2014-04-12

ทุกอย่างเกี่ยวกับ Social Network

แนะนำให้อ่านทั้งหมด ก่อนดูหนังค่ะ


ข้อมูลโดยรวม


The Social Network ดัดแปลงจากหนังสือ The Accidental Billionaires ว่าด้วยเรื่องราวความสำเร็จในชีวิตของ Mark Zuckerberg  มหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลก ซึ่งได้ Jesse Eisenberg มารับบทนี้ ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอออกตัวว่า เป็นแฟนหนังผู้กำกับ David Fincher มาตั้งแต่ Seven แล้ว และเรื่อง Fight Club ก็จัดอยู่ในหนึ่งภาพยนตร์โปรดปรานข้าพเจ้า ด้วยเอกลักษณ์สไตล์การกำกับเฉพาะตัวดึงความ Dark ในจิตใจตัวละครหนังของเขาพล่ามบทสนทนามุกตลกร้าย แดกดันวัฒนธรรมสังคมอเมริกันชน วัตถุนิยม สมมุติปัจจัยขยะ อย่างเจ็บแสบ และกับใน The Social Network ก็เหมือนกัน David Fincher ได้นำเสนอมุกแดกดันตลกร้ายประเด็นความคิดให้ต่างออกมาให้ข้าพเจ้าขบยิ้มสนองนัยยะแก อาทิ มุกที่ท่านประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแดกดันระบบการศึกษา “นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่าการสร้างงานดีกว่าการหางาน”  หรือมุกขายโฆษณา Banner กิ๊กก๊อกใน Facebook

         David Fincher เปรียบเปรยถึงคน 2 แนวคิด “ผู้คิดต่าง” กับ “ผู้คิดไม่ต่าง” จะมีอนาคตต่างกันราวฟ้ากับดิน อาทิ ฉากที่ 2 พี่น้องฝาแฝดพูดถึงโปรแกรมเมอร์จบใหม่มหาลัยฮาร์วาร์ดได้ไปทำงาน Google เขาได้งานที่ดี ขณะที่แก๊งค์เขาขอร่วมแชร์ไอเดียกับ Mark เพื่อสร้างเว็บในฝันเข้าสู่วงจร “ผู้คิดต่าง” สร้างงานให้ตัวเอง ไม่ใช่เดินเข้าสู่วงจร “ผู้คิดไม่ต่าง” ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองได้งานดี ๆ ทำ

         2 ความต่างแนวคิดเส้นด้ายบาง ๆ นี้ เปรียบมูลค่าไอเดียและสินทรัพย์ต่างกันสิ้นเชิง ต่อให้คุณทำงานได้เงินเดือนเป็นแสนก็ยังเทียบไม่ได้กับ Mark Zuckerberg ผู้คิดต่างให้กำเนิด Facebook เว็บไซต์ที่มีมูลค่าสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ

         “อัจฉริยะความต่าง” จึงเป็นบุคลากรวัตถุดิบสำคัญในการสร้างนวัตกรรมธุรกิจใหม่ ๆ ให้กลุ่มคนผู้มีแนวคิด “คิดไม่ต่าง” มีงานทำ มีเงินเดือนสูง ๆ ใช้

         ผู้คิดต่าง = คนอีกกลุ่มหนึ่งสร้างงาน > ผู้คิดไม่ต่าง = เรียนจบดิ้นรนหางานดี ๆ ทำ มุกวงจรตลกร้ายที่ถูกแฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้ คำถามก็มีอยู่ว่า แล้วคุณหล่ะเป็นผู้คิดต่างหรือคิดไม่ต่าง...?

         อัจริยะผู้คิดต่างอย่าง Mark Zuckerberg จึงเป็นคนที่ขาดไม่ได้ในโลกธุรกิจ ขณะเดียวกันในโลกธุรกิจ เมื่อเราให้กำเนิดสินค้าแตกต่างได้แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ “ความเห็นแก่ตัว” ถ้าคุณต้องการสร้างบริษัทตัวเองให้ยิ่งใหญ่เท่า Mark Zuckerberg จำเป็นที่วันนี้คุณจะต้องเป็น “Devil” ก่อนที่จะเป็น “God” ให้คนเยินยอคุณพรุ่งนี้

         แท้จริงแล้วพล็อตหนังโดยรวมก็แค่เรื่องราวคดีฟ้องร้องเว็บไซต์ Facebook ธรรมดา ๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ผู้กำกับมือถึงสักคนมาเล่าเรื่อง The Social Network ก็คงไม่ดูมีราศีเท่านี้ อย่าลืมว่า David Fincher เก่งนักกับการดึงความ Dark ในจิตใจตัวละครที่เขาเล่าอยู่ผ่านบทพูดตลกร้ายแดกดันสังคมอย่างถึงกึ๋น อย่างที่เคยโดนใจข้าพเจ้าอย่างแรงมาแล้วใน Fight Club

         David Fincher สามารถดึงความมืด ปมเบื้องลึกในจิตใจ Mark Zuckerberg โชว์เป็นบทพูดเชิงพล่ามแฝงนัยยะแดกดันสังคม บวกกับการตัดต่อภาพ เล่าเรื่องสลับไปมาเพิ่มมิติให้พล็อตแบบ Slumdog Millionaire, Transpotting, 127 Hours (หุหุหุ แฟน Danny Boyle) เคล้าดนตรีกระตุ้นอารมณ์ ทำให้พล็อตที่ดูเหมือนไม่มีอะไร พลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้าดูน่าสนใจ ชวนให้คนดูอยากรู้อยากเห็นบทสรุปคดีนี้

         จริงอยู่ว่าแม้ David Fincher จะทำให้ตัวละครอย่าง Mark Zuckerberg ดู Dark ในสายตาหลายคนโดยใช้ประเด็นปมความรักที่ผิดหวังมาเป็นแรงขับเคลื่อนภารกิจ Facebook สู่เป้าหมาย โดยไม่ให้ความอ่อนแอ ความสงสาร ความมีเยื่อไย มาเป็นอุปสรรคขวางกั้น แต่ตัวละครตัวนี้ก็ยังจัดอยู่ในประเภทสีเทาคล้ำ บ่งให้เรารู้สึกต่อ Mark Zuckerberg เขาเองไม่ใช่คนดีและก็ไม่ได้เลวบัดซบ (แม้ดูเข้าข่ายบัดซบ) เขาแค่ต้องเดินไปตามเกมโลกธุรกิจ วันนี้เป็น Devil พรุ่งนี้เป็น God หนังจึงยังห่างไกลกับการเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติโฆษณาเยินยอตัวบุคคล + Good Feel เฉกเช่นตัวละคร Jerry Maguire จากเรื่อง Jerry Mcguire หรือ Chris Gardner จากเรื่อง The Pursuit of Happyness

         ขณะที่ตัวละครอย่าง Mark Zuckerberg จัดอยู่ในประเภทสีเทาคล้ำซึ่ง David Fincher ถือว่านำเสนอพัฒนาการตัวละครตัวนี้ถูกทางแล้วเพราะในชีวิตจริงคนเป็นเจ้าของธุรกิจระดับนี้ คงไม่มีใครดีเข้าข่ายพ่อพระหรือเลวเข้าข่ายนรกไม่ต้อนรับ แต่กับ 2 ตัวละครนำอย่าง Sean Parker (Justin Timberlake) และ Eduardo Saverin (Andrew Garfield) กลับถูกนำเสนอ ต่างกับตัวละคร Mark Zuckerberg เกินสมดุล

         Eduardo Saverin ขาวใส ซื่อ สะอาด เรื่องราวของเขาถูกนำเสนอผ่านสายตาให้คนดูเดาทางไม่ยากว่าชายคนนี้กำลังเป็น “เหยื่อ” กับหลาย ๆ ฉากที่เขาต้องคอยเดินขาย Banner พื้นที่โฆษณา, เป็นนายทุนช่วงกำเนิด Facebook ก่อนจะมารู้ตัวตอนหลังว่าถูกเพื่อนรักหักหลัง

         Sean Parker ดำ เลว กระล่อน ผู้เติมเต็มความ Dark ให้ Mark Zuckerberg เป็น Devil ต่างจาก Eduardo Saverin ที่พยายามจูง Mark เดินอยู่บนเส้นทางแสงสว่าง ซึ่งแม้ตัวหนังจะไม่ได้โฆษณาเยินยอ Mark Zuckerberg แต่ก็เถียงไม่ได้ว่าหนังกำลังเข้าข้างคดี Eduardo Saverin อยู่ ทำให้ตัวละครตัวนี้อยู่คนละสีกับ Mark และ Eduardo แตกต่าง สว่าง ใสซื่อ บริสุทธิ์ จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกได้ว่า Mark Zuckerberg หักหลังเพื่อนรักของเขาจริง ๆ และ Sean เข้าข่ายเพื่อนปรสิตคบไม่ได้ ทั้งที่นี่เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์แนว Biography ข้อมูลเท็จจริงย่อมไม่ถูกต้อง 100% เราเองมีสถานะแค่คนนอกจะไปรู้ได้ไงหล่ะว่า เรื่องราวเป็นอย่างที่ David Fincher กำลังพิพาก Mark Zuckerberg อยู่หรือเปล่า?

         ในโลก The Social Network ตัวละคร Sean Parker จึงมีสถานะเป็นเหยื่อของ Mark Zuckerberg และ Eduardo Saverin ขณะที่ Mark Zuckerberg เองในมุมมองคนดู ตลอดร่วม 2 ชั่วโมงของหนัง เขามีสถานะไม่ต่างอะไรจาก “เหยื่อ” ให้คนดูพิพากษาเขาทั้งที่ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ David Fincher เล่าอยู่จริงเท็จแค่ไหน...

         ตัวละคร Mark Zuckerberg มีมิติที่น่าสนใจ ซึ่ง Jesse Eisenberg ก็แสดงบทเด็กเนิร์ดเข้าข่าย Autism Man (โรคออทิซึม) หมกมุ่นความคิดตัวเอง มั่นใจสูง ย้ำคิดย้ำทำ บกพร่องการเข้าสังคม หยิ่ง ยโส ได้ดีมาก ๆ เขา ทำให้ตัวละคร Mark Zuckerberg ดูน่าหมั่นไส้ เห็นใจ ชื่นชมความฉลาด การแสดงออกเขาแม้บางเรื่อง Mark ไก่อ่อนความรู้ เขาจะใช้ความฉลาดมาเป็นปมเด่นขวางโลกกับคนที่อยู่ตรงหน้าถีบตัวเองให้สูงไม่ให้ใครต้อนเขาง่าย ๆ

         ขณะเดียวกันมันก็บ่งถึงความเป็นเด็กหัวรั้นและปมหลังในอดีตบางอย่าง ที่เสมือนเป็นแรงผลักดันให้เขาทำตัวงี่เง่าแบบนี้ เห็นได้ในหลาย ๆ ฉากที่ Mark ก้าวร้าว พอสักพักเมื่อเขารู้สึกสำนึกผิดก็จะถูกแสดงออกมาที่แววตา การแสดงออก อาทิ ฉากที่เขาง้อให้อดีตแฟนสาวร้านอาหารมาปรับความเข้าใจ, ฉากที่เขาตำหนิ Sean Parker ไม่น่าหยาบคายกับเพื่อนรัก Eduardo Saverin ทั้งที่ตัวเองก็เพิ่งทำร้ายจิตใจเพื่อน (รัก) คนเดียวที่เขามีไปหยก ๆ จนไปสู่ฉากแดกดันเจ็บ ๆ ตอนจบที่หญิงสาวพูดกับเขาหลังจากที่ Mark เพิ่งอธิบายให้เธอเข้าใจว่าเขาคนไม่ใช่คนไม่ดี “คุณไม่ใช่คนงี่เง่าหรอก Mark แค่คุณคือคนที่พยายามทำตัวเองให้งี่เง่า”

         ความก้าวร้าวแล้วสำนึกผิดแล้วสำนึกผิดเล่า ความบกพร่องในการเข้าสู่สังคม บทสนทนาแฝงตรรกะหัวรั้น พยายามทำตัวให้งี่เง่ากับคนที่แสดงอาการต่อต้านเขา มันเป็นตัวละครที่ดูมีปัญหาทางจิตเข้าข่ายมนุษย์ Autism Man (โรคออทิซึม) ผสมกับปมเก็บกดบางอย่างในหัวใจเขาที่แสดงออกมาทางแอ็คติ้งกระวนกระวายตลอดเวลาเหมือนคนสมาธิสั้น Jesse Eisenberg เข้าถึงบทบาทชนิดตีบทแตกกระจุย ซึ่ง David Fincher สามารถเล่าเรื่องพัฒนาการตัวละครตัวนี้เข้าถึงคนดู เกิดความรู้สึกเห็นใจเขา หมั่นไส้เขา ด้วยบทสนทนาเชิงพล่ามขวางโลกแฝงตรรกะ ข้าพเจ้าเองค่อนข้างเห็นใจ Jesse Eisenberg  หลังจากชมหนังเรื่องนี้จบ เชียร์สุดตัวอยากให้เขาได้ออสการ์นำชาย แต่โชคไม่ดีเอาซะเลยที่ในปีนี้เขาต้องมาเจอคู่แข่งสุดหินอย่าง Colin Firth จากเรื่อง King Speech ที่ทำผลงานจากบทบาทกษัตริย์ผู้ติดอ่างได้โดดเด่นกว่าบทบาทเด็กเนิร์ดอัจฉริยะผู้นี้

         และหาก Mark Zuckerberg มีอาการของโรคออทิซึมอยู่จริง เขาจะมีความเหมือนกับตัวละครอย่าง Forest Gump ตรงที่ชอบย้ำคิดย้ำทำ มีสมาธิกับสิ่งที่ตัวเองสนใจสูง (แต่แสดงออกต่างกัน) มีปัญหาด้านการพูด เข้าสังคม ดันปมเด่นลบปมด้อยจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจ จะต่างกันก็คือ เรื่องราวชีวิต Forest Gump เปรียบได้กับ ขนนกสีขาวปล่อยวางให้กระแสลมนำพา ตลอดชีวิตของ Forest เขาไม่สร้างภาระให้ตัวเอง ไม่มีวาระ นัยยะ ซ่อนเร้นต่อทุกอย่างที่เขาทำ แม้เขาเกิดมาไม่สมบูรณ์ เขาก็ไม่เคยคิดร้ายใคร ไม่เห็นแก่ตัว เขาแค่ทำตามคำสั่งสอนของแม่ หมวดแดน เจนนี่ ไม่ดิ้นรน ยึดติด ไม่วางว่านี่คือภารกิจ จนประสบความสำเร็จทางธุรกิจบวกด้วยโชคช่วย

         ขณะที่ตัวละคร Mark Zuckerberg เปรียบได้กับปลีกนกที่คอยกำหนดทิศทางการบินสู่เป้าหมาย เขาทำ Facebook ด้วยแรงขับภารกิจ เขาดูมีอดีตขื่นขม เขายึดติด มั่นใจตัวเองสุดโต่ง สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองด้วยการขวางโลกต่อคนที่มีท่าทีทำร้ายเขา เขาเลือกที่จะกำหนดเส้นทางที่ตัวจะไป (สร้างงานให้ตัวเอง) แทนที่จะเป็นขนนกให้คนอื่นพัดพา (เพื่อให้มีงานทำอยู่ในอำนาจผู้อื่น) บวกด้วยโชคช่วยจนประสบความสำเร็จเหมือนกับ Forest Gump

         แต่ตัวละครอย่าง Forest Gump ไม่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ และในเรื่องจริงคงไม่มีใครมหัศจรรย์เท่าเขา ขณะที่ตัวละคร Mark Zuckerberg มีตัวตนอยู่จริง ๆ บนโลกใบนี้ หนังเรื่อง The Social Network จึงดูเข้าถึง จับต้อง ได้มากกว่า

         ในส่วนของฉากจบ ข้าพเจ้ารู้สึกชอบมาก เรียบง่าย คมคาย กล้องค่อย ๆ ซูมไปที่ หน้า Facebook Rooney Mara อดีตแฟนสาว Mark แรงบันดาลใจโดยบังเอิญให้ Mark สร้าง Facebook เขาคลิ๊กขอเธอเป็นเพื่อน แล้วกล้องก็สลับภาพไปมาระหว่างหน้า Facebook Rooney Mara สลับใบหน้า Mark ค่อย ๆ ซูมเข้าไป แววตา Mark ตั้งความหวัง เขาเริ่มกด Refresh ถี่ขึ้น ๆ เพื่อหวังว่า Rooney Mara จะรับแอดแล้วยกโทษให้เขา มันเป็นฉากจบเรียบง่าย คมคาย ชวนเห็นใจ แสดงให้เห็นถึงความเหงาเบื้องลึกในหัวใจมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลกผู้นี้ ในโลก Social เขาคือคนดัง เขาคือราชัน เขาคือคนที่มีคนขอแอดเป็นเพื่อนนับหมื่นนับแสน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงเขากลับไม่มีเพื่อน (รัก) เลยสักคน “Mark Zuckerberg อัจฉริยะผู้เหงาหงอย”




คลิกดูหนังที่นี่
*********************************************
ต่อด้วยหนังเลย
*********************************************

เชื่อว่า คนที่ไม่ได้เล่น Facebook  อาจจะมีคำถามในใจว่า “ฉันจะดูรู้เรื่องไหม มันน่าสนใจตรงไหน”
ตอบได้ทันทีว่า ถึงคุณจะไม่ใช่ขาประจำ facebook  คุณก็สามารถดูรู้เรื่อง เพียงคุณรู้จักคำว่า ‘เพื่อน’ และ ‘การทำธุรกิจ’ เพราะ ถึงจุดขายว่า หนังเป็นเรื่องของคนคิด facebook แต่มันไม่ใช่ในเชิงชีวประวัติแบบน่าเบื่อของคนๆเดียว และก็ไม่ได้เน้นไปที่  กลไกหรือตัว facebook

 ใจความหลักของหนัง พูดถึง ความสัมพันธ์ของคนยุคปัจจุบันที่กำลังใช้ชีวิตในยุคของเครือข่ายสังคม(social network service) จาก โลกไซเบอร์ เช่น twitter , fb , hi5 ฯลฯ หลอมรวมไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต , ความหมายของคำว่า’เพื่อน’ ที่คนรุ่นใหม่ต้องเริ่มขบคิด เมื่อ เพื่อนในโลกเสมือน กับ เพื่อนในโลกความเป็นจริง เริ่มเข้าใกล้กันจนบางครั้งเราเองก็เริ่มแยกตัวเองออกจากโลกเสมือนไม่ออก และ  นำเสนอบทเรียนสอนใจในการทำธุรกิจ ที่นอกจากต้องแข่งขันกับคู่แข่ง ยังต้องรับมือกับ กิเลสในใจตัวเองกับคนใกล้ชิด เช่น ว่าด้วย ความริษยาที่สามารถฆ่าความเป็นเพื่อน หรือ ความผิดพลาดพื้นฐานของการทำธุรกิจร่วมกับเพื่อนหรือคนสนิท ฯลฯ

ส่วนตัวแล้วชอบหนังเรื่องนี้ตรง ถึงจะเป็นหนังสไตล์พูดมากพูดพล่าม แต่ก็ยังสนุกชวนติดตามตลอดเวลา หนังผสม ความช่างคิด(intellectual) กับส่วน  ความรู้สึก(emotional) ได้อย่างกลมกล่อม เป็นหนังที่ฉลาดแต่ไม่ทำตัวเหนือคนดูให้ต้องยากในการเข้าถึง นอกจากนี้ ในความโดดเดี่ยวหรือเจ็บปวดก็มีอารมณ์ขันแสบๆแนบมาเป็นระยะ


2. ขอชมคนเขียนบทเก่งมาก เพราะหลังจากอ่านหนังสือ the accidental billionaires เกินกว่าครึ่งเล่ม(มีฉบับแปลไทยโดย มติชน แล้วจ้า) รู้สึกว่า น่าเบื่อเป็นส่วนใหญ่ตามสไตล์หนังสือธุรกิจประมาณ‘กว่าจะถึงวันนี้ของ ...’   ส่วนตัวหนังดำเนินตามเรื่องราวในหนังสือชนิดใจความหลักไม่ต่างกันมากนัก (แต่แต่งเติมความดราม่า เช่น อกหักจากรักหญิงจนไปด่าใน blog มีจริงในหนังสือ แต่ไม่ได้หวือหวาหรือใช้บทสนทนาเมพๆแบบในหนัง)

ที่ ชมว่าเก่งมาก คือ สามารถดัดแปลง ความเรื่อยๆให้ออกมา หนุกหนานมีชั้นเชิง เพราะ ถ้าว่าตามเรื่องราวจริงๆ คดี  facebook ที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็ไม่ได้เข้มข้นประเภท คดีฆาตกรรมต่อเนื่อง หรือ คดียิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่ดุเดือด แต่หนังเพิ่มระดับความน่าสนใจให้มากขึ้นด้วยบทหนังที่เล่าสลับกันไปมาอย่างมีชั้นเชิง อัดแน่นด้วยบทสนทนาเก๋ๆไม่หยุดหย่อน ตัดต่อร้อยเรียงได้ลื่นไหล ดูแล้วคิดถึงอารมณ์ สู้คดีและฟังความแบบ rashomon ประมาณ A few good men งานเก่าของคนเขียนบทคนนี้ เพียงแต่เป็นเวอร์ชั่นที่ ฮิปกว่า เก๋กว่า และ เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า

[จุดอ่อนของเนื้อหาที่ดีหมดแทบทุกอย่าง คือ การวางบท Eduardo Saverin ให้ออกมาเป็น คนดีและดูดี กว่าใครเพื่อน เช่นเดียวกับ ตัว Sean Parker ก็ดูเลวร้ายเสียเหลือเกิน ความต่างเป็นคนละขั้วแบบ ขาว กับ ดำ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะต้นฉบับหนังสือที่ คนเขียน เก็บข้อมูล จากบทสัมภาษณ์ผ่านมุมมองส่วนใหญ่ของ Eduardo Saverin ]


3. เป็นความบังเอิญที่หนังเรื่องนี้ มีสองดาวรุ่งเตรียมพุ่งขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์อยู่ร่วมจอกัน จึงอย่าได้พลาดผลงานของ รายแรก  Andrew Garfield  อุ่นเครื่องรอเป็น สไปเดอร์แมนคนใหม่  สอบผ่านในมาดดูดีมีชาติตระกูล แต่ยังนึกภาพไม่ค่อยออกว่าถ้าเป็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ หรือ ไอ้แมงมุมจะเข้ากันได้ซักแค่ไหน (ใครติดใจพ่อหนุ่มรายนี้ แนะนำให้หาเรื่อง BoyA มาดู)

ส่วนอีกราย Rooney Mara  แฟนสาวของมาร์ก  จับตาดูเธอให้ดี อย่างเรื่องนี้ออกมาไม่กี่ฉากก็เล่นสะกดคนดูได้ทุกฉาก ที่น่าจับตา เพราะ งานเรื่องหน้า ก็เธอนี่แหละ จะมาแท็คทีมกับผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์อีกครั้งในหนังรีเมค The Girl with the Dragon Tattoo ในบท หญิงสาวรอยสักมังกร ที่อยาเห็นเร็วๆว่าภาพและบทของเธอจะ แรว๊งงงง ได้เท่าต้นฉบับหรือเปล่า

4 .ขอซูฮกให้ การลำดับภาพและตัดต่อ เพราะให้ความรู้สึกน่าทึ่ง เหมือนๆกับตอนดู Slumdog millinaire ที่ร้อยเรียงเรื่องราว หลายเหตุการณ์ หลายช่วงเวลา แต่ เล่ากลับไปกลับมา ต่อเนื่องสุดเนียนได้อย่างอัศจรรย์ และ ทำให้หนังดูง่ายเข้าใจง่ายจนอาจไม่ทันสังเกตว่า ต้องใช้ความสามารถขนาดไหนจึงจะเล่าเรื่องราวที่ยอกย้อนให้ออกมาเนียนขนาดนี้ (ตอนต้นไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำว่า ตอนคุยเรื่องคดี ไม่ใช่การคุยกันคดีเดียว แต่เป็น สองคดี สองเหตุการณ์  )  


5.  ตอนเห็นหน้า  Jesse Eisenberg มารับบท น้องมาร์คช่างซัก(เกอร์เบิร์ก) ก็รู้สึกเอียนหน้าอยู่  เพราะพ่อหนุ่มรายนี้ เล่นหนังกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็เหมาบทที่สุดแสนสเตอริโอไทป์ นั่น คือ ภาพของ  เด็กnerd เด็กเรียน ดู loser ดูแปลกแยก ( The Squid and the Whale  Adventureland , Zombieland ) แต่ในเรื่องนี้  เขาสามารถโชว์ของให้ต่างจากงานชิ้นก่อนๆ สร้างความลึกได้มากขึ้น

 ถึงจะเป็นเด็กเนิร์ดเด็ก geek แต่ก็ไม่ใช่ประเภท ไก่อ่อนไม่มั่นใจ แต่พลิกมาในสไตล์ มั่นใจในตัวสูง ยโส พูดจาแต่ละหนก็ออกแนว “หนูไมรู้ กูไม่ผิด” แต่ก็แอบซ่อนสำนึกผิดซึ่งเป็นส่วนอารมณ์ซ่อนเร้นที่ Jesse Eisenberg เล่นได้ดีมาก เช่น เราจะเห็น ความเป็นเด็กที่มีแววความรู้สึกผิด ในฉากร้านอาหารที่พยายามง้อให้อดีตคนรักมาคุยด้วย หรือ ตอนเห็นอารมณ์โกรธของเพื่อนที่ว่าเขาทรยศ

(บุคลิกที่ มีปัญหาในด้านสังคม ไม่ค่อยรับรู้หรือสนใจอารมณ์คนรอบข้าง หมกมุ่นทำหรือพูดแต่สิ่งที่ตัวเองสนใจซ้ำๆ นอกจากจะเลยความเป็น nerd ยังชวนให้คิดถึง ลักษณะของ Autistic spectrum หรือ Asperger’s syndrome  )  
  

6. ชอบฉากจบ ที่ไม่โหมโรงหรือบิวต์ให้แบบกระหึ่มประมาณว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หรือเสียงโห่ร้องในชั้นศาล แต่เป็นการจบนิ่งๆให้อารมณ์ แสบและเศร้า แสบหนึ่งคือ สุดท้ายคนที่เกลียดกันราวกับจะไม่เผาผีก็ไม่อาจต้านทานเสน่ห์ในตัวผลงานของอีกคน  คือถึงจะเกลียดคนแต่ก็อดรักงานของเขาไม่ได้ ซึ่งมุมหนึ่งมันก็น่าภูมิใจ  แต่ แสบและเศร้าคือ  เจ้าของ FB ที่คนเป็นหมื่นเป็นแสนอยากให้เขารับเป็นเพื่อน ทั้งที่ไม่รู้จักนิสัยใจคอในชีวิตจริง แต่ เจ้าตัว กลับสูญเสียเพื่อนที่มีในชีวิตจริงไปจนหมด แถม เมื่ออยากจะขอเป็นเพื่อนกับใครซักคน  ก็ไม่รู้ว่าเขาจะตอบรับหรือไม่

ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า การที่มีเพื่อนมากมายใน FB แต่ ถ้าชักชวนพวกเขาก้าวออกมาอยู่ในโลกความเป็นจริงด้วยกัน จะมีคนเหลือเป็นเพื่อนกับเราจริงๆได้ซักกี่คน เพราะถึงโลกไซเบอร์เช่น FB จะสร้างให้ออกมาใกล้เคียงโลกความจริงมากเพียงใด แต่ การใช้ชีวิตจริง ก็มีองค์ประกอบมากมายที่ fb หรือ twitter ไม่สามารถให้คำตอบได้ทั้งหมด

7. คอหนังที่ชอบดูหนังดี หนังรางวัล อย่ารอจนถึงช่วงประกาศผลรางวัลที่หนังออกจากโรงไปแล้ว เพราะ รับประกันฟันธงว่า กรรมการออสการ์จะกด Like ให้หนังเรื่องนี้ เข้าชิง ออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อย่างแน่นอน แถมยังเป็น ตัวเต็งลำดับต้นๆอีกต่างหาก พิจารณาจาก การกวาด Best picture จากสองสถาบันที่ประกาศผลไปเรียบร้อยแล้ว(National Board of Review และ Washington DC Film Critics)  + คะแนนนักวิจารณ์ในเว็บ metacritic ที่เกินกว่าครึ่งให้ 100 คะแนนเต็ม แถมคนให้ต่ำสุดยังให้ถึง 60 คะแนน

และ มีแนวโน้มว่า จะเข้าชิงในจำนวนสาขาที่มากเป็นอันดับต้นๆ เพราะ ตัวหนัง ถึงพร้อมในแทบทุกองค์ประกอบ คือ อาจไม่ได้ A+++ ในทุกด้าน แต่ ในแต่ละด้านไม่ว่าจะ การแสดง , การกำกับ , บท , ดนตรีประกอบ ฯลฯ  ไม่มีส่วนไหนที่ drop จนเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยดีในระดับ A แทบทั้งสิ้น


8. ดูเรื่องนี้แล้วก็ดีใจ ที่ เดวิด ฟินเชอร์ ไม่ได้กลายเป็นเจ้าพ่อหนังชวนฝันหลังจากความสำเร็จ Benjamin button เพราะจุดเด่นในหนังทุกเรื่องของ ฟินเชอร์ คือ การนำเสนอความ dark ในจิตใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น Se7en , the game , alien 3, zodiac แต่พอเจอ Benjamin button  ถึงจะเป็นหนังดี แต่ตัวเองรู้สึกผิดหวัง หนังน่าเบื่อ และคิดว่า เดวิด ฟินเชอร์ มีของมากกว่านี้ หนังอย่าง Benjamin button คนเก่งๆในฮอลลีวู๊ดหลายคนก็น่าจะทำได้ใกล้เคียง แต่ คนทำหนังอย่าง Se7en , the game , zodiac ให้ออกมาดี ไม่ได้หาง่ายๆในวงการ

พอได้ดู The Social network ค่อยรู้สึกว่า ต้องแบบนี้ซิ ที่พิสูจน์ว่า เดวิด ฟินเชอร์ ไม่ใช่เก่งแค่แนวฆาตกร/มืดหม่นหักมุม แต่สามารถทำแนวอื่นๆ ให้ออกมามีกึ๋นมีลายเซ็นแล้วแฝงความ dark โดยไม่ต้องรุนแรง ได้ในระดับมาสเตอร์พีซเหมือนกัน ไม่ใช่ดีสุดได้แค่ Benjamin button  

9. ชอบหนังตัวอย่างในระดับสุดๆ เป็น หนังตัวอย่างที่คิดว่าดีที่สุดของปีนี้ และทำให้ creep เวอร์ชั่นนี้เป็นเพลงโปรดที่โหลดแล้วฟังวนไปวนมาเกือบทุกวัน ใครยังไม่เคยดูคลิกไปได้เลยที่http://www.youtube.com/watch?v=lB95KLmpLR4

10. ข้อนี้ส่วนตั๊วส่วนตัวเล็กน้อย ขอแจ้งข่าวกับเพื่อนผู้อ่านถึงความคืบหน้าในการเขียนหนังสือเล่มใหม่

เหตุที่ ชอบเรื่องนี้มากที่สุดตรง ตัวหนังสามารถสะท้อน รูปแบบชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ที่ไปเกี่ยวพันกับ สื่อและโลกไซเบอร์ เหมือนคลื่นที่กำลังพัดมากระทบสังคม แล้วเราก็ไม่สามารถหลีกหนีคลื่นลูกนี้พ้น ซึ่งก็ตรงคอนเซ็ปท์หนังสือที่กำลังเขียนอยู่ ถือโอกาสโฆษณาล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หนังสือเล่มหน้าของข้าพเจ้าที่กำลังเริ่มเขียนจะมีเรื่องของหนัง The Social network และเรื่องราวรอบตัวตามกระแสโลกยุคปัจจุบัน

 เพียงแค่ยังต้องลุ้นอยู่ว่า บก.จะกด like ให้ตีพิมพ์หรือไม่ ช่วงนี้จึงอาจห่างจากการเขียนบทความยาวๆไปพักใหญ่ๆ เพื่อ หมกมุ่นให้กับต้นฉบับหนังสือ(ที่หวังว่าจะได้ออกมาเป็นรูปเล่มในปีหน้า)

*******************
หนังส่วนใหญ่จะความซึ้ง เศร้า ตลก ตื่นเต้น หรือกลัว นั่นคือปกติแล้วหนังมักจะกระตุ้น “สมองซีกขวา” ที่เกี่ยวกับอารมณ์ให้ทำงานหนัก
… จะมีบ้างที่หนังจะกระตุ้น “สมองซีกซ้าย” แต่ว่าก็เป็นส่วนน้อย  และหนังที่ให้ไอเดียการstartup สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ก็ยิ่งน้อยไปอีก  …และยิ่งถ้าเป็นหนัง tech startup ก็ยิ่งหายาก
แต่เรื่องหนึ่งเรื่องแรกที่หลายๆคนจะนึกถึง ก็คือ “The Social Network” ที่ฉายโรงไปเมื่อปีกว่าๆที่แล้วนั่นเอง
 ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า หนังเรื่องนี้ไม่ใช่สารคดี ไม่ใช่ประวัติเฟซบุ๊ค และยิ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงๆในหลายๆอย่าง เพราะสร้างบทเติมแต่งมาให้มีความเป็นหนังมากขึ้น แถมยังมาจากหนังสือที่เขียนแบบนิยาย “Accidental Billionaire” ซึ่งแม้แต่ Eduardo Saverin อดีตเพื่อนรักของ Mark Zuckerberg ซึ่งเป็นคนให้ข้อมูลในการเขียนนิยายเล่มนี้ ยังยอมรับเองว่ามีหลายๆจุดที่ไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด
ส่วนพระเอกหนังอย่าง Mark Zuckerberg นั่นยิ่งแล้วใหญ่  ตัวจริงออกมาบอกเลยว่า สิ่งเดียวที่ตรงกับความเป็นจริงมากๆ ก็คือเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของเขาเอง  และมาร์คยังบอกอีกด้วยว่าเรื่องราวความจริงนั้น“น่าเบื่อ” กว่าเรื่องราวในหนังมาก
แต่เราก็จะลองหาไอเดียจากตัวหนังที่ฉายกันไปนี่ล่ะ เพราะหลายๆคนคงดูกันแล้ว และจะหาแผ่นดูก็ง่าย สนุกสบายกว่าไปหาซื้อหนังสือประวัติเฟซบุ๊คอ่าน (แต่ผมก็ยังแนะนำว่าถ้ามีเวลาน่าไปหาอ่านกัน เช่น “The Facebook Effect”)
ที่สำคัญ แม้รายละเอียดจะถูกเปลี่ยน  แต่ไอเดียหลักๆหลายอย่างก็ยังตรงกับความจริง  ซึ่งบทความนี้ก็จะคัดเฉพาะที่ค่อนข้างตรงกับความจริงออกมานำเสนอกัน  ซึ่งหลังจากดูไปสองรอบ และแลกเปลี่ยนกับ friend ใน facebook ผมก็สรุปได้ 5 ประเด็น …

1. User Experience  
การจะทำเว็บนั้น  ”ความรู้สึกของผู้ใช้” สำคัญที่สุด  ซึ่งในหนังพูดเรื่องนี้เน้นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง
ครั้งแรกตอนที่เพื่อนพระเอก “วาร์โด้” (Eduardo Savverin) สั่งระงับเช็ค  ทำให้เฟซบุ๊คยุคแรกเสี่ยงจะต้องล่มเป็นวันๆเพราะไม่มีเงินเช่าเซิฟเวอร์  ซึ่งมาร์คซัคเคอร์เบิร์กพระเอกของเรากลัวมาก เพราะล่มแล้วคนจะเซ็งและหนีหมด
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Friendster ที่เกิดก่อนและฮิตกว่าในช่วงนั้นต้องดับไป ก็เพราะเว็บล่มบ่อยนั่นเอง  ส่วน thefacebook.com (ชื่อเว็บในยุคนั้น) เติบโตอย่างมีแผน ขยายจากมหาวิทยาลัยหนึ่งไปสู่อีกที่นึงโดบมีการจัดการ โดยต้องเตรียมเงินทุนไว้พร้อมเสมอ เพราะสิ่งที่พระเอกมาร์คกลัวที่สุดคือ “เว็บล่ม
ครั้งที่สองคือบทสนทนาถกเถียงกันระหว่าง มาร์ค  กับ ฌอน เพื่อนใหม่ร่วมอุดมการณ์ และวาร์โด้ เพื่อนเก่าที่คิดต่าง  ซึ่งตรงนี้ sub ไทยแปลว่า “เฟซบุ๊คดังก็เพราะมันเจ๋ง  ถ้ามีป้ายโฆษณาแล้วมันจะไม่เจ๋ง เหมือนปาร์ตี้กำลังสนุกแล้วถูกขัดจังหวะ”  … ฉะนั้น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จึงเลือกที่จะไม่ลงป้ายโฆษณาเลยในช่วงแรกๆ  เพื่อสร้างฐานผู้ใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะไปไหวก่อน
นี่เป็นมุมมองที่ต่างกันอย่างสำคัญ เป็นดุจการฟาดฟันระหว่าง Traditional Model ซึ่งมี “วาร์โด้” Eduardo Saverin เป็นตัวแทน กับ New Business Model ซึ่งมีพระเอก Mark Zuckerberg กับ Sean Parker เป็นตัวแทน
โดย New Business Model มุ่งสะสมฐาน user ให้เข้ามาใช้ฟรีๆ ให้มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน ค่อยคิดว่าจะเอามาหาเงินได้อย่างไรทีหลัง จะหาเงินด้วยโฆษณาหรืออย่างอื่นค่อยคิดให้เหมาะสมอีกทีเป็นการมอง “คุณค่าสะสม” เมื่อมีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่
ส่วน Traditional Model นั้น “สร้างไป หาเงินไป” อย่างไรก็ได้ให้มีรายได้และกำไรสูงสุดตลอดเวลา สำคัญกว่าการเติบโตของฐานผู้ใช้ ซึ่งใช้ฟรีๆ ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีแต่รายจ่าย ฝ่ายนี้มองว่าการลงโฆษณาตั้งแต่แรกเป็นสิ่งจำเป็น ถึงจะกระเทือน user experience ทำให้ผู้ใช้รำคาญบ้างก็ต้องทำ
… แบบนี้แล้ว New Business Model จะอยู่ได้อย่างไร   โตได้อย่างไรในช่วงแรกๆ ? … คำตอบอยู่ในข้อต่อไป
2. Venture Capital (VC) และ Angel Investor
ข้อนี้สำคัญในการทำความเข้าใจวงการ startup ที่สหรัฐอเมริกา  เป็นคำตอบของคำถามที่ทิ้งไว้ข้างบน  และเป็นคำตอบของ tech startup ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ  คือที่นั่นจะมีนักลงทุนแบบหนึ่ง  เลือกลงทุนให้แต่กับไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ให้ตั้งบริษัท จ้างทีมพัฒนา ให้รู้ดำรู้แดงไปเลยว่าจะรอดไหม
นักลงทุนแบบนี้ ถ้าทำในนามส่วนตัว  ช่วยด้วยทุนไม่กี่หมื่นแสนดอลล่าร์ และไม่มีกฏระเบียบอะไรมาก ขอแค่หุ้นส่วนก็พอ  ไม่เข้ามายุ่งการบริหารเท่าไหร่ เรียกว่า “Angel Investor”  ในหนังเรื่องนี้คือ Peter Thiel ที่มาร์คและฌอน ปาร์คเกอร์ ไปพบช่วงกลางๆเรื่อง
แต่ถ้าทำในนามบริษัท ลงทุนมากกว่าล้านดอลล่าร์ขึ้นไป มีการทำสัญญากฏหมายข้อตกลงต่างๆละเอียดยิบเป็นทางการ เรียกว่า “Venture Capital” (VC) ในหนังเรื่องนี้คือกองทุน Accel ช่วงท้ายเรื่อง  ซึ่ง VC ส่วนใหญ่จะอยู่ในย่าน Silicon Valley หรือ Palo Alto , California ย่านที่สำนักงานใหญ่เฟซบุ๊คตั้งอยู่
กองทุนพวกนี้ ให้ทุนไป 10 โครงการ ถึงแม้จะรุ่งแค่ 1 โครงการ ที่เหลือเจ๊งหมด  แต่ก็กสามารถทำำไรอย่างงามแล้ว เพราะ1รายที่รุ่งนี้ก็จะตลาดหุ้นหรือถูกบริษัทใหญ่มาซื้อกิจการไปอีกที
… นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมอเมริกาครองผู้นำด้านธุรกิจไฮเทคของโลก โดยเฉพาะด้านไอที เพราะมีระบบ venture capital , angel investor นี้อยู่อย่างเข้มแข็ง  ไม่อย่างนั้นแล้วพระเอกเรื่องนี้อาจต้องค่อยๆทำเองในหมู่เพื่อนๆ ไม่มีเงินจ้างพนักงาน ทำออฟฟิศ  และที่สำคัญก็ต้องรีบแปะโฆษณาร้านนี่ร้านนั้นตั้งแต่แรก จนเว็บไม่ “เจ๋ง” ไม่โต  และแป้กไปก่อนก็เป็นได้

3. Network Effect  
 จุดสำคัญที่ทำให้เฟซบุ๊คโตอย่างทุกวันนี้ ในหนังพูดไว้ 2 ขั้น
ขั้นแรกคือตอนที่พระเอกมาร์คคิดจะข้ามไปมหาวิทยาลัยอื่น   ไม่ยึดติดว่าจะเป็นแค่ “Harvard Connection” อย่างที่พี่น้อง Winklevoss นักพายเรือตั้งใจไว้
ขั้นที่สองคือตอนที่ ฌอน ปาร์คเกอร์ (Sean Parker) ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster ที่มาช่วยพระเอก เสนอว่า “นายบุกร้อยมหาลัยไป  ฉันจะบุก 2 ทวีป”  เล่นเอาพระเอกอึ้งว่า “เออแฮะ ไอว่าไอมองระดับชาติแล้วนะ   ยูนี่มองระดับโลกเลย”
ยิ่งคนเข้ามาใช้กันมากขึ้นเท่าไร ระบบนั้นก็ยิ่งน่าใช้ขึ้น มี content มากขึ้น ยิ่งเป็นตัวทวีคูณให้คนเข้ามาใช้เพิ่มอีก เพิ่มอีก  เหมือนที่พระเอกพูดว่า “มหาลัยนั้นเค้าใช้กัน  มหาลัยเราต้องเข้าไปบ้าง   เพื่อนๆใช้กัน  ฉันต้องใช้บ้าง” 
สิ่งนี้เรียกว่า “Network Effect” คือ  ของบางอย่าง  จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีคนใช้เยอะๆ และยิ่งเยอะก็ยิ่งทำให้ดึงดูดคนมาเยอะขึ้นๆไปอีก
 4. Differentiation  
ตอนต้นเรื่อง มาร์คซัคเคอร์เบิร์กถามพวกพี่น้อง Winklevoss ที่ทำเว็บ HarvardConnection ว่า เว็บนี้จะแข่งกะ Friendster, Myspace ได้อย่างไร ?
พวกนั้นตอบว่า เว็บใหม่นี่จะให้เฉพาะเด็กฮาร์วาร์ดเป็นสมาชิก และจะมีเมล์เท่ห์ๆลงท้ายว่า harvard.edu ไว้ให้สาวๆสนใจ
ซึ่งเฟซบุ๊คในยุคแรกๆก็มีความ exclusive แตกต่าง จากการสร้างแต่ฐานผู้ใช้ที่เป็นมหาวิทยาลัย Harvard และมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับ ivy league
อีกตอนที่ชัดกว่าคือตอนที่มีเพื่อนมาถามพระเอกสาวคนนั้นคนนี้มีแฟนหรือยัง   ทำให้พระเอกของเราปิ๊งไอเดีย เอาไปพัฒนาให้เฟซบุ๊คมีช่อง Relationship ว่า Single , In a relationship , In an open relationship, หรือแม้แต่ Widowed
ซึ่งในหนังจะโชว์อีกว่า  สาวๆสนใจจุดนี้มาก ในตอนหนึ่ง วาร์โดโดนแฟนเผาผ้าพันคอ  แค่เพราะลงในเฟซบุ๊คว่า Single
จุดเล็กๆบางจุดที่ว่าไปนี้ ก็คือจุดต่างจุดแข็ง ที่พระเอกเอามาทำให้เฟซบุ๊คต่างจาก Myspace , Friendster หรือแม้แต่ hi5 อย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกๆ
5. Dilusion Effect
นี่คือประเด็นทางการเงินที่ชาว startup หรือใครที่สนใจไปร่วมหุ้นใน startup ที่มุ่งการเติบโต ต้องรู้และสนใจเรื่องการ “เพิ่มทุน” ไว้ด้วย
ตัวอย่างเช่น สมมติกลุ่มเพื่อน 5 คน ออกคนละพัน  ทุกคนมี 20% เท่ากันหมด มีเสียงโหวตเท่ากัน … แต่วันดีคืนดี อีก 4 คนลงเงินเพิ่มอีกคนละ 9 พันกว่าโดยไม่บอกคุณ ทำให้ทุนโตจาก 5 พันเป็น 5 หมื่น
แบบนี้หุ้นคุณก็ลดจาก 20% เหลือ 2% สิทธิเสียงหายหมด และโอกาสลงทุนเพิ่มแบบได้ผลตอบแทนมหาศาลในอนาคตถ้าธุรกิจรุ่ง … ก็หายไปด้วย
อย่างที่ “วาร์โด้”  Eduardo Saverin พลาดตรงที่ไปเซ็นยินยอมให้มีการเพิ่มทุนได้เสมอ เท่าไรก็ได้ โดยไม่ต้องบอกก่อน
การที่หุ้นของคุณมีสัดส่วนลดลงนี้  ทางการเงินเรียกกันว่า “Dilusion Effect”
แต่สุดท้ายแล้ว Eduardo Saverin จะฟ้องร้องและเจรจายอมความกันจนได้หุ้นหลายสิบเปอร์เซนต์นั้นคืน และเจ้าตัวก็ร่ำรวยมหาศาลทุกวันนี้จากการขายหุ้นในช่วงหลังๆไปหลายครั้งและยังเหลือที่ราคาขึ้นมาอีกมหาศาลจากการที่ FB เข้าตลาดหุ้นอีก
เพื่อนๆล่ะครับ … ชอบไม่ชอบหนังเรื่องนี้ตรงไหน ? มีข้อสังเกตอะไรกันบ้าง ? และหนังเรื่องไหนอีกบ้างที่จุดไฟไอเดีย startup ให้กับคุณ ?
*************************
อีกมุมมองค่า
*************************
1. ชื่อเรื่อง : The social network (โปรแกรมเมอร์อัจฉริยะ)
2. ผู้กำกับ : Divid Fincher(ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในเรื่องนี้ด้วยค่ะอาจารย์) 
3. ผู้แสดงนำ : Jesse Eisenberg, Andrew Garfield, Justin Timberlake, Brenda Song, Rashida Jones, Max Minghella, Rooney Mara, Joseph Mazzello
4. เค้าโครงเรื่อง :
    หลังจากเลิกรากับแฟนสาวนามว่าเอริก้า มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก นักศึกษาอายุ 20 ปีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แฮคเข้าไปในทะเบียนประวัตินักศึกษาเพื่อเอาข้อมูลและรูปนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสร้างเป็นหนังสือรุ่นออนไลน์ ในชื่อเว็บไซต์ Facemash และมีการโหวตว่าใครฮ็อตไม่ฮ็อตอีกด้วย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เอดัวร์โด้ เซฟริน ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook แต่แล้ว 6 เดือนต่อมา เขาก็ถูกมหาวิทยาลัยลงโทษด้วยการระงับใช้ Internet เพราะเข้าไปแฮคข้อมูลในระบบทะเบียนมหาวิทยาลัย
    หลังจากนั้น เขาก็เกิดไอเดียใหม่ เริ่มต้นคิดค้นและพัฒนาเว็บไซต์ Facebookขึ้นมา โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ดัสติน มาสโควิตช์ รูมเมทของเขาซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook อีกคน พวกเขาได้ช่วยกันพัฒนา Facebook เรื่อยมา จนเห็นว่ามันต้องฮ็อตมาก ๆ แน่ ๆ มาร์คจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย ทิ้งใบปริญญาแล้วเดินหน้าพัฒนา Facebook อย่างจริงจัง จนในที่สุดมันก็ทำรายได้ให้กับเขามากมายมหาศาล และผลักให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ค่ะ
     ความร่ำรวยก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตราบรื่นอย่างที่ใคร ๆ คิด เพราะหลังจากที่เขาประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ เขาก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเป็นส่วนตัวและต้องต่อสู้กับปัญหาความขัดแย้งระหว่างเขา และเอดัวร์โด้ เซฟริน ที่มีปัญหากันเรื่องผลประโยชน์ จนสุดท้ายปัญญาก็ยอมความได้โดย Cameron และ Tyler Winklevossได้รับเงินไกล่เกลี่ย 65 ล้านดอลลาร์และเซ็นต์สัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล ส่วน Eduardo Saverin ได้รับเงินไกล่เกลี่ยไม่เป็นที่เปิดเผย ชื่อเขาถูกนำกลับมาที่หน้าทีมงานFacebook ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง และFacebook มีสมาชิกถึง 500 ล้านคน ใน 207 ประเทศ ปัจจุบันมีมูลค่าถึง สองหมื่นห้าพันล้านดอลลาร์ (น่าจะประมาณแปดหมื่นล้านบาทไทย ไม่แน่ใจนะค่ะอาจารย์)
5. รายละเอียด
- แนวภาพยนตร์ : ชีวประวัติ(Biography)
- เหตุผลที่คิดว่าเป็นแนวนี้ : เป็นหนังที่สร้างขึ้นจากชีวประวัติจริงของ Mark Zuckerberg (มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก) ผู้ก่อตั้ง Facebook ค่ะ
- ความยาวของภาพยนตร์ : ประมาณ 115 นาที
- การเดินเรื่อง : เดินเรื่องแบบเหตุการณ์ซ้อนเหตุการณ์ เป็นการเดินเรื่องโดยสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ โดยมีเหตุการณ์ตอนที่ มาร์ค กำลังโดนฟ้อง ในขณะที่กำลังโดนฟ้องก็พูดถึงเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตของ มาร์ค ที่ได้ผ่านมาแล้วแล้วก็มีการฉายสลับไปมาให้เห็นในฉากนั้นๆ
- เทคนิคมุมกล้อง , เทคนิคแสงสีเสียง : มุมกล้องจะถ่ายในลักษณะสลับไปมาของเหตุการณ์นั้นๆ (ส่วนใหญ่จะถ่ายตั้งแต่ศรีษะถึงแนวอก)  ใช้สีในโทนมืด ใช้การย้อมสีภาพสีเหลืองกับน้ำเงิน เสียงเพลงประกอบเข้ากับเนื้อเรื่องได้ดี
- ฉาก : เป็นสถานที่จริง  เช่นมหาวิทยาลัยก็เป็นสถานที่ที่ มาร์ค เคยศึกษาอยู่จริง ฉากมีความสวยงามมากจัดองค์ประกอบดี
- ฉากที่ประทับใจ : จริงๆชอบหมดเลยค่ะ แต่ชอบที่สุดจะเป็นฉากตอนจบ เพราะมีความเรียบง่าย คมคาย กล้องจะค่อยๆ ซูมเข้าไปที่หน้า Facebook ของเอริก้า อดีตแฟนสาวที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ มาร์ค สร้าง Facebook เขาคลิ๊กขอเธอเป็นเพื่อน แล้วกล้องก็สลับภาพไปมาระหว่างหน้า Facebook ของเอริก้า สลับภาพใบหน้า มาร์ค ค่อยๆซูมเข้าไปในแววตา มาร์ค ตั้งความหวังว่า เขาเริ่มกดปุ่มRefresh ถี่ขึ้น เพื่อหวังว่าเอริก้าจะรับเป็นเพื่อน แล้วยกโทษให้กับเขา มันเป็นฉากจบที่เรียบง่าย คมคาย ชวนให้เห็นใจค่ะ แล้วมันแสดงให้เห็นถึงความเหงาในหัวใจของ มาร์ค เขาผู้นี้ในโลกของ Social เขาคือคนดัง เขาคือคนที่มีแต่คนขอแอดเป็นเพื่อนนับหมื่นนับแสน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเขากลับไม่มีเพื่อน(รัก)เลยซักคน

- ความคิดเห็นเพิ่มเติม : พูดเร็วมากไปหน่อยในตอนแรกๆ น่าจะพูดให้ช้ากว่านี้อีกหน่อย

บันทึกนี้เขียนโดย  เมื่อ 

*****************************
สั้น ๆ แต่ชัดเจน

*****************************
เป็นภาพยนตร์ที่ผมดูแล้วต้องหาหนังแผ่นมาดู ด้วยความที่ผมเป็นคนอ่านช้า ผมขอสารภาพว่าดูรอบเดียวผมไม่ได้รู้เนื้อหา หรือซึมซับบุคลิกของพระเอกได้ทั้งหมด แต่ยิ่งมาดูหลายรอบเข้า ยิ่งทำให้เห็นความฉมังในการตัดต่อเล่าเรื่องของผู้กำกับ ไม่ว่าจะเป็นตอนเปิดก็ที่พระเอกทะเลาะและเลิกกับแฟน ก็ทำให้เราพอเดาออกและรู้จักลักษณะนิสัยของตัวพระเอกได้ครบในซีนเดียว อีกทั้งเมื่อจบซีนนั้นก็ต่อด้วยซีนทีเริ่มเขียนโค้ดหลังทะเลาะ พร้อมขิ้นชื่อเรื่อง อีกทั้งที่ผมชอบคือซีนนั้น ได้ตัดฉากสลับกับซีนของคู่คดีของเขาครบทั้งหมดโดยเป็นฉากเหมือนมีปาตี้และมีตัวหนังสือขึ้น ทำให้เราจากที่ไม่รู้นิสัยของตัวละครก็พอเข้าใจกับตัวละครแค่ฉากเพียงไม่กี่วินาที โดยส่วนตัวผมชอบเรื่องนี้เพราะการเล่าเรื่องและตัดต่อซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเขาทำให้เรื่องเราจากคดีของคนๆหนึ่งกลับมาดูสนุกและน่าสนใจได้ อีกทั้งบางซีนก็มีการซอดแทรกล้อเลียนเฟสบุคในแง่ความคิดของเขาเข้ามาใส่ เช่นเสียงในเชตเฟสบุค เป็นเสียงที่พระเอกชอบทำเวลาคิด หรือจะเป็นชื่อเก่าของfacebokk ที่มาจาก the facebook สำหรับผมเรื่องนี้เอาไปเลยสี่จุดสองห้า กะโหลก จากเต็มห้ากระโหลก

วัชระ  เพ็ญประสานชัย
คลิกดูหนังที่นี่
********************************

บทเรียนการตลาด จากภาพยนตร์เรื่อง The Social Network

หลาย ๆคนคงได้ชม ภาพยนตร์เรื่อง The social Network กันมาแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งภาพยนตร์นี้ ได้นำเสนอมุมมองทางการตลาด ไว้พอสมควร
โครงเรื่องของ The Social Network  อย่างที่ทราบกันคือ เป็นเรื่องราวของการก่อตั้งเว็บไซท์อันโด่งดังที่ชื่อ Facebook   จากมุมมองของ 2 ผู้ก่อตั้ง Eduardo Saverin  และ Mark Zuckerberg  ในภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่า Mark Zuckerberg  นั้นมีความฉลาดปราดเปรื่อง แต่งเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม จะออกแนว ค่อนข้างเปิ่น ๆ มีอัตตาสูง (มีความเป็นตัวเองสูง)  เขาเริ่มสร้างเว็บที่ทำให้เกิดสังคมออนไลน์ขึ้น  โดยเริ่มจากภายในมหาวิทยาลัย เว็บที่เค้าสร้างนั้นทำให้ผู้ใช้นั้นเชื่อมต่อ แชร์เรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างผู้ใช้เข้าด้วยกันเป็นสังคมออนไลน์ ภายหลังจากนั้น บริษัทของ Mark Zuckerberg  มีมูลค่าถึง 25 พันล้านดอลล่าร์ และมีผู้ใช้รวมกันทั่วโลก 500 ล้านคน และถึงแม้เค้าจะสร้าง Social Network ที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่ตัวเค้าเองกลับเป็นคนที่ขาด Interpersonal skill  และเหมือนเป็นคนที่อ่อนสังคม อันนำมาซึ่งเรื่องราวของความขัดแย้งในที่สุด
บทเรียนทางการตลาดที่ได้จากหนังเรื่องนี้..
1.       Ads are not cool อย่างหนึ่งที่ Mark และ Eduardo มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน  โดยที่ Mark มีความเห็นชัดเจน ที่จะไม่ต้องการใส่โฆษณาไว้บนหน้าเว็บของ facebook ในขณะที่ Eduardo คิดถึงแต่ว่านั่นเป็นสิ่งที่จะสร้างเงินสร้างรายได้ให้กับเว็บ  ส่วน Mark กล่าวว่า “เหตุผลหนึ่งที่ว่าเว็บไซต์ประสบความสำเร็จก็เป็นเพราะว่ามันเจ๋งหรือ Cool และเขาก็เป็นห่วงว่าถ้าคนเริ่มเห็นโฆษณามัน อาจจะทำให้มันเจ๊ง  หรือ Uncool”
บทเรียนจากส่วนนี้ก็คือ : หลายคนไม่ชอบโฆษณา และพวกเขาว่าเป็นสิ่งที่น่ารำคาญหรือ Uncool  หากคุณ ต้องการที่จะทำการตลาดให้กับผู้ชมที่ไม่ชอบโฆษณาอย่างมาก ๆ แล้ว ควรคิดหาช่องทางอื่นที่มันอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเข้าถึงพวกเขาผ่านช่องทางการตลาดอื่น ๆ
2.       Use key influencers to spread your idea การใช้ Influencers ผู้ที่มีบทบาท หรือ ผู้นำทางความคิด /Trend  เป็นผู้เผยแพร่ความคิดของคุณ
จากฉากหนึ่งในภาพยนตร์  หลังจากที่ Mark Zuckerberg อัพโหลดเว็บไซท์ Facebook ออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาได้ชักจูงให้ Eduardo ส่งรายชื่ออีเมล์ของ Phoenix SK Club, Exclusive คลับในมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดให้กับเขา หลังจากนั้น เว็บไซท์ได้เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และเพิ่มจำนวนผู้ใช้ที่มหาวิทยาลัย ให้มีจำนวนมากขึ้น ๆ อย่างรวดเร็วอีกด้วย
บทเรียนการตลาด : ควรพยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด และพร้อมที่จะพูดถึง เขียนถึง Brand หรือ สินค้า และบริการของเรา และให้พวกเขาเหล่านั้นเล่าเรื่องที่เราอยากจะสื่อสาร กับกลุ่มเป้าหมายแทน
3.       Build word of mouth into the product สร้าง word of mouth หรือทำให้ Brand สินค้า หรือบริการให้เป็นที่กล่าวถึง
สิ่งที่ Facebook ได้ให้กับนักศึกษา Harvard คือการทำให้ นักศึกษาได้เข้าไปดู รูปภาพ ข้อมูลส่วนตัว Profile สถานภาพ ของสมาชิกของแต่ละคนได้ในเว็บไซท์ และสิ่งที่เป็นที่โดนใจต่อนักศึกษาHarvard ในตอนนั้นก็คือ การอัพเดทสถานะ Dating Status หลังจาก facebook ได้เปิดให้ใช้บริการส่วนสำคัญส่วนนี้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย Harvard สิ่ง ๆ นี้ได้สร้างความพึงพอใจ่ต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ใช้เว็บไซท์เกิดการบอกต่อไปยังเพื่อน ๆ ของตนเอง นี้เป็นสาเหตุ และส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เว็บไซท์มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นมหาศาลภายในระยะเวลาอันสั้น
บทเรียนการตลาด : Brand หรือสินค้า บริการใดที่สามารถปรับปรุงสถานะทางสังคมของผู้ใช้ นั้นจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการพูดถึง บอกต่อ WOM (Word of Mouth)
4.       Make your product exclusive ทำให้ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการของเราเป็นเพียงหนึ่งเดียว Exclusive หรือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว   เมื่อคู่แฝด Winklevoss บอก Mark Zuckerberg ในครั้งแรกถึงไอเดียที่จะทำ Harvard Social site   Mark ได้ถามกลับไปว่าเว็บไซท์นี้จะต่างจาก Myspace และ Friendster อย่างไร ? คู่แฝดได้ตอบว่า ความแตกต่างนั้นก็คือ ผู้ที่เข้ามาใช้งานเว็บนั้นต้องการ อีเมล์ของนักศึกษาที่เรียนอยู่ที่ Harvard  จากนั้น Mark จึงได้เห็นคุณค่าของ ความเป็นเอกลักษณ์ ( Exclusivity)  อย่างที่ Mark ก็เห็นผลประโยชน์ในการเข้าไปสู่ Exclusive Final clubs ของมหาวิทยาลัย Harvard ว่าจะสามารถทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น
บทเรียนการตลาด : การที่สินค้าและบริการของเราเป็นสินค้าเดียวที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้า หรือผู้บริโภคได้นั้น ย่อมเป็นการเพิ่มมูลค่าการรับรู้ของสินค้าของเราด้วย
******************************

oblovenuk's วิจารณ์ The Social Network - โปรแกรมเมอร์อัจฉริยะ หรือ เกรียนเด็กนิสัยเสีย ??


The Social Network ( สามดาว )
...........................The Social Network สมควรโดนแบน ข้อหา “มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทั้งเรื่องผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้กัน และพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะกันและกัน จุดมุ่งหมายเพื่อชื่อเสียงและความสะใจล้วนๆ เพราะเงินทองดูเหมือนจะเป็นเพียงของแถมจากความสำเร็จก็แค่นั้น ทุกคนในหนังเรื่องนี้ ไม่มีตัวใหนที่เป็นคนดีพร้อม และเลวสมบูรณ์แบบ !! ถ้าความพอเพียง พอดี คือนิยามของคนดีในสังคมไทย หนังเรื่องนี้คือทุกสิ่งที่เป็นด้านตรงข้ามกับคนดีในอุดมคติของพวกเราทั้งสิ้น ? ทุกคนในหนัง ล้วนถูกปลูกฝังขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ชนะ เป็นที่ 1 เป็นผู้ประสบความสำเร็จ และเป็นคนที่จะกอบโกยทุกอย่างเอาไว้ในกำมือ ชื่อเสียง ความสำเร็จ การได้รับการยอมรับจากผู้คนคือความฝัน เป้าหมายของอเมริกันชนเหล่านี้

............................จะเรียกว่าเป็นหนัง anti - hero หรือด้านมืดของ american dream ก็ว่าได้ ชนชาติเค้าถูกปลูกฝังขึ้นมาเพื่อเป็นผู้นำ ผู้ชนะ และทุกคนที่ล้มเหลวก็จะถูกลืมจากประวัติศาสตร์ มีศัพท์ที่เรียกพวกนี้ว่า ไอ้ขี้แพ้ ( loser ) และคงไม่มีใครในประเทศนั้นอยากเป็น คงไม่มีใครในหมู่พวกเค้าที่รู้จักคำว่า " พอ " หรอกครับ !! และถ้าพวกเค้าพอ พวกเค้าก็คงไม่มีประเทศขึ้นมา คงกลายเป็นแค่ประชาชนชั้น 2 คงไม่ได้เป็นใหญ่ในโลกกว้างแห่งนี้ !! ถ้ามาร์ค ซัคเคอเบิร์ก รู้จักพอเพียง เค้าก็คงไม่ทำเวปอย่าง Facebook ขึ้นมาให้ยิ่งใหญ่แพร่ไปทั้งโลกเช่นทุกวันนี้ ก็คงยึดหลักทำรังแต่พอตัว ทำเวปอยู่แค่ชาวหมู่บ้านเค้าแค่นั้น พวกเราก็คงไม่ได้ใช้บริการเวปเครือข่ายสังคมที่ฮอตฮิตอย่างที่เป็นทุกวันนี้แน่นอนเลยเชียว ถามว่าเค้าผิดเหรอที่อยากดัง อยากเด่น อยากรวย อยากเจ๋ง ... ก็คงไม่มั้ง

............................ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศอเมริกันเจริญและพัฒนาขึ้นมาอย่างที่เห็นทุกวันนี้ และพวกเค้าก็ทำทุกวิถีทางที่จะปกป้อง " ประดิฐมากรรมทางความคิด " ของพวกเค้า ในขณะที่ถ้าเป็นแง่คิดแบบคนไทย หรือชาวพุทธ เจอใครขโมยไอเดีย หรือแย่งผลงานไปเป็นของตัวเอง เช่นเพื่อนจิ๊ก หัวหน้าแฮปผลงานไปเอาหน้าซะเอง หรือว่าโดนคนที่ใหญ่กว่าฉกฉวยไอเดียไป ส่วนใหญ่ก็มีแต่คนยอมทำใจ คิดว่าซวยหรือทำอะไรไม่ได้ ขณะที่ในประเทศอเมริกาหรือประเทศที่เจริญแล้ว เค้ายอมสู้ทุกอย่างเพื่อปกป้องงานความคิดของเค้า มีการฟ้องร้องกันสนุกสนาน ต่างจากเมืองไทยที่เงินซื้อได้ทุกอย่าง .. แต่มาดูดีๆ บางทีแล้ว เงินอาจจะซื้อได้หลายอย่าง เงินซื้อเพื่อนได้ ซื้อความสุขได้ ซื้อสุขภาพดีได้ ซื้อได้หมด .. สรุปว่าหนังก็สอนให้เราบูชาเงินล่ะสิเนี่ย ?
 ............................หากอเมริกามีหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่มีมันสมองน้อย สงสัยเค้าก็คงสั่งแบนหนังชนิดนี้ ยกเว้นซะแต่ว่า เค้าสนับสนุนหนังที่ตัวละครมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ !! บังเอิญว่าไม่ใช่ และผู้เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของเค้ามีสมอง และเข้าใจว่า คนดูบ้านเค้าก็มีสมอง ต่างจากประเทศล้าหลังบางประเทศที่คนของรัฐทำตัวโง่ดักดาน !! The Social Network เป็นหนังที่ปรุงแต่งจนคล้ายนวนิยายมากๆ แม้จะอิงจากเรื่องจริงบ้าง แต่ก็อย่างว่าแหละครับ 85 % คงจะตีไข่ใส่สีซะสนุก ขณะที่ 15 % ที่เหลือคงเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เพราะงั้นสิ่งที่คุณเห็น สิ่งที่คุณฟัง โปรดใช้วิจารณญาณอย่างมากทุกครั้งในทุกๆเรื่อง เพราะทุกอย่างล้วนเป็นมายา ทว่าเรื่องราวความเป็นมาของเจ้าพ่อ Facebook ก่อนจะปั้นเวปจนโด่งดัง ก็ถูกเล่าออกมาเป็นหนังได้เข้าท่า และดูเพลินพอประมาณครับ ไม่น่าเบื่อ

............................ใครบอกว่า มีเงินเยอะ ขาดเพื่อน ไร้มิตรแท้ จะต้องกลายเป็นคนที่น่าสงสาร เป็นผู้ที่ล้มเหลวในการดำเนินชีวิต บางทีอาจจะเป็นตรงข้ามก็ได้ ความสุขของคนเราอยู่ที่ใหน อยู่ที่มีเงินเยอะเหรอ อยู่ที่มีเพื่อนเยอะเหรอ อยู่ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูงเหรอ ? บางทีอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ มันอาจจะเป็น การมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองและทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดให้ออกมาดีก็ได้ บางครั้งแค่คิดดีก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าเป็นคนดีเสมอไป การคิดดีของใครบางคนอาจจะเป็นแค่การโชว์ไอเดียว่าข้าเจ๋งก็ได้ !! แต่ถ้าความคิดของเค้าคนนั้น สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนโดยรวมแล้วไซร้ ผมว่าก็หยวนๆให้เขาไปก็แล้วกัน เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคน ล้วนมีข้อดี ข้อเสียในตัวของเค้าเอง คงไม่มีใครเลวทั้งหมด หรือดีทั้งหมด ในเมื่อเราเองก็ไม่ได้ดีเด่แล้วจะไปตัดสินใครเขาทำไมกันล่ะครับ ?
ป.ล. แอ่ดเป็นเพื่อนเฟสบุคกันได้นะครับ
http://www.facebook.com/ayuwat.angkhawut?ref=profile
คลิกดูหนังที่นี่

******************************
แ่ค่เล่าเรื่องของผู้ให้กำเนิดเฟสบุ๊คก็น่าสนใจพออยู่แล้ว แต่เมื่อได้ตัวผู้กำกับมากความสามารถ เดวิด ฟินเชอร์ มากุมบังเหียนในโปรเจ็คนี้อีก ผมจึงเฝ้ารอเข้าไปชมหนังเต็งออสการ์เรื่องนี้ มาตั้งแต่รู้ข่าวว่าเริ่มสร้าง และแม้จะตั้งความคาดหวังไว้สูงลิบ แต่ผมก็พบว่าหนังยอดเยี่ยมสมราคา เรียกได้ว่าเกินความคาดหวังของผมด้วยซ้ำ นอกจากทีมนักแสดงวัยรุ่นในเรื่อง ทั้งเจสซี่ ไอเซนเบิร์ก, รูนี่ย์ มาร่า, ว่าที่สไปเดอร์แมนคนใหม่ แอนดรูว์ กาฟิลด์ และสุดแสบ จัสติน ทิมเบอร์เลก จะเข้าถึงบทบาทและแสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว ความลื่นไหลลงตัวของบท ยังช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง จนไม่ต้องกระตุ้นหรือสร้างจุดพลิกผันอะไรมากมาย แค่ปล่อยคนดูไหลตามเรื่องราวบนจอหนังก็เพลิดเพลินเจริญใจแล้ว

แทบไม่ต้องเล่าเรื่องย่อของหนัง เพราะแค่ชื่อก็ชัดเจนแจ่มแจ้ง ว่าเล่าถึงประวัติของมหาเศรษฐีอายุน้อย มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะค้นพบเฟสบุ๊ค เรื่อยเรียงไปจนถึงการก่อกำเนิดของเฟสบุ๊ค รวมถึงการจัดการกับคดีฟ้องร้องจากอดีตเพื่อนสนิท ที่ขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจกัน แม้ว่าเรื่องราวทั้งหลายจะถูกเสริมเติมแต่งเพื่อให้ความบันเทิง จนคนดูไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือส่วนที่ถูกเสริมเพิ่มเข้าไป แต่อย่างไรเสีย ความน่าเชื่อถือของตัวบท และการแสดงที่มีมิติสมจริง ก็ทำให้คนดูไม่ตะหงิดใจกับเรื่องเหนือจริงในหนัง และสนุกเพลิดเพลินไปกับภาพบนจอตลอด 2 ชั่วโมง

ผมเชื่อว่าเมื่อหนังยกชีวประวัติของบุคคลมาเล่า หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับบุคคลในสงครามมหากาำพย์ หรือใส่ความเป็นแอ็คชั่นผสมลงไปแล้ว ก็มักออกมาชวนหาวนอนและเรียบเรื่อยแทบทุกครั้งไป แม้ว่าคุณภาพของหนังจะถึงพร้อมขนาดไหน แต่ก็อาจทำให้คนดูเบื่อจนไม่สามารถเข้าถึงคุณค่าความยอดเยี่ยมนั้นได้ (เช่น Capote) ดังนั้นการที่ผู้กำกับเดวิด ฟินเชอร์ สร้างสรรค์หนังชีวประวัติที่ทั้งมีคุณภาพ ได้ทั้งสาระและเพลิดเพลินเต็มร้อยได้ขนาดนี้ ผมจึงโยกหนังสังคมออนไลน์เรื่องนี้ เข้าไว้ในหมวดหนังดีที่เชียร์ให้ได้ออสการ์ครั้งต่อไปโดยทันที

********************

คลิกดูหนังที่นี่


No comments: