2022-04-18

ฆรีเอติวิถี ตอน 1 อยากเอากล่องครอบหัวออกไหม?

วิถีทางเสริม ความคิดสร้างสรรค์

หลายสิบปีมาแล้ว บนทางหลวงสายหนึ่งในอเมริกา เจ้าหน้าที่ทางหลวงทำการยกเลิกป้ายจราจรที่ติดบนสะพานลอยแห่งหนึ่ง โดยทาสีทับป้ายเดิม แล้วพิมพ์ข้อความใหม่ว่า "Ignore this sign." (ไม่ต้องสนใจป้ายนี้)

ฟังดูก็สมเหตุสมผล เพราะในเมื่อป้ายนั้นไม่มีประโยชน์แล้ว ก็ควรแจ้งให้ทุกคนรู้ แต่คำถามคือทำไมต้องทำให้เรื่องยุ่งยากสองชั้น ทาสีทับและพิมพ์ข้อความใหม่ ทั้งที่แค่ถอดป้ายนั้นออก ก็จบแล้ว

นี่ฟังดูเหมือนเรื่องขำขันที่แต่งขึ้น แต่มันเป็นเรื่องจริง กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า โลกมีคนที่เถรตรง แก้ปัญหาเก่าโดยสร้างปัญหาใหม่ ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ

บ่อยครั้งเราแก้ปัญหาเก่าโดยสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา

หลายปีก่อนในบ้านเรา สายการบินบริษัทหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกข้างรันเวย์ สิ่งแรกที่ผู้บริหารทำคือส่งคนไปทาสีทับโลโก้สายการบินนั้น วิธีคิดของพวกเขาคือปกป้องชื่อเสียงของสายการบินทุกวิถีทาง แต่ผลที่ได้กลับเป็นเรื่องตรงข้าม ในเวลาสั้นๆ ทุกคนก็รู้ว่าเป็นสายการบินอะไร พูดถึงเรื่องนี้มากกว่าเดิม และแน่นอนในเชิงลบ

บ้านเรามักมีกรอบคิดแปลกๆ ชอบมองรายละเอียดเฉพาะจุด ไม่มองภาพรวม กลายเป็นนโยบายแปลกๆ หลายเรื่อง เช่น เซ็นเซอร์พฤติกรรมสูบบุหรี่โดยการเบลอภาพ ลดการดื่มเหล้าโดยห้ามขายในเวลา 00.00-11.00 น. และ 14.00-16.30 น. ราวกับช่วงเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากที่สุด เสนอการแก้ปัญหาผู้หญิงถูกข่มขืนในรถไฟโดยตั้งโบกี้พิเศษสำหรับหญิง ฯลฯ

นี่คือกับดักของวิธีคิด มองปัญหาที่จุดจุดเดียว ไม่มองภาพกว้าง เพราะความจริงในกรณีขายเหล้าคือ ขี้เมาสามารถซื้อเหล้ามาตุนไว้ก่อนได้เสมอ

นี่ตรงกับนิทานจีนเรื่อง อุดหูขโมยกระดิ่ง

ชายคนหนึ่งต้องการขโมยกระดิ่งงามจากวัด แต่กลัวว่าคนอื่นจะได้ยินเสียงกระดิ่งและจับตนได้ จึงอุดหูตัวเองไปขโมยกระดิ่ง เพราะมองปัญหาในจุดจุดเดียว แน่นอนโจรถูกจับได้

ปรมาจารย์ด้านการคิด เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน บอกว่า "คุณไม่อาจขุดรูในที่อื่นโดยขุดรูเดิมลึกขึ้น" หมายความว่าการพยายามหนักขึ้นในทิศทางเดิมอาจไม่ได้ผลเท่าการเปลี่ยนทิศทาง ความพยายามในทางเดิมอาจไม่ได้ผลแบบใหม่


ผมเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิชาที่สอนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบเสมอ แต่กระนั้นเราก็ยังเผลอทำงานออกแบบตามกรอบกติกาบางอย่างวางไว้อยู่แล้ว เพราะนักศึกษาถูก 'โปรแกรม' กรอบคิดบางอย่างตั้งแต่วันแรก เช่น โครงสร้างควรเป็นแบบเสากับคาน กำแพงต้องวางบนคาน กำแพงต้องตั้งฉากกับพื้น เพดานต้องมีฝ้าปิดบังท่อและสายไฟ ผนังด้านที่ถูกแดดต้องมีที่บังแดด ห้องนอนอยู่ชั้นบนเสมอ (เพราะเป็นห้องส่วนตัว) ห้องเป็นทรงสี่เหลี่ยมกว้างสี่เมตรเสมอ (เพราะสี่เมตรเป็นระยะประหยัดที่สุด) รูปภาพต้องติดบนกำแพง หินอ่อนต้องโชว์ด้านขัดเงา โต๊ะต้องมีขา ฯลฯ กรอบเหล่านี้บางข้อเกิดจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีการก่อสร้างและความประหยัด บางข้อก็ไม่ใช่

จนกระทั่งออกไปเปิดโลกที่ต่างประเทศ เห็นสถาปนิกบางคนกล้าคิดรูปทรงอาคารเป็นทรงไข่ โดยลืมเรื่องเสากับคานไปโดยสิ้นเชิง จึงพบว่าสถาปนิกไม่น้อยทิ้งกรอบคิดนี้ไปแล้ว และยังบรรลุเป้าหมายด้วย นั่นคือห้องนอนมีความเป็นส่วนตัว และการก่อสร้างก็ประหยัดด้วยโดยไม่ต้องใช้โครงสร้างสี่เมตร ทำให้เรียนรู้ว่า เมื่อเราวางเป้าหมาย (ห้องนอนมีความเป็นส่วนตัว การก่อสร้างประหยัด) ไว้ที่รายละเอียดปลีกย่อยหรือรูปแบบการออกแบบ มันก็กลายเป็นกรอบคิดไป

สถาปัตยกรรมก็เหมือนศิลปะสายอื่นๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว สมัยก่อนเราสร้างผนังและเพดานห้องให้เรียบร้อย ประณีต แต่ก็มีคนออกแบบกำแพงเฉียง หรือเพดานไร้ฝ้าปิด โชว์ท่อน้ำ ท่อสายไฟฟ้า สวยไปอีกแบบและมีประโยชน์ใช้สอยดีกว่าด้วย เพราะเมื่อท่อน้ำรั่ว ก็ซ่อมได้เลยโดยไม่ต้องรื้อฝ้าและติดตั้งใหม่

วงการสถาปัตยกรรมในยุคปัจจุบันพัฒนาไปไกลกว่าสมัยที่ผมเรียนมาก มีสถาปนิกที่กล้าหาญแหวกทางใหม่ๆ บางอาคารสามารถหมุนไปตามทิศแดดและลม หรือปรับให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย บางอาคารรวมต้นไม้เป็นองคาพยพหนึ่งของระบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าคิดมาก่อน

นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก แค่ชี้ว่าทุกคนยังมีกรอบคิด และยังติดกับดักความคิดในกรอบคิดเก่าที่อาจใช้แก้ปัญหาใหม่ๆ ไม่ได้

ผมเคยทำงานในวงการโฆษณากว่า 16 ปี บ่อยครั้งเจอโจทย์ของลูกค้าที่ต้องการของใหม่ แต่วิธีคิดยังอยู่ในกรอบคิดเดิม เช่น ต้องแสดงภาพสินค้าใหญ่ที่สุด คำพาดหัวต้องใหญ่ที่สุด บรรยายสรรพคุณสินค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ 'คุ้ม' ค่าพื้นที่โฆษณาที่สุด มันอาจไม่ผิด แต่อาจไม่ใช่คำตอบเดียวที่ถูกต้อง เพราะมีกี่คนที่อ่านคำบรรยายสรรพคุณทั้งหมด?

ลูกค้าบางคนบรี๊ฟงานว่าต้องการโฆษณาสินค้าของเขาทางโทรทัศน์โดยเจาะจงนาย ก. หรือนางสาว ข. เป็นพรีเซนเตอร์ เพราะเห็นว่า นาย ก. นางสาว ข. มีชื่อเสียง ประชาชนนิยม นาย ก. นางสาว ข. ไปโฆษณาให้สินค้าใด สินค้านั้นก็ขายดี นี่คือกรอบคิดว่า หนึ่ง คิดว่าต้องพึ่งพานาย ก. นางสาว ข. อย่างเดียว สอง คิดว่าการขายสินค้าต้องมีพรีเซนเตอร์ เพราะเมื่อมองนอกกรอบ มองทุกมุม มองทุกทางเลือก อาจพบว่าบางสินค้าไม่จำเป็นต้องใช้พรีเซนเตอร์ หรือไม่จำเป็๋นต้องโฆษณาผ่านสื่อหลัก บางครั้งการแจกตัวอย่างสินค้าถึงจุดอาจได้ผลกว่า


ครั้งหนึ่งลูกค้าคนหนึ่งให้อาจารย์สถาปัตย์ฯออกแบบตึกแถว หลังจากอาจารย์ดูทำเลแล้วก็บอกว่าไม่ต้องสร้างตึก แค่ตีเส้นบนพื้นให้คนมาเช่าที่ขายของ ง่ายกว่ากรอบของโจทย์ร้อยเท่า

มันก้าวพ้นกรอบคิดเดิม ไปอีกทิศหนึ่ง

นักโฆษณาทำงานคลุกคลีกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องกล้ามองนอกกรอบ และกล้าแย้งโจทย์ของลูกค้า เพราะบ่อยครั้งลูกค้าไม่ได้รู้ หรือไม่ได้มองกว้าง หรือไม่กล้ามองต่าง หรือมองต่างจริง

ตั้งแต่เด็ก เราอยู่ในโลกที่มีกฎ กติกา ค่านิยม และ "เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" ระบบเหล่านี้หล่อหลอมเราเป็นคนที่เดินตามกรอบโดยฝังในจิตใต้สำนึก เมื่อใครคิดเสนออะไรใหม่ จะได้ยินประโยค "ทำไม่ได้หรอก" เสมอ

ที่ย้อนแย้งก็คือขณะที่เราถูกสอนให้ "เป็นตัวของตัวเอง" สร้างทางของตนเอง มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราก็อาจยังติดนิสัยเดินตามกรอบโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน นี่ไม่ใช่ความผิดของบุคคล มันเป็นระบบที่หล่อหลอมเรามาอย่างนี้ แต่หากริจะเป็นคนสร้างสรรค์ ก็ต้องกล้าตั้งคำถามว่า ทางสายหนึ่งๆ ที่เราปฏิบัติอยู่เป็นกรอบหรือไม่ เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และแค่ไหน

มันเป็นสัญชาตญาณคนที่จะติดนิสัยเคยชินกับสิ่งที่มีอยู่

เคยได้ยินบทสนทนาแบบนี้ไหม? คนหนึ่งถามเพื่อน "ไปไหนมา?"

เพื่อนตอบว่า "ขึ้นเหนือ"

"เชียงใหม่หรือ?"

"เปล่า ไปดอนเมือง"

หลายมีกรอบคิดว่าวลี "ขึ้นเหนือ" มักหมายถึงจังหวัดทางเหนือไกลๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย

เวลาบอกว่า "ลงใต้" ก็มักนึกถึงจังหวัดไกลๆ ในภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ ยะลา สตูล เราจะไม่นึกถึงประตูน้ำ สามเสน บางซื่อ

นี่มาจากการบ่มเพาะจนเกิดความเคยชิน และในที่สุดก็ฝังรากเป็นกรอบคิดครอบหัวว่า "ขึ้นเหนือ-ลงใต้" มีนัยของการเดินทางไกล

ลองดูบทสนทนานี้

"ไปไหนมา?"

"ไปโรงพยาบาล"

"อ้าว! ป่วยเป็นอะไรหรือ?"

"เปล่า นัดหมอไปเที่ยว"

มีแต่คนไข้จึงไปโรงพยาบาลใช่ไหม? มันกลายเป็นกรอบคิดที่ดิ้นหลุดยาก

อีกบทสนทนา:

"ไปไหนมาจ๊ะ?"

"ไปร้านเบเกอรี"

"ทำซื้ออะไรจ๊ะ?"

"ไปซื้อเค้ก"

"วันเกิดใครหรือ?"

"เปล่า วันนี้แค่อยากกินเค้กเท่านั้น"

เวลาพูดถึงเค้ก มักโยงถึงวันเกิด เค้กมักถูกโยงเข้ากับงานฉลอง วันเกิดถูกโยงเข้ากับเพลง Happy Birthday โดยอัตโนมัติ มันกลายเป็นกรอบคิดที่เปลี่ยนยาก และท้ายที่สุดก็ทำให้มีวิธีคิดแบบเดียว


"กินอะไรเป็นอาหารเย็น?"

"ข้าวต้ม"

"ไม่สบายหรือ?"

"เปล่า วันนี้แค่อยากกินข้าวต้มว่ะ"

ข้าวต้มกับความป่วยไข้ก็มักโยงเข้าด้วยกัน กลายเป็นกรอบคิดเดิมๆ

แม่ถามลูกชายที่พาเพื่อนมาเยี่ยมบ้านว่า "เพื่อนลูกคนนี้เป็นศิลปินใช่ไหม?"

"ทำไมคิดยังงั้นครับแม่?"

"เขาไว้ผมยาวมาก แต่งตัวมอซอมาก"

"เขาเป็นนักธุรกิจร้อยล้านครับ"

อีกบทสนทนาหนึ่งที่ชี้ให้เห็นกรอบคิดเดิมๆ แม่บอกลูกสาวว่า "ลูกควรรักนวลสงวนตัว..."

"แม่ว่าอะไรของแม่?"

"แม่เห็นยาคุมกำเนิดในห้องของลูก"

"หมอให้หนูกินเพื่อปรับฮอร์โมนแก้สิวค่ะ"

ยาคุมกำเนิดย่อมถูกโยงกับเซ็กซ์ แต่มองในมุมอื่น มันอาจใช้รักษาโรคได้

ลองทดสอบต่อความจากคำหรือวลีต่อไปนี้ :

"ข้าวกะเพราไก่" มักมีคนต่อด้วยคำว่า "ไข่ดาว"

"ลูกกลับบ้านดึก" > "คบเพื่อนไม่ดี"

"ดนตรีคลาสสิก" > "ปีนบันได(ฟัง)"

"ลูกค้า" > "งี่เง่า"

"ถุงยางอนามัย" > "เซ็กซ์"

"ประชาธิปไตย" > "การเลือกตั้ง"

"เผด็จการ" > "ทหาร"

คำหน้าและคำหลังเหล่านี้เข้ากันได้ดีจนเป็นที่รู้กัน มันบ่มเพาะเราให้ทึกทักเอาเองว่า มันต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ทำให้เกิดความคิดด้านเดียวที่บ่อยครั้งกลายเป็นกับดัก พวกนี้เป็น mindset มักก่อให้เกิดความคิดปรุงแต่งล่วงหน้า ศัพท์ฝรั่งว่า preconceived ideas

บางทีก็เรียกว่า one-track mind คือคิดอยู่ทางเดียวมุมเดียว เหมือนรถไฟวิ่งทางเดียว

ความคิดปรุงแต่งล่วงหน้าเกิดจากการมองโลกด้วยความเคยชิน ตัดสินสิ่งที่เห็นด้วยความเคยชิน ทำให้มองโลกแบบเดียว กลายเป็นสูตรสำเร็จ เป็นกรอบที่กำหนดวิธีคิดและพฤติกรรมของเรา เป็นรั้วสูงที่คุมขัง

กรอบคิดเกิดจากความเคยชิน เห็นภาพใดภาพหนึ่งก็สรุปเลยว่าเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เช่น ธนบัตรมีไว้ซื้อของ หนังสือมีไว้อ่าน

แต่ในความเป็นไปได้ ธนบัตรใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ได้

หนังสือมีไว้อ่าน แต่เช่นที่นักเขียนบางคนถูกเสียดสีขำๆ เช่น รองขาโต๊ะได้

เรามาลองทดสอบกรอบคิดของเราดีไหม?

นักบินหนุ่มผู้ช่วยคนหนึ่งทำงานในสายการบินแห่งหนึ่ง เขาฝึกงานกับกัปตันผู้มีประสบการณ์สี่สิบปี วันหนึ่งหลังจากการบินข้ามทวีปไปปารีส พนักงานสายการบินเที่ยวนั้นก็ไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

คืนนั้นนักบินหนุ่มลงไปที่บาร์เหล้าในโรงแรม และพบใครคนหนึ่งดื่มเหล้าอยู่ก่อนแล้ว ก็คือกัปตันนั่นเอง นักบินหนุ่มสะดุ้งเมื่อเห็นกัปตันสวมชุดผู้หญิงและส่งยิ้มหวานให้เขา

หากคุณเป็นนักบินหนุ่ม จะทำอย่างไรในสถานการณ์นี้?

คำตอบคือ ก็เสนอตัวเลี้ยงเครื่องดื่มหล่อน!

ใช่ กัปตันเป็นผู้หญิง!

คนส่วนมากตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะยึดติดกับภาพเดิมๆ ที่ฝังหัวโดยอัตโนมัติว่า กัปตันต้องเป็นชายวัยกลางคน ท่าทางผึ่งผาย

เห็นไหมว่ากรอบคิดเดิมสามารถบังตาเราได้ขนาดไหน!

พ่อกับลูกชายวัยสิบขวบประสบอุบัติเหตุรถชนบนทางหลวงสายหนึ่ง พ่อเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ลูกชายถูกส่งไปที่โรงพยาบาล หมอที่มาตรวจเด็กชายร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า "นี่เป็นลูกชายฉัน!"

เป็นไปได้อย่างไร?

คำตอบคือ หมอเป็นแม่เด็ก

เรามักมีภาพเดิมฝังอยู่ในหัว ทหารเป็นผู้ชาย หน่วยคอมมานโดเป็นผู้ชาย พยาบาลเป็นผู้หญิง คนทำความสะอาดเป็นผู้หญิง ฯลฯ

ภาพเหล่านี้อาจทำให้เราติดกับในกรอบคิด และมองปัญหาในมุมจำกัด

นอกจากนี้ยังมีกรอบคิดอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บทเทศน์ของอลัชชีเป็นเรื่องแย่ทุกเรื่อง คนสวมชุดเก่าขาดยากจน คนขี้คุกเป็นคนเลว ศาสตราจารย์ต้องมีความรู้จริง การดับไฟต้องใช้น้ำ

----------------------

การมองนอกกรอบคือการมองข้ามความเคยชิน เวลาเกิดไฟไหม้ ไม่ใช่น้ำอย่างเดียวที่ดับไฟได้ หากมีภาพยึดมั่นว่ามีแต่น้ำที่ดับไฟ ก็จะมองหาแต่น้ำ แต่หากเปิดสมองกว้าง ก็จะพบทางเลือกในการดับไฟมากทางขึ้น

คนที่ทำงานสายวงการสร้างสรรค์จำเป็นต้องสลัดกรอบคิดเดิมๆ เหล่านี้ หลุดจากกับดักของกรอบคิดเดิมๆ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ไอเดียสด

ต้องระวังเสมอว่า การเดินไปข้างหน้าอาจไม่ใช่การไปข้างหน้าเสมอไป เพราะเราอาจเดินมุ่งไปข้างหน้าบนเส้นทางวงกลมที่ย้อนกลับไปด้านหลังเราโดยไม่รู้ตัว

เราส่วนใหญ่เป็นไม้ขีดไฟที่ถูกบรรจุใส่กล่องตั้งแต่วันที่ออกจากโรงงาน ไม้ขีดไฟที่อยู่ในกล่องย่อมไม่เปล่งแสง มันต้องออกจากกล่องก่อน แล้วขูดกับข้างกล่อง จึงจะเปล่งแสงสว่าง

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ระดับอัจฉริยะ เช่น ไอน์สไตน์ ฯลฯ ก็ยังมีกล่องของพวกเขา ทำผิดคิดผิดมาโดยตลอด แต่คนฉลาดต้องรู้ว่าตัวเองอยู่ในกล่องหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้

เราทุกคนมีกล่องใบหนึ่งครอบหัวอยู่ กล่องของบางคนหนา ของบางคนมีหลายกล่องซ้อนทับกัน นานๆ ทีเราก็ควรสำรวจตัวเองว่าควรปลดกล่องเหล่านั้นออกไปหรือไม่

Cr:  วินทร์ เลียววาริณ

No comments: