2014-01-01

ขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาไทย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี

ลุงจ่าหรือจ่าทวี ที่ชาวพิษณุโลกนิยมเรียกกัน นั่นก็คือ จ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ คนดีศรีสองแควพิษณุโลกท่านตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยอดีตให้เป็นมรดกของแผ่นดินเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานและชุมชนเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำรงไว้เพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และการดำรงชีวิต จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อันทรงคุณค่า ในทุกวันนี้ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ท่านตระหนักในคุณค่าของเครื่องมือเครื่องใช้ทุกชิ้นที่พบ พยามยามขอแลกซื้อสิ่งของเหล่านั้นมาซึ่งในช่วงแรกทำได้ยากเพราะท่านเป็นคนจน จนกระทั่งเมื่อมีฐานะดีขึ้นท่านจึงทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ เพื่อที่เสาะแสวงหา โดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวอีกมากเพื่อสร้าง และดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ โดยในตอนเริ่มแรก เปิดให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาหาความรู้โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ด้วยอุดมการณ์ ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมอย่างเสมอภาคกันนับว่าเป็นบุคคลที่น่ายกย่องเป็นอย่างมากครับ และท่านได้รับรางวัลต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ด้วยใจรักในศิลปะและเห็นในคุณค่าในของใช้พื้นบ้าน ลุงจ่าเริ่มซื้อหาและรวบรวมของใช้พื้นบ้านที่คนทั่วไปมองว่าเป็นแค่ของทิ้ง ไม่มีราคาเช่น สุ่ม ไห โอ่ง ฯลฯ โดยท่านสะสมมานานกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การเกิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีในปี พ.ศ. 2526 ข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ลุงจ่าได้มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษณุโลก แม่ว่าข้าวของบางอยางจะไม่มีราคาค่างวดอะไร แต่ก็มีคุณค่า ที่สื่อได้ถึงการดำรงชีวิต ความเชื่อ ความคิดของคนในอดีตได้เป็นอย่างดีครับ บ้านที่จัดแสดงทรุดโทรมและคับแคบจนเกินไปใน ปีพ.ศ. 2533 จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ ปัจจุบันมีอาคารจัดแสดง 3 อาคารหลัก ทางด้านในจัดเป็นสวนธรรมชาติสวยงามด้วยทัศนียภาพแบบโล่งโปร่งโดยรอบ ตกแต่งสวนด้วยพันธุ์ไม้ไทยหลากหลายชนิดสวยงามและต้นไม้นานาพันธุ์ มีอาคารแหล่งข้อมูลและจัดแสดงสินค้าของที่ระลึกสวยงามอีกหลายอย่างและเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น บริเวณภายในทำเป็นทางเดินชมธรรมชาติและชมพิพิธภัณฑ์ ได้ทั้งหมด ด้านหน้าทางเข้ามี จุดพักผ่อน เป็นศาลาที่ได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่พักผ่อนให้แก่ผู้เข้าชม นอจากนั้นภายในศาลายังมีการจัดแสดงศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม รอบ ๆ ก็ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้เลื้อย สวยงามร่มรื่นเมื่อเข้าไปนั่งพักผ่อนรู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างมาก อาคารหลังแรก เป็นบ้านไม้ที่เจ้าของเดิมสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านตลาดเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. 2500 ลุงจ่าซื้อบ้านนี้แล้วนำของเก่าที่สะสมมาเก็บไว้ บ้านนี้เป็นพิพิธภัณฑ์รุ่นบุกเบิก จน พ.ศ. 2533 จึงสร้างอาคารอื่น ๆ เพิ่มเติมและได้ย้ายของเก่าไปจัดแสดงในอาคารหลังใหญ่ บ้านนี้ใช้จัดแสดงรูปภาพเก่า ๆ ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพิษณุโลก อาทิรูปการออกตรวจราชการงานเมืองในอดีต รูปเหตุการณ์ไฟไหม้ ปี 2500 รูปทัศนียภาพเมืองพิษณุโลกก่อนและหลังไฟไหม้ใหญ่ ภาพของดีเมืองพิษณุโลก และภาพชุมชนสำคัญในอดีต เช่น ชุมชนนครไทย หรืออำเภอนครไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจ เช่น พิธีปักธงชัยและประเพณีการเล่นนางข้อง นางด้ง นางควาย นอกจากนี้ยังมีประวัติความเป็นมาของอำเภอบางระกำ แหล่งกำเนิดสุนับพื้นเมืองพันธุ์บางแก้วที่มีชื่อเสียง และยังจัดแสดงนิทรรศการของอำเภออื่น ๆนอกจากนั้นยังจัดนิทรรศการไก่เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยงหรือที่กล่าวกันว่า คือไก่ชนพระนเรศวร อีกด้วย อาคารหลังที่สอง เป็นอาคารไม้สองชั้น สร้างขึ้นแบบร่วมสมัย เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว อาคารหลังนี้ จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านไทยในอดีต มีข้าวของเครื่องใช้จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่จะเน้นพิเศษในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่จังหวัด พิษณุโลก,พิจิตร,นครสวรรค์,กำแพงเพชร,เพชรบูรณ์,ตาก,สุโขทัย,อุตรดิตถ์ แบ่งตามประโยชน์ใช้งาน ชั้นล่างจัดแสดง กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องจักสาน เครื่องเขิน ตุ่ม โอ่ง หม้อน้ำ เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือจับปลา เหรียญธนบัตร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และนิทรรศการทำนา ในบางมุมจำลองบ้านเรือนส่วนต่าง ๆ ให้ดู อาทิ ครัวไฟ พาไลซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของบ้านเรือนไทยในอดีต เป็นพื้นที่ส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวเรือน ใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ส่วนพาไลนี้จำลองให้เห็นเด็กนอนเปล และมีการบันทึกเสียงร้องกล่อมเด็กด้วย ส่วนชั้นบนจัดแสดง ของเล่น เครื่องดนตรี ไม้หมอนวด เรือนอยู่ไฟหลังคลอด เครื่องมือช่าง อาวุธ เครื่องทองเหลือง ตะเกียงโบราณ เป็นต้น อาคารหลังที่สาม จัดแสดงนิทรรศการชาวโซ่งหรือลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ กรณีศึกษาชาวโซ่งบ้านแหลมมะค่า ต.พันเสา อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งอพยพมาจากเพชรบุรี ราชบุรี นานนับชั่วอายุคนแล้ว ในจังหวัดพิษณุโลก ชาวโซ่งได้ตั้งหลักแหล่ง อยู่ที่อำเภอบางระกำ อำเภอเมือง และอำเภอวังทอง จัดแสดงวิถีชีวิตและการประกอบพิธีกรรมของ ชาวโซ่ง เช่นพิธีเสนเรือน หรือที่เรียกว่าการเลี้ยงผีปู่ย่าตายาย ,เสนอะนีหรือการสะเดาะเคราะห์เมื่อมีคนตายในบ้าน ,งานกินหลอง หรือกินดองหรืองานแต่งงานของชาวโซ่ง เป็นต้น นอกจากอาคารที่จัดแสดงทั้งสามหลังแล้วก็ยังมีอาคารคลังพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ไว้เป็นจำนวนมาก และยังมีวัตถุธรรมชาติเช่น หินประเภทต่าง ๆ ซากสัตว์,เขาสัตว์,สมุนไพร,ยาไทยต่าง ๆ และเครื่องมือแพทย์แผนโบราณเป็นต้น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมในหลาย ๆด้าน ขอชิ่นชมยกย่อง ลุงจ่าทวี ด้วยนะครับ ท่านเป็นเหมือนครูผู้มีแต่ให้ของเราจริง ๆ นอกจากพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแล้วฝั่งตรงข้าม ก็เป็นโรงหล่อพระซึ่งงานหล่อพระนั้นเป็นงานศิลป์ที่ลุงจ่าทวีท่านรัก และท่านยังคงรักษาขั้นตอนและวิธีแบบโบราณไว้ให้เราได้เข้าไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำต่าง ๆ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของเมืองพิษณุโลกแล้วยังตั้งอยู่ในตัวเมืองใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยว 5อีกหลายแห่งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบครันทั้งร้านอาหารที่พักแรม หลังจากเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แล้วก็เดินทางไปนมัสการองค์พระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจากนั้นก็แวะเข้าไปทำบุญที่วัดนางพญาต้นกำเนิดพระเครื่องชื่อดังและวัดราษฎรบูรณะ เดินทางเพียงไม่กี่อึดใจก็สามารถท่องเที่ยวได้สบายครับ หรือจะเดินทางไปท่องน้ำตกแก่งซองที่อำเภอวังทองก็ไม่ไกลมากนัก บริเวณน้ำตกเป็นจุดบริการล่องแก่งลำนำเข็ก ที่สนุกสุดมัน ใครทีสนใจจะล่องแก่งก็ติดต่อจุดบริการได้เลย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 8.30–16.30 น. โทร. 0 -5521- 2749, 0 -5530 -1668 โทรสาร 0 -5521- 1496 โดยผู้ใหญ่เสียค่าเข้าชม 50 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงหล่อพระบูรณะไทย ติดต่อเข้าชมการหล่อพระล่วงหน้าได้ที่ โทร 0 -5525- 8715 การเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี จังหวัดพิษณุโลก เดินทางมาบนถนนหมายเลข 117 มุ่งตรงเข้าตัวเมือง และมุ่งหน้าไปตามเส้นทางไปวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำน่านเป็นแยกวงเวียนให้เลี้ยวซ้ายไปเส้นทางสถานีรถไฟ เลยสถานีรถไฟไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 500 เมตรแล้วเลี้ยวขวาอีกครั้ง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ตั้งอยู่ทางขวามือ มีป้ายบอกชัดเจนตลอดเส้นทางหาง่ายครับ หรือถ้าหาไม่เจอก็ถามชาวเมืองพิษณุโลกได้เขารู้จักหมดครับ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีเป็นขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย ที่มาจากความตั้งใจจริงของคนดีศรีสองแคว คือจ่าสิบเอกทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ บวกกับแรงสนับสนุนของพี่น้องชาวพิษณุโลกจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งความรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต และเป็นสถานที่ที่ช่วยสืบทอดเรื่องราวในอดีตเหล่านี้สู่ลูกหลานต่อไปในอนาคต หากท่านใดมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองพิษณุโลกก็อย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมชม ข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณนับหมื่นชิ้น ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีกันนะครับ ร่วมกันอนุรักษ์ความเป็นอยู่อย่างไทยให้คงอยู่ต่อไปครับ

No comments: