ผมเป็นพวกคลั่งหนังจีนกำลังภายใน ดูทุกเรื่องที่เข้าฉายในเมืองไทย หนังเหล่านี้ใช้พล็อตซ้ำซาก บทเดิมๆ ฉากเดิมๆ ท่ากระโดดเดิมๆ แม้แต่นักแสดงยังเป็นชุดเดิม คนเขียนบทกับนักแสดงหนังจีนในสมัยสี่สิบปีก่อนมักทำงานในฐานะพนักงานบริษัทสร้างหนัง รับเงินเดือนไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ จึงทำงานไปวันๆ ไม่ต้องคิดมาก เรื่องส่วนมากจึงเข้าข่ายคลิเช (cliche)
คลิเชคือความซ้ำซาก จำเจ เซม-เซม
เราพบคลิเชในหนังมากกว่าสื่ออื่นๆ น่าจะเพราะโลกเราสร้างหนังปีละนับไม่ถ้วน ย่อมมีโอกาสที่จะไอเดียซ้ำกัน ฉากซ้ำกัน
ในเชิงออกแบบท่าร่างต่อสู้ ทั้งการควงปืนคู่และจ่อปืนใส่กบาลเป็นการออกแบบท่าต่อสู้ที่ดี คนดูส่วนใหญ่ที่เห็นมันครั้งแรกในโลกภาพยนตร์ จะรู้สึกว่าน่าตื่นตาตื่นใจ เแต่เมื่อใช้บ่อยๆ จากความใหม่สดก็กลายเป็นความเฝือ และคลิเช
ภาพยนตร์เป็นแหล่งใหญ่ที่สร้างคลิเช โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดสร้างหนังปีละมากมาย จนกระทั่งบางทีก็หนีไม่พ้นกรอบของสูตรสำเร็จ เปิดเรื่องแบบนี้ เดินเรื่องแบบนั้น จบแบบโน้น ยกตัวอย่างเช่น พระเอกสู้กับคนร้ายโดยไม่มีใครมาช่วย หลังจากฆ่าคนร้ายตายไปหมดแล้วในตอนท้ายเรื่อง รถตำรวจจึงค่อยวิ่งโผล่เข้ามาเป็นพรวน
ในฉากวิ่งหนี ทุกครั้งที่พระเอกกับนางเอกวิ่งหนี ไม่ว่าจะหนีคนร้าย สัตว์ประหลาด หรือมนุษย์ต่างดาว ร้อยละร้อยต้องจูงมือกันวิ่ง ในความจริง การวิ่งแบบจูงมืออาจทำให้ช้าลง อาจหนีคนร้ายหรือสัตว์ประหลาดไม่ทัน
ในหนังประเภทต้องทำลายฉาก เช่น ระเบิดสถานีอวกาศ ระเบิดเรือดำน้ำ ฯลฯ ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนท้ายเรื่อง เราจะต้องได้ยินเสียงประกาศผู้หญิงผ่านลำโพงของสถานที่นั้นทุกทีว่า "สถานที่แห่งนี้จะทำลายตัวเองในเวลา 60 วินาที 59... 58... 57..." แล้วพระเอกนางเอกก็ตาลีตาเหลือกวิ่งหนีไป (แน่นอน จูงมือกันวิ่ง!)
ในหนังตำรวจ พระเอกต้องไปบ้านภรรยาเก่า เพื่อรับลูกไปเที่ยวตามคิว และมักจะต้องเลื่อนนัด เพราะมีงานสำคัญเข้ามาพอดี
เหล่านี้คือคลิเชในหนังที่ผู้สร้างที่ขี้เกียจไม่เคยคิดจะเปลี่ยน
คลิเชมีอยู่มากมาย และคนทำงานสร้างสรรค์ก็หนีไม่ค่อยหลุดจากกรอบของมัน ราวกับว่าคลิเชนั้นฝังในจิตใต้สำนึกไปแล้ว
โชคดีที่โลกยังมีคนพยายามออกจากคลิเชหรือพัฒนามันต่อไป เช่น หนังเรื่อง Wanted พัฒนาการยิงปืนธรรมดาเป็นการยิงปืนวิถีโค้ง ก็แปลกออกไป แลเห็นความพยายามหลุดจากกรอบของคลิเช
คลิเชไม่ใช่งานเลวร้าย ตรงกันข้ามคลิเชบางอันเป็นงานสร้างสรรค์ชั้นดี แต่มันกลายเป็นความจำเจเพราะถูกใช้มากเกินไป กลายเป็นความน่าเบื่อ
มองแบบนี้คลิเชก็คือน้ำเน่านั่นเอง
น้ำเน่าก็ไม่ได้แปลว่าเลวร้าย มันแปลว่าซ้ำซากจำเจ เหมือนน้ำในบึงที่ไม่ขยับไหว นิ่งสนิทจนเน่า
หนังโฆษณาก็เต็มไปด้วยคลิเชเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นคอนเส็ปต์ 'before-after' หญิงสาวคนหนึ่งสีหน้าหงอยเหงา ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ โทนภาพมืดหม่นหรือเป็นสีซีเปีย แต่เมื่อเธอใช้สินค้า เช่น ยาสีฟัน ยาทารักแร้ ฯลฯ ก็มีหนุ่มๆ มาห้อมล้อม ภาพก็สดใสสว่างไสว
โฆษณาแชมพูก็เหมือนกัน ก่อนหน้าใช้สินค้า ผมแห้งเหมือนไม้กวาดอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนไม่ดูแลผมตัวเองได้ขนาดนี้ พอใช้แชมพูมหัศจรรย์แล้ว ผมก็สลวยพลิ้วไหวชนิดที่เราไม่เคยเห็นผมแบบนี้ที่ไหนในโลก (แน่นอนจบด้วยหนุ่มอีกร้อยคนแอบมอง)
หากถามนักการตลาดและคนทำโฆษณา มักจะได้ยินคำตอบว่าก็เพราะ "มันเวิร์กไง"
นี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แค่ชี้ว่าหากไม่ยอมออกจากกรอบเดิมบ้าง ก็ยากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ "มันเวิร์กไง" ได้เหมือนกัน
เรื่องสั้นและนวนิยายก็เช่นกัน ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นกรอบคิดว่าเรื่องต้องจบแบบธรรมชนะอธรรม เพราะถือคติว่าเราควรเสนอคุณธรรมในงาน แต่ความจริงคือศิลปะไม่ใช่บทเรียนทางศีลธรรม art ก็คือ art มันไม่มีกฎว่าต้องโปรโมตศีลธรรมหรือคุณธรรม
นักเขียน ออสการ์ ไวลด์ จึงบอกว่า "มันไม่มีหนังสือมีศีลธรรมหรือไม่มีศีลธรรมหรอก หนังสือมีแต่เขียนดีกับเขียนแย่"
ราว 40-50 ปีมาแล้ว นวนิยายจีนกำลังภายในเรื่องหนึ่งโด่งดังมากในฮ่องกง นวนิยายเรื่องนั้นชื่อ กระบี่ล้างแค้น เรื่องนี้เขียนโดยอ้อเล้งเซ็ง และถูกนำมาแปลเป็นไทยโดยนักแปลที่ตอนนั้นไม่มีใครรู้จัก - ว. ณ เมืองลุง
กระบี่ล้างแค้น จบโดยพระเอกถูกคนร้ายฆ่าตาย ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากรับไม่ได้ และด้วยกรอบคิดเดิมๆ ทำให้มีคนเขียนภาค 2 ออกมา โดยทำให้พระเอกฟื้นขึ้นมา (ก็กินยาพวกโสมหิมะพันปีอะไรพวกนั้น!) หลังจากนั้นพระเอกก็ตามฆ่าคนร้ายตายหมด
นี่เป็นตัวอย่างของการอยู่ในกรอบคิดประเภทธรรมต้องชนะอธรรมเสมอ ห้ามเปลี่ยน
บางเรื่องในต้นฉบับนางเอกมีสามีแล้ว แต่ในฉบับแปลไทย กลับเปลี่ยนให้นางเอกเป็นสาวบริสุทธิ์ เพราะนางเอกในสังคมไทยต้องสะอาดผุดผ่อง
คนทำงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ต้องทำงานให้พ้นกรอบของคนอื่น และหลังจากนั้นก็ต้องก้าวให้พ้นกรอบใหม่ของตัวเอง เพราะอะไรก็ตามที่ใหม่ ผ่านไประยะหนึ่ง มันก็กลายเป็นกรอบเดิม และเป็นคลิเช
กล่องไม้ใบหนึ่งภายในว่างเปล่า คุณต้องใส่อะไรบางอย่างเข้าไปในกล่อง โดยมีข้อแม้ว่าใส่แล้วต้องทำให้กล่องเบาลง ยิ่งใส่มากเท่าไร ก็ยิ่งเบาลงเท่านั้น ของที่ใส่คืออะไร?
คำตอบคือ รู
เรามีกรอบคิดเดิมว่า การใส่ 'อะไร' เข้าไป อะไรนั่นต้องเป็นวัตถุ หากมองพ้นกรอบคิดเดิม ก็อาจเห็นว่า 'อะไร' ก็อาจเป็นความว่างหรือความไม่มี
คนเราก็แปลก เมื่อให้ทางเลือกสองทาง ก็มักเลือกหนึ่งในนั้น ไม่คิดนอกกรอบว่าการไม่เลือกก็เป็นการเลือกชนิดหนึ่ง และไม่คิดว่าโลกอาจมีคำตอบที่ดีกว่าสองคำตอบนั้น มันอาจมีทางเลือกที่ 3, 4, 5 ฯลฯ
นี่เป็นข้อเสียของการสอบแบบปรนัย ไม่ต้องคิดก็เลือกคำตอบได้
มาดูตัวอย่างจริงบ้าง
ในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 นักโทษหกคนในคุกเท็กซัส สหรัฐอเมริกา พังประตู พุ่งตรงไปที่ผู้คุม
หากเราเห็นภาพนี้ ก็ย่อมคิดว่านักโทษกำลังจะแหกคุก โดยหมายจะทำร้ายผู้คุม แต่ความจริงคือนักโทษแหกห้องขังไปช่วยชีวิตผู้คุมที่เกิดอาการหัวใจวายกะทันหัน และช่วยชีวิตผู้คุมไว้ได้
สมัยเป็นมนุษย์เงินเดือน ผมมักเริ่มทำงานเวลาเจ็ดโมงเช้า เนื่องจากมีนิสัยตื่นเช้า ไม่ชอบเสียเวลากับรถติด จึงเลือกไปทำงานแต่เช้า ข้อดีคือสมองสดชื่น ช่วงเช้าแบบนั้นมักเกิดงานดีๆ
วันหนึ่งเมื่อไปถึงที่ทำงานประมาณเจ็ดโมงครึ่ง มีคนมองหน้าแล้วถามว่า "ทำไมวันนี้มาสาย?"
นึกงงวูบ เพราะเจ็ดโมงครึ่งก็ยังมาก่อนพนักงานส่วนใหญ่ชั่วโมงกว่า!
คนเรามักตัดสินคนอื่นจากความเคยชินของตัวเอง เมื่อเห็นอะไรซ้ำๆ กันบ่อยๆ มักนึกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นตลอด
กรอบคิดบ่อยครั้งเกิดจากสิ่งที่เราเห็นซ้ำ เช่น เห็นแต่ข่าวนักการเมืองโกงกิน ก็จะสรุปว่ามันเป็นอย่างนั้นเสมอไป
สิ่งที่เห็นไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามนั้น
ชายกับหญิงอยู่ด้วยกันสองต่อสองไม่จำเป็นต้องมีเรื่องพิศวาสมาเกี่ยวข้องเสมอไป
เห็นชายกับหญิงคุยกัน แล้วผู้หญิงร้องไห้ ไม่ได้แปลว่าผู้ชายตัดรอนฝ่ายหญิงเสมอไป
คนจำนวนมากกินอาหารตามความเคยชิน กินก๋วยเตี๋ยวตักน้ำตาลสองช้อนพูน ดื่มกาแฟก็ใส่น้ำตาลสองสามซอง ทั้งหมดนี้เพราะความเคยชิน
ความเคยชินทำให้เราเดินชีวิตตามทางเดิม และในที่สุดก็อาจสร้างกรอบคิดขึ้นมาครอบตัวเอง และยึดมั่นว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นวงการหนังและละคร ความเคยชินทำให้ยึดมั่นของเดิม รสชาติเดิม พล็อตหนังละครเป็นการรีไซเคิลต่อกันหลายสิบปี เพราะ "มันเวิร์กไง"
ความเคยชินทำให้เราเดินชีวิตตามทางเดิม และในที่สุดก็อาจสร้างกรอบคิดขึ้นมาครอบตัวเอง และยึดมั่นว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นวงการหนังและละคร ความเคยชินทำให้ยึดมั่นของเดิม รสชาติเดิม พล็อตหนังละครเป็นการรีไซเคิลต่อกันหลายสิบปี เพราะ "มันเวิร์กไง"
ความเคยชินเป็นยาเบื่อของความคิดสร้างสรรค์
สมองมนุษย์เราก็เหมือนปาก บางทีก็ติดรสเดิม
ในการทำงานสร้างสรรค์จึงต้องเลี่ยงความเคยชิน มีสูตรสำเร็จเมื่อไร ความคิดสร้างสรรค์ก็หายไปหมด
นี่มิได้โน้มน้าวใจใครให้ต้องเสพของใหม่ตลอดเวลา แต่หมายความว่าเราควรจะวิเคราะห์ออกว่าอะไรเป็นของเก่า อะไรเป็นของใหม่ และบางครั้งเราก็ควรเปิดหูเปิดตาเปิดสมองรับของใหม่บ้าง เพื่อเพิ่มนิวรอนให้สมอง
***นิวรอน คือเซลล์ประสาท[1] หรือ นิวรอน (อังกฤษ: neuron, /ˈnjʊərɒn/ nyewr-on, หรือ /ˈnʊərɒn/ newr-on) เป็นเซลล์เร้าได้ด้วยกระแสไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ประมวลและส่งข้อมูลผ่านสัญญาณไฟฟ้าและเคมี โดยส่งผ่านจุดประสานประสาท (synapse) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อโดยเฉพาะกับเซลล์อื่น ๆ นิวรอนอาจเชื่อมกันเป็นโครงข่ายประสาท (neural network) และเป็นองค์ประกอบหลักของสมองกับไขสันหลังในระบบประสาทกลาง (CNS) และของปมประสาท (ganglia) ในระบบประสาทนอกส่วนกลาง (PNS) นิวรอนที่ทำหน้าที่โดยเฉพาะ ๆ รวมทั้ง
เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (sensory neuron) ตอบสนองต่อสัมผัส เสียง แสง และสิ่งเร้าอื่น ๆ แล้วส่งต่อสัญญาณ/ข้อมูลไปยังไขสันหลังและสมองต่อไป
เซลล์ประสาทสั่งการ (motor neuron) รับสัญญาณจากสมองและไขสันหลัง แล้วทำให้กล้ามเนื้อเกร็งคลาย และทำให้ต่อมต่าง ๆ หลั่งสาร
เซลล์ประสาทต่อประสาน (interneuron) เชื่อมนิวรอนต่าง ๆ ในสมองเขตเดียวกัน หรือเชื่อมเป็นโครงข่ายประสาทในไขสันหลัง
เคยเจอคำถามทายอายุกัปตันไหม? คำถามมีอยู่ว่า "กัปตันคนหนึ่งมีแกะ 26 ตัว แพะ 10 ตัว กัปตันอายุเท่าไร?"
อืม! คำถามอะไรเนี่ย! ข้อมูลในคำถามไม่มีอะไรเกี่ยวกับคำถามเลย จะตอบได้อย่างไร
คำถามนี้กลายเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน เพราะมันปรากฏเป็นข้อสอบของเด็กนักเรียนชั้น ป. 5 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เมืองหนานชง ประเทศจีน
ความจริงนี่เป็นคำถามเก่าแก่ มันไม่ใช่คำถามเลขคณิตธรรมดา เพราะมันเข้าไปในพื้นที่ของปัญหาเชาวน์
คำถามนี้น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากจดหมายของนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ กูสตัฟ ฟลอแบร์ ซึ่งเขียนถึงน้องสาวแคโรไลน์ในปี 1841
ข้อความท่อนหนึ่งในจดหมายเขียนว่า
พี่จะตั้งคำถามหนึ่งข้อ เรือลำหนึ่งแล่นข้ามมหาสมุทร มันออกจากบอสตันบรรทุกขนแกะ หนัก 200 ตัน ปลายทางคือเมืองท่า Le Havre เสากระโดงเรือหัก เด็กเคบินอยู่บนดาดฟ้าเรือ มีผู้โดยสาร 12 คนบนเรือ กระแสลมพัดตะวันออก-ตะวันออกเฉียงเหนือ นาฬิกาบอกเวลาบ่าย 3 โมง 15 นาที มันเป็นเดือนพฤษภาคม กัปตันอายุเท่าไร?
นี่เป็นคำถาม 'กวนตีน' ชัดๆ! เพราะข้อแม้ของคำถามกับคำถามดูเป็นคนละเรื่องกัน
คำถามนี้พัฒนาต่อมาเป็นหลายเวอร์ชั่น รวมทั้งเวอร์ชั่นจีน
หน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องในจีนออกมาชี้แจงว่า "ผลการสำรวจพบว่า เด็กชั้นประถมส่วนใหญ่ขาดทักษะในการวิเคราะห์ คำถามนี้จึงออกแบบมาให้เด็กคิดนอกกรอบ และรู้จักวิเคราะห์"
และ "ระบบการศึกษาไม่ใช่การผลิตชิ้นส่วนให้สังคม"
คำถามที่ตั้งให้เด็กจึงควรออกแบบให้คิดด้วย และก้าวพ้นโจทย์ที่มีคำตอบเดียว
อย่างไรก็ตาม ก็มีคนพยายามตอบคำถามนี้อย่างจริงจัง เช่น
"กัปตันต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 เพราะในวงการเดินเรือต้องการคนที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น"
"น้ำหนักของแกะ 26 ตัว แพะ 10 ตัวคือ 7,700 กก. ในเมืองจีน กัปตันที่ได้รับอนุญาตให้คุมเรือบรรทุกน้ำหนักสินค้าเกิน 5,000 กก. ต้องมีใบอนุญาตเดินเรือห้าปี อายุต่ำสุดของผู้สมัครของใบอนุญาตคือ 23 ปี ดังนั้นกัปตันน่าจะมีอายุประมาณ 28 ปี"
การตอบคำถามแบบนี้อาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว แต่มันช่วยทำให้เราใช้สมองมากขึ้น เราต้องบีบเค้นสมองให้ทำงานหนักกว่าเดิม บังคับให้สมองเข้าสู่พื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดกับคนที่มีไอคิวระดับไอน์สไตน์ มันมักมาจากวิธีมองต่างมุม แม้แต่ไอน์สไตน์เองก็คิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ได้จากการมองนอกกรอบ
เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน กล่าวว่า "ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสลายกฎกติกาที่มีอยู่แล้วเพื่อที่เราจะได้มองสิ่งต่างๆ ในมุมมองใหม่"
นักเขียน Derek Landy เขียนในเรื่อง Skulduggery Pleasant ว่า "Doors are for people with no imagination." (ประตูมีไว้สำหรับคนที่ไม่มีจินตนาการ) ตรงกับเรื่องนี้ เพราะการแก้ปัญหา จะมองหาแต่ประตูไม่ได้ บางครั้งเราต้องหาช่องทางอื่น
ตรงนี้เองที่ lateral thinking มีประโยชน์
อะไรคือ lateral thinking?
No comments:
Post a Comment