2018-08-04

“มันเป็นเช่นนั้นเอง”

คุณต้องการอะไร
เคยถูกถามนะว่าทำงานกันไปเพื่ออะไร คุณต้องการอะไร อาจจะเป็นคำถามง่ายๆ ไร้สาระนะ แต่ก็คิดเหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อเงินหรือเปล่า  หรือเพื่อตัวเอง หรือเพื่อคนอื่น เพราะแต่ละวันเราก็ต้องทำอะไรที่เหมือนๆ เดิมทุกวัน อยู่ที่ทำงานบางทีก็เบื่อ บางทีก็กระฉับกระเฉง บางทีก็เหนื่อยมาก บางทีก็สนุก เป็นหยั่งงี้ทุกวัน...อยากได้ความคิดเห็นหรือคำตอบดีๆ จากคำถามที่ว่า...ทำงานไปเพื่ออะไร?

หากมีใครถามคุณว่าทำงานไปเพื่ออะไร และคุณตอบทุกครั้งว่า ทำงานเพื่อเงิน คุณว่าเป็นคำตอบที่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม หากคุณตอบว่า “ใช่” คุณก็คือ มนุษย์งานมนุษย์เงิน

วันนี้ดิฉันมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟังสองเรื่อง เรื่องแรกคือทฤษฎีของมาสโลว์ เรื่องที่สองคือเรื่องเล่าจากหอไอเฟล เรื่องแรกนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวความคิดทางจิตวิทยาของชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ที่อาจมีภาษาที่ฟังดูยาก ๆ ไปสักหน่อย แต่ดิฉันขอรับปากว่าจะพยายามช่วยอธิบายในภาษาของดิฉันให้ดีที่สุด อ่านถึงตรงนี้ถ้าใครอยากข้ามไปอ่านเรื่องเล่าจากเรื่องเล่าจากหอไอเฟลเลยก็ได้ ดิฉันก็คงจะไม่คิดน้อยใจอันใด เพราะไม่ว่าใครก็ย่อมอยากอ่านอะไรที่สนุกและเข้าใจง่าย ๆ
ถามว่ามันเกี่ยวอะไรกันไหมสองเรื่องนี้ มันไม่เนื่องกันโดยตรงหรอกค่ะ แค่คล้ายๆ ส้มตำกับไก่ย่างแค่นั้นแหละ

เรื่องแรกค่ะ ทฤษฎีของมาสโลว์
อับราฮัม เอช. มาสโลว์ (พ.ศ.2451-2513) เจ้าของทฤษฎีจิตวิทยาบุคลิกภาพและทฤษฎีจิตวิทยามนุษยนิยม ได้กล่าวไว้ว่า "มนุษย์เป็นผู้ไม่หยุดนิ่ง"
ประโยคนี้แปลว่าอะไร มันแปลว่า "มนุษย์นั้นมีความต้องการไม่สิ้นสุดใช่ไหม"
ประโยคที่สองที่ดิฉันแปลนี่มาสโลว์ก็พูดไว้ก่อนแล้ว ฟังดูก็ไม่น่าเร้าใจอะไรเท่าไรนะคะ เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ฟังคำสอนทางพุทธที่มีความหมายประมาณนี้มาก็เยอะแยะแล้ว
ต่อไปก็เป็นประโยคที่สามค่ะ มาสโลว์บอกว่า "ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรม"




ฝรั่งนั้นชอบอธิบายอะไรทำนองนี้เสมอ ฟังอย่างไรก็รู้ว่าเป็นภาษาฝรั่ง แต่ยอมรับนะคะว่าฟังแล้วก็เข้าใจได้ดี ดิฉันชอบเรียกการอธิบายแบบนี้ว่า การอธิบายแบบคณิตศาสตร์ คือมันฟังแล้วเห็นภาพเหมือนสมการสองข้าง เหมือนอนุกรมของตัวเลข
ประโยคที่สี่ของมาสโลว์ค่ะ ประโยคนี้สำคัญที่สุดเพราะมาสโลว์ได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าแห่งทฤษฎีทางจิตวิทยาสายมนุษยนิยมก็ด้วยประโยคนี้แหละค่ะ
"ความต้องการของมนุษย์เป็นไปตามลำดับขั้น"

มาสโลว์แบ่งลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้นคือ
ขั้นที่ 1.ความต้องการทางกาย ความต้องการขั้นพื้นฐานนี้ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็น สัตว์โลกอื่นๆ ก็เป็นค่ะ หิว กระหาย ก็ต้องการอาหารและน้ำ หายใจไม่ออกก็ต้องการอากาศ หนาวขึ้นมาก็ต้องการเสื้อผ้า ฮอร์โมนมันพลุ่งพล่านขึ้นมาก็ต้องการเพศตรงข้าม (ข้อนี้ในบางกรณี อาจต้องเอาคำว่า “ตรงข้าม” ออกไป) ป่วยไข้ก็ต้องการยารักษา

ขั้นที่ 2.ความต้องการความปลอดภัย หลังจากตอบสนองขั้นแรกได้แล้วมนุษย์ก็จะเริ่มคิดเผื่อไปอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือเริ่มกลัวถูกทำร้าย กลัวอาหารไม่พอ กลัวหนาวเกินไป กลัวร้อนเกินไป ที่พักอาศัยและอาหารที่ต้องตุนไว้จึงเกิดขึ้น การมีนามีไร่ หรือการเลี้ยงสัตว์ไว้มากมาย มีอาวุธไว้ป้องกันตนเองก็เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นนี้ทั้งนั้น
ถึงตรงนี้ขออนุญาตหมายเหตุไว้สักหน่อย น่าทึ่งนะคะที่อยู่ ๆ มนุษย์ก็คิดค้น "เงิน" ขึ้นมา มันเป็นสิ่งสมมุติที่สามารถเอามาแลกเปลี่ยนสิ่งของเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งสองขั้นข้างบนได้อย่างดี

ขั้นที่ 3.ความต้องการทางสัมพันธภาพ ความต้องการขั้นนี้เริ่มไม่ค่อยเกี่ยวโดยตรงกับร่างกายแล้ว แต่เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สัตว์สังคมนั้นไม่ว่าจะเป็นตัวอะไรก็ย่อมกลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวการอยู่เพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องการความรักและมิตรภาพ
เพื่อน คู่รัก ครอบครัว ชุมชน จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการขั้นที่สาม

มีข้อคิดบางประการเกี่ยวกับ "เงิน" ที่ดิฉันพูดไว้ในข้อที่แล้ว พอมาถึงขั้นนี้เราอาจเห็นได้ว่าเงินชักจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นนี้ได้ครบถ้วนแล้ว บางคนอาจจะบอกว่าเขาเคยใช้เงินซื้อเพื่อนหรือคนรักได้ แต่เชื่อดิฉันเถิด ถ้ามันจะซื้อได้จริงๆ มันก็คงได้แค่เพียงผิวเผินชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ลองดูขั้นต่อไปเรื่อยๆ สิคะว่า เงินซื้อได้หมดไหม

ขั้นที่ 4.ความต้องการยอมรับนับถือ ในขั้นนี้มาสโลว์ยังแบ่งเป็นสองแบบ แบบแรกคือ ปรารถนาการนับถือตนเอง ต้องการมีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความความสำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ฟัง ๆ ดูแล้วมนุษย์นี่ช่างเรื่องมากดีแท้ๆ ส่วนแบบที่สองคือ ปรารถนาได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น ก็พวกเกียรติยศชื่อเสียงนั่นแหละค่ะ

มาถึงขั้นนี้แล้วมองดูผ่าน ๆ บางคนอาจจะบอกว่าเงินก็ยังน่าจะมีอำนาจซื้อได้อยู่นะไอ้ เกียรติยศ และสรรเสริญนี่ ไม่รู้สิคะดิฉันว่าสังคมเขารู้นะคะว่าอันไหนซื้อ อันไหนไม่ซื้อ ที่สำคัญหากซื้อมาได้จริงมันก็แค่หลอกคนอื่นได้ คนเรามันหลอกตัวเองได้ที่ไหนกัน สุดท้ายแล้วในใจลึกๆ ก็ยังขาดการยอมรับนับถือตัวเองอย่างที่มาสโลว์บอก

ขั้นความต้องการยิ่งสูง เงินก็ยิ่งหมดความหมายไปเรื่อยๆ ว่าไหมคะ ลองอ่านขั้นสุดท้ายของความต้องการของมนุษย์ดูก็ได้

5.ความต้องการในอุดมคติแห่งตน ฟังยากอีกแล้วค่ะ ภาษาฝรั่งที่มาสโลว์ว่าไว้คือ SELF ACTUALIZATION NEED แปลกันไว้หลายสำนักเสียด้วย สำนักหนึ่งแปลว่า คือความต้องการความสำเร็จตามความนึกคิดของตนเอง อีกสำนักหนึ่งแปลว่า ความต้องการความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์ ฯลฯ
ขออนุญาตอธิบายดังนี้ดีกว่าค่ะ

สิ่งที่คานธีทำในประเทศอินเดียจนคนทั้งโลกต้องหันมามอง
สิ่งที่แม่ชีเทเรซ่าทำจนโลกต้องค้อมหัว
ความรู้ที่เปรียบดั่งกุญแจไขจักรวาลที่ไอน์สไตน์ค้นพบ
การช่วยชีวิตสัตว์ป่าให้ได้อยู่ในธรรมชาติอย่างอิสระของคุณสืบ นาคะเสถียร
การทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยของอาสาสมัครในวิกฤตการณ์สึนามิ ฯลฯ มนุษย์เหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อสนองความต้องการทั้งสี่ขั้นต้นนั่นเลย
อุดมคติเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขานึกถึง เงินไม่มีค่าอันใดเลยสำหรับความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์
…………………..



เรื่องที่สอง เรื่องเล่าจากหอไอเฟล เรื่องนี้สั้นๆ และเบาๆ ค่ะ 
ระหว่างที่กำลังสร้างหอไอเฟลที่กรุงปารีสอยู่นั้น มีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งออกทำสกู๊ปสัมภาษณ์คนงานที่กำลังก่อสร้างหอ เพื่อนำมาลงหนังสือพิมพ์ให้เห็นถึงบรรยากาศการก่อสร้าง แต่ละคนก็ให้ความเห็นและบอกเล่าความรู้สึกแตกต่างกันออกไป

มีอยู่สามคนที่มีการนำมาอ้างถึงในปัจจุบัน เมื่อมีการพูดคุยกันว่าคนเรานั้นทำงานเพื่ออะไร

คนแรกให้สัมภาษณ์ว่า "ก็ทำงานไปวันๆ พอยาไส้ ถึงเวลาเลิกงาน ถ้าได้เหล้าสักเป๊กสองเป๊กแก้ปวดเนื้อปวดตัวก็พอใจแล้ว" 

คนที่สองให้สัมภาษณ์ว่า "ครอบครัวของดิฉันห้าปากห้าท้องต้องอาศัยรายได้จากงานนี้ ดิฉันทำงานด้วยความตั้งใจอย่างสูง หัวหน้าก็คงมองเห็นความขยันของดิฉันแล้ว ดิฉันคิดอย่างนั้น และอีกไม่นานบริษัทก็คงขยับหน้าที่การงานดิฉันให้สูงขึ้น" 

คนที่สามให้สัมภาษณ์ว่า "ดิฉันกำลังสร้างหอเหล็กที่สูงที่สุดที่โลกนี้เคยมีมา เมื่องานนี้สำเร็จคนทั้งโลกจะต้องได้ยินชื่อและเดินทางมาดูมัน ดิฉันภาคภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในวิศวกรรมอันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับดิฉันและวงศ์ตระกูล" 

คนหนึ่งทำเพื่อทน
คนหนึ่งทำเพื่อทำ
คนหนึ่งทำเพื่อธรรม


------------------------------------------------------------------------------------
“มันเป็นเช่นนั้นเอง”
เมย์

1 comment:

Warina P. said...

ขอบคุณที่อ่านจนจบ ชอบก็แชร์ความเห็นนะคะ