2013-01-05

ทายาทพระยาพลหลฯ พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา "ไม่ธรรมดา" แบบ "ธรรมดา"


ทายาทพระยาพลหลฯ พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา "ไม่ธรรมดา" แบบ "ธรรมดา"

วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:00:20 น.
  

พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา

มติชน 1 กรกฎาคม 2555

คอลัมน์ แรงบันดาลคน

โดย เชตวัน เตือประโคน

ความจริงแล้วไม่ได้ตั้งใจจะไปร่วมงานในบ่ายวันนั้น เพราะติดภารกิจอื่นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แต่ว่าเมื่อภารกิจหลักที่รับผิดชอบเสร็จเร็วเกินคาด เหลือบมองเวลาและคำนวณระยะทางกลับสำนักงานแล้วเห็นว่า น่าจะไปร่วมงานดีกว่า

งานเสวนาที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษาในนาม "สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" หรือ "สนนท." ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

เป็นการจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

24 มิถุนายน คือหมุดหมาย

"แต่ความจริงน่าจะจัดให้มีกิจกรรมตลอดทั้งเดือนมิถุนายน"

งานที่ผมไปร่วมในวันนั้น นอกจากมีการบรรยายโดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว อีกการบรรยายหนึ่งซึ่งผมไม่รู้ว่าอยู่ในกิจกรรมนี้ด้วยคือหัวข้อ "คณะราษฎรในความทรงจำ" โดย "พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา" หรือที่วงเสวนาวันนั้นเรียกกันว่า "ลุงแมว"

ไม่ผิดหวังที่ได้ไปนั่งฟัง บุตรชายของ "พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)" เล่าเรื่องเก่า แต่เชื่อมโยงได้ดีเป็นอย่างยิ่งกับสังคมไทยทุกวันนี้

"ผมไม่ใช่นักบรรยาย เป็นการพูดคุยเล่าสู่กันฟังแบบสบายๆ ดีกว่า จากความทรงจำของผม ซึ่งอาจหลุดหายไปบ้าง เพราะปีนี้ก็อายุ 73 ปีแล้ว" พ.ต.พุทธินาถออกตัว

พ.ต.พุทธินาถเป็นลูกชายคนที่ 4 ในจำนวนบุตร-ธิดา 7 คน ของพระยาพหลพลพยุหเสนา กับท่านผู้หญิงบุญหลง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2482 ที่วังปารุสกวัน 



อยู่ที่นั่นจน 8 ขวบ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาขอคืนบ้านหลังสิ้นบุญบิดา

"แม้จะเป็นถึงบุตรชายของแกนนำคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ พ.ต.พุทธินาถก็เป็นคนธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง ในวัย 73 ปี ติดยศพันตรี อยู่บ้านเช่า นั่งรถเมล์ รถแท็กซี่ ไม่ได้มีชีวิตโก้หรูอย่างที่ใครหลายคนคิด"

ผมนั่งฟังคนรุ่นพ่อ รุ่นลุงด้วยความทึ่ง ไม่คิดว่าจะเป็นคนสบายๆ เป็นกันเองขนาดนี้

ความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของ "ลุงแมว" ตอนหนึ่งที่ผมถูกใจมาก คือเมื่อแกเล่าถึงตอนสอบเข้าเรียนเป็นนักเรียนนายสิบ

ความจริงลุงแมวสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยก่อนแล้ว แต่สอบไม่ติดจึงไปสมัครเป็นนักเรียนนายสิบ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ของโรงเรียนในสมัยนั้น เมื่อเห็นนามสกุลก็ต้องรีบเรียกตัวมาพูดคุย

"เป็นอะไรกับพระพหลฯ?" คือคำถาม

ลุงแมวตอบว่า "เป็นลูกครับ"

"แล้วท่านผู้หญิงบุญหลง?"

"เป็นแม่ผมครับ"

ลุงแมวตอบอย่างธรรมดา ไม่มีการอวดเบ่งว่าเป็นบุตรหลานของผู้ก่อการใหญ่ ทำการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ผู้หลักผู้ใหญ่โรงเรียนนายสิบกระซิบถาม "แล้วมาเข้าโรงเรียนนายสิบทำไม? ทำไมไม่ไปเข้าโรงเรียนนายร้อย"

ลุงแมวตอบว่า "ผมสอบไม่ติด"

แต่ด้วยความที่เป็นบุตรชายของพระยาพหลฯ แน่นอนว่าในบ้านนี้เมืองนี้ซึ่งระบบอุปถัมภ์ค้ำชูยังงอกเงยอยู่ได้ การที่ "ลุงแมว" จะถูกฝากเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยไม่ใช่เรื่องยาก

แต่สิ่งที่ชัดเจนสำหรับชายชื่อ "พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา" คือการปฏิเสธ

ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ "ก็สอบไม่ติด...จะให้ไปเรียนได้ยังไง"

ผมแอบอมยิ้มตอนที่ลุงแมวเล่าเรื่องนี้ ลองคิดถึงว่าถ้าเป็นตัวเอง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากมีช่องทางให้เอาเปรียบคนอื่น เราจะเป็นอย่างไร

อีกตอนหนึ่งที่ชวนให้อมยิ้มเช่นกัน คือเมื่อครั้งมีคนยกมือถาม?

""ในฐานะที่ท่านเป็นนายทหารรถถัง อยากถามว่า ถ้าเกิดมีรถถังเข้ามาเพ่นพ่านในเมืองจะจัดการอย่างไร?""

แน่นอน "นัยยะ" ของการถามนี้หมายถึงหากเกิด "รัฐประหาร"

รถถัง คืออาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ และมีพลานุภาพในการกำราบคนให้สงบลงได้ ด้วยท่าทางที่ดูแข็งแกร่ง น่าเกรงขาม

ลุงแมวตอบคำถามอย่างน่ารัก...

"เอ่อ...ผมจะบอกว่า สิ่งนี้จริงๆ แล้วเขาไม่มีวิญญาณ เขาเป็นวัสดุชนิดหนึ่ง แต่เขาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ถ้าเผื่อฝ่ายใดไปทำลายเขา วันหนึ่งพอเหตุการณ์สงบ ทุกคนก็ต้องควักเงินไปซื้อเขากลับมาใหม่" ลุงแมวเริ่มต้นอย่างน่าคิด

ก่อนจะเล่าต่อว่า

"...ในเมื่อเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ใช่เครื่องมือใช้ในเมือง ก็มีจุดอ่อน ใครจะว่าผมเป็นทหารรถถังเสือกมาบอกเรื่องนี้ได้อย่างไร คือผมหวงทรัพย์สมบัติของชาติและห่วงชีวิตของคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ชีวิตเราทั้งหมด เพราะฉะนั้น ข้างๆ อย่าขึ้นเด็ดขาดเพราะตีนตะขาบจะทับเท้าแหลก ข้างหน้ามีปืน ปืนหมุนรอบด้าน ระวังแล้วให้ขึ้นด้านท้าย

"...แล้วสีสเปรย์กระป๋องเดียว ไม่ต้องไปเผาหรืออะไรเลย ฉีดที่เป็นกระจกทั้งหมด เพราะนั่นคือตาของคนที่อยู่ในนั้นพอตาบอดแล้วก็ไปไหนไม่ได้ จากนั้นไปเคาะๆ เรียก ออกมาไอ้หนู นี่พ่อแม่พี่น้องแกทั้งนั้นแกจะฆ่าได้เหรอแล้วเขกกบาลแล้วเตะตูดซะทีไล่กลับบ้านไป"

เรื่องราวของลุงแมว ทำให้ผมเห็นความ "ไม่ธรรมดา" ในวิถีชีวิตแบบ "ธรรมดา"

ทั้งๆ ที่โดยสถานะและอะไรหลายๆ อย่างแล้วคนคนนี้มีความ "ไม่ธรรมดา" ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

""ทำอะไรต้องไม่ทำให้พ่อและแม่เสื่อมเสียเกียรติ ตัวเราเป็นอะไรก็ช่าง แต่จะทำให้เสียหายพ่อแม่ไม่ได้"" นี่คือสิ่งที่ลุงแมวประกาศในวันนั้น คือสิ่งที่แกยึดมั่นมาตลอดชีวิต

นี่คือความอารมณ์ดี และความน่ารักของ "คนไม่ธรรมดา" แต่ใช้ชีวิตแบบ "ธรรมดา"

" แน่นอนว่า รัศมีแห่งความ "ไม่ธรรมดา" ย่อมเจิดจรัสอยู่เสมอ"

No comments: