2021-11-15

PUT IT DOWN! วางมันลง


วิไลซื้อกระเป๋าถือใบหนึ่งจากห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในรายการลด 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเดินผ่านอีกห้างหนึ่ง เห็นกระเป๋าอย่างเดียวกันวางขายอยู่ ก็ลองเปรียบเทียบราคาดู แล้วพบว่าห้างแห่งที่สองขายกระเป๋าแบบเดียวกันถูกกว่าห้างแรก 250 บาท ทั้งนี้เพราะห้างแรกใช้ลูกเล่นตั้งราคาสูงกว่าปกติแล้วลดราคาลงมาเท่าเดิม เธอโกรธตัวเอง ด่าตัวเองว่าโง่เง่าจนถูกเขาหลอก ทำไมเลินเล่ออย่างนี้ ทำไมไม่ตรวจสอบราคาหลาย ๆ ห้างก่อน ทำไมไม่ถามเพื่อน ฯลฯ ขณะกลับบ้านก็โมโหไปตลอดทาง  ถึงบ้านแล้วก็ยังกลุ้มใจ ลูกมาหาก็ไม่อยากคุยด้วย ครั้นเวลาอาหารเย็นก็กินไม่อร่อย คิดถึงแต่เรื่องนี้ เวลานอนก็ไม่หลับเพราะยังโมโหตัวเองไม่หาย กลุ้มใจไปหลายวัน

นี่เรียกว่า เสียสองเด้ง

เด้งแรกคือเสียทางวัตถุ เด้งที่สองคือเสียทางจิตใจ

วิไลเลิกซื้อสินค้าจากห้างแห่งนั้น ผ่านไปหนึ่งปี สองปี วิไลก็ยังโกรธตัวเองและห้างไม่หายในเหตุการณ์นั้น ทุกครั้งที่โกรธ เธอก็มีอาการหัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ

มันเพิ่มจากเสียสองเด้งเป็นเสียสามเด้ง สี่เด้ง

ผ่านไปสิบปี เธอยังโกรธเรื่องนี้อยู่ คราวนี้จาก 3-4 เด้ง กลายเป็น 10-20 เด้ง กลายเป็นทุกข์ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้ำไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวางเรื่องนี้ได้

รวมพลังงานที่เสียไป, เวลาที่หายไปกับการครุ่นคิดเรื่องนี้, สารพิษที่ร่างกายหลั่งออกมาตอนกลัดกลุ้ม, ความเสื่อมของหัวใจที่เกิดจากความโกรธ คำนวณออกมาแล้วจะพบว่าค่าเสียหายของงานนี้มากกว่า 250 บาท

=======================

สุดาทะเลาะกับสามี สามีด่าเธอด้วยถ้อยคำรุนแรง วันรุ่งขึ้นสามีขอโทษเธอ บอกว่าเมื่อคืนนี้ใช้คำพูดหยาบคายเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เธอยกโทษให้เขา แต่ทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ ในใจเธอยังรู้สึกน้อยใจและโกรธ และงอนเขาไปหลายวันโดยที่เขาไม่รู้ 

ผ่านไปสิบปีความน้อยใจยังไม่จางหาย ผ่านไปยี่สิบปี ทุกครั้งที่นึกถึงเหตุการณ์นี้ เธอก็สัมผัสความโกรธและน้อยใจที่ปะทุวูบขึ้นมา

นี่ก็คือทุกข์ทบต้น เป็นดอกเบี้ยอารมณ์ที่ทบซ้อนไม่หยุดหย่อน ตราบที่ยังไม่สามารถปล่อยวางตะกอนในใจได้

=======================

สมยศกับเพื่อนลงทุนในธุรกิจหนึ่ง กิจการของทั้งสองไม่เคยได้รับกำไร ผ่านไปสองปีสมยศเพิ่งพบว่าเพื่อนโกงเงินกำไรทั้งหมด ทั้งสองเลิกกิจการที่ทำด้วยกัน แต่สมยศไม่เคยลืมความเจ็บช้ำครั้งนี้ ผ่านไปสิบปี เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจของเขาเองแล้ว ความโกรธแค้นนั้นยังคงอยู่ มันทำให้เขาไม่มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงมัน

ทุกข์ทบต้น!

.……………….

ความทรงจำของมนุษย์มีความแปลกอย่างหนึ่งคือ มันจดจำเรื่องไม่ดีได้ลึกกว่านานกว่าเรื่องดี ๆ

เรามักจดจำเรื่องที่คนอื่นทำแย่ ๆ ต่อเราได้ ไม่ว่าผ่านมากี่สิบปีแล้ว เราจำเรื่องที่เราพูดหน้าชั้นเรียนแล้วถูกเพื่อนหัวเราะเยาะได้ เราจำเรื่องที่ใครบางคนนินทาเราลับหลังและเราบังเอิญได้ยินได้
.……………….

คนแก่บางคนเริ่มมีอาการขี้ลืม แต่กลับจำเรื่องที่คนอื่นทำไม่ดีต่อเขาเมื่อห้าสิบปีก่อน แล้วความโกรธก็ปะทุขึ้นมาเหมือนว่าเหตุการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อครู่นี้เอง หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก และคืนนั้นก็นอนไม่หลับ

เป็นดอกเบี้ยทบต้นที่แพงเหลือเกิน

ทุกข์ทบต้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวัน เกิดขึ้นกับแทบทุกคน แต่คนฉลาดเลือกจบมันตั้งแต่เกิดความเสียหายแรก คนเขลาต่อเติมความเสียหายแรกเป็นความเสียหายใหม่ที่มักใหญ่กว่าเดิม

การจบมันก่อนคือการยอมปล่อยมันลง ไม่แบกมันไว้

PUT IT DOWN!วางมันลง

วางมันลง วางมันลง

นี่ก็คือเรื่องการยึดมั่นถือมั่นที่พระเทศน์ มันเข้าใจไม่ยากอย่างที่คิด

ลองใช้หลักบัญชีง่าย ๆ แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสองช่อง ช่องซ้ายคือกำไร ช่องขวาคือขาดทุน

กำไรคือความสุข ความสบายใจ การได้เงินเพิ่ม

ขาดทุนคือความทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ค่าเสียเวลาไปหาหมอ ค่าบิลโรงพยาบาล ค่าเสียโอกาสในการทำเรื่องสร้างสรรค์อื่น ๆ ค่าเสียโอกาสในการเล่นกับลูก ไม่ได้หัวเราะ ไม่ได้ยิ้ม ฯลฯ แล้วคูณจำนวนวันเดือนปีที่อารมณ์บูดเข้าไป

เด็กประถมก็รู้ว่าควรเลือกทางไหน

แต่คนไม่ยอมใคร เลือกที่จะไม่รู้!

กูไม่ยอมโว้ย!

เสียรู้ห้างไป 250 บาท ไม่ตายก็หาใหม่ได้ เพื่อนโกงเงินไม่ตายก็หาใหม่ได้ อย่าแบกมันไว้นานเป็นปี ๆ เพราะค่าแบกแพงกว่าค่าเสียหายในตัวเงิน ทะเลาะกับสามีเป็นเรื่องปกติธรรมดา มีใครบ้างที่ไม่ทะเลาะกับสามี?

เสียเงินไปแล้ว ไยต้องเสียอารมณ์เพิ่ม? ทุกข์เรื่องหนึ่งแล้ว ทำไมต้องทุกข์เพิ่มอีกเรื่อง?

ค่าใช้จ่ายในการไม่ยอมคนอื่นนี้มักแพงกว่าการยอม ๆ เขาบ้าง แล้วยุติความเสียหายแรกเพียงแค่นั้น อย่าให้มันลามมาถึงใจจนกลายเป็นมะเร็งที่เกาะกินทั้งชีวิต

คำโบราณที่ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ก็ตรงกับเรื่องนี้

ยอมให้เขาไป ได้ความสงบทางจิตคืนมา

.……………….

คราวนี้ลองใช้หลักการ ‘หลายเด้ง’ ในอีกด้านหนึ่งของตาชั่งอารมณ์ อาจได้ผลต่างกัน

ซื้อขนมมากิน รสชาติอร่อยเหลือเกิน ก็แบ่งให้เพื่อนชิม จากสุขคนเดียวก็กลายเป็นสุขสองคน หรือสุขสองเด้ง

อ่านขำขันแล้วขำมาก เล่าให้เพื่อนสองคนฟัง ก็กลายเป็นสุขสามเด้ง ได้ยินธรรมที่ดีมาก เล่าให้เพื่อนสามคนฟังแล้วนำไปปฏิบัติ กลายเป็นสุขสี่เด้ง

ลองคิดดูว่าหากเราสามารถทำเรื่องดี ๆ ให้คนนับพัน นับหมื่นนับล้านคน มันก็กลายเป็นสุขพันเด้ง สุขหมื่นเด้ง สุขล้านเด้ง

และหากเราระลึกถึงความสุขชนิดนี้ ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องดี ๆ ที่เคยได้ยินได้ฟังนี้ หัวใจเราจะอาบซ่านด้วยความปีติ มันก็กลายเป็นสุขทบต้น

แล้วมีอะไรในโลกที่ดีไปกว่าสุขทบต้น?

.……………….

จากหนังสือ ยาเม็ดสีแดง
โดย วินทร์ เลียววาริณ

1 comment:

Jiraporn Trainor said...

Thank you for Sharingค่ะ พี่เมย์