2024-03-02

Dunning & Kruger Effect ไม่รู้ว่าไม่รู้

 ความไม่รู้เป็นสิ่งน่ากลัวที่เราสามารถเรียนรู้ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ จะทำอย่างไร

คำว่า “ไม่รู้ว่าไม่รู้ กับคำว่าไม่รู้แต่อวดฉลาด” มีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร?


 มีความคล้ายกันคือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ก็คือคิดว่าตัวเองรู้นั่นเอง และก็มักจะยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจทั้งที่ไม่ได้รู้เลย ซึ่งชาร์ล ดาร์วิน ค้นพบว่า “ความไม่รู้ ทำให้เกิดความมั่นใจกว่าความรู้” คนไม่รู้แล้วคิดว่าตัวเองรู้ จะยืนกรานหนักแน่นว่า ฉันรู้ฉันรู้ และศาสตราจารย์ เดวิด ดันนิง (David Dunning )กับ’จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ได้ทดลองและค้นพบว่า คนที่มีความรู้จริง มีแนวโน้มจะประเมินตัวเองได้ถูกต้อง แต่คนที่มีความรู้น้อยมีแนวโน้มสูงที่จะประเมินตัวเองผิด ยิ่งความรู้เรื่องนั้นน้อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งประเมินตัวเองผิดเท่านั้น ในหมู่นักวิชาการเรียกว่า Dunning & Kruger Effect ซึ่ง Dunning & Kruger Effect เกิดได้กับทุกคนรวมทั้งตัวเราเองด้วย เพราะเราอาจเก่งบางเรื่อง แต่เราอาจไม่เก่งในอีกหลายเรื่อง ในเรื่องที่เราเก่งเราอาจจะประเมินตัวเองได้ถูก แต่พอเรื่องที่เราไม่เก่ง เราอาจประเมินผิดได้เหมือนกัน ดังนั้นอย่ามองออกไปข้างนอกแล้วไปหัวเราะคนที่เขาไม่รู้ กลับมาย้อนดูตัวเองดีกว่าว่า มีเรื่องอะไรที่เราเป็นอย่างนั้น เราจะต้องประเมินอะไรต่างๆด้วยความสุขุมรอบคอบมากขึ้น
 
ในยุคปัจจุบัน เวลามีหัวข้อน่าสนใจเกิดขึ้นในสังคม จะมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างสุดความสามารถ จนบางครั้งเกิดการกันทะเลาะกัน เกิดเป็นเรื่องดราม่าขึ้น เราควรทำอย่างไร?
 



อย่าไปร่วมขบวนการแล้วกัน คนที่มาให้ความคิดเห็นหรือถือหางข้างไหนข้างหนึ่ง อาจไม่รู้รายละเอียดของเรื่องจริง รู้แค่เท่าที่มีข่าวออกมา หรือแค่ข้อความที่อ้างว่าคนนี้พูดอย่างนี้ คนนั้นทำอย่างนี้ขึ้นมาสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัด อาศัยโลกโซเชียลเป็นที่ปลดปล่อยเพราะไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองแสดงออกไป พอรู้สึกอย่างไร ก็ระบายเลย โดยเป็นความรู้สึก 90% มีความรู้และข้อมูลน้อยมาก กลายเป็นแสดงความเห็นแล้วยืนกรานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยที่ยังไม่มีข้อมูล เพราะฉะนั้นอย่าเป็นตาบอดคลำช้าง ต่างฝ่ายต่างยืนยัน หัวเด็ดตีนขาดว่าความเห็นตัวเองถูกแน่นอน จับมากับมือสัมผัสมากับมือ ไม่มีทางผิดไปได้ แต่พอดูจริงๆ กลายเป็นต่างคนต่างไปคลำอยู่แค่ส่วนเดียว แล้วมานั่งเถียงกันถือหางอย่างสุดขั้ว มั่นใจว่าตัวเองถูก 
 
เราจะทำอย่างไรให้เราเหมือนคนตาดีที่มองเห็นช้างทั้งหมด หรือเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้?



  มี 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคือเรื่องงานที่เราต้องทำ งานที่เรารับผิดชอบโดยตรง เราต้องแสวงความรู้อย่างเต็มที่ ให้รู้ลึกไปเลย สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงได้ เพราะเป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของเรา การที่เราเองจะให้รู้ลึกไปหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่ง่าย แม้เป็นเรื่องที่เราชำนาญ ก็ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้ เพราะฉะนั้นคนที่ยิ่งศึกษาและมีความรู้มากเท่าไหร่ เขาก็จะรู้อย่างหนึ่ง คือรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้ แล้วจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมรับว่าตัวเองยังมีความรู้จำกัดอยู่ แต่คนที่รู้ไม่จริงรู้สึกว่าตัวเองรู้เยอะ จะวางตัวยิ่งกว่าศาสตราจารย์อีก โบราณจึงมีสุภาษิตโครงโลกนิติกล่าวไว้ว่า



  รู้น้อยนึกว่าตัวเองรู้มาก เริงใจ เหมือนกับกบที่เกิดอยู่ในสระเล็กๆ ไม่เคยเห็นมหาสมุทร ก็ชมสระน้ำบ่อน้อยที่ตัวเองอยู่ ว่าลึกกล้ำเหลือเกิน ไม่มีอะไรลึกกว่านี้ เพราะรู้อยู่แค่นั้น แม้เป็นเรื่องที่เราชำนาญ เราต้องศึกษาให้ดีที่สุด และยังต้องมีความถ่อมตนว่าเรายังไม่ได้รู้ทุกเรื่อง มีเรื่องในโลกนี้ที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ อย่าไปยืนกรานความเห็นตัวเองจนกลายเป็นเหมือนตาบอดคลำช้างแล้วเถียงกันหน้าดำหน้าแดง

ส่วนเรื่องที่สองคือ เรื่องอื่นๆทั่วไปขอให้ศึกษาให้เข้าใจกระบวนการอย่าเข้าใจเพียงปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์เป็นแค่ผิวเราต้องรู้ขบวนการ ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ว่าเป็นอย่างไร เวลามีข่าวสารมาจะมองโลกอย่างเข้าใจ ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้นเป็นเพราะอะไร ให้หยุดคิดว่า ทำไมมีข่าวอย่างนี้ขึ้นมา เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นเพราะอะไร ไม่ใช่เขาว่าอย่างนี้ก็เชื่อเขาอย่างเดียว คนส่วนมากร้อยละ 90 จะฟังแล้วก็เชื่อเลย แต่ถ้าเกิดเรามีคำว่า why ทำไมขึ้นในใจ จะทำให้สมองในส่วนการใช้เหตุผลเริ่มทำงาน แล้วจะเริ่มเชื่อมโยงเรื่องต่างๆเข้าด้วยกันได้ อีกคำถามที่ควรมีในใจคือ what will happen แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ฝึกตั้งคำถาม 2 คำถามนี้ คือ Why ทำไม กับ what will happen แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้เราเป็นคนที่มองโลกได้เข้าใจตามความเป็นจริงมากขึ้น และจะเริ่มหลุดพ้นจากกับดัก Dunning & Kruger Effect คือรู้จักโลกมากขึ้น ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน 

การไม่รู้ว่าไม่รู้เป็นเรื่องที่น่ากลัว 
          คนที่ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองรู้ก็คือคนที่ไม่รู้ เพราะว่าก็มีงานวิจัยรองรับ สิ่งสำคัญก็คือจะต้องทำเป็นเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญ ที่ทุกคนต้องรู้คือเรื่องของภัยในวัฏสงสาร ว่าคนเรานั้นเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน เพราะฉะนั้นในทุกๆวันเราจะต้องดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท หมั่นสั่งสมบุญสร้างบารมีด้วย ทาน ศีล ภาวนา ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

ทำไม " คนโง่แต่อวดฉลาด " ถึงได้ดี ?


2 comments:

Warina P. said...

ขอบคุณที่ตามมาอ่านจนจบค่ะ

Warina P. said...

เราเขียนเองยังกลับมาอ่านเองอยู่เรื่อย ๆ