2014-04-12

Slumdog Millionaire

Slumdog Millionaire

หนังออสการ์ยอดเยี่ยมปีล่าสุดนี้เกือบจะดับและตกลงเหวแล้ว เพราะจะถูกส่งลงเป็นแผ่นก่อนจะลงโรงเสียอีก แต่กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมายิ่งกว่าซินเดอเรลล่าหรือตัวละครเทพนิยายใดๆ แถมยังมาแบบเหนือเมฆ เพราะตอนนี้ราคาหนังสูงมากจนประเทศไทยเองเกือบจะไม่นำมาฉายซะแล้ว เนื่องจากมันราคาแพง เป็นหนังอิน(ดี้)เดียที่จำกัดโรงฉาย ไม่คุ้มลงทุน ทั้งยังแนวทางหนังก็ไม่ถูกปากคนไทยนัก แต่ด้วยกระแสด้านบวกล้นหลามจากปากต่อปาก นักวิจารณ์ และสามารถคว้ารับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากลูกโลกทองคำและออสการ์ Slumdog Millionaire จึงมีโอกาสมาให้คนไทยลิ้มรสจนได้ หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องสั้นที่ตีแผ่สังคมอินเดียผ่านเรื่องราวของจามาล มาริค เด็กหนุ่มวัย 18 หน้าตาฉลาด(น้อย) ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่มีพื้นเพมาจากสลัมมุมไบ แต่กลับพลิกผันได้มาเล่นเกมส์ในรายการ Who Wants To Be A Millionaire (หรือรายการเกมส์เศรษฐีบ้านเรานั่นแหละครับ) จามาลเหลืออีกเพียงหนึ่งคำตอบที่ถูกจากหนึ่งคำถามก็จะคว้าเงินรางวัลสูงสุด 20 ล้านรูปี ด้วยลักษณะและพื้นเพความเป็นมาของเขา ทำให้เพรม คูมาร์พิธีกรของรายการคิดว่าจามาลโกงเกมส์การแข่งขัน ช่วงพักรายการก่อนถ่ายต่อคำถามสุดท้าย ตำรวจจึงนำตัวเขาไป(ทรมาน)สอบสวนเค้นความจริง เด็กหนุ่มจากสลัมจึงเล่าเรื่องทุกอย่างในอดีตที่เป็นกุญแจไขสู่คำตอบให้ฟัง ชีวิตความเป็นอยู่ของจามาล สะท้อนภาพลักษณ์ สังคม บ้าน(ป่า)เมือง(เถื่อน)ของเขามาโดยตลอด เช่น ฉากที่แม่จามาลถูกฆ่าตาย เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างฮินดูและมุสลิม ที่ฝ่ายแรกต้องการไล่ฝ่ายหลังออกนอกประเทศ ซึ่งความไม่ลงรอยนี้ก็สืบเนื่องมานับพันปีเห็นจะได้ หรือฉากที่จามาลกับซาลิมพี่ชายอจมป่วน และเด็กสาวที่จามาลรัก ลาติกาต้องตกอยู่ในเงื่อมมือแก๊งจับเด็กไปขอทาน อย่างที่รู้ๆกันดีว่า อินเดียติดอับดับประเทศที่มีขอทานเยอะสุดของโลก หรือกระทั่งพฤติกรรมการดูถูกของพิธีกรรายการต่อจามาลก็ดูช่างไม่ต่างกับการแบ่งชนชั้นวรรณะในสังคมอินเดีย เป็นต้น แต่ความหนักอึ้งของเรื่องกลับไม่ได้ทำให้หนังดูตึงเครียดเกินไป หนังผ่อนคลายด้วยการแทรกมุขตลก และความตื่นเต้นอยู่เสมอ จนลืมไปว่าความรันทด ยากจนข้นแค้นแสนลำบากลำบนของจามาลมันหนักหนาสาหัสเอาเรื่องทีเดียว
ส่วนตัวผมชอบที่หนังตั้งคำถามว่า How did he do it? A. He cheated B. He's lucky C. He's genius D. It's written สร้างปมให้เราคิด และคาดหวังว่าจะตอบถูกหรือไม่ ประหนึ่งว่าเราตกอยู่สถานการณ์เดียวกับจามาล ที่กำลังเล่นเกมส์เศรษฐีอยู่ แล้วคำตอบก็จะค่อยๆเฉลยเมื่อเรื่องราวดำเนินไปจนถึงจุดหมายปลายทาง เนื้อหาโดยหลักแล้วเป็นเรื่องของตามหารักที่หายไปของตัวเอก และเป็นสาเหตุสำคัญที่เขาต้องมาเล่นเกมส์เศรษฐีนี้ จามาลพลัดพรากกับลาติกาสาวคนรักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาก็พยายามสู้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพื่อรักแท้ หนังสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันได้ลงตัวน่าสนใจ โดยใช้เรื่องเล่าเหตุการณ์ที่ดำเนินในอดีตมาตอบโจทย์ ทั้งยังสร้างความผูกพันตัวละครกับคนดูให้เอาใจช่วยลุ้น และบอกที่มาที่ไปได้ลงตัวสอดคล้องกับปัจจุบัน ส่วนนี้ต้องยกนิ้วโป้งให้กับบทหนังดัดแปลงที่สมบูรณ์และฝ่ายตัดต่ออันยอดเยี่ยม แต่ในความดีเด่นนั้นมันก็มีผลร้าย ที่สุดท้ายแล้วเหมือนว่าเรากำลังดูรายการสู้แล้วรวย ซึ่งตอนจบมักจะลงเอยตามชื่อรายการ เป็นข้อเสียอย่างนึงที่ผมเห็น คือ คาดเดาเรื่องได้ง่าย (ผมเดาออกอยู่คนเดียวหรือเปล่าก็ไม่ทราบ...อิอิ) ที่ไม่ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ ประหลาดใจอะไรให้ผม เพราะเรื่องราว (D.It's written) เหมือนถูกเขียนไว้แล้ว การเดาเรื่องออกก็ไม่ได้แปลว่าผมชำนาญการแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่นักดูหนังจะสัมผัสได้เอง
ขอยืมคำพูดของคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่จะพูดไว้ในรายการเกมส์เศรษฐีว่า ''ไม่มีใครโง่หรือฉลาด มีเพียงแค่รู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง'' คำพูดนี้ได้รับการยืนยันในหนังด้วย เมื่อตอนครั้งที่เจอคำถามง่ายดายที่ใครๆก็รู้แต่จามาลกลับตอบไม่ได้ พอเป็นคำถามที่คนอื่นคิดว่ายาก เขากลับตอบได้อย่างไม่ลังเลแม้แต่น้อย เป็นข้อคิดที่ดีว่าอย่าดูถูกใคร แต่ละคนล้วนเจอประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางคนอาจรู้สึกง่ายในเรื่องที่อีกคนกลับบอกว่ายาก ความดีงามจนล้นเอ่อของหนังในทุกด้าน ช่วยบดบังข้อด้อยอันน้อยนิดให้เรามองข้ามไป เพราะหนังถึงพร้อมด้วยสาระและความสนุก ดูแล้วรู้สึกดีและประทับแน่นอน และนี่เป็นผลงานสร้างลำดับที่เก้าของแดนนี่ บอยล์ ผู้กำกับขวัญใจเด็กแนว (ผมเองก็ติดตามผลงานเขามาตลอด แต่ไม่ยักจะแนวเท่าไหร่) ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงราวัลจากทุกสถาบันมากกว่าทุกเรื่องที่เขาเคยทำมา ผมก็ตอบได้อย่างมั่นใจว่า Slumdog Millionaire นี้ ของเขาดีจริงสมราคาตัวเต็งออสการ์ เป็นคำตอบสุดท้ายเลยครับ
บทวิจารณ์โดย ManasuK



************************************************

ผมชอบดูหนัง อ่านวิจารณ์หนัง และคอยลุ้นทุกครั้งที่มีการประกวดภาพยนตร์ทุกเวที ถ้าไม่ได้ดูถ่ายทอดสด ก็ต้องติดตามอ่านในสื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เนต
ปีนีมีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมแอบลุ้นอยากให้ได้รางวัลออสการ์ นั่นคือสลัมด็อก มิลเลียนแนร์ (Slumdog Millionaire) ” และก็สมหวัง เพราะจากการประกาศผลรางวัลออสการ์ 2009 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่าน Slumdog Millionaire  หนังที่สร้างโดยคนอังกฤษ แสดงโดยคนอินเดีย กวาดรางวัลในอเมริกาไปได้ทั้งหมดถึง รางวัล รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีด้วย 
             
*
คนฮอลลีวู้ดได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วชื่นชมเป็นพิเศษ (ไม่อย่างนั้นคงไม่ให้รางวัลมากมายขนาดนั้น) แต่คนที่รู้สึกเย็นชาหนังเรื่องนี้กลับกลายเป็นคนอินเดีย  จนเกิดการประท้วงในอินเดีย และอาจมีคดีฟ้องร้องกันยืดยาวต่อไปก็เป็นได้ 
นี่คือภาพแสดงความไม่พอใจของชาวอินเดียที่มีต่อหนังเรื่องนี้ 
ตอนที่ผมได้ยินเรื่องความไม่พอใจของคนอินเดียที่มีต่อหนังเรื่องนี้ ใจก็พลันนึกไปถึงหนังไทยเรื่องหมากเตะ ที่ถูกรัฐบาลลาวและคนลาวประท้วง จนผู้สร้างต้องนำมาทำใหม่ ตัดต่อใหม่ พออกฉายรายได้ไม่ดี ขาดทุนไปพอสมควร
(ตอนท้าย ๆ ของข้อเขียนวันนี้ ผมนำบทความของอาจารย์ วรากร สามโกเศศ จากมติชนวันที่ 19 ก.พ.52 หน้า 6 มาอธิบายว่าทำไมคนอินเดียจึงรู้สึกเย็นชากับหนังรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ เรื่องนี้)
 
Slumdog Millionaire หนังทุนสร้างเพียง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กำลังทำเงินสู่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐจากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้  เป็นเรื่องราวของ จามาล (Jamal) หนุ่มอินเดียกำพร้าวัย 18 ปี ที่อาศัยอยู่ย่านสลัม ในเมืองมุมไบ (หรือบอบเบย์เดิม)
 
เขาโชคดีได้เป็นผู้แข่งขันรอบสุดท้ายของรายการโทรทัศน์ยอดนิยม แข่งขันตอบปัญหาของอินเดีย "Who Wants to be a Millionaire"  ผู้คน 60 ล้านคนที่ดูรายการต่างเชียร์ให้กำลังใจเขา
จนถึงคำถามสุดท้ายที่จะทำให้ได้รางวัลชนะเลิศ 2 ล้านรูปี เวลาก็หมดพอดี ต้องกลับมาตอบคำถามอีกในวันรุ่งขึ้น
         
แต่เมื่อต้องพักการถ่ายทำรายการในช่วงกลางคืน ตำรวจกลับเข้ามาสอบปากคำเขา ว่าเขากำลังโกงอยู่หรือไม่  คนจำนวนมากสงสัยว่าคนไร้การศึกษาอย่างเขาสามารถเอาชนะคนเก่ง ๆ ที่เรียนมามากมายได้อย่างไรจนเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ 
ทำไมคนที่ยอมรับด้วยตัวเองว่าไม่ได้ปราดเปรื่องอะไรอย่าง จามาล กลับตอบคำถามได้มากกว่าผู้เข้าแข่งขันที่เรียนมาสูงกว่า ฉลาดกว่า และมีอันจะกินกว่า
 
         
จามาล ไม่รู้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้อย่างไร เขาจึงเล่าเรื่องชีวิตของเขาให้ทุกคนฟัง เขาเติบโตมาพร้อมกับพี่ชายชื่อ ซาลิม ในชุมชนแออัด
พวกเขาได้ผจญภัยด้วยกันบนท้องถนน ได้เผชิญหน้ากับเจ้าถิ่นกลุ่มอื่นๆ และเรื่องราวเกี่ยวกับ ลาติกา (ฟรีดา ปินโต) เด็กสาวที่เขาหลงรักและสูญเสียไป
  
เรื่องที่จามาลเล่า เขาสามารถอธิบายให้ฟังได้อย่างชัดเจนว่าเขารู้คำตอบของคำถามแต่ละข้อในเกมโชว์นี้ได้อย่างไร
 
และในวันรุ่งขึ้นที่ จามาล จะได้ตอบคำถามสุดท้ายของเขา ทั้งตำรวจและผู้ชมกว่า 60 ล้านคน อาจจะได้คำตอบด้วยว่า อะไรกันแน่ที่ผลักดันเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ปรารถนาอยากจะร่ำรวยอะไรนัก ให้มายืนอยู่ในรายการนี้
Danny Boyle ผู้อำนวยการสร้างได้ทิ้งผลงานที่น่าประทับใจ  ชาวโลกชอบและเอาใจช่วย Jamal แต่เหตุใดคนอินเดียกับรัฐบาลอินเดียจึงเย็นชากับหนังดีเรื่องนี้  อาจารย์ วรากร สามโกเศศบอกว่า ...
 ... คำตอบก็คือความยากจนที่แสดงบนจอนั้นอาจใกล้ความจริงเกินไป
มุมไบเป็นชื่อใหม่เมื่อประมาณ 10 ปีเศษของบอมเบย์  ซึ่งเป็นชื่อที่อังกฤษเรียกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 …
เมืองมุมไบ หรือบอมเบย์นี้  มีประชากร 13.6 ล้านคน ใหญ่เป็นที่สองในโลกรองจากนิวยอร์ก ถ้านับรวมพื้นที่มหานครรอบข้างด้วยแล้วก็จะมีประชากรถึง 20.8 ล้านคน ผู้คนอยู่กันหนาแน่นถึง 20,000 กว่าคนต่อตารางกิโลเมตร
 
มุมไบเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และการบันเทิง (Bollywood หรือHollywood ของอินเดียอยู่ที่นี่) เป็นเมืองใหญ่ที่รับครึ่งหนึ่งของสินค้าที่เข้าอินเดียทั้งหมด
เมื่อเมืองใหญ่ขนาดนี้และมีประชากรอยู่หนาแน่นอีกทั้งมีการกระจายรายได้ที่บิดเบี้ยวสุดโต่ง การมีสลัมใหญ่ของเมืองจึงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
แต่มาครั้งนี้อินเดียเปลี่ยนไปแล้วเพราะกำลังจะเป็นสมาชิกของพลังเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ชีวิตชาวสลัมที่ถูกตีแผ่อย่างถึงกึ๋นเช่นนี้จึงไม่เป็นที่น่ายินดีอีกต่อไป
สิ่งที่บางกลุ่มในอินเดียต่อต้านก็คือคำว่า dog โดยเฉพาะ slumdog ว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามชาวสลัม
Danny Boyle ผู้สร้างภาพยนตร์อธิบายว่า dog มาจากคำว่า underdog หมายถึง ผู้ด้อยข้อได้เปรียบ หรือผู้เสียเปรียบนั่นเอง  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีคนเอาใจช่วยโดยธรรมชาติ
และเมื่อบวกกับ slum เป็น slumdog ก็ทำให้เห็นภาพชัดเจนของชาวสลัม การจะตัดสินว่าหนังดูถูกเหยียดหยามหรือไม่ขอให้ดูเนื้อหาของผลงาน
ความไม่พอใจของคนอินเดียที่มีต่อหนังเรื่องนี้ บางส่วนอาจมาจากประเด็นความเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คืออินเดียยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป... อดทนกับการเปิดเผยความจริงน้อยลง
ลึก ๆ อาจอยากให้มีแต่ Bollywood เป็นผู้บันทึกหน้าตาของอินเดียลงบนแผ่นฟิล์มสู่โลกภายนอก อยากให้โลกเห็นแต่แผ่นดินที่น่าลงทุน มีความก้าวหน้าด้าน  IT และมีโอกาสในการลงทุนอย่างไม่มีขีดจำกัด
ความจริงเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่การหลีกหนีความจริงจะสร้างความเจ็บปวดมากยิ่งกว่าในช่วงเวลาต่อไป 
 
พูดถึงเรื่องนี้ ผมว่าผมเข้าใจความรู้สึกของคนอินเดียที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้นะ เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่ผมมาจากสุพรรณบุรี เข้ามาเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพฯ เวลาโดนเพื่อน ๆ ที่เป็นคนกรุงเทพฯ ล้อว่า เป็นคนสุพรรณ บ้านนอก เสียงเหน่อ ตัวดำ เชย ไม่ทันสมัย ผมก็โกรธมาก และรู้สึกไม่พอใจนะ (ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นเรื่องจริง ไม่รู้ตอนนั้นไปโกรธเพื่อนทำไม) 
แต่พอเวลาผ่านมานานเข้า  สงสัยอายุมากขึ้น ทุกวันนี้ผมยอมรับความจริงได้ เวลาใครบอกว่าผมเป็นคนสุพรรณ เสียงแปลก ๆ เหน่อ ๆ ผมกลับรู้สึกดี มีเอกลักษณ์ ภาคภูมิใจในความเป็นคนสุพรรณ ตัวดำ เสียงเหน่อ
 ไม่โกรธเวลามีใครมาล้อมาแซว  แถมยังทำวิกฤติให้เป็นโอกาส เอามาเป็นจุดขาย หรือ Selling Point  ของตัวผมซะเลย
เรื่องนี้ผมว่าต้องเข้าใจ และให้เวลาคนอินเดียที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ  จริง ๆ ผมก็เคยเป็น underdog (มวยรอง) มาก่อนนะครับ แต่ทุกวันนี้ขยับจากรองอันดับสี่ มาเป็นรองอันดับสาม เลยอยากให้กำลังใจ underdogด้วยกันมากกว่า 
 
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้แง่คิดจากหนัง 8 รางวัลออสการ์เรื่องนี้ หนังที่ใช้ทุนสร้างเพียง 15 ล้านดอลล่าร์ แต่ทำรายได้สูงถึงเกือบ 100 ล้านดอลล่าร์  มันชี้ให้เห็นว่าของดีไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป
ใช้เงินน้อย แต่ใช้สมองเยอะ ผลลัพธ์ที่ได้ก็มหาศาลได้เหมือนกัน  ยิ่งยุคนี้วิกฤติเศรษฐกิจ เราต้องรู้จักคิด คิด คิด ให้มากขึ้นกว่าเดิม  แต่ต้องใช้เงินให้น้อย น้อย น้อย ลง เพื่อความอยู่รอด
โดยเฉพาะพวก underdog หรือมวยรอง รายได้ก็ต่ำ เงินทุนก็ต่ำอยู่แล้ว อย่าเผลอทำตัวเป็นพวกรสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำเป็นอันขาด   
บางครั้งการทำอะไรที่ไม่ต้องหรูหราอลังการมาก ทำพอดี ๆ เรียบง่ายก็มีคุณค่ามากได้เหมือนกัน  ตรงกับแนวคิด  “Low Profile , but High Profit”  ที่ผมชอบนำมาใช้ในชีวิตส่วนตัวและการงาน  
เห็นความสำเร็จด้านรายได้ของหนังต้นทุนต่ำเรื่องนี้ แล้วทำให้ผมนึกถึงหนังไทยฟอร์มเล็ก เรื่อง รักแห่งสยาม ลงทุนไม่มากนัก แต่ผลลัพธ์ออกมาดีมาก ทั้งด้านเนื้อหา ชื่อเสียง และรายได้
หนังเรื่องนั้นพูดถึงเรื่องความรักในหลากหลายมิติ รักของแม่ที่มีต่อลูก รักของสามีภรรยา และรักของชายกับชาย ใครเป็นพ่อเป็นแม่มีลูกวัยรุ่น ถ้าดูด้วยความเข้าใจ  เปิดใจ ยอมรับความจริง แล้วเราก็จะไม่โกรธผู้สร้างหนัง 
จะว่าไปแล้วหนังสองเรื่องนี้พูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ 2 เมือง ต่างกันตรงที่หนังเรื่อง รักแห่งสยาม บอกเล่าปัญหาความรักและครอบครัวเล็ก ๆ ของคนกรุงเทพ 
แต่ สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ เปิดเผยภาพปัญหาชีวิตต้องสู้ของคนสลัมยากจนจำนวนมากในเมืองใหญ่อันดับสองรองจากนิวยอร์ก


*******************************

อาจจะงงว่าทำไมผมถึงจั่วหัวไว้แบบนี้ เพราะผมเคยตั้งกระทู้นึงไว้ เรื่อง High School Musical 3 : Senior Year
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7437916/A7437916.html

ซึ่งแบบนั้นมันเรียกว่า "บทวิจารณ์" นะครับ เพราะผมพูดถึงความรู้สึกอย่างเดียว
(แต่ผมก็แอบสปอยล์เล็กๆๆ ซึ่งผมก็เขียนบอกก่อนจะสปอยล์แล้ว)

แต่คราวนี้แหละ ผมจะสปอยล์แบบเต็มสตรีม ..ใครที่ยังงงอยู่ว่าสปอยล์มันมีขอบเขตแค่ไหน อาจจะได้รู้กันมากขึ้น !!
ส่วนถ้าเขียนแบบที่ผมเขียนคราวก่อน ..นั่นมันแค่คริติกนะครับ ยังไม่ถึงสปอยล์(ยกเว้นส่วนที่ผมตั้งใจสปอยล์นะ)

เริ่มเลยละกัน ..หนังเรื่องนี้ ถือเป็นหนังอินเดียที่ผิดความคาดหมายนิดหน่อย(หมายถึงหนังที่พูดถึงอินเดียอ่ะนะ) 
เพราะผมไม่คิดว่าเค้าจะกล้าเล่นกับความเสื่อมโทรมในสังคมอินเดีย เมืองบอมเบย์ ..หรือก็คือ มุมไบนั่นแหละ .
.หนังเล่าแบบหมดเปลือก ..ทั้งเรื่องขอทานเด็ก เรื่องโสเภณี สลัม แกงค์ต้มตุ๋น การเอาเปรียบทางสังคม การแบ่งชนชั้น และแม้แต่เรื่องศาสนา !!

ผมพอมีเพื่อนอยู่อินเดียบ้าง ..หลายครั้งมันชวนผมไปเที่ยว แต่ผมก็ยังไม่ค่อยกล้า 
ไม่ใช่อะไรหรอก ก็มันเองนั่นแหละที่คอยเป่าหูผมตลอดเวลา ว่าต้องระวังนู่นนี่นั่น ผมก็เลยค่อนข้างกลัว 
..แต่ ณ เวลานี้ ..ผมรู้สึกว่าอยากไป ..ผมอยากรู้ว่าการใช้ชีวิตแบบอินเดียเป็นยังไง ..

อยากเจอ อยากเห็นว่ามันเป็นแบบที่หนังมันสื่อออกมา และแบบที่เพื่อนเล่าจริงรึเปล่า ..
เอาล่ะ กลับมาพูดถึงหนังกันต่อ ..จริงๆๆหนังเรื่องนี้ พล็อตเรื่องแทบไม่มีอะไรน่าสนใจเลย 
แต่ที่มันน่าสนใจ มันอยู่ที่การเล่าเรื่อง การจัดวางองค์ประกอบ และฝีมือการแสดง ..
โดยเฉพาะการแสดง ..ผมขอชมคนแคสติ้งตัวนักแสดงมากๆๆ ..เลือกนักแสดงมาได้เหมาะเจาะจริงๆๆ 
นักแสดงเล่นเก่งทุกคน แม้แต่พวกเด็กๆๆ ..ไม่น่าเชื่อว่าเค้าจะสามารถหาเด็กที่มีความสามารถขนาดนั้นมาเล่นได้ 
ทั้งการพูดไม่ติดขัด การแสดงไม่เคอะเขิน ไหลลื่นมากๆๆ 

..จริงๆๆผมไม่รู้จักนักแสดงในเรื่องซักคนเลยนะครับ ผมไม่รู้ว่าเค้าเป็นนักแสดงอยู่แล้ว หรือเป็นนักแสดงใหม่ ..แต่ผมขอชมด้วยความจริงใจ



อย่างแรกที่อยากชม ..ผมชอบการให้คาแรคเตอร์ของแต่ละตัวละคร ..เพราะมันทำให้ผมรู้สึกว่า นี่มันมนุษย์จริงๆๆ  
ไม่ใช่คนดีก็ดีแบบเทพอวตาน คนชั่วก็ชั่วเป็นซาตานมาเกิด แต่หนังเรื่องนี้ ยังคงความเป็นมนุษย์ไว้ มัดีมีชั่ว ผสมกัน !!



หนังพูดถึงความรัก ความผูกพันธ์ และการเสียสละของคนสามคน หรือที่พวกเค้าเรียกตัวเองว่า "The Three Musketeers" หรือ "3ทหารเสือ" 
เป็นชื่อของตัวละครเอกในหนังสือชื่อเดียวกัน ที่พวกเค้าเคยเรียนสมัยเป็นเด็ก 

พูดถึงพี่น้องตระกูล มาลิค(Malik)ก่อนละกัน .."ซาลิม"ผู้พี่ ..ถึงจะมุทะลุ เลว(ในสายตาคนอื่น)  แต่เค้าไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นคนไม่ดี 
..สำหรับเค้าแล้ว ..น้องชายของเค้าคือชีวิต เค้ายอมทำทุกอย่างได้เพื่อน้องชาย ถึงบางครั้ง เค้าจะดูเหมือนเอาเปรียบน้องชายเค้าบ้างก็เถอะ
(ในตอนเด็กนะ ..ซึ่งผมมองว่ามันเป็นอารมณ์แกล้งกันของเด็กมากกว่า) 
แต่เค้าสละให้น้องชายเค้าได้ แม้แต่ชีวิตเค้าเอง ..

"จามาล" ผู้น้อง ชายผู้เป็นคนดีโดยสันดาน ..แต่ก็ไม่ใช่ดีเวอร์ ..เค้ายังคงมีความเป็น
มนุษย์อยู่ คือเค้ายังไปต้มตุ๋น ไปขโมยของ ..ไปทำอาชีพทุจริต เพื่อการมีชีวิตรอดได้
แต่ไม่ใช่ว่าผมจะบูชาคนทำอาชีพนี้นะครับ ..เพียงแต่ผมชอบการนำเสนอชีวิตของตัวละครเท่านั้นเอง ..

และซีนที่ผมชอบที่สุด ตอนที่มีคนเข้าใจผิดว่าเค้าเป็นไกด์ แลัวเค้าก็มั่ว 555++ นั่งดูก็ฮาขึ้นมาเลย ..
แล้วเด็กคนนั้นก็เล่นดีด้วย ..คำพูดคำจา ท่าทางการแสดงออก ..มันสื่อได้จริงๆๆว่าเค้าเป็นคนไม่รู้เรื่องอะไร แต่อยากได้ตังค์ไง 
ก็เลยเดาสุ่ม มั่วซั่ว จับนั่นผสมนี่ไปเรื่อยเปื่อย ..และเพราะอะไรๆๆที่เค้าผ่านมาในอดีตนี่เอง ..เค้าจึงกลายเป็นมหาเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน ..!!  

อีกคนนึงที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย .."ลาติกา" หรือทหารเสือคนที่สาม ผู้เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของสองพี่น้อง 
..เพราะเธอ ทำให้พี่น้องเกือบทะเลาะกันว่าจะรับเธอเข้ากลุ่มมั้ย ..เธอ ..ทำให้จามาลต้องกลับไปในซ่องนรก เป็นเหตุให้ซาลิมฆ่าคนตาย 
..และเพราะช่วยเธอ ..ซาลิมถึงถูกฆ่า ..ดูเหมือนเธอมีอิทธิพลต่อหลังเหลือเกินนะครับ ..
แต่จริงๆๆเธอเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาๆๆคนนึงเท่านั้นเอง ..แค่บังเอิญ ที่เธอได้มาเจอพวกเค้าทั้งสอง ก็เท่านั้น !!

หนังได้ประชดประชันสังคมได้พอสมควร ..อย่างที่เกริ่นตอนแรก ..ว่าหนังพูดถึงความเสื่อมโทรมต่างๆๆในอินเดีย 
โดยเฉพาะการแบ่งชนชั้น ..ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมอินเดียปัจจุบัน ..ตำรวจ กับพิธีกรรายการ เป็นตัวแทนของการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน ..
เพราะเค้าไม่เชื่อว่า เด็กสลัมจนๆๆ จะตอบคำถามยากๆๆได้ ..รวมถึงที่พิธีกรพูดตลอดเวลาว่าจามาลเป็น Chaiwalla หรือเด็กเสิร์ฟ 
และที่เค้าถามจามาลก่อนจะถามคำถามข้อสุดท้ายว่า "Big reader you Jamal ??" ซึ่งจากคำถามอาจดูไม่มีอะไร ..แต่ด้วยน้ำเสียง ด้วยท่าทาง ..มันเหมือนเป็นคำถามเชิงดูถูกอยู่เป็นนัยๆๆ ว่าจามาลไม่ได้เรียนหนังสือมา อะไรประมาณนั้น 
..แต่จามาลเอง เค้าก็ตอกกลับไปเหมือนกันว่า "I can read" สั้นๆๆ  แต่ผมก็รู้สึกสะใจมาก 555++ 
..คือเค้าไม่ได้บอกว่าเค้าเป็นนักอ่าน ตามที่คำถามต้องการ ..แต่เค้าใช้คำตอบที่ตรง ..คือหาว่าไม่ได้เรียนมา ก็บอกว่า "ผมอ่านออกละกัน"  ประมาณนี้ 
..ซี่งผมชอบมาก สะใจดี ..ไม่ใช่เท่านี้นะครับ ที่เค้าพยายามจะเสียดสีเรื่องการแบ่งชนชั้น ..ยังมีอีกเยอะมาก แต่ขอพูดถึงแค่นี้ละกัน ..

นื้อเรื่องหลัก พูดถึงเกมส์ที่ชื่อว่า "Who wants to be a millionaire" หรือก็คือเกมส์เศรษฐีนั่นแหละ 
ซึ่งตอนนี้อาจจะกำลังบูมในอินเดียรึเปล่า??  อันนี้ผมไม่รู้นะ ..

เค้าพยายามจะบอกว่า ..รายการนี้ ไม่ใช่รายการที่ต้องการคนเก่ง ..แต่เหมือนกับที่คุณไตรภพชอบพูดอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่เค้าทำรายการนี้ 
คือ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า "เราเก่ง หรือไม่เก่ง" หรือ "เราโง่ หรือไม่โง่" แต่มันอยู่ที่ "เรารู้ หรือไม่รู้"ต่างหาก 
หนังพูดถึงตรงนี้ตั้งแต่คำถามที่สอง ..ซึ่งมันเป็นเรื่องทั่วๆๆไป ถามถึงวลีนึง ที่พิธีกรบอกว่าเป็นวลีติดปากของคนในประเทศ 

..แต่....................................................จามาลตอบไม่ได้ !! 

หมายความว่าจามาลโง่งั้นเหรอ??   หรือจามาลไม่เก่งงั้นเหรอ??

..ไม่ใช่หรอก!!  เค้าก็แค่ไม่รู้ ..ซึ่งมันก็ไม่ผิด ..
เพราะขนาด inspector ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าใครขโมยจักรยานตำรวจไป 

ซึ่งจามาลบอกว่า "Everyone in Juhu know that. Even 5 year olds" 
ซึ่งมันจะแปลได้ประมาณว่า .."ทุกคนในจูฮูรูกันหมดแหละ ไม่ใช่แค่เด็ก 5ขวบ"  

เหอๆๆ ..เป็นอีกซีนที่ผมสะใจ ..เพราะในสังคม ไม่เฉพาะอินเดียหรอก ..จะชอบมีคนประเภทเนี่ยะ ..
คือดูถูกคนอื่น ดูถูกคนที่เค้าไม่รู้เรื่องที่ตัวเองรู้ ว่าเป็นคนโง่ 

..เอาง่ายๆๆเลยนะ ..ในบอร์ดเนี่ยะ พอมีคนโพสกระทู้ถามเรื่องที่คนอื่นเค้าน่าจะรู้กันแล้ว เช่นพวก ยาราไนก้า อาเบะ อะไรพวกนี้
..มันก็จะมีมนุษย์ใส้เดือนกลุ่มนึง ดิ้นพราดๆๆราวกับโดนขี้เถ้า เข้าไปถล่ม จขกท ว่าโง่บ้างล่ะ ..หรือนู่นนี่นั่น ..เพียงเพราะเค้าถามคำถามพื้นๆๆ 
..แต่มันผิดเหรอที่เค้าไม่รู้??  มันก็ไม่เห็นผิดถึงขนาดต้องไปถล่มเค้าขนาดนั้น ..เค้าถามมา ตอบไปก็จบ 
..เค้าไม่รู้ ไปถล่มเค้า เค้าจะรู้เหรอ?? ถ้าเป็นคำถามซ้ำซาก วันนึงโพสถามกัน 20กระทู้ก็ว่าไปอย่าง 
..หรือถ้าเบื่อที่จะตอบ ก็แค่บอกเค้าว่าให้ไปเซิร์ทที่สมาร์ทเซิร์ทก็ได้ 
..เพราะบางคนเค้าก็ไม่รู้ว่าระบบมีสมาร์ทเซิร์ทด้วย

.ตอนแรกๆๆที่ผมเล่นบอร์ด ผมก็ไม่สังเกตเหมือนกัน !! เพราะพอเปิดหน้าเว็บเข้ามาก็เลื่อนหากระทู้เลย ..ไม่ได้ดู

นี่มาถึงก็มาถล่มเค้า ..มาว่าเค้าต่างๆๆนาๆๆ  ....................ปัญญาอ่อน !

กลับเข้าเรื่อง ^^..ต่อจากข้างบนอ่ะครับ

แต่พอมาถามคำถามยากๆๆ ..ไม่สิ เรียกว่าเป็นคำถามที่ไม่น่ามีคนรู้มากกว่า 
..เช่นถามถึงรูปคนบนธนบัตร 100ดอลล่าสหรัฐ  ..เรื่องนี้ทุกคนต่างคิดว่าจามาลไม่น่าจะรู้ 
ก็ใครล่ะจะคิด ว่าเค้าเคยจับธนบัตร 100ดอลล่าห์ด้วย ...!!

แต่  ....................................จามาลตอบได้ครับ ^^.

นี่เป็นอีกข้อสังเกตนึง ..ว่าที่เค้าตอบได้ ไม่ใช่เพราะเค้าฉลาด เพียงแต่เค้ารู้ ก็เท่านั้น 

..และก็ถามไปเรื่อยๆๆครับ เล่นกับความรู้ หรือไม่รู้ของจามาลนี่แหละ 
..ซึ่งแน่นอน เค้าตอบได้หมด ..ยกเว้นข้อสุดท้าย 

อ้อ ..ไม่สิ ข้อก่อนสุดท้าย ..คำถามว่าไรไม่แน่ใจเหมือนกัน(ลืม) แต่คำตอบคือข้อ D 
..ก่อนการตอบ พิธีกรให้พักเบรคก่อน ..และแอบไปบอกคำตอบแก่จามาล 

..แน่นอน เป็นคำตอบลวง 

..ทั้งที่ข้อนี้จามาลเค้าไม่มีข้อมูลเลย ..ไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร เค้าเลือกใช้ตัวช่วย 50:50 คือตัดข้อที่ไม่ใช่ออก 2ข้อ 
และมันก็เหลือข้อ Bที่พิธีกรหลอกเค้า และข้อD คำตอบที่ถูก

.ตรงนี้จามาลเลือกที่จะตอบ D เค้าเลือกที่จะไม่เชื่อคำตอบที่พิธีกรบอก 
ถ้าเป็นผม ผมก็คงลังเลอยู่เหมือนกัน ..เพราะตอนที่พิธีกรเข้ามาบอก เค้าก็พูดอย่างเป็นมิตร ดูหวังดี 

แต่จามาลไม่เชื่อ ..!!
อาจเพราะก่อนหน้านั้น พิธีกรก็ออกอาการดูถูกเค้าอย่างชัดเจน 
แน่นอน จามาลตอบถูก รับเงินไปถึง 10ล้าน ..!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!
และก่อนจะเล่นข้อสุดท้าย  ก็ตามธรรมเนียมรายการสดแนวนี้ครับ เพื่อเรียกเรตติ้ง 
ต้องเอาข้อสุดท้ายไปเล่นวันต่อไป คนจะได้ตามดูเยอะๆๆ 

..และนี่เอง จุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด ..จามาลถูกจับ ข้อหาโกงรายการ !!(เรียกว่าถูกควบคุมตัวดีกว่า) 
เค้าถูกซ้อม ถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆๆ เพื่อให้รับสารภาพ ..
(อีกจุดนึงที่หนังแอบแฝงเอวไว้ ..หนังได้ตีแผ่ความทารุณของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อประชาชน)

แล้วเรื่องก็ค่อยๆๆไหลออกมาจากปากเค้า ว่าทำไมเค้าถึงรู้ ทำไมเค้าถึงตอบได้ ..
ซึ่งจริงๆๆมันก็เป็นเรื่องราวต่างๆๆที่เค้าได้เจอ ได้ประสบมา ตลอดชีวิตของเค้านั่นแหละ ..

และข้อสุดท้าย จามาลถูกปล่อยตัวให้กลับมาเล่น ..กับคำถามที่เค้าน่าจะรู้ ถ้าเค้าใส่ใจ ..

นั่นคือเรื่อง "ตัวละครในนิยายเรื่อง 'The Three Musketeers' ชื่อแกงค์พวกเค้า"  
มันน่าเจ็บใจมากนะครับ ..เรื่องที่เค้าควรรู้ แต่กลับไม่รู้ ..

จริงๆๆ หนังบอกไปตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว ..เพราะเค้ามีกันสองพี่น้อง เค้าจึงถูกแทนไปเป็นแค่ 2ใน 3ทหารเสือ 
..และพวกเค้า ก็ไม่ได้สนใจ ว่าคนที่ 3จะชื่อว่าอะไร 

..ตอนที่พวกเค้าเจอกับลาติกา  ซาลิมเองก็บอก ว่า"เรายังไม่รู้จักชื่อทหารคนที่สามด้วยซ้ำ" !!!!!!!

..แต่คำถามข้อสุดท้าย กลับถามถึง ชื่อทหารคนที่สามซะนี่ !!!!!!!! 
เค้าจึงเลือกที่จะโทรถามทางบ้าน ..ซึ่งก็หมายถึง ซาลิม พี่ชายเค้านั่นเอง 
..จะว่าไป ผมว่าเค้าคงไม่ได้หวังหรอกว่าจะได้คำตอบรึเปล่า ..เค้าก็คงแค่อยากคุยกับพี่ชาย 
..เพราะยังไง นั่นก็เป็นสิทธิของเค้า  ถึงซาลิมไม่รู้ เค้าก็อาจจะขอหยุดอยู่ที่ 10ล้านก็ได้ ..ไม่มีอะไรเสียหาย

แต่อะไรๆๆมันเปลี่ยนไปแล้ว ..

ซาลิมช่วยให้ลาติก้าหนีออกมาหาจามาล เค้าเลือกที่จะถูกฆ่าตาย เพื่อความสุขของน้องชายตัวเอง 
จุดนี้เป็นอีกจุด ที่หนังได้ประชดสังคม ..เพราะซาลิม เป็นเหมือนตัวแทนของความทะเยอทะยาน ..
เค้าทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอง ..ยอมผิดบาป ยอมทำเลว เพื่อให้ตัวเอง และน้องชายสบายขึ้น 

..ฉากสุดท้าย เค้าเอาเงินทั้งหมดมาใส่ในอ่างอาบน้ำ และลงไปนอน รอฆ่าเจ้านายตัวเอง ..
คือเค้าก็รู้แหละ ว่ายังไงเค้าก็ต้องตายแน่ๆๆ ..ก็ขอฆ่าคนเลวๆๆอย่างเจ้านายก่อน ..แลกชีวิตกันว่างั้น 
..และเค้าเอง ก็จะได้ตายบนเงินที่ตัวเองหามาได้ ..ประมาณว่า เค้าเกิดมาจากสลัม เป็นลูกหมาสลัม(Slumdog ) 
แต่ตอนตาย ..ขอตายอย่างมหาเศรษฐีหน่อยเถอะ ..อะไรประมาณนั้น ..

โทรศัพท์ของซาลิม อยู่ที่ลาติก้า ..พอได้คุยกับลาติก้าเท่านั้น จามาลก็เหมือนคิดอะไรได้ ..ผมรู้สึกว่าเคยเห็นกระทู้ ว่าท้ายที่สุดแล้ว เค้ารู้จริงรึเปล่าใช่มั้ยครับ?? สำหรับผมนะ ..ข้อนี้เค้าก็มั่วเหมือนกัน เพราะอะไรรู้มั้ย?? เพราะเค้าได้คุยกับลาติก้าไง ..เค้ารู้ว่าลาติก้าปลอดภัย ..แค่นี้แหละที่เค้าต้องการ เค้าไม่ได้มาเล่นเกมส์เพราะต้องการเงิน ..แต่เค้าต้องการให้ลาติก้าเห็นเค้า จะได้ติดต่อกัน ..ตอนนั้นเค้าคงไม่สนใจแล้วว่าจะตอบถูกรึเปล่า ..เพราะเค้าได้สิ่งที่เค้าต้องการแล้ว ..เงินมันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว ..เพียงแต่ หนังเค้าคงอยากให้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่สุด ก็เลยให้เค้าตอบถูกด้วย ..พร้อมกับตอบคำถามในตอนแรกที่ว่า ..เค้าตอบคำถามถูกทั้งหมดได้ไง ..เค้าไม่ได้โกง เค้าไม่ได้อาศัยโชค เค้าไม่ได้เป็นอัจริยะ เพียงแต่ ทุกอย่างมันถูกกำหนดให้เป็นแบบนี้ !! ทุกคำถามที่ถามเค้า มันบังเอิญเป็นคำถามที่เค้ารู้คำตอบอยู่แล้ว ..เป็นคำถาม ที่เค้าเคยผ่านมาแล้ว เค้ารู้ เค้าจึงตอบถูก ..ก็เท่านั้น ..และแม้ว่าข้อสุดท้ายเค้าจะตอบผิด เค้าก็คงไม่เสียใจ เพราะ.. "ทุกอย่างได้ถูกกำหนดไว้แล้ว" !!


จบแล้วครับ ..จริงๆๆอยากชมเรื่องการตัดต่อ เรื่องซาวด์ และโปรดักชั่นอื่นๆๆด้วย ..แต่เกรงว่าจะยาวเกินไป ..เอาเป็นว่าแค่นี้ก็คงจะพอ ..เรื่องนี้ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีค่ายไหนรับเข้ามาแล้วนะครับ เพราะแพงมาก น่าจะเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ของหนังสือ "The Three Musketeers" และ “เกมเศรษฐี” ด้วย ..และยิ่งตอนนี้ไปกวาดรางวัลมามากมายขนาดนี้ ..คาดว่าราคาน่าจะสูงขึ้นไปอีก ..แต่เดี๋ยวก่อน ข่าวล่ามาแรงครับ ..ได้ยินเสียงแว่วๆๆแถวกระทู้ข้างล่างอ่ะ แอบกระซิบมาว่ามีค่ายนึงสนใจ ..ก็ต้องคอยดูกันต่อไปนะครับ ว่าจะมาแบบเต็ม ..หรือจะมาแบบโดนจำกัดโรง ยังไงใครที่รออยู่ก็ลุ้นกันตัวโก่งละครับงานนี้ ..!!


************************************************************


Slumdog Millionaire: ภาพยนตร์กับความเป็นจริง

ศศิวรรณ จริงจิตร | เชิญอ่าน

Slumdog Millionaire เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากหลายเวทีการประกวดภาพยนตร์ที่สำคัญๆ ของปีนี้  แน่นอนว่า ชัยชนะถึง 8 รางวัลจากเวทีออสการ์ และอีกหลายรางวัลจาก BAFTA และลูกโลกทองคำ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมชนิดขึ้นหิ้งไปเป็นที่เรียบร้อยในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์
ในบ้านเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านรายได้ (เมื่อเทียบกับการฉายแบบจำกัดโรง) และเสียงวิจารณ์ ซึ่งเป็นไปในทางบวก  จะว่าไปแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมไปก่อนที่จะมีการฉายในประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ เพราะมีผู้ชมหลายท่านที่ตั้งตารอชมและส่งแรงเชียร์ให้เป็นผู้ชนะในเวทีการประกวดที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่างออสการ์  เหตุผลที่หลายคนในบ้านเราเอาใจช่วยภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เพราะว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่มีนักแสดงทั้งหมดเป็นชาวอินเดีย ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าชัยชนะของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นชัยชนะของชาวเอเชียในเวทีระดับโลกซึ่งเป็นที่ยอมรับของตะวันตก  นอกจากนี้ ผู้ชมหลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปแล้ว ยังชื่นชมว่าภาพยนตร์ตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับประเทศอินเดียที่พวกเขาไม่เคยได้รับรู้มาก่อนได้อย่างถึงแก่น  นักวิจารณ์ใน มติชน อย่าง “แป้งร่ำ” มองว่า Slumdog Millionaire ปอกเปลือกที่ฉาบไว้ด้วยภาพความงามของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างทัช มาฮาลและจิกกัดสังคมอินเดียได้อย่างแสบสันต์
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสหลักของความชื่นชมยินดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อผลงานชิ้นนี้ของผู้กำกับแดนนี บอยล์ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทาง “ตรงกันข้าม” มากมายพอสมควรต่อเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยเฉพาะในแง่มุมของการนำเสนอความเป็นจริง ทั้งจากนักวิจารณ์ชาวตะวันตกบางท่านและโดยเฉพาะจากสังคมอินเดียส่วนใหญ่  ผู้ที่วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่ลบไม่ได้มองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานของคนอินเดีย หรือเป็นสิ่งที่ชาวอินเดียเองควรจะภูมิใจ  ตรงกันข้าม ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเป็นการถ่ายทอดภาพสังคมของอินเดียผ่านมุมมองของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นมุมมองที่มีความตื้นเขินและหยิ่งยโส
**********************************************************************************************

*หมายเหตุ : บทวิจารณ์นี้เขียนหลังรู้ผลรางวัลลูกโลกทองคำ และก่อนประกาศผู้เข้าชิงออสการ์



(1)

หลังจากเป็นขวัญใจนักวิจารณ์มาแล้วหลายสำนัก ล่าสุดได้เป็นพระเอกบนเวทีลูกโลกทองคำด้วยการคว้าถึง 4 รางวัล รวมรางวัลใหญ่อย่างบทภาพยนตร์ กำกับภาพยนตร์ และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา

นาทีนี้ “เด็กสลัมเงินล้าน” ราศีจับมากขึ้นอีกโขจนอาจไปไกลถึงเส้นชัยออสการ์ แม้ว่าตัวหนังเองจะไม่ตรงกับ “ทาง” ของออสการ์นัก ถ้าเทียบกับหนังเต็งเรื่องอื่นอย่าง The Curious Case of Benjamin Button, Frost/Nixon และ Milk

Slumdog Millionaire เป็นผลงานกำกับฯของ แดนนี่ บอยล์ คนทำหนังชาวอังกฤษผู้สร้างชื่อจากเรื่อง Trainspotting (1996) ส่วนคอหนังบ้างเราจะรู้จักดีจากหนังฉาวเรื่อง The Beach (2000) และหนังซอมบี้เรื่อง 28 Days Later (2002) มีผู้กำกับฯร่วมเป็นชาวอินเดียคือ โลเวลีน ทันดัน จากบทหนังของ ไซมอน โบฟอย ซึ่งดัดแปลงจากนิยายขายดีเรื่อง Q and A ของ วิกาส สวารัป นักการทูต-นักเขียนชาวอินเดีย

เนื้อหาในหนังไม่ยึดตามหนังสือโดยตรง แต่หลักๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มจากสลัมในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ผู้พิชิตเงินล้านในเกมโชว์ทางโทรทัศน์ Who Wants to Be a Millionaire? (หรือเกมเศรษฐีในฉบับไทย) แต่กลับถูกตำรวจจับไปเค้นความจริงโดยกล่าวหาว่าเขาโกงคำตอบ เรื่องราวที่เหลือเป็นการเล่าย้อนประวัติชีวิตอันโชกโชนของเด็กหนุ่ม เพื่อให้เห็นว่าเหตุใดเขาจึงรู้คำตอบของแต่ละคำถาม ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย

หนังถ่ายทำในอินเดียตลอดทั้งเรื่อง ใช้นักแสดงชาวอินเดีย พูดภาษาฮินดีพอๆ กับภาษาอังกฤษ และมีกลิ่นอายแบบหนังบอลลีวู้ด เพราะเป็นโรแมนติก-ดรามาแนวชวนฝันที่อบอวลด้วยเพลงประกอบสไตล์ภารตะ

เห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตาของ Slumdog Millionaire คือความโดดเด่นอันแตกต่างซึ่งเรียกความสนใจ-ความตื่นเต้นจากผู้ชมได้ไม่ยาก ผู้สร้างฉลาดพอที่ไม่โยกย้ายเรื่องราวต้นฉบับให้มาเกิดขึ้นในบ้านตนเองโดยเปลี่ยนมุมไบเป็นลอนดอน นิวยอร์ค หรือเมืองอื่นๆ และไม่เปลี่ยนตัวละครเป็นพวกตนเองอย่างที่หนังฮอลลีวู้ดชอบทำ

สำหรับผู้ชมในอังกฤษและสหรัฐซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น Slumdog Millionaire จึงไม่ใช่ “ไพรัชภาพยนตร์” ที่เป็นเรื่องราวของชาวตะวันตกโดยมีฉากหลังในต่างประเทศเช่นที่เห็นกันเป็นประจำ หรือถ้าเจาะจงฉากหลังอินเดียก็มีอยู่มากมาย หากเป็นเรื่องของชาวอินเดียในอินเดีย และไม่มีชาวตะวันตกมาเกี่ยวข้อง

นอกจากผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวของตัวละครชาวอินเดียประกอบฉากหลังอย่างทัชมาฮาลและมุมไบแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยเรื่องราวและบรรยากาศเอ็กโซติกสร้างความตื่นตา-ประหลาดใจ สมทบด้วยวัฒนธรรมอินเดียผ่านเรื่องราวและบทเพลงประกอบมากมาย โดยผู้สร้างตั้งใจเลือกมืออาชีพจากบอลลีวู้ด(เอ.อาร์. ราห์มัน) ดูแลเรื่องดนตรีประกอบทั้งหมด

เรียกได้ว่าอะไรที่เป็นเปลือกนอกซึ่งใช้โชว์ความเป็นอินเดีย ผู้สร้างจะใช้บริการจากแหล่งโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำ นักแสดง คนทำดนตรีประกอบ ขณะที่ทีมงานหลักและย่อยซึ่งอยู่เบื้องหลังยังเป็นชาวตะวันตก

องค์ประกอบงานสร้างดังกล่าวทำให้ Slumdog Millionaire ไม่ต่างจากหนังอินเดีย เพียงแต่คนสร้างเป็นฝรั่ง และมีกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้นคือฝรั่งด้วยกันเองก่อนจะส่งต่อไปทั่วโลก

เป็นการสวมรอยวัฒนธรรมอย่างหนังบอลลีวู้ดให้กลายเป็นผลผลิตของชาวตะวันตกโดยตรง นอกจากจะกระตุ้นความสนใจ-ความตื่นเต้นแก่ชาวตะวันตกแล้ว ตลาดหนังบอลลีวู้ดซึ่งมีอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะแหล่งใหญ่ในสหรัฐและอังกฤษย่อมไม่ปฏิเสธหนังเรื่องนี้ ก่อนที่หนังจะเดินทางไปโกยเงินในอินเดียช่วงปลายเดือนมกราคม

ลักษณะคล้ายกับที่สตูดิโอโคลัมเบียและโซนี่เคยร่วมทุนให้ อั้งลี่ ทำหนังกำลังภายในแบบจีนแท้ๆ เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon จนได้เข้าชิงออสการ์ถึง 10 สาขา รวมทั้งสาขาหนังยอดเยี่ยมในปี 2001

ต่างกันตรงที่อั้งลี่เป็นคนจีนทำหนังจีน แต่บอยล์เป็นคนอังกฤษที่คิดทำหนังอินเดีย

*แน่นอนว่าความสำเร็จของ Slumdog Millionaire ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความแปลกต่างที่ดึงดูดความสนใจ แต่หนังยังมีเนื้อหาที่โดดเด่นน่าติดตามประกอบกับฝีมือกำกับฯอันแม่นยำของบอยล์ ทำให้หนังเข้าไปอยู่ในใจผู้ชมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้า Slumdog Millionaire ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหนุ่มชาวอินเดียและใช้อินเดียเป็นฉากหลัง แต่เป็นเรื่องราวของเด็กฝรั่งคนหนึ่งประกอบฉากหลังอันคุ้นเคย จุดสนใจอาจจะมีไม่เทียบเท่าและเบี่ยงเบนไปคนละทาง

หรือหาก Slumdog Millionaire เป็นหนังบอลลีวู้ดโดยผู้สร้างชาวอินเดียก็คงไม่สามารถเข้าถึงผู้ชมและก่อกระแสรุนแรงในวงกว้างได้เท่านี้

ใช่เพียงองค์ประกอบงานสร้างตามที่ได้กล่าวมาที่หนุนเสริมให้หนัง “เป็นอินเดีย” มากที่สุด บทหนังยังมีการปรับเปลี่ยนจากนิยายต้นฉบับโดยตัดทิ้งตัวละครพระคาทอลิกผู้เลี้ยงดูเด็กหนุ่มเมื่อยังเล็ก และตัวละครนายทหารชาวออสเตรเลียนซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เด็กหนุ่มรู้คำตอบของคำถามข้อหนึ่ง เพื่อให้เหลือเฉพาะตัวละครและเรื่องราวในแบบอินเดียจากฝั่งโลกตะวันออกล้วนๆ

ตรงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนานี่เองมีประเด็นชวนคิดว่าเหตุใดผู้สร้างจึงปรับพื้นหลังของตัวละครให้เป็นเด็กหนุ่มชาวมุสลิมโดยตั้งชื่อว่า จามาล มาลิค แทนเด็กกำพร้าไม่รู้กำพืดเนื่องจากถูกทอดทิ้งกระทั่งพระที่เก็บมาเลี้ยงต้องตั้งชื่อเป็นกลางๆ ว่า ราม โมฮัมเหม็ด โธมัส ซึ่งรวมชื่อทางศาสนาฮินดู อิสลาม และคริสต์ ไว้ด้วยกัน

นอกจากนี้ หนังยังใส่เหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตเมื่อกลุ่มชนชาวฮินดูบุกทำลายบ้านเรือนและฆ่าชาวมุสลิมจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์นี้คือแม่ของจามาล

เหตุผลเรื่องการกลบเกลื่อนคติโลกตะวันตกที่คุ้นเคยให้เหลือแต่โลกตะวันออกอาจจะเป็นเหตุให้ตัวละครเอกไม่ใช่เด็กกำพร้าที่ถูกพระคาทอลิกเก็บมาเลี้ยงอย่างในต้นฉบับ แต่ทำไมเขาต้องกลายเป็นมุสลิมแทนที่จะเป็นชาวฮินดูซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของอินเดีย

ทั้งพื้นหลังชาวมุสลิมและเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาเป็นการเล่นกับกระแสโลกปัจจุบันของผู้สร้างหรือเปล่า...ไม่มีคำตอบสุดท้ายให้เฉลยว่าถูกหรือผิด

แต่เพราะพื้นหลังชาวมุสลิมซึ่งปรับเปลี่ยนเข้ามานี่เองกลายเป็นช่องโหว่ที่ผู้สร้างมองข้าม เมื่อถึงฉากที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมเดินทางมาถึงทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานอันน่าภาคภูมิใจของชาวมุสลิมอินเดีย พวกเขาตกตะลึงในความงามและความยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าคืออะไร

สองพี่น้องชาวมุสลิมผู้ปลาบปลื้ม อามิตาบห์ บาจจาน พระเอกชาวฮินดู และรู้จักวรรณกรรมฝรั่งเศสเรื่อง “สามทหารเสือ” แต่กลับไม่รู้จักอัญมณีแห่งศิลปะมุสลิมอย่างทัชมาฮาล

หรือตัวละครเติบโตขึ้นแบบไร้ราก ไม่ต่างจากหนังอินเดียเรื่องนี้ที่ถูกสวมรอยทางวัฒนธรรมโดยชาวตะวันตก




(2)

ฉากทัชมาฮาลไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความไร้รากของตัวละครสองพี่น้องชาวมุสลิมที่ไม่รู้จักอนุสรณ์สถานแห่งนี้ทั้งที่รู้จักเรื่องไกลตัวอื่นๆ แต่ยังเป็นรอยต่ออันเป็นจุดเริ่มที่ผู้สร้างยัดบทสนทนาภาษาอังกฤษให้ตัวละครโดยให้จู่ๆ สองพี่น้องซึ่งพูดภาษาฮินดีมาตลอด เปลี่ยนมาพูดอังกฤษได้คล่องปากเมื่อต้องสวมบทบาทมัคคุเทศก์(เถื่อน) เพื่อหาเงินประทังชีวิต แถมเป็นการพูดภาษาอังกฤษด้วยการ “มั่ว” ประวัติทัชมาฮาลเป็นคุ้งเป็นแคว

จบจากฉากทัชมาฮาล ตัวละครยังใช้ภาษาอังกฤษต่อเนื่องไปจนจบเรื่อง แม้แต่การพูดคุยกันเองหรือคุยกับตัวละครอื่นซึ่งก่อนหน้านี้พูดกันด้วยภาษาฮินดี

จริงอยู่...การสนทนาด้วยภาษาอังกฤษในอินเดียไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และเหตุผลที่ผู้สร้างใส่รอยต่อโดยเปลี่ยนจากการพูดภาษาฮินดีมีคำแปลให้อ่านเป็นการพูดอังกฤษแทนก็เพื่อสนองความต้องการของตลาดเป้าหมายซึ่งผู้ชมใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและมักจะเบื่อหน่ายการอ่านคำบรรยาย แต่รอยต่อดังกล่าวไม่ถูกเชื่อมให้เนียนพอ และเชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่คงสะดุดกับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันนี้

อย่างไรก็ตาม อาการไร้รากของตัวละครทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้สร้าง หากมองในด้านบวกแบบเชื่อมโยงกับนัยยะตามเนื้อหาของหนังถือว่าบังเอิญสอดคล้องไปกันได้อย่างดี นัยยะที่ว่าคือการเติบใหญ่ขยายตัวของเมืองมุมไบแบบรื้อล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม พร้อมกับอิทธิพลของเงินที่ควบคุมชีวิตผู้คน

เด็กยากจนจากสลัมในมุมไบต่อสู้ดิ้นรนชีวิตก่อนจะแตกหักกับพี่ชายที่หันไปรับใช้ผู้มีอิทธิพล ตามหาหญิงผู้เป็นที่รักซึ่งรู้จักกันตั้งแต่วัยเยาว์ สุดท้ายได้เงินล้านจากเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าผจญภัยโลดโผนสู่ปลายทางความสำเร็จ หรือเป็นโรแมนติคชวนฝันของคู่รักท่ามกลางอุปสรรคเท่านั้น แก่นสารเรื่องราวที่คู่ขนานไปตั้งแต่ต้นจนจบคือ หนังพูดถึงคุณค่าความหมายจากรากฐานของชีวิตที่ค่อยๆ ล่มสลายลง สวนทางกับความเจริญรุดหน้าของเมืองและโลกสมัยใหม่

เริ่มจากการสูญเสียแม่ พลัดพรากจากหญิงคนรัก ทะเลาะกับพี่ชาย บริเวณสลัมที่เคยเป็นบ้านกลายเป็นตึกสูง เมืองเต็มไปด้วยการคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย แต่การสื่อสารระหว่างตัวละครกลับตกหล่น กระทั่งก้าวเดินไปคนละทิศทาง

*ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งจึงเป็นเหตุการณ์ที่สองพี่น้องจามาลกับซาลิมได้กลับมาพบเจอกันอีกครั้งบนอาคารสูงที่กำลังก่อสร้าง โดยจามาลต้องเป็นฝ่ายขึ้นลิฟต์ไปหาพี่ชาย จุดที่สองพี่น้องนั่งพูดคุยกันอยู่สูงลิบเหมือนเช่นการหลุดลอยจากพื้นฐานที่มาของพวกเขา ฉากหลังเบื้องล่างทั่วบริเวณเป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งเมืองใหม่ และสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังเป็นเงาสะท้อนอยู่บนแว่นกันแดดของซาลิมซึ่งรับใช้ผู้มีอิทธิพลคุมเมือง

ความห่างเหินระหว่างพี่น้องมองเห็นได้จากระยะห่างที่พวกเขานั่งคุยกัน ฝ่ายหนึ่งพูดถึงเงินซึ่งเป็นหัวใจของเมือง แต่อีกฝ่ายต้องการรู้เรื่องของหญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในใจ

นอกจากความขัดแย้งทางศาสนา(พระเจ้าคนละองค์) ที่ทำให้สองพี่น้องสูญเสียแม่และบ้านกระทั่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตแล้ว เรื่องราวต่อจากนั้นล้วนแต่มีเงินซึ่งเปรียบเป็น “พระเจ้า” คอยกำหนดชะตากรรม ไล่ตั้งแต่การถูกฝึกให้เป็นขอทาน เป็นไกด์เถื่อน สังหารและปล้นเงินใครคนหนึ่งเพื่อช่วยหญิงคนรัก จากนั้นซาลิมอุทิศตนให้แก่ผู้มีอิทธิพล ส่วนจามาลสมัครเล่นเกมโชว์ชิงเงินล้าน

อย่างไรก็ตาม เกมโชว์ชิงเงินล้านซึ่งน่าจะชัดเจนตั้งแต่แรกว่าตัวละครเห็นเงินเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่สุดท้ายหนังค่อยๆ เผยว่าจามาลไม่ได้ถูกเงินลากจูงอย่างที่เราคิด

จามาลมีเหตุผลที่ต้องสมัครเข้าเล่นเกม มีคำถามมากมายซึ่งสำคัญกว่าคำถามของพิธีกรรออยู่ที่ไหนสักแห่ง และรางวัลอันยิ่งใหญ่ไม่ใช่เงินล้าน แต่เป็น “ความรัก” ที่มีคุณค่าความหมายยิ่งกว่า

เป็น “ความรัก” ที่ทำให้ตัวละครลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตนเอง หาใช่ “เงิน” อีกต่อไป

ปลายทางของเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าตัวละครตกเป็นเบี้ยล่างและต้องตามน้ำอย่างไร้แรงขัดขืน จึงกลับกลายมีทางออกที่สวยงามทั้งในระดับเนื้อหาและแก่นสาร

นี่คือบทสรุปที่น่าประทับใจผ่านการลำดับจัดวางเรื่องราวอย่างชาญฉลาดตั้งแต่ต้น แม้เมื่อทบทวนดูจะเห็นว่าหนังออกแนวชวนฝันเกินกว่าความเป็นไปได้ แต่เมื่อถึงเครดิตตอนจบพร้อมกับที่ตัวละครและผู้คนจำนวนมากร่วมกันเต้นรำร้องเพลงแบบหนังบอลลีวู้ด เหตุผลเรื่องความสมจริงใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจอีก

แดนนี่ บอยล์ ผู้เป็นเอกด้านสไตล์การเล่าเรื่องแม่นยำอย่างยิ่งในการเรียงร้อยเรื่องราวหลากอารมณ์เข้าด้วยกัน ทั้งเคร่งเครียด สนุกสนาน ตื่นเต้น สีสันของวัยเยาว์ ความหม่นมืดของโลกอาชญากรรม และบรรยากาศหลากหลายของอินเดีย ใช้องค์ประกอบภาพ เทคนิคด้านภาพ การตัดต่อ เพลงและดนตรีประกอบอย่างคุ้มค่าในทุกๆ บทตอน จนได้เป็นหนังที่ดูสนุกชวนติดตาม น่าค้นหา และสร้างความประทับใจได้ไม่ยาก

โดยภาพรวม Slumdog Millionaire คือ “งานบันเทิงชั้นดี” อย่างไร้ข้อกังขา เมื่อได้แรงบวกจากการออกแบบสินค้าให้แปลกต่างจากตลาดซึ่งกำหนดไว้แต่เริ่มต้น หนังจึงติดลมบนจนรับความสำเร็จกันไม่หวาดไม่ไหว

ส่วนจะดีเด่นจนเรียกว่าเป็น “หนังยอดเยี่ยม” ได้หรือเปล่า สำหรับผู้เขียนมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น

****************************************************************************************************************************

วงการโทรทัศน์ประเทศอินเดียต้องตื่นตะลึง เมื่อจามาล มาลิค เด็กหนุ่มจนๆ คนหนึ่งซึ่งไร้การศึกษาและมีพื้นเพมาจากสลัม เข้าแข่งรายการ "เกมเศรษฐี" (Who Wants to be A Millionaire) และผ่านเข้าถึงรอบสุดท้ายแบบพลิกความคาดหมาย เหลือคำถามอีกเพียงข้อเดียวจามาลก็จะพิชิตที่มีเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 20 ล้านรูปี (กว่า 14 ล้านบาท) ได้ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วพริบตา คืนก่อนรอบสุดท้ายจามาลถูกตำรวจจับข้อหาโกงการแข่งขัน ด้วยเหตุผลเพียงว่าพิธีกรประจำรายการฯ ไม่เชื่อว่าคนจนตรอกอย่างจามาลจะมีความรู้ถึงขนาดนั้น ระหว่างถูกสอบสวนจามาลได้อธิบายแก่ตำรวจถึงเหตุที่เขาตอบคำถามของเกมได้ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสุดท้าย ... ผ่านทางเรื่องราวชีวิตของเขาเอง ... แต่เมื่อตำรวจฟังเรื่องราวของจามาลมากขึ้นๆ ประกอบกับพฤติกรรมของจามาลบนเวทีของเกม เขาก็ได้รู้ว่าสิ่งที่ "สุนัขเถื่อนจากสลัม" ตัวนี้ต้องการจากการเล่นเกมเศรษฐีนั้นไม่ใช่เงิน แต่เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น...
ภายหลังเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องสูญเสียบ้านและครอบครัว เด็กชายจามาลกับพี่ชายชื่อซาลิม และลาติก้า สาวน้อยวัยไล่เลี่ยกันผู้เป็นดอกไม้เพียงดอกเดียวท่ามกลางวัยเด็กอันแห้งแล้ง ทั้งสามต้องออกจัดจรร่อนเร่ใช้ชีวิตอย่างปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวให้รอดจากสังคมที่โหดร้าย จามาลเป็นเด็กที่ซื่อตรงและมุ่งมั่น และสนิทสนมกับลาติก้า ซึ่งตรงกันข้ามกับซาลิมที่ก้าวร้าว เจ้าเล่ห์ และเห็นแก่ตัวมากกว่า ด้วยลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องทั้งสองค่อยๆ มีรอยร้าวเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นทีละน้อย โดยมีลาติก้าเป็นชนวนของจุดแตกหัก ครั้นเมื่อทั้งสามย่างเข้าวัยหนุ่มสาว ซาลิมที่ใฝ่หาอำนาจและเงินตราเป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิต เลือกที่จะเข้าไปพัวพันกับวงการนักเลงอันธพาล จามาลถูกซาลิมหักหลังอย่างเจ็บปวด นับแต่นั้นซาลิมและลาติก้าได้หายไปจากชีวิตของจามาล แต่จามาลก็ยังไม่ลดละที่จะออกตามหาลาติก้า หญิงที่เขารักเพียงคนเดียว จากนครมุมไบอันกว้างใหญ่และประชากรกว่า 90 ล้านชีวิต...
โชคชะตาชักพาให้จามาลพบกับลาติก้าอีกครั้ง คราวนี้จามาลหนุ่มได้รู้ซึ้งถึงความแตกต่างระหว่างความฝันกับความจริง ท่ามกลางโลกของผู้ใหญ่และเหล่าแก็งสเตอร์ เพียงรักแท้ของจามาลดูจะมีราคาเพียงน้อยนิด และลำพังมือของคนเล็กๆ อย่างจามาลก็ไม่มีพลังพอที่จะดึงลาติก้าออกจากวังวนอันโสมมแต่เชี่ยวกราก จามาลดึงดันที่จะทำตามความต้องการของหัวใจ และถูกตอกย้ำบทเรียนที่เจ็บปวดอีกครั้งหนึ่ง...
ลาติก้าถูกพรากจากเขาอีกครั้ง ไปยังที่ที่ห่างไกล ยิ่งกว่าเดิม...
เบาะแสเพียงอย่างเดียวที่จามาลได้จากการลอบพบกับลาติก้าในครั้งสุดท้าย นั่นคือลาติก้าเป็นแฟนรายการ "เกมเศรษฐี" อันเป็นทั้งความฝันและความเพ้อฝันของเหล่าผู้คนที่หาเช้ากินค่ำ ผู้คนที่ถูกกักขังในชีวิตที่ไม่มีความหวัง ลาติก้าในกรงทองชอบดูรายการนี้เป็นชีวิตจิตใจเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจที่ไร้อิสระของเธอ 

จะด้วยความมุ่งมั่นหรือบ้าบิ่นของจามาลก็แล้วแต่ เขาใช้เบาะแสสุดท้ายนี้อย่างคาดไม่ถึงที่สุด นั่นคือการลงสมัครเล่นเกมนี้ เพียงเพราะว่านี่เป็นช่องทา่งเดียวที่เขาเหลืออยู่ ... ที่จะส่งเสียงของเขาไปยังลาติก้า


คำถามสำคัญ รางวัลที่ปรารถนา ราคาของความสุข
ฉากคำถามข้อสุดท้ายอันเป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง ผู้คนทั่วอินเดียต่างจับจ้องไปยังหน้าจอโทรทัศน์ ผู้ชมภาพยนตร์ทุกคนต่างก็คงคอยเอาใจช่วยจามาลเต็มที่ ตรงนี้เป็นความยอดเยี่ยมของบทและการเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกผูกพันกับจามาลมาตลอด และตื่นเต้นลุ้นระทึกราวกับว่าได้ไปนั่งบนเก้าอี้ตัวเดียวกับจามาล
จามาลขอสละสิทธิ์เช็คมูลค่า 10 ล้านที่สะสมมาทั้งหมดเพื่อจะตอบคำถามข้อสุดท้าย ไม่ใช่เพราะว่าเขาต้องการเงินรางวัลหรือเกียรติยศ แต่เพียงหวังว่าลาติก้าอาจมีโอกาสได้เห็นภาพของเขานานขึ้นอีกสักนิด จามาลต้องเลือกระำหว่างสองตัวเลือก คือเงินล้านตรงหน้า หรือรักแท้ที่เคยหลุดมือเขา่ไปครั้งแล้วครั้งเล่า ... เขาตัดสินใจถูก เพราะถ้าเขาเลือกเงิน เขาคงจะไม่มีโอกาสได้พบกับลาติก้าอีกตลอดไป
จากบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างจามาลกับ "ตัวช่วย" เพียงสั้นๆ ลาติก้าไม่ได้ช่วยตอบปัญหาราคา 20 ล้านให้จามาล แต่เธอได้ตอบคำถามข้อที่จามาลอยากรู้ที่สุด...ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านรูปีเป็นไหนๆ
ในที่สุด สุนัขเถื่อนจากสลัมที่ยอมทิ้งได้ทุกอย่างเพื่อไขว่คว้าความสุข ก็ค้นพบความสุขชั่วชีวิต...พร้อมกับ "ของแถม" เป็นเงินจิ๊บจ๊อยแค่ 20 ล้านรูปีเท่านั้นเอง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สิ่งที่ชอบ
1. การดำเนินเรื่องที่มีชั้นเชิงและกระชับมาก ไล่อารมณ์ที่ฉากไคลแมกซ์ได้สวย
2. ตัวละครมีสเน่ห์และจุดยืนเป็นของตัวเอง ถ่ายทอดออกมาได้น่าเชื่อถือ (เว้นแต่จามาลที่ผมถือว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่พิเศษกว่าชาวบ้านเขา)
3. การถ่ายทอดสภาพสังคมในอินเดียทำได้ละเอียดลออ และไม่รู้สึกว่าสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง
4. บทพูดในฉากงัดรถ ที่จิดกัดตบตีสังคมอินเดียนกับอเมริกันได้พร้อมกัน และแสบสันต์เอามากๆ

สิ่งที่ไม่ชอบ
1. แอบเสียดายการจากไปของตัวละครตัวนึงในช่วงท้าย ... ถึงจะสมเหตุสมผลดีแต่ก็อยากให้ไว้ลายมากกว่านี้ซักนิด
2. Insert MV ที่ End Credits ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ เป็นอินเดียจ๋ามาก และน่าดึงดูดพอที่จะตรึงคนดูไว้ได้ตลอดหลังหนังจบ ...แต่ให้ดิ้นเถอะโรเบิร์ต...มันไม่เข้ากับเรื่องเลย ... มันไม่ใช่อ่ะน้องกิ๊ฟ =[]=!
3. แคสติ้งบางคน ดูค่อนข้างเชื่อยากว่าเป็นพี่น้องกัน หรือเป็นเด็กคนนั้นคนนี้ตอนโตแล้ว
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อควรระวัง
แม้จะจั่วยี่ห้อว่าเป็นหนังแนว feel good แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ติดเรท R17+ ดังนั้นจึงมีฉากรุนแรงอยู่ในเนื้อเรื่องไม่น้อย ใครที่เคยชินกับมาตรฐานความ feel good ว่าต้องกู้~ดทั้งเรื่อง อาจมีอาการสะอึกเป็นระยะๆ ได้
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(จามัล มาลิก เป็นหนึ่งของผู้เข้าร่วมคำถามชิงเงิน ๒๐ ล้านรูปี    ถามว่าเขารู้ได้อย่างไร?) 



a.    He cheated       (เขาโกง) 

b.    He’s lucky        (เขาโชคดี) 

c.    He’s a genius    (เขาอัจฉริยะ) 

d.    It’s written       (พรหมลิขิต) 


เพียงแค่คำถามเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ก็น่าสนใจแล้ว         (ตอบถูกได้เท่ห์   แต่ไร้รางวัล)

แต่จะยิ่งน่าสนใจยิ่งกว่า     เมื่อทราบว่าหนังเรื่องขึ้นแท่นชิงเวทีใหญ่

ระดับรางวัลออสการ์ถึง ๑๐ รางวัล      ได้มาถึง ๘ รางวัล    แทบจะกลบหนังรางวัล

เจ้าอื่นๆ ในสายของตระกูลฮอลีวู้ด    ยิ่งกว่านั้น  หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่สร้างความภาคภูมิใจ

ให้กับชาวอินเดียให้เซ๊งแซ่    แม้ก่อนหน้าจะได้รับคำด่าทอ-ผรุสวาท    ว่าเป็นตัวการ

ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับชือ่เสียงของภารตประเทศอย่างให้อภัยกันไม่ได้

ที่จริงแล้วดีวีดีที่เพิ่งไรท์กันอุ่นๆ   แผ่นนี้    ผมไปได้มาอีกทอดจากเพื่อนนักดูหนังระดับเทพ

แกมักมีหนังที่คนสัมปะชัญญะทั่วไปเข้าไม่ถึง    ทุกการไรท์แจกของแก     จึงมักมีความชอบธรรม-

แฝงอยู่      เพียงเพราะว่าไม่มีนายทุนเจ้าไหนใจปล้ำพอที่จะซื้อลิขสิทธิ์เพื่อมาสร้างกำไรที่ไม่มีหวัง

อยู่ภายภาคหน้า    ได้มาก็ยังงง     ไปเปิดดิกฯเพื่อหาคำแปลว่า  “slumdog”  ก็ไม่มีปรากฎ

ให้ปัญญาญานแตกฉาน     ยังคิดอยู่ภายในใจว่า   จริงๆแล้วมันเป็นหนังอินเดียหรือหนังจากตะวันตก

เป็นผู้ลงมือทำกันแน่  (ว่าที่จริงแล้วเป็นทุนของอังกฤษอดีตประเทศอาณานิคม) 

แต่จะไปสนใจทำไม?   เพราะทุกวันนี้แม้แต่ทุนบริษัทจดทะเบียนสัญชาติไทย

ก็ไม่อาจแน่ใจว่ามีนอมินีถือหุ้นใหญ่จากใต้อาณัติของคนต่างชาติรึไม่?

ไปอ่านงานวิจารณ์หนังเรื่องนี้จากเหล่าบล็อกเกอร์ต่างค่าย      ต่างก็มีเสียงออกมาในแนวทางเดียวกัน

คือ    “ชื่นชม-ยินดี”    ไม่เห็นมีใครหน้าไหนจะบอกว่า “มันไม่ดี”   มีแต่ว่า  “มันไม่ดี   ที่ไม่เข้าโรงในบ้านเรา”

แต่อ่านมากก็ไม่ได้     ด้วยมีไม่น้อยที่คุณบล็อกเกอร์  “สปอยด์แอบถ่าย”      เหมือนเกือบจะล้อนจ้อน ล่อนจ้อน

แต่ก็เฉลยไม่หมด      หนังเรื่องนี้ต้องโม้กว้างๆ   อย่าไปแตะในรายละเอียดมาก  รู้เข้าจะหมดสนุก

ด้วยเจ้ารายละเอียดปลีกย่อยนี้แหละ     คือ   ตัวประสานชั้นดีของเนื้อเรื่อง   

ไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้      จึงไปได้ในรางวัลเกี่ยวกับโครงสร้างทั่วไป     ไม่ได้มาจากรางวัลของเหล่านักแสดง

ชั้นเอกหรือชั้นรอง   แต่ไมได้หมายความว่า    จะแสดงไม่ดี    แต่ผมกับรู้สึกถึงความสดใหม่ไม่ไปนึกโยง

หนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่คุณพี่นักแสดงเคยเล่นมาให้คอยเสียอารมณ์ซักงั้น   และพระเอกก็ดูโง่ในเรื่องที่ไม่

สมควรโง่จริงๆ    ตัวอย่าง     รู้แม้กระทั่งว่าใครอยู่ในธนบัตรใบละร้อยของสหรัฐ    แต่กับกลับไม่รู้ว่าใคร

อยู่ในธนบัตรรูปีของอินเดีย

? on the paper money involves the rupees. 

ไอ้หนุ่มก็ตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า   “I unknows”

ผมไม่ค่อยรู้รายละเอียดของนักแสดงเท่าไร    อาจจะรู้อยู่บ้างในส่วนของผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ 

เพราะเคยผ่านตาจากฝีมือของแก    อย่างเช่น   The Beach, 28 Days Later และ Trainspotting

พอพูดถึงหนังอินเดียทีไร    ผมมักจะนึกถึงอดีตนักบล็อกเกอร์ใน Mblog อย่างคุณ Winhid ทุกที

ก็พยายาม search ดูความคิดเห็นของหนังเรื่องนี้จากแก   แย่หน่อยที่ อาgoogle ไม่ได้ให้ความเห็น

ในการลิงค์อะไรดีดีจากแกยิ่งนัก   และได้ยินมาจากท่าน  PAJIKA  pijika (แก้ไขแล้วนะ) ตอนที่ชื่อว่า

จาก Q&A ถึง “เกมชีวิตพิชิตพันล้าน” สู่ Slumdog Millionaire  เป็นการดัดแปลงมาจาก

หนังสือที่ชื่อ    Q & A  (2005)

โดยงานเขียนชาวภารตะที่ชื่อ Vikas Swarup.   ซึ่งมีแปลไทยและเกือบเจ๊งด้วย!

หนังเริ่มต้นจากเมืองมุมไป     ปี ๒๐๐๖    ที่ฉากการสืบสวนหาความจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสงสัยว่า   

เด็กหนุ่มที่ชื่อ จามัล มาลิก   ว่าทำไมถึงรู้และตอบคำตอบได้หมดทุกข้อ   

จนกำลังจะไปถึงรางวัลใหญ่ในประวัติศาสตร์

เกมส์โชว์อย่าง A Millionaire คิวส์เกมส์สุดฮิตของอินเดีย     ที่มีเงินมากถึง  ๒๐ ล้านรูปี      

ถ้าบ้านเราโดยฐานคนที่ร่วมเล่นรายการนี้     ก็จะเป็นพวกปัญญาชนระดับปริญญาตรีใบหนึ่งบ้าง

สองใบสามใบจากต่างสถาบัน     ปริญญาโทก็ไม่น้อย    เด็กนอกก็มี    ข้าราชการซีสูงๆก็พอทำเนา

แต่นายจามัลคนนี้      เป็นเด็กที่อยู่และเกิดในสลัมใน  Dharavi  

และปัจจุบันเป็นเพียงเด็กเซิร์ฟน้ำชงชาเลี้ยงชีพไปวันๆ

จากนั้นหนังก็จะสลับฉากตัดไปตัดมาระหว่างการเข้าแข่งขัน-ชีวิตวัยเด็ก-การสืบสวน

แต่ไม่ว่าจะเสนอในส่วนของฉากไหน       ล้วนแล้วแต่มีเรื่องที่น่าติดตามที่ค่อยๆคลี่ปมเงือ่น

ของความจริงที่แอบซ่อนโดยชุดคำถามแรกที่ผมโยนเอาไว้อยู่บนสุดโน่น     จะเชื่อรึไม่?

ว่าทั้งสามเหตุการณ์ที่อ้างมา    ต่างสนับสนุน   เชื่อมโยงและสร้างฐานความเข้าใจตัวละครและ

สถานการณ์ที่ดำเนินตั้งแต่ต้นเรื่อง    กลางเรื่องและบั่นปลายในที่สุด   

ขณะเดียวกัน    ก็ตีแผ่สังคมในมุมมืดของแต่ละมิติที่ผู้กำกับจงใจจะนำเสนอ

การแข่งขัน -  ไหวพริบ  เล่ห์เหลี่ยม    ทะเยอทะยาน  ความซื่อสัตย์   เสแสร้งแกล้งทำของตัวมนุษย์

ชีวิตวัยเด็ก-  ความยากจน  วรรณะ  ช่องว่างทางเศรษฐกิจ อาชญากรรม ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับฮินดู

การค้ามนุษย์และอวัยวะ  แก๊งค์ขอทาน  หัวขโมย  ปัญหาเยาวชน   อาวุธปืน  ความเชื่อศรัทธา ลัทธิ

ความงมงาย  โสเภณี  ยาเสพติด  

การสอบสวน – สิทธิมนุษยชน  สิทธิของผู้ต้องหา  ปัญหากระบวนการยุติธรรม  สิทธิและเสรีภาพ

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ภูมิหลัง   การเมือง   อภิสิทธิชนสภาพ  ความรุนแรง    ศาลเตี้ย

…………………………

ไม่น่าเชื่อเลยว่า    อินเดียจะเป็นประเทศที่มีมนต์เสน่ห์ในด้วยลัทธิ     ความเชื่อและจิตวิญญาณ

อีกด้านก็มีความทับซ้อนของอุตสาหกรรม ไอที เทคโนโลยีและชีววิทยา   ขณะเดียวกันก็ยังประสบปัญหาถึง

เรื่องความความยากจน    ความเลื่อมล้ำเหลื่อมล้ำทางโอกาสและทุกขภาวะอนามัย  ในอาณาธิปไตยเดียวกัน

want to see the indian really isn’t it.  (อยากเห็นคนอินเดียจริงใช่ไหม  เนี่ยไง) 

ป.ล,    หลังจากเด็กคนนั้นก็ถูกตบตีเพราะคิดว่าร่วมหัวกับพวกหัวขโมย 

be we are the american really please a child. pay go on   (เราก็เป็นมะกันจริงๆนะหนู  เอาเงินไปซะ) 

ป.ล.    นักท่องเที่ยวเอาเงินฟาดหัวเพราะสงสารเด็ก


หนังเรื่องนี้ถือว่าใช้ดารา นักแสดงได้เปลืองพอดูชม   โดยเฉพาพระเอก นางเอกและเพื่อนพระเอก

อย่างน้อยๆ  ก็ต้องมีนักแสดงถึง ๓ วัย ใน ๑ คน  คือ เด็ก   เด็กโตและวัยรุ่น   แต่เขาก็เข้าใจสรรหาให้

หน้าแลดูคล้ายคลึงกัน   โดยเฉพาะวัยเด็กว่ากันว่า     ใช้นักแสดงเด็กสลัมจริงๆ   จนเกิดปัญหาขึ้นหลังจาก

หนังได้รับการฉาย    เมื่อเพื่อนบ้านในสลัมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 

 ”แล้วลูกอีฉันไม่ดีตรงไหนหน้าตาก็ดีกว่า     ผิวพรรณก็พุดผ่องกว่า” 

(อันนี้ฟังจากรายการเวทีความคิด ที่ดร.วรากรณ์ สามโกเศศนำมาพูด)

จากหนังที่ลงทุนไปเพียงแค่งบการถ่ายทำ ๑๕ ล้านดอลลาร์     ปัจจุบันทำรายได้ไปกว่า ๑๑๘.๕ ล้านดอลล์

( มาจาก   web boxofficemojo   ประจำสัปดาห์ที่แรกของเดือนมีนาคม    เมื่อฉายไป ๑๖  สัปดาห์)

เสน่ห์ของชุดคำถามในรายการ     ก็มีความสำคัญในฐานะตัวบีบคั้นให้สถานการณ์พลิกผัน    เพื่อให้ตัวละคร

เอกก้าวข้ามอุปสรรคนั้นไปจงได้        ในฐานะที่เคยติดตามเกมส์เศรษฐีของพิธีกรคุณไตรภพมา

แม้จะเคยมีความคิดที่จะโทรขอเข้าร่วมรายการ     แต่สุดท้ายก็ต้องมาเปลี่ยนใจ     หลังจากได้ยินคำบริภาษ

สาดเสียเทเสียของวงศาคณาญาติ      ที่เห็นผู้ร่วมรายการเรียนมาเสียตั้งสูงแต่ตอบคำถามง่ายๆไม่ได้

หรือแม้จะขอตัวช่วยแล้วก็ตาม     ซึ่งพี่จามัลก็เจอเมื่อลุงตำรวจเปิดวีดีโอตอนที่นายจามัลออกอากาศ

My five year daughter has answer this But Mr. can’t answer 

(บุตรสาวอั๊วยังตอบคำตอบนี้ได้  แต่ลื้อเด่เจือกตอบไมได้ซะเนี่ย)

แล้วถ้าเป็นทีวีสาธารณะทั่วทั้งประเทศละ     ได้เงินรางวัลไม่เท่าไร         แต่อาจได้คำตอบง่ายๆ

ที่ตอบไม่ได้     ให้กลายเป็นชีวิตที่ทุกข์ยากไปชั่วกัปป์ชั่วกัลป์      ในตัวเลือกสี่คำตอบ 

เท่าที่ผมสังเกตจะมีสองคำตอบที่แลดูสูสีคู่คี่   ขณะที่มีหนึ่งคำตอบเป็นคำตอบ 

ที่พอทุเลาแต่ไม่น่าจะใช่ข้อที่ถูกต้อง  

และอีกหนึ่งคำตอบมักจะเป็นคำตอบที่ฟังดูตลกขบขัน    (หากเลือกข้อนี้   ก็จะเสียผู้เสียคนไปในทันที)

ผู้ชมทางทีวีแรกเริ่มคงไม่คิดว่าเด็กเสริฟน้ำชาคนนี้     มีบุญญาธิการได้อย่างมากก็ไม่เกินข้อสองข้อ

แต่ไปๆมาๆ   

ถูกต้อง………ถูกครับ……….ถูกอีกแล้วครับ ……….เฮ้ย!ยังจะถูกอีกเหรอครับ    

 และ…….พระเจ้าเขายังไม่ยอมหยุดที่จะตอบได้ถูกอีก  (วะ)   ครับ

“เป็นคำตอบสุดท้ายครับ”        (be last answer)   

เสียงอ้ำอึงปนความไม่แน่ใจ    ตั้งแต่เริ่มหัวข้อแรก     จนปาเข้าไปในคำตอบ

ของรอบรางวัลใหญ่ที่สูงที่สุด      แม้ตัวพิธีกรจะป้อประโลมให้เด็กหนุ่มคนนี้เอ่ยคำที่แสดงถึงการหยุดเล่นเพื่อรับเงินรางวัลที่เขาชอบใช้ว่า   “เป็นค่ารถ” หรือ “ทุนการศึกษา”

แต่ดูเหมือนไม่สามารถที่จะหยุดไฟแห่งความเชื่อมั่นที่เด็กหนุ่มคนนี้มีอยู่อย่างเหลือล้น

เหมือนที่จะรู้ว่า      ตัวเขานั้นรู้คำตอบไว้อยู่ก่อนหน้าแล้วในลำดับข้อต่อไป…..คงมีเพียง คำตอบที่เป็นอัตนัย

อย่างที่ผมได้หยิบยกเอาไว้แล้วสี่ข้อข้างต้น    ซึ่งคนที่ดูหนังจบเท่านั้นจึงจะทราบได้

แต่สำหรับบางคนแล้วก็ไม่ได้อยากทราบหรอก    ขอแค่เพียงได้รู้ว่าจามัลกับสาวคนรักที่ชื่อ ลาติก้า  จะสมหวังอย่างที่ตั้งใจไว้รึเปล่า?

หญิงคนที่ว่าก็มิใช่ใคร     เป็นเพียงเด็กสลัมที่พบเจอกันตั้งแต่วัยเด็ก…………และยังคงตราตรึงประทับ 

ออกจะน้ำเน่าปะปนอยู่เล็กน้อยแต่พองาม

I will wait for at 5 station o’ clock everyday until she will come to

(ฉันจะรอที่สถานีรถไฟเวลาห้าโมงของทุกวัน จนกว่าเธอจะมา)

แม้แต่ความรักก็ยังรักแบบหมาจนตรอก      สถานีก็ผู้คนออกจะพรุกพร่านโดยเฉพาะอินตระเดีย   แค่การ

โดยสารรอบพิเศษผู้คนยังอุตส่าห์ป่ายปีนไปอยู่บนหลังคา    เป็นที่หวาดเสียวชิงชังยิ่ง    แม้ว่าความรู้สึกส่วนตัว

แค่การนั่งรถไฟชั้นสามก็ว่าแย่แล้ว!      จามัลจึงเป็นหมาสลัมที่สู้ไม่หยุดทั้งเรื่องชีวิต  ความรัก   การต่อสู้

และเกมส์การแข่งขัน      เขาไม่เคยเอ่ยแม้คำว่า   “ยอมแพ้”     มีแต่เพียงความมุ่งมั่น   ศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเขาเองก็ไม่อยากจะเชื่อ      จามัลจึงกลายเป็นสัญาลักษณ์สัญลักษณ์ในเชิงตัวแทนของความยากไร้ในประเทศอินเดียทั้งหมด

ผู้คนต่างเอาใจช่วยเชียร์ให้เขาสามารถคว้าเงินรางวัลในชุดคำตอบสุดท้ายของวันสุดท้าย 

โดยที่เขาเองก็ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่า       คนที่ไร้ราและชายขอบเช่นเขานี้    

จะต้องมาแบกรับความหวังของผู้คนเกือบทั้งประเทศ   ประเทศที่มีประชากรราวกว่า สองพันล้านคน    

มีคนที่ไร้การศึกษา (no formal schooling)

อัตราส่วนชาย ๔๓.๓ หญิง  ๗๒.๘ เปอร์เซ็นต์    

และได้รับการจ้างงานเพียง ๒๗.๘ ล้านคน

(ข้อมูลจากหนังสือ Time Almanac 2008)

Go son go with my blessing and win it all.  

(ไปเลยลูกชาย  ไปทำตามคำอธิษฐานของฉันให้เป็นจริง)

เสียงหญิงวณิพกข้างถนน   เมื่อเห็นเขาอยู่ในรถและรู้ว่าวันนี้เป็นวันที่ตัดสินชะตาครั้งยิ่งใหญ่ของเขา

แม้เธอจะไม่เคยรู้จักเขามาก่อน    แต่ความผูกพันในฐานานุรูปแม้ไม่รู้ว่า   จามัลจะนับถือในสาขานิกายใด

เธอก็พร้อมที่จะส่งแรงใจทั้งหมดที่มีให้กับเขา 

slamdog millionaire  จึงเป็นหนังโคตรดี!    (เป็นคำตอบสุดท้าย!)     

ที่ร้อยวันพันปีหนังที่มาจากสายตะวันตก

ผมจะหยิบจับมาเล่าสู่กันฟังสักครั้ง   ออกจะแปลกใจเสียด้วยซ้ำ  เพราะตัวหนังแม้จะจัดสร้างโดยทีมงานชาว

อังกฤษ    แต่กลิ่นไอและรูปแบบแทบจะถอดแบบความเป็น Bollywood อย่างครบถ้วนกระบวนความ

ผสมกับความเป็น pop culture     ให้มีเทคนิคเฉพาะตนและสีสันที่ดูจัดจานจัดจ้าน   มีชั้นเชิงในการนำเสนอ

หนังอาจไม่ได้เต็มด้วยคำคมและการแสดงที่โชว์พาวด์อย่างออกหน้าออกตา   

แต่ดำเนินเรื่องไปตามลำดับสลับฉากที่แลดูแล้วไม่เวียนหัว    

ไม่สับสนว่า         อ้าว!   แล้วนี้ไป      ไอ้นั้นมาแล้วอั๊วจะรู้เรื่องไหมหว่า  เนื้อหนังเข้าใจง่าย    

แต่มีสไตล์ที่ไม่ค่อยตามขนบของหนัง hollywood      และไม่เข้าข้าง bollywood

ไปในตัว    

ฉากเต้นร่วมหมู่ที่ใครว่าไม่มี       ตกลงดูจนจบแล้ว   มันมีนะเพ่!!!!!!

แต่เขาเต้นกันอย่างถูกที่ถูกทางและถูกกาละเทศด้วย       ที่สำคัญเต้นจนจบเพลงปิดล้อมสถานีรถไฟ

ชนิดขุดซากเหง้าเหล่านักแสดงให้ได้เผยตัวกันอย่างเต็มที

ตอนนี้เห็นว่ามีใน ลิโด้และสกาล่า    ที่เอามาฉายต้อนรับเทศกาลหนังรางวัล       แล้วผู้คนก็ต้อนรับอย่าง

อุ่นหนาฝาคั่ง     หากใครมีเวลาหาหนังเรื่องนี้มาประเทืองจิตใจ         ไม่ต้องมีชาติกำเนิดในสลัม

ก็ดื่มด่ำในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สู้ไม่ถอย    แม้จะจนตรอกก็แถกสีข้างแดดิ้นเอาตัวรอดได้ทุกผู้ทุกคนเอ่ย……..

Fully  to answer the question?     พร้อมที่จะตอบคำถามรึยังครับ?

ป.ล.  ในหนังยังมีฉากขบกัด อาชีพcall center ข้ามทวีป  ซึ่งถ้าใครได้อ่าน World is Flat

ของ Thomas Fieldman  ตรงหัวข้อ Outsourcing   คงได้ฮากลิ้งเพราะไม่นึกว่าพี่ดอยล์

แกจะล้ำสมัยไปผูกเรื่องเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจนได้…………………….

ภาพจาก http://pradt.net

ข้อแถมเปรียบเทียบระหว่างวรรณกรรมต้นฉบับกับตัวหนัง จากแหล่งข้อมูล wiki

Differences from the book Q & A

The Bombay Hindu-Muslim riots played no role in the book, as the ethnic or religious heritage of the main character was uncertain. In the book, the character of Jamal is instead named ‘Ram Mohammad Thomas’. He was given a Hindu name, Muslim name and Christian name by the village elders in order to maintain the balance between all the religious communities after his mother abandoned him after birth. Unlike the movie, Ram does not have a biological brother, but Salim is instead his best friend in the novel. He grows up in an orphanage and his only ‘brothers’ are his fellow orphans. He never knew his mother. Ram is adopted by a Christian priest as a youth, which is where he learns English, and then is nearly molested by a visiting priest. The priest scenes were not included in the script for the movie, and the movie does not explain how Jamal learned fluent English. Latika is not his childhood friend in the book but rather a prostitute named Nita that Ram falls in love with in a brothel when he’s 18.

by chanpanakrit2 posted under Uncategorized | 27 Comments »    

27 Comments to
“slumdog millionaire หมาจนหาได้จนตรอกไม่?”

*********************************************************************************************
ในที่สุดเราก็ได้ดูเรื่องนี้~~~!!! เรื่องที่กวาดรางวัลจากหลายสถาบันจนที่เป็นกล่าวขาน
พอเข้าฉายที่เครือลิโด้คนก็ดูกันแทบทะลักโรง
ของเค้าดีจริงๆนะจ้ะ













เริ่มจากรายการชื่อดัง ที่นิยมไปทั่วโลก (บ้านเราก็มีจำได้ไหม?)
" Who Wants To Be A Millionaire " 
รายการที่เปิดโอกาสให้คนทางบ้านร่วมสนุกในการตอบคำถาม
เพื่อชิงรางวัลเิงินมูลค่าสูงสุด 2 ล้านรูปี
ซึ่งเปลี่ยนจากคนจนๆ มาเป็นมหาเศรษฐีได้เลยทีเดียว
จามาล (jamal) เป็นแค่พนักงาน(เสิฟชา กาแฟให้)คอลเซนเตอร์ ที่เติบโตมาจากสลัมในมุมไบ
แต่เรื่องไม่คาดคิดก็เกิด เมื่อเขาตอบคำถามได้ทีละคำถาม จำนวนเงินมาขึ้นเรื่อยๆ
คำถามคนดูคือ เขาทำได้อย่างไร?
จุดประสงค์ของการมาเล่นครั้งนี้คืออะไรกันแน่
แต่ละคำถาม ตั้งแต่ข้อแรก จนถึงข้อสุดท้าย
ได้เล่าเรื่องราวในชีวิตเขาทีละนิด ทีละน้อย
เรื่องราวที่ไม่ธรรมดาของชายคนนี้ ถูกเล่าผ่านคำถาม
ซึ่งคำตอบนั้น ก็มาจากเรื่องราวทั้งชีวิตของเขาเอง...


ตอนแรก เราเข้าใจอย่างผิดมหันต์ว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการเอาเงินไปช่วยสลัมเสียอีก
(ชนิดว่าทริลลงทริลเลอร์ไม่ได้ดูเลยล่ะ)
แต่ที่จริงหนังเรื่องนี้  มีอะไรที่มากกว่า
การเล่นเกมรายการโทรทัศน์เพื่อชิงเงินรางวัล และก้าวสู่การเป็นเศรษฐี

หนังเปิดตัวได้อย่างหดหู่ตามสไตล์คนต่างประเทศเมืองศิวิไล มองชุมชนแออัด
ซึ่งบางคนมองว่ามีแต่เรื่องเลวร้าย และดูไม่มีความสุขเอาเสียเลย
ทั้งๆที่บางทีแล้วการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การหาเงินมาประทังชีวิตได้
นั้นก็เป็นความสุขสูงสุดที่พวกเขาพึงจะมีได้ในแต่ละวัน
เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต..
บางคนมองว่ามันแย่ลง แต่พวกเขากลับมองว่า นั้นก็ยังดีเสียกว่าเดิมที่เขาเป็นอยู่
เหตุการณ์อันแสนธรรมดาของเรา อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนอื่น

ถ้าเราดูไปเรื่้อยๆ แม้ว่าสถานการณ์ของเด็กๆ
ที่ชื่อ จามาล พี่ชาย ซาเลบ  และเด็กหญิงกำพร้าที่พวกเขารับมาคือ ลาติกา
จะดูแย่ลงยังไง แต่เราก็จะมองข้ามสถานการณ์เลวร้าย และมองไปยังสิ่งพวกเขาเผชิญอยู่
ซึ่งเดายากมากว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อๆไป 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
ของจามาล ไม่ได้เปลี่ยนตัวตน และความคิดที่เขาเป็น และเป็นมาเสมอแม้ว่าจะเจออะไรก็ตาม
ในขณะที่ซาเลบนั้น ได้เปลี่ยนตัวตนของตัวเองไปทีละนิดจากสิ่งที่เขาได้พบเจอในชีวิต
การแยกทางระหว่างสองพี่น้อง ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า
ความคิดของคนสองคนที่โตมาด้วยกันอยู่ด้วยกันนั้น
ยังสามารถแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง
นั่นเป็นเพราะสาเหตุของการมีมุมมองต่อสังคมที่เป็นอยู่ว่าเป็นอย่างไร
ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ ที่หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอขึ้นมา

และหนังเรื่องนี้ยังถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กคนนึงที่เติบโตในสลัม
อย่างกำพร้า ซึ่งเป็นจริงในสังคม ผ่านตัวละครถึงสามตัวละคร สามตัวละคร สามทาง
เป็นการแฝงสภาพสังคมผ่านทางภาพยนต์ได้อย่างแนบเนียน


นอกจากหนังจะแฝงเรื่องราวของสภาพสังคม ทัศนคติ แล้ว
หนังเองก็ยังมีความโรแมนติก ในตอนท้ายๆเรื่องอีกด้วย
(ไม่งั้นเค้าจะเอานางเอกขึ้นโปสเตอร์ทำไมล่ะน้อ ^^'')
ซึ่งดูไม่เกินจริง ซาบซึ้ง และสวยงามมาก (โฮกแรงๆ 1 ที)
แม้จะไม่มีถ้อยคำหวาน(ละเลี่ยน) ที่ร้อยเรียงให้รู้สึกใจลอยละล่อง
แต่ความจริงใจต่างหากที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูสมจริง และประทับใจยิ่งกว่า


เรามานั่งคิดๆเรื่องนี้มา 1 วัน (เพิ่งดูจบเมื่อวาน คืนร้านแล้วอ่ะ ซื้อเก็บ!)
เรื่องนี้ถือว่าจะมีแบบแผน
ของการเล่าเรื่อง ชีวิต ทัศนคติ ประวัติศาสตร์ สังคม ความรัก ผ่านตัวละคร ก็ไม่เชิงนัก
 รู้ไหมคะเรื่องแรกที่นำเสนอได้ครบรสแบบนี้ เรื่องแรกที่เราดูคือเรื่องอะไร



Watchmen_Since_1985 (เลขที่ 296622) เมื่อ 18 ก.ค. 54 19:13
ใจร้ายที่สุดเลย ใครที่ไม่ให้เต็ม 10 หนังเรื่องนี้ สมค่าราคากับ ออสการ์ที่สุดแล้ว และยังเป็นหนังรางวัลที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยดูมาเลย(แน่นอนว่าเราคงไม่ดูเพียง 2-3 เรื่องแล้วมาบอกว่าหนังเรื่องไหนดีกว่ากัน เพียงเพราะเรายังไม่เคยดูหนังอีกเป็น 100 เป็น 1000 เรื่องที่รออยู่ข้างหน้า) ไม่มีหนังออสการ์เรื่องไหนเลยที่ดูสนุกและลุ้นไปพร้อมๆกับตัวละคร 

หนังเรื่องนี้สะท้อนมุมมองชีวิต ปัญหาในสังคมออกมาได้อย่างไม่เคร่งเรียด ดูสนุก ด้วยการเล่าเรื่องตัดสลับกันไปมา และหนังยังเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้นทำให้เรารู้สึกรักและผูกพันไปกับตัวละคร นักแสดงทั้ง 3 รุ่นแสดงได้ราวกับเป็นคนๆเดียวกัน เยี่ยมที่สุดแล้ว ดูจบแล้วรู้สึกมีความสุขมาก นี่สิความบันเทิงจากการดูหนังจริงๆ 

หนังของ แดนนี่ บอย ดูดีมีราศีทุกเรื่องจริงๆ
แจ้งลบ
 รูปภาพ ~!+_เจิด_+!~ (เลขที่ 267073) เมื่อ 17 เม.ย. 54 22:23
" ภาพยนตร์ Drama ที่เปี่ยมคุณภาพ "
แจ้งลบ
 รูปภาพ kolono (เลขที่ 271933) เมื่อ 14 มี.ค. 53 11:49
ตอนเด็กน่ารักมากๆ 
ตอนโตก้ซึ้ง 
ทั้งสุขเศร้าซึ้งมีหมดค่ะ 
infinity/10 ค่ะ
แจ้งลบ
 รูปภาพ ++@Is+U@++ (เลขที่ 163410) เมื่อ 7 มี.ค. 53 15:47
สุดยอดมากมาก หนังให้อะไรมากกว่าที่คิดเยอะเลย ตีแผ่สังคมอินเดียได้อย่างเฉียบ ชอบการเล่าเรื่องและการดำเนินเรื่องของหนังมาก มันสุดยอดจริงๆ นักแสดงทุกคนเล่นได้ดีมากมาก พระเอกตอนเด็กก็เล่นดี น่ารักดี ยิ่งตอนโตมายิ่งแล้วใหญ่เล่นดีมากดูแล้วเชื่อเลยว่าเป็นคนคนเดียวกันตั้งแต่เด็กยันโตเลย ตัวนางเอกกับพี่พระเอกด้วย เล่นได้สมบทบาทมาก ขอชื่นชมเลย สมราคาออสการ์จริงๆ 10/10
แจ้งลบ
 รูปภาพ taidao (เลขที่ 206727) เมื่อ 16 ก.ค. 52 22:20
ปกติจะไม่ค่อยศรัทธาหนังรางวัลเท่าไหร่ แต่ดูเรื่องนี้แล้วบอกได้เลยว่าสุดยอด น่าติดตามตลอดเรื่อง ไม่มีจุดเบื่อเลย มีทุกรสชาด ชอบครับ
แจ้งลบ
 รูปภาพ Cantharidine>< (เลขที่ 243728) เมื่อ 25 มิ.ย. 52 11:25
สังเกตดูแล้ว รู้สึกว่าเรื่องนี้จะได้รับแต่รางวัลออสการ์สาขาที่ไม่เกี่ยวกับนักแสดงเลยนะครับ แต่ผมว่านักแสดงเค้าก็เล่นได้สมบทบาทดีนะครับ
แจ้งลบ
 รูปภาพ oclc (เลขที่ 8889) เมื่อ 8 พ.ค. 52 14:49
สนุกครับ ชอบ โอเค เลย
แจ้งลบ
 รูปภาพ ohmthekop (เลขที่ 183587) เมื่อ 3 เม.ย. 52 13:07
ดูแล้วหลับได้ แอบลุ้นว่าจะสนุก
แจ้งลบ
 รูปภาพ Kingbangna (เลขที่ 170039) เมื่อ 26 มี.ค. 52 14:07
เป็นหนังดีที่ไม่ควรพลาด มีครบทุกรสชาติอย่างที่ไม่ได้ดูหนังดี ๆ แบบนี้มานานแล้วครับ
แจ้งลบ
 รูปภาพ maawthai (เลขที่ 86810) เมื่อ 22 มี.ค. 52 09:33
สุดยอดสมคำล่ำลือ ไปดูที่สกาลามาเมื่อคืนรอบ 20.45 คนแน่นมาก ชอบเพลงตอนเปิดเรื่องอะเพราะจัง

...อ้างอิง http://www.siamzone.com/movie/m/5345/review?page=1

.frodobuggins (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 12 มี.ค. 52 10:31
ชอบมากๆครับ ออกจากโรงมาแล้วมีความสุขมาก(ตรงข้ามกับThe Reader เลย) สมชื่อเสียงสมราคา คุ้มค่ากับการเดินทางไปชมที่สกาล่า คนดูในโรงเยอะมากๆ ทุกอย่างเยี่ยมตั้งแต่ดนตรี ตัดต่อยันภาพ เป็นหนังออสการ์ที่ดูสนุกมากๆอ่ะคับ เดี๋ยวจะพาพี่กะพ่อไปดูอีกรอบ(รอบแรกไปดูกะเพื่อนๆ) ให้10เต็มครับ
 รูปภาพ จ๊อดหนามเตย (เลขที่ 232167) เมื่อ 12 มี.ค. 52 04:34
สมกับออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรียกได้ว่าครบทุกรส หนักแน่นทุกองค์ประกอบ
แจ้งลบ
 รูปภาพ moviehardy (เลขที่ 220552) เมื่อ 9 มี.ค. 52 19:19
ไม่มีอะไรต้องพูดมากสำหรับหนังยอดเยี่ยมOscarปีนี้ 
(+กวาดมา8รางวัล) ....9/10 
อีกนิดเดียวเกือบจะทำให้เป็น'หนังในดวงใจ'แล้วนะเนี่ย!!!!! 

ปล.นักแสดง(เด็กเล็กๆ)/บท/ตัดต่อ/ดนตรี โดนสุดยอดด
แจ้งลบ
 รูปภาพ butterfly2 (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 8 มี.ค. 52 01:42
ลุ้นแทน ปกติดูรายการเกมส์เศรษฐีก็ลุ้นมากแล้ว 
แต่เกมส์นี้เรารู้เบื้องหลังของพระเอกด้วย 
ทำให้เอาใจช่วยมากเป็นพิเศษ 
น้ำตาไหลเลย 
ยอดมาก ภาพสวย ตัดต่อดี 
ให้คะแนน 9/10 
หัก 1 คะแนนสำหรับฉากเต้นรำตอนจบ 
ดูผิดที่ผิดทางไปหน่อย
 รูปภาพ tsu (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 6 มี.ค. 52 13:18
ดีมาก เป็นคำตอบสุดท้ายครับ
 รูปภาพ Simplegirl+ (เลขที่ 209200) เมื่อ 5 มี.ค. 52 00:19
สุดยอดดดดดดดดด 
ไม่มีคำบรรยาย มากกว่าคำนี้จริงๆ 
ต้องไปดูกันนะ
แจ้งลบ
 รูปภาพ `swstilla,,)) (เลขที่ 199504) เมื่อ 2 มี.ค. 52 20:41
คำเตือน: บางส่วนของคำวิจารณ์นี้เหมาะกับผู้ที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเท่านั้น เป็นหนังที่ดีนะ เล่าถึงสังคมในอินเดีย ชีวิตอันยากลำบากของพระเอก แล้วก็ลงเอยที่ความรักที่ตามหามาตลอด ควบคู่ไปกับการเล่นเกมเศรษฐี (พึ่งรู้ว่าอินเดียมีเหมือนบ้านเราเลย) เรื่องนี้ใช้เงินสร้างหนังค่อนข้างน้อย แต่ผลตอบรับมาได้มาอย่างคุ้มค่า อยากให้ไทยทำหนังดีๆแบบนี้มาบ้างจังนะ 
ps. ดูจบแล้วอยากจะลุกขึ้นมาเต้นตาม เพลงมั๊นมันส์ =__=;;
แจ้งลบ
 รูปภาพ PRikbERRYnPiGMONkEY (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 28 ก.พ. 52 21:22
เล่าเรื่องได้เจ๋งเป็นบ้าเลย รู้สึกว่าอินเดียนี่ก็มีอะไรคล้ายๆไทยเลยครับ
 รูปภาพ aCtDeltAS (เลขที่ 188298) เมื่อ 28 ก.พ. 52 09:17
นี่ภาพยนตร์เรื่องแรกหลังจากที่ผมดูจบแล้วกล้าพูดได้เลยว่ามันต้องได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและมันก็ได้จริงๆ 

หนังดำเนินเรื่องได้วาบหวามตามสไตล์ของ ผกก Danny Boyle ที่ผลงานหลังมาของเฮียแกนอกจากจะมีการถ่ายทำที่รวดเร็วแล้ว ยังมาพร้อมกับการจัดแสงสีที่สวยมาก!!! การดำเนินเรื่องชวนเราเข้าสู่ด้านมืดของ อินเดีย ในแบบที่คนอินเดียไม่กล้าเปิดเผยมาก่อน จึงทำให้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ในความเรียบง่าย แต่โดดเด่นที่การเล่าเรื่องแบบถึงกึ๋น 

นี่คึือภาพยนตร์ที่คุณต้องดูให้ได้ในชืวิตนี้!!! 
10/10 

ป.ล. แนะนนำถ้าใครชอบก็ลองหาผลงานเก่าของ Danny Boyle มาดูนะครับเยี่ยมทั้งนั้น เช่น The Beach, 28 Days Later และ SunShine เป็นต้น (แนะนำเฉพาะใหม่ๆเพราะหามาดูง่าย...)
แจ้งลบ
 รูปภาพ tsunami (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 27 ก.พ. 52 15:32
ดูแล้วชอบมาก ชอบตรงที่ดึงดูดให้รู้สึกสนุกกันการดูหนังตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เรามีอารมณ์ร่วม และคอยลุ้นไปกับพระเอกด้วยเลย 

เป็นหนังที่ลงตัวในหลายๆ ด้าน ทั้งบท วิธีเล่าเรื่อง ตัวละคร ภาพ เพลงประกอบ โดยเฉพาะเพลงประกอบ ปกติแล้วจะไม่ค่อยชอบเพลงแนวภารตะสักเท่าไหร่ แต่เพลงในเรื่องนี้ทำได้เท่ดี อยากฟังอีก 

และหลายๆ ฉากในเรื่อง ทำเอาอึ้ง มีทั้งอึ้งแบบฮาๆ อึ้งแบบสะเทือนใจ สมแล้วที่ได้ออสการ์ไปตั้ง 8 ตัว
...อ้างอิง http://www.siamzone.com/movie/m/5345/review?page=2

Torres~ (เลขที่ 160265) เมื่อ 24 ก.พ. 52 14:29
คว้าออสการ์กระจุยครับเรื่องนี้ ... สุดยอดลบครหาใดๆทั้งนั้น ดีเด่นทั้งการแสดง พล็อตเรื่อง เพลงประกอบ ถ้าสังเกตดีดีนะครับ เรื่องนี้จะมีมุมกล้องสวยๆอยู่มาก และการเอาประเด็นที่ทำให้พระเอกชนะเกมส์เศรษฐีมาเล่าถึงที่มาของคำตอบในทุกๆข้อ ทำออกมาได้ดี ชวนน่าติดตามไปตั้งแต่ต้นจนจบ พอถึงฉากโรแมนติกก็เข้าถึงอารมณ์คนดูได้อย่างลงตัว ไม่รู้จะพูดยังไงแล้วสำหรับเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้ดู เบนจามิน ครับ เลยยังบอกไม่ได้ว่าเรื่องไหนดีกว่ากัน ... (9.5/10 คะแนน)
แจ้งลบ
 รูปภาพ 029283310 (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 24 ก.พ. 52 05:11
คือแบบไม่รู้จะพูดยังไง ดูสองรอบ ก็สนุกทั้งสองรอบ มีแทบทุกอารมณ์ ชอบฉากตอนจามาล กับ ซ่าหริ่ม ( ^_^ ) ตอนเด็ก ที่ไปซุยเป็นไกด์ที่ทัชมาฮาลอ่ะครับ ฮ่าๆๆ ผมขำแบบ ขำยิ่งกว่าหนังตลกจริงๆเสียอีก 

เฮ้อออ...ปลื้มใจมากครับที่ได้ดูหนังดีๆแบบนี้ ไม่น่าเชื่อ ลงทุนก้ไม่มาก นี่ล่ะครับ ภาพยนตร์ของจริง ฝีมือล้วนๆ (เวอร์ไปมะ...^_^)
 รูปภาพ Alethiometer (เลขที่ 104290) เมื่อ 23 ก.พ. 52 14:42
ชอบครับ 
จบ
แจ้งลบ
 รูปภาพ Peter_Heho (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 23 ก.พ. 52 14:01
หนังดี สนุกใช้ได้เลย เพลงก็เพราะดีนะครับ
 รูปภาพ NidaLovEChiCkeNMiCkY (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 21 ก.พ. 52 13:54
เนื้อเรื่อง ดำเนินเรื่องได้ดีมากๆๆ ภาพสวย ดำเนินเรื่องดี เนื้อเรื่องดี บทดี สุดยอดจริงๆๆ นักแสดงก็แสดงดี แบบว่าตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยโตกันเลยทีเดียว เพลงกับหนังถ่ายทอดมุมมองของสังคมได้ดีจริงๆๆ 

เกรด A+++++++++ เลยค่ะ
 รูปภาพ PiMZZAAA (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 20 ก.พ. 52 18:30
สุดยอดดดมากกก สมแล้วที่ได้เข้าชิงออสก้าหลายสาขา พระเอกกเท่มากกก สนุกสุดๆหนังเรื่องนี้ดีมากๆๆ ถ้าเข้าโรงมีโอกาศจะไปดูอีก ดูมาสองรอบแล้วไม่เบื่อเลย ชอบมาก!
 รูปภาพ bigberm (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 15 ก.พ. 52 18:19
feel good จริงๆครับ เพลงเพราะ ภาพสวย
 รูปภาพ เพชรชี่ (เลขที่ 196474) เมื่อ 11 ก.พ. 52 22:11
สนุกมากครับ เรื่องนี้ดูแล้วตื่นเต้นตาม และลุ้นไปกับตัวละครตลอดเวลา 

แนะนำให้ไปดูในโรงครับ ลุ้นให้ได้ออสการ์เลย +10
แจ้งลบ
 รูปภาพ OxyGen* (ไม่ได้เป็นสมาชิก) เมื่อ 8 ก.พ. 52 12:05
ชอบมากกกกกกกกกก หนัง feel good จริงๆ เชียร์ๆ ให้ได้ออสการ์นะ ชอบมากมายครับ

...อ้างอิง http://www.siamzone.com/movie/m/5345/review?page=3

No comments: