2014-03-04

นิธิ เอียวศรีวงศ์: จุดจบของโอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยสงบ


 วันนี้เราได้มาถึงจุดที่ไม่มีทางออกอื่นเหลืออีกแล้ว นอกจากความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายใดจะประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ของตน เพราะเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะมีการประนีประนอม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้บางอย่างและเสียบางอย่าง

      อีกทั้งความรุนแรงก็จะไม่เกิดเพียงครั้งเดียว แล้วหันมาเยียวยากันได้อย่างที่ผ่านมา แต่ความรุนแรงจะกลายเป็นลักษณะประจำในการเมืองไทยต่อเนื่องกันไปอีกนาน


      นับเป็นวันเวลาที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย


      เครือข่ายอำมาตย์ตัดสินใจเคลื่อนไหวกดดันบนท้องถนนในช่วงที่รัฐบาลอ่อนแอที่สุด การตัดสินใจผิดแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กลายเป็นเหมาเข่ง เพราะไปเชื่อการเจรจาต่อรองทางลับ (ตามสันดานของพ่อค้าที่คิดว่าทุกอย่างในโลกนี้จัดการได้ด้วยการเจรจาต่อรองทั้งนั้น โดยไม่ต้องมีหลักการอะไรเลย) ทำความผิดหวังแก่ประชาชนผู้สนับสนุนรัฐบาลไปจำนวนหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือกระพือความไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งมีอยู่แล้วในหมู่กระฎุมพีให้ลุกฮือขึ้น ทำลายความชอบธรรมของเสียงข้างมากในสภาไปในหมู่กระฎุมพีจำนวนไม่น้อย


      ดังนั้น การยุบสภาเพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตัดสินใจใหม่ว่าจะเอารัฐบาลที่ใช้เสียงข้างมากอย่างไม่ชอบธรรมนี้ไว้ต่อไปหรือไม่ จึงไร้ความหมายแก่คนจำนวนไม่น้อย แม้กระนั้นการยุบสภาก็เป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลพึงทำในการฝ่าวิกฤตการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และยังมีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ เครือข่ายอำมาตย์ต้องทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้งลงให้ได้ เริ่มจากพรรค ปชป.ซึ่งเป็นฝ่ายค้านเกือบจะหนึ่งเดียวที่พอมีน้ำหนักในสภา บอยคอตการเลือกตั้ง เพื่อทำให้สภาที่จะได้มาไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ



      แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังพอใจที่จะดำรงรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งของพลเมืองที่เท่าเทียมกันอยู่นั่นเอง หลายคนกำลังคิดว่าจะสั่งสอนบทเรียนแก่พรรครัฐบาลอย่างไร เพื่อไม่ให้เหลิง ฉะนั้น การบอยคอตของ ปชป. แม้มีความหมายสำคัญ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งการก้าวเดินไปบนหนทางประชาธิปไตยของสังคมไทยได้


      นี่คือเหตุที่ม็อบของเครือข่ายอำมาตย์หรือ กปปส.เลือกหนทางเดินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอย่างออกหน้า นับตั้งแต่การทำลายหลักความเสมอภาค (อย่างโง่ๆ) และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อทำให้รัฐล้มเหลว ม็อบที่อ้างสันติอหิงสาใช้อาวุธสงครามจากอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญกับการรบด้วยอาวุธชนิดนี้ ทั้งสร้างความรุนแรงแก่ม็อบของตนเอง เพราะรู้อยู่ว่าตำรวจไม่อาจสาวไปถึงผู้กระทำได้ แม้มีรูปภาพจากกล้องวงจรปิดให้เห็นใบหน้าชัดเจน ยึดที่ทำการรัฐบาล และปิดเมืองหลวง


      สร้างเงื่อนไขทุกอย่างที่จะทำให้การรัฐประหารโดยกองทัพมีความชอบธรรม แต่ยิ่งใช้ความรุนแรงและยิ่งละเมิดกฎหมายอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ ก็ทำให้ไม่มีทางปิดเกมด้วยวิธีอื่นได้ นอกจากการรัฐประหารของกองทัพ (ฟันทีเดียวให้ขาด ไม่ใช่โดยการเลื่อยไปเรื่อยๆ ทีละน้อย อันเป็นยุทธวิธีที่เครือข่ายอำมาตย์ใช้ตลอดมาก่อน กปปส.)


      อันที่จริงรัฐประหารโดยกองทัพไม่ใช่ทางออกเพียงทางเดียวของเครือข่ายอำมาตย์มาก่อน รัฐบาลถูกบ่อนเซาะให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ ด้วยระบบตรวจสอบที่เครือข่ายอำมาตย์สร้างไว้มาแต่แรกแล้ว ผลก็คือสมาชิกพรรครัฐบาลทั้งหมดอาจถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้รัฐธรรมนูญย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีอาจถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่ามีมูลความผิดที่รู้เห็นเป็นใจกับการทุจริตในกรณีจำนำข้าว จนทำให้ต้องหยุดทำภารกิจทางการเมืองไป รัฐบาลถูกขัดขวางมิให้สร้างคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เพราะโครงการใดๆ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง และเพิ่มความชอบธรรมแก่รัฐบาล เช่นโครงการจัดการน้ำ, และโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถูกองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ทำให้ชะงักงันไปหมด


      (คนที่ห่วงไยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการชุมนุมในครั้งนี้ น่าจะห่วงมาตั้งนานแล้ว เมื่อโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทำท่าจะไปไม่รอด แต่พวกเขากลับไม่ห่วง ซ้ำบางคนในกลุ่มนั้นยังออกมาโจมตีโครงการรถไฟความเร็วสูงเสียอีก ช่างเป็น elite ที่สายตาสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ)


      ความอ่อนแอของรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากการเลือกตั้งนี้ ไม่นำไปสู่การล่มสลายของเครือข่ายทักษิณโดยสิ้นเชิง แม้แต่ยุบพรรคก็ยังสามารถตั้งพรรคใหม่ได้อยู่นั่นเอง แต่ความอ่อนแอชนิดที่ไม่สามารถขยับทำอะไรในฐานะรัฐบาลได้เลยตลอดไปเช่นนี้ บังคับให้เครือข่ายทักษิณต้องเข้าสู่โต๊ะเจรจาโดยไม่มีอำนาจต่อรองเหลืออยู่กี่มากน้อย นั่นน่าจะเป็นเป้าหมายเดิมของเครือข่ายอำมาตย์มากกว่าการล้มรัฐบาลด้วยการรัฐประหาร


      แต่ กปปส.ทำให้ทางเลือกนั้นไม่มีอีกแล้ว ในขณะเดียวกันก็ไม่มีโต๊ะเจรจาต่อรองที่เครือข่ายทักษิณพึงหวังได้อีกแล้วเหมือนกัน คำพิพากษาของศาลแพ่งพร้อมข้อห้าม 9 ข้อ ทำให้แม้แต่ฟันปลอมของรัฐบาลที่จะใช้เคี้ยว กปปส.ก็ถูกถอดออกไปด้วย เพราะเป้าหมายพื้นฐานของรัฐ คือการรักษาความสงบเรียบร้อย รัฐก็ไม่อาจทำได้เสียแล้ว (จะอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ ก็ต้องตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินเอาเอง)


      แม้กระนั้น ตราบเท่าที่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก กปปส.ก็ไม่มีทางจะปิดเกมลงได้อยู่นั่นเอง ยกเว้นแต่ต้องมีการรัฐประหารของกองทัพ (ซึ่งจะเกิดการฟันรัฐให้ขาดในคราวเดียว) อย่างไรเสีย การรัฐประหารแม้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อสักหยดก็คือความรุนแรง ไม่ใช่อารยะขัดขืน และไม่ใช่สันติอหิงสาอย่างแน่นอน (ทั้งนี้ตามความเข้าใจของผู้เขียน ไม่ใช่ตามความเข้าใจของนักสันติวิธี) เราจึงหลีกหนีความรุนแรงไปไม่พ้น


      แม้แต่หากนายกฯยอมลาออก มีนายกฯคนกลางได้รับแต่งตั้งให้เข้ามารับผิดชอบ หรือเกิดรัฐประหารของกองทัพ ก็ยังหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่พ้นอยู่นั่นเอง


      รายการทีวีหนึ่งพูดถึงว่า รัฐบาลใหม่จะพบสภาพ "ปกครองไม่ได้" ไม่แต่เพียงจะถูกต่อต้านจากกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แม้พวกเขาอาจไม่ออกมาทำอย่างเดียวกับ กปปส. เพราะอาจถูกสังหารหมู่ได้ แต่เขาก็คงมีวิธีต่อต้านได้อีกหลายอย่างที่กองทัพไม่อาจปราบได้ด้วยสมรรถภาพที่มีอยู่ (กองทัพปราบใครได้ก็ต่อเมื่อมีการเผชิญหน้า หากต่อต้านโดยไม่เผชิญหน้า กองทัพก็ไม่มีสมรรถภาพจะปราบได้)


      วิธีเดียวที่เหลืออยู่สำหรับผู้มีอาวุธคือวินาศกรรมและลอบสังหาร หรืออุ้มหาย อย่างที่กองทัพชิลีเคยทำมาแล้ว เพราะความจำเป็นทางการเมืองบีบบังคับให้ต้องทำ เมื่อเริ่มทำก็หยุดยากเสียด้วย


      แต่ที่จริงสภาพปกครองไม่ได้นั้น ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเผชิญหน้ากับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แม้ฝ่ายที่เป็นผู้กรุยทางไปสู่การรัฐประหารเอง ก็อยู่ในฐานะที่ปกครองไม่ได้อยู่นั่นเอง


      คิดหรือว่า กปปส.เป็นแต่เครื่องมือของคนอื่น โดยไม่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตนเอง ซึ่งอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเหล่าคนที่อยู่เบื้องหลังก็ได้


      คิดหรือว่ากระฎุมพีนักธุรกิจที่หนุน กปปส.อยู่เวลานี้ มีเป้าหมายเพียงเพื่อล้มรัฐบาลเพื่อไทย โดยไม่มีเป้าประสงค์อื่นของตนเอง เป้าประสงค์นั้นอาจขัดกันเองในหมู่กระฎุมพีนักธุรกิจ (อย่างที่ขัดกันเอง แข่งขันกันเอง ด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ ตลอดมา) หรืออาจขัดกับเป้าหมายของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ได้


      จนถึงที่สุด เหล่าชนชั้นนำในเครือข่ายอำมาตย์ระดับสูงเอง ก็คงมีเป้าประสงค์ของตนเอง ซึ่งรัฐบาลคนกลางไม่อาจตอบสนองได้ทั้งหมดหรือได้ทุกกลุ่ม


      ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งและประชาธิปไตยหรือไม่ การปกครองในรัฐสมัยใหม่ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ คือมีผลประโยชน์, จินตนาการ, ความใฝ่ฝันของคนหลากหลายประเภท และหลากหลายกลุ่ม จะประนีประนอมกันด้วยอำนาจนำของผู้สูงบารมีตลอดไปย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจนำที่ถูกใช้บ่อยเช่นนั้นจะสึกหรอ วิธีประนีประนอมเดียวที่ใช้กันทั่วไปเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง คือประชาธิปไตย แต่วิธีนี้ก็ถูกทั้งชนชั้นนำและกระฎุมพีปฏิเสธไปอย่างสิ้นเชิงในครั้งนี้ ด้วยการออกมาแก้ผ้าให้เห็นกันอย่างจะๆ โดยไม่ต้องอาย


      เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้บีบให้ต้องพึ่งพาความรุนแรงเพื่อรักษากฎระเบียบ และกติกาของเผด็จการมากขึ้น ดังนั้น การรัฐประหารหรือการสถาปนานายกฯคนกลางขึ้นก็ตาม จึงจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความรุนแรงอีกรูปหนึ่งที่หาจุดจบไม่ได้เท่านั้น


      เมื่อหลายฝ่ายเทหน้าตักกันจนแทบหมดตัวเช่นนี้ การเจรจาปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขึ้นชื่อว่า "เจรจา" ย่อมหมายความว่าทุกฝ่ายพร้อมจะได้ไม่หมด บางอย่างต้องถอยให้แก่คู่เจรจา บางอย่างต้องแบ่งปันกัน เมื่อเดิมพันสูงขนาดนี้ ก็ยากที่จะถอยหรือแบ่งปันกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ หากมีการพบปะกันเกิดขึ้น ก็เป็นเพียงการยื่นคำขาด ไม่ใช่การเจรจา


      คงอีกนาน กว่าเราจะเข้าใจได้ว่าเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และใครบ้างที่ควรรับผิดชอบ




      เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 3 มี.ค. 2557


      ที่มา: มติชนออนไลน์ 

1 comment:

Warina P. said...

ใคร"กระฎุมพีกินแรง" ใครแบ่งชนชั้น"ชาวนา"

จากท้องนาที่ความเดือดร้อนถึงที่สุด ผลักให้ชาวนาต้องออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาล

ตีปีกทันทีคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ

ตีปี๊บด่ารัฐบาลไม่เห็นหัวชาวนา ว่าแล้วทางหนึ่งออกเรี่ยไรเงิน ทางหนึ่งยกพวกขวางเมื่อธนาคารออมสินให้ธ.ก.ส.กู้เงิน

ทั้งที่โดยความเป็นจริง การใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ร่วมขับเคลื่อนงานของรัฐบาล เป็นเรื่องปกติ

ขณะเดียวกับที่สังคมมองเห็นภาพชาวนาถูกจับเป็น"ตัวประกัน"

อยู่ในเงื้อมมือ"ชนชั้น"ที่ไม่เคยชายตาเห็น"ความเป็นคนอันเท่าเทียม"ของชาวนาซึ่งล้วนแต่เป็น "คนชนบท"

"มติชนสุดสัปดาห์" พาดปก "กระฎุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น"

หรือจะเป็นดังที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้

"โลกที่ปลอดภัยมั่นคงของกระฎุมพีกำลังสลายลงต่อหน้า จะหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยได้อย่างไร

หนึ่งคือปรับตัวเองให้เข้ากับระเบียบสังคมใหม่ที่ต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน

หรือสองคือหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมนี้ทุก วิถีทาง

น่าเศร้าที่กระฎุมพีไทยเลือกหนทางที่สอง

และนี่คือที่มาของกบฏกระฎุมพีที่เรากำลังเผชิญอยู่"