2020-01-13

ก้าวสู่ยุคเอกภาวะ - 1001

ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจได้แรงบันดาลใจจากนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ชื่อ เรย์มอนด์ เคิร์ซเวล์ (Raymond Kurzweil) หรือเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า เรย์ครับ

ศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557 เวลา 00.31 น.
ขณะนี้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเรื่องหนึ่งที่กำลังฉายคือ Transcendence หรือ คอมพ์สมองคนพิฆาตโลก   ภาพยนตร์เรื่องนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ที่สามารถเขียนเป็นบทความลงในคอลัมน์ 1001 ได้หลายเรื่องครับ ในวันนี้ ผมขอกล่าวถึงแนวคิดหนึ่งที่กล่าวในภาพยนตร์คือ เอกภาวะ (Singularity)  แต่ก่อนที่เราจะรู้จักเอกภาวะ เรามารู้จักบุคคลที่เสนอแนวคิดเรื่องนี้จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก่อนครับ

ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจได้แรงบันดาลใจจากนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ชื่อ เรย์มอนด์ เคิร์ซเวล์  (Raymond Kurzweil) หรือเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า เรย์ครับ เรย์เป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานมากมายและเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี และการทำนายอนาคต หนังสือเล่มหนึ่งของเขาคือ The Singularity is near (ก้าวสู่ยุคเอกภาวะ) เรย์เสนอความคิดว่า

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งในอนาคตอันใกล้ ปัญญาประดิษฐ์ของคอมพิวเตอร์จะพัฒนาจนถึงขั้นที่เหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์และเปลี่ยนอารยธรรมของมนุษยชาติโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นั้นเรียกว่าเอกภาวะ

เรย์ทำนายว่า มนุษย์จะเข้าใจการทำงานของสมองทั้งหมดในทศวรรษ 2020 และเริ่มสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความฉลาดทัดเทียมมนุษย์ได้  เอกภาวะซึ่งเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์ฉลาดกว่ามนุษย์จะเกิดประมาณปี ค.ศ. 2045

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องเอกภาวะไม่ใช่ของใหม่หรือเป็นแนวคิดของเรย์คนเดียวครับ มีนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีหลายคนที่เสนอแนวคิดเรื่องเอกภาวะเช่นกัน แต่บางคนให้นิยามว่า เอกภาวะคือการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างก้าวกระโดดที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี  โดยไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เสมอไป

แนวคิดเรื่องเอกภาวะทำให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างมากว่า เอกภาวะเป็นคุณหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ บางคนเชื่อว่า เมื่อคอมพิวเตอร์พัฒนาสติปัญญาจนเหนือกว่ามนุษย์แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ของมนุษยชาติก็จะหมดไป เพราะคอมพิวเตอร์จะแก้ไขปัญหาให้เราทุกอย่าง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า การสร้างคอมพิวเตอร์ให้มีสติปัญญาเหมือนหรือเหนือกว่ามนุษย์เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเอกภาวะเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นภัยต่อมนุษยชาติมากกว่าเป็นคุณ เหมือนกับที่เราได้ชมในภาพยนตร์เกี่ยวกับโลกอนาคตที่มืดหม่นหลายเรื่อง เช่น คนเหล็ก เดอะเมทริกซ์ เป็นต้น

ถ้าผู้อ่านอยากทราบประวัติหรือเรื่องราวของเรย์เพิ่มเติม ก็หาชมภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเรย์เรื่อง Transcendent Man ซึ่งผู้อ่านชมตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทางยูทูบครับ

มีแต่กาลเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่าคำทำนายเรื่องเอกภาวะถูกต้องหรือไม่ อนาคตอาจตื่นเต้นกว่าที่เราคิดครับ!.

ธงชัย โรจน์กังสดาล

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Thongchai.R@chula.ac.th






 ย้อนกลับ

No comments: