30 กันยายน 2554 ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญารัชดาผมบอกตัวเองว่าถ้านานๆ ได้ร้องไห้กับเรื่องราวของคนอื่นบ้างอาจทำให้ชีวิตตัวเองชุ่มชื้นมากขึ้น เวลาดูหนังซึ้งๆ เราก็ร้องไห้ได้ ดังนั้น หากเป็นเรื่องจริงที่หนักหนากว่าในหนังมากปรากฏอยู่ตรงหน้า การเสียน้ำตาบ้างคงไม่ตุ๊ดเกินไป
ผมติดตามคดี “อากง SMS” มาสักระยะในฐานะที่เป็นคดีมาตรา 112 ที่ดราม่าที่สุดคดีหนึ่ง ซึ่งผมมักจะใช้เล่ายกตัวอย่างให้กับคนที่ไม่เข้าใจปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ได้ฟัง
คนที่เราเรียกว่า “อากง” หรือ นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ถูกจับเมื่อกลางปี 2553 หลังเหตุการณ์การชุมนุมของเสื้อแดงได้ไม่นาน เป็นคดีผลงานคดีเดียวที่ตำรวจไล่จับตามที่อ้างว่าพวกเสื้อแดงมีขบวนการหมิ่นฯ ล้มล้างสถาบันฯ และออกแถลงข่าวใหญ่โต ข้อหาคือการส่งSMS เข้ามือถือเลขาฯนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความผิดกฎหมาย 4 ข้อความ ซึ่งแอบดูมาเห็นว่าหนักทีเดียว เป็นข้อความที่แรงและหยาบคายที่สุดสำหรับการฟ้องร้องคดีหมิ่นฯ ทั้งในยุคนี้และยุคก่อน
คดีนี้มีชื่อเสียง นอกจากจะเพราะตำรวจแถลงข่าวใหญ่โตแล้ว ยังมีเรื่องราวเป็นนัยน่าสนใจมากมายเพราะอากงเป็นคนแก่ที่ไม่ได้ถนัดเทคโนโลยี แกบอกว่าแกไม่เคยส่ง SMS แกส่งไม่เป็น อากงไม่ได้ประกันตัว แกมีโรคประจำตัวและแกก็เครียดจนไม่สบายหนักในช่วงที่โดนจับใหม่ๆ งานของผมบังคับให้ผมต้องติดตามคดีนี้ ทั้งที่หากผมประกอบอาชีพอื่นและนอนดูทีวีอยู่บ้านผมก็อาจจะนึกสาปแช่งอากงไปแล้ว ไม่ต่างจากที่หลายๆ คนอาจเคยทำ
ผมไม่เคยรู้จักอากงมาก่อน รู้ตามสื่อว่าแกเคยไปชุมนุมกับเสื้อแดง และเสื้อเหลืองแกก็ไปร่วมกับเขาเหมือนกัน ผมเคยเข้าเยี่ยมอากงในคุก 1 ครั้ง ไปกับคนอื่นแบบไม่ได้ตั้งใจ คุยกับอากงไม่กี่คำก็สามารถเชื่อเหมือนที่หลายๆ คนเชื่อได้ ผมเห็นอากงซึ่งเป็นคนแก่ อายุ 61 ปี แม้จะไล่ๆ กับแม่ผม แต่แกดูแก่มาก เดินช้า หลังค่อม ผมขาว สายตาฝ้าฟาง พูดจาสุภาพกับทุกคน พูดภาษาไทยไม่ชัดติดสำเนียงจีน แกเหมือนชาวบ้านที่ใส่ซื่อ ยากจนและหวาดกลัว แกยิ้มแย้มอย่างมีกำลังใจเสมอเมื่อพบคนที่มาเยี่ยม แต่ข่าวทุกสายบอกว่าอากงไม่สบายและก็แอบนอนร้องไห้บ่อยๆ ในห้องกรง
อากงไม่รู้เรื่องอะไรเลย แกบอกว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งข้อความ ไม่รู้ว่าทำไมตำรวจมีหลักฐานทางคอมพิวเตอร์โยงมายังมือถือของแกได้ ไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ที่ส่งถึง ไม่รู้ๆๆๆๆ รู้แต่ว่าไม่ได้ทำ ทีมทนายความก็ไม่รู้จะตั้งประเด็นในการต่อสู้คดีอย่างไร ที่จริงทีมทนายไม่รู้ด้วยว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร อัยการก็ไม่รู้ ตำรวจที่มาเบิกความก็ไม่รู้ ศาลก็ไม่รู้ ผมเองก็ไม่รู้ ... แต่เรารู้ว่าต่อให้แกทำจริง ก็เป็นการเกินไปที่คนอย่างแกต้องเผชิญหน้ากับโทษจำคุกสูงสุดหกสิบปีเพียงลำพัง
หลังอัยการส่งฟ้อง ศาลอ่านข้อความที่ถูกฟ้องแล้วคงรู้สึกไม่ต่างจากคนไทยหลายต่อหลายคนจึงสั่งไม่ให้ประกันตัว อากงนอนอยู่ในห้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมแล้วเกือบหนึ่งปี ก่อนจะได้รับการพิจารณาความถูกผิด และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน 2554 สายตาจำนวนมากก็จดจ้องมาที่บัลลังก์พิจารณาคดีของศาลอาญา
ตามบันทึกการประชุม ในฐานะสมาชิกเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนผมอยู่ในคดีนี้ด้วย แต่ไม่ได้รับผิดชอบเต็มๆ ผมเพิ่งได้เข้าร่วมประชุมกับทีมทนายความในช่วงใกล้ๆ วันสืบพยานทำให้เห็นว่างานนี้ไม่ง่าย หลายคนอาจรู้สึกว่าคดีนี้ไร้สาระทีเดียว เพราะไม่มีทางมีใครเห็นอากงหยิบโทรศัพท์มากดส่ง SMS ไปเบอร์นั้นเบอร์นี้ แต่เมื่อตำรวจนำส่งหลักฐานเป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์จากผู้ให้บริการ ขณะที่อากงก็ไม่รู้อย่างเดียว ไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้เพื่อต่อสู้ ไม่มีนิทานชักใยถึงตัวผู้กระทำผิดจริงมาบอกศาล คดีนี้จึงหินโคตรๆ
ทนายความอายุน้อยทั้งสามคนที่มีแต่ใจไม่มีความรู้อะไรพยายามเปิดประเด็นต่อสู้เรื่องหลักฐานทางเทคโนโลยีในวันแรกๆ แต่ก็โดนตอกกลับจากพยานฝั่งโจทก์ซึ่งเป็นคนจากDTAC True และตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เตรียมกันมาอย่างดี ประกอบกับเมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ยินว่าเป็นคดีหมิ่นฯ ก็ไม่มีใครกล้ามาเบิกความเป็นพยานเข้าข้างจำเลย พยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดที่ฝั่งจำเลยมีอยู่ คือ ตัวอากงเอง บุคลิกสุภาพ ยิ้มแย้มกับความใสซื่อของคนแก่ที่สุขภาพไม่แข็งแรงอาจเป็นสิ่งเดียวที่ยืนยันได้ว่า แกทำความผิดที่ร้ายแรงขนาดนี้หรือไม่
30 กันยายน 2554 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญารัชดา เวลา 9.00 น. เป็นวันที่อากงจะขึ้นเบิกความต่อศาลเอง หลังจากที่พยานหลักฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการสืบสวนที่อากงฟังไม่เข้าใจได้ถูกนำสืบไปหมดแล้ว
ผมรู้ว่าผมเป็นคนอินกับอะไรค่อนข้างง่าย และก็ชอบ dramaticise ข้อเท็จจริงให้ emotional มากขึ้น แต่เรื่องราวของคดีนี้มันดราม่ามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และก็ดราม่าในวันสืบพยานทุกวันที่อากงแกจะนั่งมองศาลอย่างเหม่อลอย และร้องไห้กอดกับหลานๆ ก่อนถูกนำตัวกลับเรือนจำ
วันนี้ กองเชียร์เข้ามาเต็มห้อง ส่วนหนึ่งเป็นนักกฎหมายสิทธิเพื่อนๆ ทีมทนาย ส่วนหนึ่งเป็นนักข่าว ส่วนหนึ่งเป็นคนเสื้อแดงที่ไม่ได้รู้จักอะไรกับอากงมาก่อน ป๊าอุ๊ ภรรยาสุดรักที่อากงเรียกว่า “แฟนผม” และหลานๆ 4-5 คนที่อากงเลี้ยงมาเองกับมือ
อากงเริ่มเรื่องให้มันดราม่าตอนที่สาบานตัว และแกมองไม่เห็นแผ่นคำสาบานจึงต้องให้ทนายอ่านให้ เมื่อศาลถามชื่อ ที่อยู่ และถามอาชีพ แกก็ตอบเต็มปากเต็มคำ “เลี้ยงหลานครับ” สร้างเสียงฮาปนสะเทือนใจให้กับกองเชียร์ ก่อนแกอธิบายว่าเคยขับรถขนส่งแต่สุขภาพไม่ดีเลิกทำงานมาสิบกว่าปีแล้ว จึงมีหน้าที่เลี้ยงหลาน ไปส่ง ไปรับ ไปโรงเรียน
อากงตอบคำถามอย่างฉะฉาน ด้วยสำเนียงไทยปนจีน เล่าถึงชีวิตประจำวันแก ประวัติการใช้มือถือ เมื่อถามว่าบ้านที่แกอยู่เป็นยังไง คือ ทนายตั้งใจจะให้บอกว่าอยู่กันหลายคน แกก็มองรอบๆ ทำหน้างงๆ แล้วตอบว่า “ประมาณครึ่งนึงของห้องนี้” (ห้องพิจารณาคดี 801) พร้อมทำมือประกอบ
ทนายความถามแกไปตามสูตรที่เตรียมมา ถามว่ากรณีที่ถูกฟ้องนี้แกทำจริงหรือเปล่า
“ผมไม่ได้ทำครับ” อากงเงยหน้ามองศาล พูดอย่างฉะฉาน
ทนายความถามว่าเบอร์โทรศัพท์ของเลขาฯนายกนี้อากงรู้ไหมว่าเป็นเบอร์ของใคร
“ผมไม่รู้ครับ” อากงตอบฉะฉานเช่นเดิม
แล้วทนายก็มีคำถามที่เราไม่ได้เตรียมร่วมกันมาก่อน โดยเอาข้อความที่ถูกฟ้อง ซึ่งเป็นถ้อยคำหยาบคายมาเปิดให้แกดู ทนายพูนสุข ถามอากงว่า “พยานเห็นข้อความนี้แล้วรู้สึกอย่างไร”
อากงตอบไม่ฉะฉานแล้ว เสียงแกสั่นเครือ “ผมเสียใจมากครับ ... ก็เค้าด่าในหลวง” มองจากข้างหลังเห็นคอแกแดงก่ำ แกร้องไห้ นาทีนั้นทั้งห้องเงียบกริบ
ทนายบอกว่า ใจเย็นๆ ค่ะ แล้วพยานมีความรู้สึกอย่างไรต่อในหลวงคะ?
“ผมรักในหลวงครับ” อากงยังร้องไห้อยู่ ตอบเต็มปากเต็มคำอย่างช้าๆ
หลังจากนั้นอากงยังเล่าให้ศาลฟังว่า ตอนในหลวงป่วยก็ไปเยี่ยมที่ศิริราช เคยไปลงนามถวายพระพร ไปร่วมงานเฉลิม และ “งานที่วางดอกไม้จันทร์ ผมก็ไป” อากงเสียใจมากที่ถูกฟ้องคดีนี้เพราะอากงรักในหลวง ตลอดการกล่าวถึงประวัติของแกกับสถาบันฯ คนแก่อายุ 61 ยังคงร้องไห้ต่อหน้าบัลลังก์ศาลและต่อหน้าทุกคน ถ้าอากงกำลังโกหก นักแสดงฮอลลีวู้ดรางวัลออสการ์คงต้องกลับมาให้อากงสอนใหม่
ผมเห็นสีหน้าของศาลอ่อนโยนลงบ้าง ศาลผู้หญิงยกมือขึ้นปิดปาก อัยการรุ่นใหม่ 3 คนที่ก่อนหน้านี้ยังทำเสียงดุขู่ทนายจำเลยนั่งซุบซิบกันด้วยแววตาที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ช่วงระยะเวลาหนึ่งผมเริ่มบกพร่องในหน้าที่ ตาผมเริ่มฝ้าฟาง สมาธิหลุดและไม่ค่อยได้ฟังการสืบพยาน
“กลั้นเองๆ อย่าเอาทิชชู่เช็ด” พี่หน่อย พรเพ็ญ ที่นั่งติดกันกระซิบบอกผม ขณะที่แกก็นั่งก้มหน้าอยู่เหมือนกัน น้องข้างหลังสะกิดขอทิชชู่ผมสักแผ่นแต่ผมไม่ได้ยิน เพราะผมไม่กล้าหันไปมองกองเชียร์ที่อ่อนไหวข้างหลังนั่น ทนายความหันมายิ้ม ให้กับหมู่กองเชียร์ สักพักน้องอีกคนวิ่งหนีออกไปจัดการความรู้สึกนอกห้องพิจารณา ก้อนความรู้สึกที่พุ่งเข้ามาปะทะกับความเป็นมนุษย์ของคนกว่า 30 ชีวิตในนาทีนั้นคงไม่ต่างกัน
อากงเบิกความจบอย่างรวดเร็วมาก เพราะไม่ได้มีประเด็นข้อต่อสู้อะไรนอกจาก “ผมไม่ได้ทำครับ”
และ “ผมไม่รู้ครับ” อากงลุกขึ้นยกมือไหว้ศาลทั้งสามคนที่อายุรวมกันแล้วคงไม่มากกว่าอายุของแกนัก บอกว่า “ขอบคุณมากครับ” แกยังเชื่อมั่นของแกเสมอ หลานๆ วิ่งเข้าไปคุกเข่ากอดอากง (ในห้องพิจารณาคดีถ่ายรูปไม่ได้) ศาลนัดฟังคำพิพากษา 23 พฤศจิกายนนี้
ก่อนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะพาอากงขึ้นรถกลับไปยังเรือนจำ อากงเดินเข้าไปไหว้ลาอัยการอายุรุ่นราวคราวลูก บอกว่า “ขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ” อากงยกมือไหว้กองเชียร์ที่ไม่เคยรู้จักกัน ไหว้ผมด้วย ป๊าอุ๊ก็ไหว้ผม ก่อนอากงจะเดินอย่างเชื่องช้าไปไหว้ทนายทั้งสามคนที่อายุรวมกันแล้วคงไม่มากกว่าอายุของแกนักเช่นกัน
หลานๆ เดินไปส่งแกถึงประตูทางลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ผมแอบถ่ายรูปไว้ เพื่อให้ดราม่าเพิ่มขึ้น
ปริศนาของคดีนี้ยังไม่มีใครรู้ความจริง ใครเป็นคนส่งข้อความ? ส่งทำไม? และทำไมหลักฐานถึงโยงมาว่าเป็นอากง? ทนายความได้ใช้ความเป็นมนุษย์เข้าต่อสู้กับหลักฐานทางคอมพิวเตอร์อย่างดีที่สุดแล้ว มีคนคนเดียวที่รู้คำตอบนี้นั่นคือ ตัวอากงเอง และวันนี้อากงได้ใช้โอกาสเดียวที่มีบอกความจริงกับโลกแล้ว
ที่มา:http://blogazine.in.th/users/groomgrim นายกรุ้มกริ่ม
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
จาก 1 ปี การเสียชีวิต ของอากง ทำให้ภรรยาคู่ชีวิต
ได้เรียนรู้ประสบการณ์ เรียกร้องความเป็นธรรมและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับครอบครัวผู้ต้องขัง
มาตรา 112 โดยเธอพยายามเรียกร้องสิทธิการรักษาพยาบาลในเรือนจำ
แต่ยังปราศจากเสียงตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนามาตรฐานการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังในเรือนจำ
ให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้พวกเขาเหล่านั้น จะได้ชื่อว่า ผู้ถูกคุมขัง
การเสียชีวิตกระทันหันของคู่ชีวิต ที่ไม่มีโอกาสได้ร่ำลา สร้างแผลใจให้กับ ป้าอุ๊ จนกลายเป็นแรงผักดันให้เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการรักษาพยาบาล
ซึ่งไม่เฉพาะผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 แต่หมายรวมถึงผู้ต้องขังคนอื่น
หรืออย่างน้อยเปิดโอกาสให้ญาติได้ดูใจหรือพูดคุยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนผู้ป่วยจะจากโลกนี้ไป
ดูวีดีโอ ป้าอุ๊ ภรรยาอากงเล่า
1 ปีการจากไปของอากง ทำให้ชีวิตสมาชิกในครอบครัวตั้งนพกุล
ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามอัตถภาพในสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่บรรดาหลานๆ ที่อากงเลี้ยงมายังพูดถึงเสมอและยิ่งตอกย้ำบาดแผลความสูญเสียของป้าอุ๊
จากแม่บ้านและแม่ค้าที่ไม่เคยศึกษาและเรียนรู้ข้อกฎหมาย
ต้องเดินทางขึ้นศาลหลังสามีถูกดำเนินคดีข้อหาร้ายแรง ทำให้วันนี้ ป้าอุ๊ มีพัฒนาการทางกฎหมายและการติดต่อกับหน่วยงานราชการ
ซึ่งล้วนมาจากประสบการณ์ตรงโดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจให้กับญาติผู้ข้องขังมาตรา 112 ซึ่งยอมรับว่า
เป็นสิ่งเดียวที่เธอทำให้ได้
ป้าอุ๊ กับอากง นับเป็นคู่ชีวิต 1 ที่คนในสังคมไม่รู้จัก
จนอากง ถูกจับ และศาลชั้นต้นพิษากษาจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตข๊ะคุมขังระหว่างอุทธรณ์
ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นที่รู้จักจนเกิดปฏิกิริยาทั้งความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษยชน์ และชิงชัง
จนนำไปสู่การเรียกร้องให้ทบทวน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ขณะเดียวกัน องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ประกาศให้ อากง
เป็นนักโทษทางความคิดและเป็นเครื่องสำแดงถึงความอยุติธรรมขนานใหญ่หลวงของกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ