2014-05-22

โรคเซลฟี่ Selfie ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นไทย โพสต์รูปหวังคนไลค์



    เซลฟี่ คืออะไร โรคเซลฟี่ Selfie พฤติกรรมเป็นอย่างไร คุณโพสต์รูปทางโซเชียลแล้วหวังคนไลค์หรือไม่ ถ้าใช่อาจเข้าข่ายเป็น โรคเซลฟี่ Selfie แล้วนิสัยอื่น ๆ ของโรคนี้เป็นอย่างไร มาดูกัน 

              สังคมก้มหน้ากำลังระบาดไปทั่วโลกเลยว่าไหมคะ กับประเทศไทยเองก็ไม่เว้น เพราะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่า คนสมัยนี้ไม่ว่าจะขึ้นรถ นั่งทานอาหาร เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่คุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างกันแท้ ๆ ก็ยังคุยผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมเลย และกิจกรรมยอดฮิตของชาวออนไลน์ก็คือ การถ่ายรูปสารพัดสิ่งอัพลงเฟซ หรืออินสตาแกรม แล้วรอให้คนมากดไลค์นั่นเอง

              แต่พฤติกรรมเช่นนี้ ก็ทำให้หลาย ๆ คน มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกัน !
              เรื่องนี้ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า ในยุคที่คนนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา มีพฤติกรรมที่เรียกว่า "เซลฟี่" (Selfie) กันมาก โดยเป็นพฤติกรรมที่ชอบถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร กินอะไร แล้วนำไปแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อรอให้เพื่อน ๆ มากดไลค์ หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่าง ๆ 




              สิ่งนี้กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของหลายคนไปแล้ว ซึ่งถ้าดูเผิน ๆ ก็อาจคิดว่าไม่เห็นจะเป็นอะไรใช่ไหมล่ะ แต่จิตแพทย์กลับมองว่า พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง  

             

     "การที่เซลฟี่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม  และการได้ยอดกดไลค์ ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำ แต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน บางคนลงรูปไปแล้วได้แค่สองไลค์เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มาก ๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติด เพราะถือว่าเป็นรางวัล"

         คุณหมอ บอกด้วยว่า ในทางตรงกันข้าม หากโพสต์รูปไปแล้วได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ และทำใหม่แล้วก็ยังไม่รับการตอบรับ จะทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจไปเลยและส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟี่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

                แล้วรู้ไหมว่าอาการลักษณะนี้เป็นปัญหาในต่างประเทศเช่นเดียวกัน อย่างที่ประเทศอังกฤษ ก็มีชาวอังกฤษต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตด้วยอาการเสพติดโซเชียลมีเดียมากกว่า 100 รายในแต่ละปี โดยสาธารณสุขอังกฤษถึงกับประกาศว่า อาการเสพติดสังคมออนไลน์นี้ ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง


                ด้วยเหตุนี้ แพทย์หญิงพรรณพิมล จึงแนะนำให้ทุกคนต้องมีความมั่นใจในตัวเอง เพราะถ้าขาดความมั่นใจจะทำให้เกิดความกังวล ความลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อคิดสะสมไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัว หวาดระแวง เครียด อิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า หรืออาจทำพฤติกรรมแปลก ๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง ซึ่งหากเยาวชนขาดความมั่นใจในตัวเองแล้ว จะทำให้พัฒนาตัวเองยาก ขาดผู้นำ โอกาสการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

1 comment:

Warina P. said...

เซลฟี่จนตายก็มีเยอะ น่ากลวมาก พอ ๆ กับ เมาแล้วขับเลยอ่ะ