราษฎรตรงไหน ประชาชนไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติตนเยี่ยงราษฎร ยิ่งประชาชนชั้นล่างโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ยากจน ยิ่งมองตนเองเป็นผู้น้อยที่ต้องคอยรับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่ พูดอีกนัยคือพวกเขาคิดและปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ทั้งหลาย ดุจที่ครั้งหนึ่งที่ไพร่ปฏิบัติต่อมูลนาย และที่กล่าวมานี้ คือสิ่งคนไทยยังด้อยและไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นสิทธิ โอกาสของตนเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ประชาชนเห็นว่าตนเป็นพลเมือง ทำให้เขาเห็นคุณค่าของการเท่าเทียม ตื่นตัวทางด้านการเมือง ปรารถนามีส่วนร่วมทางการเมือง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ก้าวพ้นจากประโยชน์ส่วนตน เนื่องจากทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเหลื่อมล้ำทางฐานะ ความสามารถ ชาติกำเนิด และสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ คนจนมีอำนาจมากกว่าคนรวย เนื่องจากคนจนมีจำนวนมากกว่า และการถือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น นี่จะเป็นเครื่องหมายของเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไว้แล้ว หนึ่ง คือ ความเป็นอิสระของตนที่จะดำเนินชีวิตตามใจของตน ซึ่งถือเป็นกระบวนการของเสรีภาพ และไม่ดำเนินชีวิตอย่างคนที่ตกเป็นทาส นี่เป็นหลักการข้อที่สองของประชาธิปไตย

No comments: