2013-11-16

ระทึกศาลรธน.วินิจฉัย "ที่มาส.ว." 20 พย. - หรือจะเติมฟืนให้ม็อบ?

เรื่อง ตลก.ศาล รธน. โดย.. พนัส ทัศนียานนท์

ขอแก้ความเห็นที่ให้ไว้กับข่าวสดข้างล่างนี้ และขออภัยทุกท่านที่เกิดข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการให้ความเห็นครั้งนี้ของผม
จากการที่ได้อ่านทบทวนรธน.มาตรา 68 อย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว ขอเสนอความเห็นใหม่ดังต่อไปนี้
1. ขอยืนยันว่าศาลรธน. ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าการแก้ไขรธน. ชอบด้วยรธน.หรือไม่
2. ถึงแม้ศาลรธน.ได้รับคำร้องไว้พิจารณาและในวันที 20 .. 56 นี้ดันทุรังวินิจฉัยไปว่า การแก้รธน.เกี่ยวกับที่มาของสว.ลากตั้งไม่ชอบด้วยรธน.ก็ตาม 
ศาลรธน.ก็มีอำนาจสั่งได้ 2 อย่างเท่านั้น คือ
(1) สั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว (การแก้ไขรธน.) ซึ่งสั่งไม่ได้แล้ว เพราะร่างแก้ไขรธน. ได้ถูกนายกฯนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว
(2) สั่งยุบพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขรธน. และตัดสิทธิหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นเวลา 5 ปี

แต่..........ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสนอแก้ไขรธน.คราวนี้เป็นกรณีที่ สส.และสว.ใช้สิทธิตามรธน.มาตรา 291เข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรธน.ในฐานะสมาชิกรัฐสภาของตนเอง ไม่ได้เสนอขอแก้ไขในนามของพรรคที่ตนสังกัด ศาลรธน.จึงไม่มีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองที่สส.ที่เข้าชื่อกันเสนอแก้ไขรธน.สังกัดอยู่ได้ ส่วนสว.นั้นไม่สังกัดพรรคใดอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงแม้ศาลรธน.อาจจะโมเมสั่งยุบพรรคของสส.ที่เข้าชื่อกันเสนอแก้ไขรธน.ก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจตัดสิทธิของสส.ที่มิได้เป็นหัวหน้าหรือกรรมการบริหารของพรรคได้ และไม่มีอำนาจตัดสิทธิสว.ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดทั้งสิ้น เพราะสว.ไม่มีพรรค
โดยเฉพาะในกรณีของนายกปู เนื่องจากมิได้เป็นหัวหน้าและกก.บริหารพรรคเพื่อไทย จึงไม่มีทางที่ศาลรธน.จะตัดสิทธิหรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯได้
ส่วนปัญหาที่ว่า หากศาลรธน.เกิดบ้าหน้ามืดสั่งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคที่ร่วมเสนอแก้ไขรธน. สส.300 กว่าคนที่ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.ก็จะไม่มีพรรคสังกัด ทำให้ขาดจากสมาชิกภาพอีก ก็ขอเรียนว่า สมาชิกภาพของการเป็นสส.ไม่ขาด หากย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 60วันนับแต่วันที่ศาลสั่งยุบพรรค ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบ แต่เตรียมตั้งพรรคใหม่ไว้แล้ว ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะสส. 300กว่าคนนั้นก็สามารถย้ายมาเข้าสังกัดพรรคใหม่ได้ทันที และหากไม่มีงูเห่าเหมือนเมื่อตอนพรรคพลังประชาชนถูกยุบ รัฐบาลนี้ก็จะเป็นรัฐบาลต่อไปสบายๆ ในนามของพรรคใหม่ที่ข๊ะนี้ยังไม่ทราบว่ชื่อพรรคอะไร อาจจะใช้ชื่อว่า"พรรคสุดซอย" ก็ได้นะ เหอๆๆๆๆๆๆ


-----------------------------------------------------
บทความเกี่ยวข้อง
จากข่าวสด
รายงานพิเศษ


ระทึกกับคำตัดสินของศาลโลกกรณี "พระวิหาร" มาหมาดๆ

รัฐบาลยังต้องลุ้นต่อกับคำวินิจฉัย "ยุบพรรค" ของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว. ในวันที่ 20 พ.ย.

หลายฝ่ายเกรงว่าประเด็นกรณีดังกล่าวจะยิ่งขยายความ ขัดแย้งให้บานปลาย ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ 


พนัส ทัศนียานนท์ 
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.


ตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องกรณี 312 ส.ส.-ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในส่วนที่มาของส.ว. แต่เมื่อศาลฯ ตัดสินใจรับเรื่องนี้ ไว้ตั้งแต่แรกก็ต้องดำเนินการพิจารณาในวันที่ 20 พ.ย. อย่างที่ประกาศออกมา

โดยอ้างว่าเป็นคนละประเด็นกับการที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ ก่อนนำมาประกาศใช้

ซึ่งศาลฯ ไม่สามารถวินิจฉัยได้ แต่ศาลจะให้เหตุผลว่ามีอำนาจวินิจฉัยในมาตรา 68 โดยอาจมองว่าในเมื่อยังไม่มีการลงนามลงมาก็สามารถพิจารณาได้ 

ทั้งที่หากมองตามมารยาทแล้วควรรอการโปรดเกล้าฯ ก่อน

หากคำตัดสินในวันที่ 20 พ.ย. ชี้ตูมออกมามีมติฟัน 312 ส.ส. และส.ว.ทิ้ง จะไม่ใช่เพียงฟืนมาสุมให้กับม็อบที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่คือการใส่ไฟเผาทั้งหมดในทันที

เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมองในมุมที่แย่ที่สุด กระทบเป็นลูกโซ่ ส.ส.รัฐบาล รวมถึงประธานรัฐสภา นายกฯ จะพ้นสมาชิกภาพทันที กลายเป็นสุญญากาศทางการเมืองขึ้น ก็ต้องมาดูว่า ส.ส.ที่เหลืออยู่นั้นมีกี่คน สามารถเปิดการประชุมได้หรือไม่

ถ้าจำนวนยังเหลือพอตามระเบียบข้อบังคับให้เปิดประชุมได้ก็จะเสนอเลือกประธานสภาเพื่อเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ สลับขั้วทางการเมืองไป

แต่ถ้าไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ก็จะเป็นสิ่งที่ลำบากมาก เพราะจะเป็นช่องว่างที่ไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อประธานสภา และนายกฯ ไม่มี

ทางออกสุดท้ายก็จะต้องหันไปที่นายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 แต่ใครจะเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการ เพราะอย่างกรณีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นั้นมีนายกฯ เป็นผู้สนองฯ

หากออกมาในแนวทางนี้ การเมืองเกิดสุญญากาศ ศาลฯ คงต้องประเมินเอาไว้แล้ว โดยจะเสนอตัวขึ้นมาเป็นผู้รับสนองฯ แทน อ้างว่าไม่มีประมุขของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ

และประเทศไทยก็จะเข้าสู่อียิปต์โมเดลที่เริ่มจากการ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญยุบสภา ทหารรัฐประหารแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธานาธิบดี


ยุทธพร อิสรชัย 
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช


วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาว่าการตัดสินคดีต่างๆ ในช่วงนี้จะส่งผล กระทบต่อสังคมอย่างไร ขณะนี้เรื่องของการใช้กฎหมายมีความสัมพันธ์กับสังคมหรือเรียกได้ว่า "หลักนิติสังคม"

ผู้ใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงการใช้กฎหมายที่มีความสัมพันธ์กับสังคมที่ช่วงนี้เกิดความขัดแย้งสูง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ เพราะขณะนี้คดีที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่เกี่ยวข้องยึดโยงกับผู้ชุมนุมหลายส่วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลฯ ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม 

การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ส่วนตัวถือว่าเร็วเกินไป เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ว่าการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเมือง

และหากพิจารณาจะเห็นว่าวันนี้มีหลายเรื่องเกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งสูง เกิดปรากฏการณ์การเมืองนอกระบบเดินคู่กันไปกับในระบบ จนแยกความสัมพันธ์กันไม่ออก

ดังนั้น หากเกิดเหตุแทรก ซ้อนในกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก มวลชนก็จะออกมาทันที

ไม่ว่าจะเป็นมวลชนของ ฝั่งคนเสื้อแดงที่จะออกมาหากผลการตัดสินเป็นไปในทางลบต่อฝ่ายที่เขาสนับสนุน หรือมวลชนอีกฝ่ายที่จะออกมาหากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้

เรียกได้ว่าตัดสินช่วงนี้มี แต่เสียกับเสีย เป็นช่วงที่การเมืองมีความเคลื่อนไหวสูงซึ่งจะทำให้ศาลฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง ความชอบธรรม จึงยังไม่เห็นความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งตัดสินคดีดังกล่าวในช่วงเวลานี้

ที่จริงควรชะลอออกไปก่อนด้วยซ้ำ เพราะศาลฯต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเติมเชื้อไฟทางการเมือง

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเชื้อที่จะเพิ่มความขัดแย้งได้ส่วนหนึ่ง อีกทั้งไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องรีบตัดสิน แต่เมื่อกำหนดวันออกมาแบบนี้แล้ว คงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นอกจากการแก้ไขสถานการณ์ด้วยการทำความเข้าใจกับประชาชน 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์


กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. โดยพื้นฐานตามหลักการกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิ์ ยื่นร้องเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการ ยื่นร้องที่ต้องการขัดขวางกระบวนการของฝ่ายนิติ บัญญัติและฝ่ายบริหารให้เกิดความขัดข้องเท่านั้น

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีอำนาจพิจารณาหรือรับไว้เป็นคำร้อง เนื่องจากประเด็นที่มาของส.ว.เป็นเรื่องของการแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กระบวนนี้มันผิดตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น วันที่ 20 พ.ย. ที่ศาลฯ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความวุ่นวายจากการชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม และยังมีเรื่องคดีปราสาทพระวิหารที่เป็นฟืนคอยเติมให้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนยิ่งขึ้น

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีสำคัญในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการขยายเงื่อนเวลาที่จะทำให้การชุมนุมยังยืดเยื้อต่อไป

ยิ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญเกิดตัดสินว่าการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องมีมูล จะเท่ากับว่าคำตัดสินนั้นกลายเป็นลูกระเบิดที่ใช้โจมตีรัฐบาลได้อีกลูกหนึ่ง

และยังเป็นการเปิดช่องทางที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะใช้เป็นข้ออ้างในการชุมนุมต่อไป

แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระต่างๆ จะไม่จำเป็นต้องดูสถานการณ์บ้านเมืองว่ามีความวุ่นวายแค่ไหน หรือเหมาะสมหรือไม่ ในการพิจารณาคดีสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมือง เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ตามระเบียบขององค์กร

แต่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมักหยิบยกคดีสำคัญมาพิจารณาในช่วงที่บ้านเมืองมีความวุ่นวาย ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง


จึงไม่แน่ใจว่าเป็นความบังเอิญ หรือความตั้งใจที่เลือกช่วงเวลานี้ในการพิจารณาคดีสำคัญทางการเมือง ซึ่งถือว่ามีความประจวบเหมาะอย่างมาก 

คลิกอ่านหากท่านชักจะลืมเลือนวีรกรรมการปล้นอำนาจของปวงชนและยึดอำนาจปกครองประเทศ
คำต่อคำ พล.อ พัลลภ ยัน พล.อ สุรยุทธ์ ร่วมวงวางแผนล้ม ทักษิณ

พยานยุบพรรคไทยรักไทยโผล่ แฉอีกรอบ สุเทพจ้าง15ล้าน






No comments: