2013-11-28

ชำแหละไอเดีย "เทือก" ประกาศสถาปนาตั้งรัฐบาลประชาชน



รายงานพิเศษ



ภายหลังนำมวลชนบุกยึดกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำม็อบนกหวีดไล่รัฐบาล ประกาศสถาปนารัฐบาลของประชาชนแทนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้งทันที 

บอกรูปแบบกันคร่าวๆ ว่า จะตั้งคณะกรรมการของประชาชนที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้งอาจารย์ นักธุรกิจ สื่อมวลชน แกนนำทุกเครือข่าย เพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์กติกาการปกครองบ้านเมือง รวมถึงคัดเลือกคนเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

โมเดลดังกล่าวในความคิดเห็นของนักวิชาการเป็นอย่างไร 




สมชาย ปรีชาศิลปกุล 
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 

สะท้อนว่านาย สุเทพยังไม่ได้คิดอะไรจริงจัง การเสนอคณะกรรมการประชาชน จะต้องมี โรดแม็ป ประกอบด้วย ว่าใครจะเป็นคนตั้งคณะกรรมการ จะแก้รัฐธรรมนูญหรือจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปเลย สัดส่วนกรรมการเป็นอย่างไร มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากชนบทได้โควตาด้วยหรือไม่ ก็ยังไม่ชัดเจน 

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีความพยายามจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองที่มีตัวแทนประชาชนจากทุกสาขาอาชีพเข้าร่วม แต่ก็ไม่สำเร็จ 

ส่วนต่างประเทศก็มีอิตาลี สมัยที่ระบอบการเมืองเป็นลักษณะฟาสซิสต์ก็มีคณะกรรมการประชาชนบริหารประเทศเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะระบอบดังกล่าวแทบไม่มีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นเผด็จการ 

นายสุเทพเพียงแค่ขายความคิดไปวันต่อวัน หวังเรียกร้องมวลชนให้มาเข้าร่วมมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมข้อเรียกร้องก็เปลี่ยนไปเรื่อย เริ่มจากต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดีปราสาทพระวิหาร และการปฏิรูปการปกครองนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง

การปฏิรูปการเมืองเป็นแนวคิดที่ดี เพราะหมายถึงการระดมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยที่ยังคงกรอบการปกครองเก่าคอยกำกับอยู่ 

แต่การเสนอตั้งคณะกรรมการประชาชน จะมีความหลากหลายของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจริงหรือไม่ นายสุเทพ มีอำนาจทำได้ขนาดนั้นเลยหรือ 

ซึ่งมวลชนนกหวีดที่ตามนายสุเทพต้องตั้งสติและคำถามให้ดี ต้องเรียกร้องให้แกนนำของตนมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่เลื่อนลอยแบบนี้ 

และนายสุเทพก็ไม่ควรเอาเปรียบมวลชนของตนเองเช่นกัน เพราะขณะนี้เริ่มเลอะเทอะ ไม่รู้ว่าการเรียกร้องนั้นอยู่ในระนาบไหน

การกระทำที่อ้างว่าจะเป็นการปฏิวัติประชาชน จึงมีความหมายว่าไม่เอาระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 

รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการจับกุมได้ แต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์เฉพาะหน้า ต้องดูจังหวะให้ดี มิเช่นนั้นจะไปเข้าเงื่อนไขของม็อบที่ต้องการให้มีการปะทะ 

ขณะเดียวกันอยากให้มวลชนเสื้อแดงที่สนาม ราชมังคลาฯยุติการชุมนุม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนออกมาร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินมากขนาดนี้ เกิดจากแกนนำคอยใช้ประเด็นการรวมตัวของคนเสื้อแดง มาเป็นเงื่อนไขโจมตีตอบโต้ อาทิ การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำไมรัฐบาลไม่ไปจัดการคนเสื้อแดงบ้างเป็นต้น

ขอให้คนเสื้อแดงสบายใจได้ว่า หากต้องการรวมตัวเพราะเกรงจะมีการรัฐประหารนั้น เป็นไปได้ยาก กองทัพมีบทเรียนจากปี 2549 รู้แล้วว่าต้นทุนนั้นสูงเกินกว่าที่จะมีทหารคนใดกล้าจ่ายได้ 

อีกทั้งการป้องกันการล้มประชาธิปไตยด้วยการตั้งคณะกรรมการประชาชนก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้อย่างง่ายดาย ยังมีเวลาและวิธีการให้ป้องกันได้ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมีมวลชนมากกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่าใครชอบธรรมมากกว่ากัน 

ซึ่งนายสุเทพ เลยจุดนั้นไปแล้ว



เอกชัย ไชยนุวัติ
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม

หลังจากนายสุเทพประกาศจะตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาประชาชนปกครองประเทศ เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง 

สิ่งที่ยากที่สุดคือคำว่า สภาประชาชนของนายสุเทพจะมีที่มาจากตรงไหน หากมองในแง่มุมกฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจในการจัดระเบียบการปกครองให้แก่นายสุเทพเลย นายสุเทพจะใช้เกณฑ์อะไรในการตั้ง 

ถ้าจะใช้เกณฑ์จำนวนประชาชนที่ออกมาสนับสนุนในม็อบคงไม่เพียงพอ เพราะต้องไม่ลืมว่าที่นี่ประเทศไทย ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับนายสุเทพ แต่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้เห็น 

ส่วนความพยายามประกาศระบอบการปกครองใหม่จะถือเป็นกบฏ หรือไม่ คิดว่ายังไม่ร้ายแรงถึงขั้นนั้น 

หากไม่มองในแง่มุมกฎหมาย สภาประชาชนของนายสุเทพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่ได้มีที่มาจากประชาชนทั้งประเทศ 

ดูได้จากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์แพ้ตลอด ไม่มีใครเอาด้วย ถ้าจะตั้งสภาประชาชนจริงๆ ทุกคนในประเทศต้องเห็นพ้องต้องกันและร่วมกันสถาปนาขึ้นมา ไม่ใช่นายสุเทพประกาศขึ้นเองอย่างนี้

ปัญหาทุกอย่างแก้ด้วยการเจรจา และไม่ใช่ทุกปัญหาจะแก้ด้วยกฎหมาย ตอนนี้ประชาชนเอาปัญหาทางการเมืองไปให้นักกฎหมายแก้ ต้องแยกให้ออกระหว่างปัญหาทางการเมืองกับปัญหาทางกฎหมาย 

ปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง เป็นไปได้อย่างไรที่การเลือกตั้ง ส.ว. จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยล้มลง ดูที่ต่างประเทศล้วนแต่เลือกส.ว.กันทั้งนั้น หากส.ว.ที่เลือกตั้งทำผิดกฎหมาย ก็มีเครื่องมือถอดถอนตามระบบ 

จะพัฒนาประชาธิปไตยต้องให้ประชาชนเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตัวอย่างการเรียนรู้ของประชาชนล่าสุดคือ เมื่อส.ว.สรรหาไม่เข้าร่วมประชุมวุฒิสภาคว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประชาชนก็ได้เรียนรู้ รู้ทันการเมือง 

หากต้องการสถาปนาสภาประชาชนก็ต้องเริ่มจากตรงนี้ นักการเมืองอย่าเอาทักษิณเป็นตัวตั้งแล้วแก้ปัญหา แต่ต้องเอาหลักเกณฑ์มาเป็น ตัวตั้ง แล้วแก้ปัญหาไปตามนั้น 

ประเทศชาติถึงจะเดินหน้าต่อไปได้



อัษฎางค์ ปาณิกบุตร 
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ 


ความคิดของนายสุเทพที่จะล้มล้างระบอบทักษิณและตั้งคณะกรรมการประชาชนขึ้นมาแทน เป็นความคิดแบบเผด็จการ ตอนนี้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่นายสุเทพจะทำไม่ใช่ประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการ เป็นการทำอะไรตามใจชอบ 

จู่ๆ ก็บอกว่าไม่ชอบนาย ก. จะตั้งคนมาสอบสวนนาย ก. สมมติว่าถ้ามีคนไม่ชอบนายสุเทพ จะสอบสวนนายสุเทพบ้าง จะรู้สึกอย่างไร

ผมยังถามกันในกลุ่มเพื่อนว่า "ระบอบทักษิณ" คืออะไร ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ ถ้าศึกษาเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจะเห็นว่า ปัญหาเกิดจากแค่พ่อค้าทะเลาะกัน แล้วทำประเทศเสียหาย 

นายสุเทพควรตระหนักว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่ชอบประชาธิปไตย จะเอาเผด็จการก็บอกออกมาตรงๆ 

ที่นายสุเทพพูดว่าจะตั้งคณะกรรมการประชาชนขึ้นมา ต้องบอกด้วยว่าพูดมาจากไหน จะเอาอำนาจอะไรมาตั้ง จะแค่พูดลอยๆ หรือพูดเอามันไม่ได้ ต้องมีเหตุผลด้วย

ขณะนี้สิ่งที่นายสุเทพประกาศออกมาและพฤติกรรมที่แสดงออก บ่งบอกว่าไม่เอาระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่ไม่พูดออก มาเท่านั้น นายสุเทพต้องเข้าใจวิถีประชาธิปไตยที่ต้องประนีประนอมกัน 

แต่ตอนนี้นายสุเทพกำลังหาทางลงไม่ได้ เลยต้องรุดไปข้างหน้า ไม่รู้ว่ามีอำนาจอะไรที่ทำให้นายสุเทพมั่นใจว่าจะชนะ มีอะไรอยู่เบื้องหลังถึงกล้ามากขนาดนี้ 

ถ้าถามในฐานะนักวิชาการ ก็คิดว่าสิ่งที่นายสุเทพกำลังทำนั้นไม่ถูกต้อง

No comments: