2018-12-11

เลิกใช้ธนบัตร ฝังไมโครชิปที่มือแทน

ทุกวันนี้คนนับพันล้านยอมรับและใช้สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย ในอนาคตการฝังไมโครชิปในร่างกายน่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายเช่นกัน ด้วยประโยชน์ของผู้ใช้ ผู้ให้บริการและผู้ควบคุมระบบ

            ปี 2018 ชาวสวีเดนกว่า 4,000 คนสมัครใจฝังไมโครชิปในร่างกายตัวเอง โดยฝังไว้ที่ชั้นใต้ผิวหนังของมือ ชิปดังกล่าวบรรจุข้อมูลอัตลักษณ์ของเขา (เหมือนบัตรประชาชน) ด้วยชิปนี้พวกเขาไม่ต้องถือเงินสดอีกต่อไป สามารถซื้อสินค้าบริการต่างๆ ด้วยการมีชิปเล็กๆ ขนาดเท่าเม็ดข้าว
            การใช้งานแสนง่ายดายเพียงแค่โบกมือหรือสแกนมือผ่านเครื่องจะปรากฏลิงก์ที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว จากนั้นจะเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพื่อประมวลผลว่าทำอะไรได้บ้าง เช่น ซื้อสินค้าได้กี่บาท ใช้แทนกุญแจเปิดประตูต่างๆ
            อาสาสมัครเหล่านี้เห็นว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตของพวกเขา ให้ความสำคัญเรื่องความสะดวกสบายมากกว่าการรักษาความเป็นส่วนตัว
            ทุกวันนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งในสวีเดนพร้อมให้บริการฝังไมโครชิปฟรี เพื่อความปลอดภัยในการเข้าสู่อาคาร ห้องต่างๆ และใช้ชำระเงินซื้อสิ่งต่างๆ ในโรงอาหาร
            การฝังไมโครชิปจากข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศนี้ ก่อนหน้านี้มีผู้สมัครใจฝังชิปหลายพันคนแล้ว

            เหตุที่สวีเดนพัฒนาเรื่องทำนองนี้อย่างรวดเร็วเหนือประเทศอื่นๆ เพราะค่านิยมสังคมรองรับ คนเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้อื่น ระบบการชำเงินอิเล็กทรอนิกส์แพร่หลาย คนส่วนใหญ่เลิกใช้ธนบัตรมานานแล้ว กฎหมายอนุญาตการฝังไมโครชิปใต้ผิวหนัง ข้อมูลส่วนตัวได้รับการปกป้องตามกฎหมาย
            บรรดาประเทศที่นิยมใช้แนวทางของสังคมไร้เงินสดอื่นๆ อาทิ E-Wallet E-Money ทำธุรกรรมการเงินผ่านคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือน่าจะส่งเสริมการฝังไมโครชิปในอนาคต นับวันคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมชำระค่าสินค้าบริการด้วยธนบัตร ร้านค้าบางแห่งถึงกับเอ่ยว่าการชำระด้วยธนบัตรกลายเป็นภาระ เพราะคนใช้บริการน้อยมากแต่ยังต้องมีเจ้าหน้าที่คอยรองรับ สวีเดนมีธนาคารทั้งหมดรวม 1,400 สาขา กว่าครึ่งไม่มีบริการรับเงินสดอีกแล้ว ผู้ใช้บริการที่จะฝากเงินด้วยธนบัตรต้องไปสาขาที่ยังให้บริการเท่านั้น และเมื่อคนใช้ตู้ ATM น้อย การติดตั้งตู้จึงกลายเป็นภาระ ไม่คุ้มค่า
            กรณีอย่างสวีเดนเห็นได้ชัดว่านับวันธนบัตร เหรียญกำลังจะหายไปจากตลาด 

คริสตีน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าธนาคารแห่งชาติหลายประเทศกำลังพิจารณาเงินดิจิทัล (digital currencies) อย่างเคร่งเครียด สังคมไร้เงินสดสัมพันธ์กับเงินดิจิทัลโดยตรง ไม่ช้าไม่นานเงินดิจิทัลจะกลายเป็นระบบเงินที่ใช้แพร่หลาย
            สังคมไร้เงินสด เงินดิจิทัล และไมโครชิปที่ฝังในร่างกายทั้งหมดสัมพันธ์กัน
            ไม่เพียงที่สวีเดน เมื่อปี 2017 บริษัท Three Square Market (32M) ในรัฐวิสคอนซินเผยว่าตนเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของสหรัฐที่ฝังไมโครชิปในพนักงานของตน ชิปดังกล่าวทำหน้าที่เปิดประตูห้องทำงาน เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงาน ซื้ออาหารของร้านค้าในบริษัท อย่างไรก็ตามชิปดังกล่าวไม่มีระบบติดตามการเคลื่อนไหว (GPS)
            ชิปนี้ราคาชิ้นละ 300 ดอลลาร์ฝังชั้นใต้ผิวหนังระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ เพียงแค่โบกมือไปมา ระบบก็จะทำงาน
เหล่านี้เป็นตัวอย่างบริษัทเอกชนส่วนหนึ่งที่ฝังชิปกับพนักงานลูกจ้างของเขา
BioTeq เป็นบริษัทเอกชนรายแรกของอังกฤษที่พัฒนาไมโครชิปที่สามารถเปิดประตูรถยนต์ ประตูบ้านเพียงแค่เจ้าของโบกมือ ขายในราคา 300 ปอนด์ต่อ 1 ประตู
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัว เพื่อประโยชน์ด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ลดภาระของพยาบาล การดูแลผู้ป่วยด้วยบุคลากร
ไมโครชิปนี้มีบริการแก่ประชาชนทั่วไป
กลุ่มที่สนับสนุนจะกล่าวว่าการฝังชิปไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเพราะเหมือนกับไปฉีดวัคซีน ทนปวดไม่กี่วันก็หาย

การฝังไมโครชิปในความเข้าใจแบบต่างๆ :
            การฝังไมโครชิปในร่างกายมนุษย์มีทั้งคุณและโทษ ใช้ประโยชน์เรื่องการดูแลสุขภาพ ความมั่นคงปลอดภัยและด้านการเงิน แต่เคยมีประวัติว่าอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มีผลต่อยีน สูญเสียความเป็นส่วนตัว กระตุ้นแนวคิดคัดเลือกแต่คนสายพันธุ์ดี (eugenics movement)
            มีทั้งคนที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย ขึ้นกับว่าให้น้ำหนักเรื่องใด
            อีกคำถามสำคัญคือสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่
            เรื่องที่ควรเข้าใจคือการฝังไมโครชิปยังเป็นของใหม่อยู่ระหว่างการทดลอง แม้การทดลองแรกๆ ย้อนหลังได้อย่างน้อย 3-4 ทศวรรษ เจ้าของโครงการมีทั้งเอกชนกับหน่วยงานรัฐ
            บางคนอาจนึกถึงการฝังไมโครชิปในแง่ใช้ประโยชน์ตามยุคสังคมไร้เงินสด (cashless society) เพียงแค่ฝังชิพเท่ากับมีกระเป๋าเงินอยู่ใน “ร่างกาย” ทั้งสะดวกและน่าจะปลอดภัยจากโจรขโมย
            แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้ในทางอื่นๆ อีกมาก
            มีการทดลองถึงขั้นที่ตัวชิปเชื่อมต่อกับเซล อวัยวะ แม้กระทั้งระดับ DNA เพื่อเข้าถึง เชื่อมต่อกับส่วนของร่างกายมนุษย์ จะพูดว่าไมโครชิปเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของร่างกายก็ได้
            การทดลองดำเนินต่อไป ในอนาคตร่างกายคนเราอาจมีชิปไม่เพียง 1 ชิ้น แต่มีหลายชิ้นหลายแบบขึ้นกับความต้องการและความจำเป็น ทำหน้าที่หลากหลาย อาจเรียกว่าเป็นมนุษย์ชิปก็ได้

            บางคนอาจนึกว่าการฝังชิปเพื่อเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์คือการที่เราเป็นผู้ “ควบคุม” ความจริงแล้วการไหลของข้อมูลจำต้องผ่าน “ระบบ“ คอมพิวเตอร์ส่วนกลาง ผ่านระบบการไหลของข้อมูลซึ่งจะมีผู้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล หรือหลายฝ่ายร่วมกัน
            การฝังชิปอีกแบบคือเพื่อควบคุมมนุษย์โดยตรง เช่น ฝังชิปในตัวนักโทษเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว รู้ตำแหน่งว่าอยู่ที่ใด บริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งจดสิทธิบัตรชิปดังกล่าวตั้งแต่ปี 1999 (สมาร์ทโฟนที่ใช้กันทั่วไปคืออีกอุปกรณ์ที่สามารถจับตำแหน่งบุคคล) การฝังชิปในร่างกายยากที่จะนำชิปออก
            ในอนาคตบัตรประจำตัวประชาชนอาจเป็นชิปตัวหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ทุกคนจะถูกฝังตามวัย ฯลฯ นักเรียนเมื่อเข้าห้องหรือทำกิจกรรมจะต้องสแกนชิปก่อน ใครที่โดดเรียนจะถูกจับได้ทันที คนเข้างานตอกบัตรด้วยการสแกนชิปเช่นกัน
            เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกฝังชิปน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงานและความมั่นคงประเทศ
            ประชาชนแต่ละคนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐหรือไม่ก็ด้วยข้อมูลที่บรรจุอยู่ในไมโครชิฟ (หรือจากสัญญาณที่เชื่อมต่อกับตัวชิป)
ทุกคนสามารถเดินทางไปทั่วโลกโดยไม่ต้องมีวีซ่าหรือหนังสือเดินทางอีกต่อไป ไม่ต้องกลัวเอกสารหาย เพราะข้อมูลทุกอย่างฝังอยู่ในชิปแล้ว
            ชิปจะเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเข้าถึงข้อมูลสุขภาพทั้งหมด ทั้งยังคอยตรวจตราสุขภาพ แจ้งเตือนให้ไปสถานพยาบาล เตือนว่ากินยาตรงเวลาหรือไม่ น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดลง พร้อมส่งสัญญาณไปถึงสถานพยาบาลที่กำหนด ระบบจะเก็บข้อมูลสุขภาพทุกวันพร้อมกับประมวลข้อมูลสุขภาพทำวัน สามารถบอกว่ากำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายหรือไม่ ฯลฯ เฉพาะที่สหรัฐชิปประเภทนี้มีการใช้นับล้านชิ้นแล้ว ได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐอเมริกา
ใครที่อยู่ระหว่างการบังคับของกฎหมาย เช่น ห้ามขับรถ 30 วันก็จะขึ้นกับอยู่ชิปนี้ด้วยเช่นกัน
            ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าอาจใช้ชิปนี้เพื่อการลงโทษ เช่น ทำให้ฝันร้าย ซึมเศร้า มีปัญหาทางสายตา แม้กระทั่งกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง
            อีกการทดลองที่พยายามทำแล้วหลายทศวรรษคือการควบคุมความคิดมนุษย์ ให้ลดการต่อต้านรัฐบาล แนวคิดนี้เคยพยายามทำด้วยหลายเทคโนโลยี ไมโครชิปที่ฝังในร่างกายมนุษย์คืออีกแนวทางที่อยู่ระหว่างการทดลอง

การสู้กันในชั้นกฎหมายและอื่นๆ :
            การฝังชิปอาจทำโดยสมัครใจ ดังเช่นการใช้ในสวีเดน บริษัทบางแห่ง ไมโครชิปที่เป็นของรัฐต้องมีกฎหมายรองรับ (เช่น ชิปบัตรประจำตัวประชาชน) เป็นประเด็นถกเถียงว่าการฝังชิปนั้นสมควรหรือไม่
            หากว่าชิปเป็นต้นเหตุให้เจ็บป่วย (มีข้อมูลว่าชิปรุ่นแรกๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง) ใครเป็นผู้รับผิดชอบและรับผิดชอบอย่างไร
            ประเด็นข้อกฎหมายจะเป็นเรื่องระดับโลก ถกเถียงกันในระดับโลก เพราะไมโครชิปที่ฝังในร่างกายมนุษย์มีผลต่อความเป็นไปของโลก
            ปัญหาความปลอดภัยเป็นอีกประเด็นที่กำลังถกกันมาก เกรงการรั่วไหลของข้อมูลไม่เพียงที่ตัวชิปเท่านั้นแต่เกิดขึ้นได้ทุกจุด ดังที่มีข่าวเป็นระยะๆ ว่าระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทระดับโลกที่น่าจะมีความปลอดภัยสูงยังโดนเจาะเข้าระบบ ข้อมูลลับลูกค้าถูกขโมยนับหมื่นนับแสนราย
            การพัฒนาและการถกเถียงยังดำเนินต่อไป มีแนวโน้มว่าคนจะยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความยินยอมพร้อมใจ จำยอมหรือถูกบังคับ ไม่ต่างจากการใช้บัตรเครดิต สมาร์ทโฟน สื่อโซเชียลมีเดีย ที่ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกระบบเก็บและประมวลผล การฝังไมโครชิปคือความก้าวหน้าอีกขั้นที่กำลังเกิดขึ้น ต่างกันตรงที่ระบบจะเก็บข้อมูลได้มากขึ้น ละเอียดขึ้นและต่อเนื่องเพราะฝังติดตัวในร่างกายมนุษย์
2 ธันวาคม 2108
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8058 วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2561)
 อ่าน บทความ สถานการณ์โลก  ที่นี่

No comments: