2022-04-18

ฆรีเอติวิถี ตอน 3 อย่าใช้ตรรกะเป็นเครื่องมือเดียวแก้ปัญหา


----------------------------------------------
คำถามที่ 1 : คุณขับรถไปตามถนนเปลี่ยวตอนกลางคืนด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. เมื่อเลี้ยวโค้งคุณเห็นชายชราคนหนึ่งยืนอยู่บนฝั่งซ้ายของถนน และลูกหมาตัวหนึ่งยืนอยู่ที่ฝั่งขวา คุณจะเลือกชนคนหรือชนหมา และเหตุผลคืออะไร

คนส่วนมากตอบว่าชนหมา
เหตุผลคือ "หมามีค่าน้อยกว่าคน"

คำตอบที่ถูกต้องไม่ได้อยู่ในคำถาม นั่นคือ "ทำไมต้องชน? ในเมื่อรถคุณมีเบรก ทำไมคุณไม่เหยียบเบรก?"

---------------------------------------------------
คำถามที่ 2 : ชายสองคนไถลตัวลงมาจากปล่องไฟในบ้านหลังหนึ่ง เมื่อคลานออกมาแล้ว ชายคนหนึ่งทั้งเนื้อทั้งตัวเปื้อนเขม่าดำ ส่วนอีกคนหนึ่งยังสะอาดอยู่ ถามว่าใครจะต้องไปล้างเนื้อล้างตัว

คนส่วนใหญ่ตอบว่า "คนที่ตัวเปื้อนเขม่าไง"

ก็จะมีข้อแย้งว่า "ไม่ถูก! คนที่ตัวสะอาดต่างหาก เพราะเขาเห็นคนเปื้อนเขม่าดำ ก็คิดว่าตัวเองก็ต้องเปื้อนด้วย จึงไปล้างตัว"

"แปลว่าคนตัวสะอาดไปล้างตัว?"

"ไม่ถูก! เพราะคนที่เปื้อนเขม่าย่อมได้กลิ่นเหม็นที่เปื้อนหน้า เพราะเขม่าย่อมเข้าไปในจมูกและปาก อีกทั้งเสื้อผ้าเขาก็สกปรก เขาก็ต้องไปล้างตัว"

"งั้นทั้งคู่ก็ล้างตัว"

"ไม่ถูกอีก! ในเมื่อทั้งคู่ออกมาจากปล่องไฟพร้อมกัน คนหนึ่งจะตัวเปื้อนเขม่า และอีกคนจะตัวสะอาดได้อย่างไรเล่า"

---------------------
คำถามที่ 3 : ชายคนหนึ่งขับรถไปรับแม่ซึ่งไปเที่ยวป่ากับเพื่อนที่ต่างจังหวัด อากาศกำลังแปรปรวนอย่างหนัก เขาได้ข่าวว่าน้ำป่ากำลังมา เขากำลังรีบเพราะเป็นห่วงแม่ เแม่ของเขาเป็นโรคอัลไซเมอร์ หากปล่อยทิ้งไว้คนเดียว แม่จะเดินเพ่นพ่านไปทั่ว และหลงทาง

เขาแลเห็นคนสามคนรออยู่ที่จุดนัดพบ คนแรกคือแม่ของเขาเอง คนที่สองเป็นเพื่อนของแม่ซึ่งเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส นางโทร.เรียกลูกชายมารับ แต่ลูกชายของนางก็ยังมาไม่ถึง นางจะตายหากไปโรงพยาบาลไม่ทัน

คนที่สามเป็นหมอในจังหวัดนั้น หมอคนนี้เคยมีบุญคุณกับเขามาก่อน หมอสามารถผ่าตัดช่วยชีวิตหญิงบาดเจ็บได้ แต่ต้องมีเครื่องมือ ทว่าเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือในสถานีอนามัยห่างออกไปสี่สิบกิโลเมตร

เขาต้องพาคนทั้งหมดออกไปจากจุดที่น้ำป่าจะมาทันที ปัญหาคือพาหนะของเขาเป็นรถยนต์สองที่นั่ง เขาสามารถพาผู้โดยสารไปได้เพียงเที่ยวละคน แต่เขาก็ไม่สามารถพาผู้โดยสารไปสองสามเที่ยว เพราะน้ำป่ากำลังมา และคนไข้กำลังจะตาย

ไม่ไกลออกไปเป็นเนินเขา สูงพอจะปลอดภัยจากน้ำป่าท่วมได้ แต่ปัญหาคือหากเขาพาแม่กลับ ทิ้งเพื่อนแม่กับหมออยู่ที่นี่ นางก็ต้องตายเพราะอาการบาดเจ็บ หากเขาพาเพื่อนแม่ไปโรงพยาบาล ก็ไม่มีใครสามารถช่วยผ่าตัดนางได้ หากเขาพาหมอไป เพื่อนแม่ก็ต้องตายขณะรอความช่วยเหลือ และแม่เขาเองก็จะหลงทาง

เขาจะทำอย่างไร? เขาจะเลือกพาใครไปเพื่อให้ทุกคนรอดชีวิต?

นี่เป็นโจทย์สมมุติเพื่อทดสอบสมองเล่นๆ
(ให้เวลาคิดหนึ่งนาที)

คำตอบที่ดีที่สุดเท่าที่มีคนคิดออกมาได้ตอนนี้คือเขามอบกุญแจรถให้หมอขับรถพาเพื่อนแม่ไปโรงพยาบาล ส่วนเขากับแม่ไปรอบนเนินเขานั้น น้ำป่าผ่านไปแล้ว ค่อยให้คนมารับ

คนส่วนมากมีสัญชาตญาณ 'รับ' เมื่อได้รับโจทย์อะไรมา ก็มักยอมรับโจทย์นั้น และยึดติดกับภาพเดิมๆ นั่นคือหากโจทย์บอกว่าเขาเป็นคนขับรถ และต้องเลือกว่าจะช่วยใคร ก็คิดอย่างเดียวว่าเขาเป็นคนเดียวที่ขับรถ และติดกับดักความคิดนั้นจนมองทางแก้ปัญหาอื่นไม่ออก


ปัญหาในบ้านเมืองไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม บ่อยครั้งเกิดจากการตั้งคำถามผิด หากไร้วิสัยทัศน์และไม่สามารถมองพ้นกรอบคิด ก็ตอบผิดเสมอ

เราถูกปกครองใต้กฎหมาย กติกา ค่านิยม มาตั้งแต่แรกเกิด เราเดินตามทางที่ถูกกำหนดมาเป๊ะ จนมันฝังในจิตใต้สำนึก เมื่อถูกสั่งให้เลือก ก็เลือกตามตามแนวทางที่มีอยู่ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ
มีตัวอย่างมากมายขององค์กรธุรกิจที่ไม่เดิบโตเพราะเดินไปตามทางที่มีอยู่แล้ว มีกรอบคิดมองทุกอย่างตามกติกาที่คนอื่นวางไว้ โดยเฉพาะนักธุรกิจแบบ 'Me too!' เห็นคนอื่นทำอะไรแล้วกำไร ก็ไปร่วมแจมด้วย

อะไรที่ไม่ตรงกับกรอบคิด ก็มักบอกว่า "ทำไม่ได้"
เป็นวลีที่ สตีฟ จ็อบส์ เกลียดที่สุด

สตีฟ จ็อบส์ ก้าวสู่โลกของคอมพิวเตอร์ในยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มมีบทบาทในสำนักงาน และไม่มีใครในโลกคิดว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งของบ้านไปทำไม และอย่างไร แต่เขามองนอกกรอบคิดนั้น จึงคิดสร้างคอมพิวเตอร์สำหรับคนทั่วไป และต้องใช้ง่าย

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ง่ายคือผลิตสินค้าโดยไม่ต้องมีคู่มือการใช้ นี่เป็นการออกจากกรอบคิดเดิมโดยสิ้นเชิง เพราะสินค้าไฟฟ้าร้อยละร้อยในเวลานั้นมักมีคู่มือการใช้ เมื่อคิดแบบนี้ ก็ทำให้การออกแบบต้องง่ายจนไม่ต้องมีคู่มือ ผลที่ตามมาคือคนชอบสินค้า ลดขั้นตอน ลดทรัพยากร และกำหนดเกมใหม่

ในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ สตีฟ จ็อบส์ รวมเมาส์เข้าไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน

การฉีกกฎแบบนี้ทำได้ก็ต่อเมื่อคนออกแบบกล้ามองนอกกรอบ และตั้งคำถามว่า "มีทางอื่นอีกไหม?"

สตีฟ จ็อบส์ 'เสนอ' แกมบังคับให้บริษัทอื่นทำตามวิสัยทัศน์ของตน โดยรื้อระบบเก่า เข้าสู่พื้นที่ใหม่

แล้วโลกก็เข้าสู่พื้นที่ใหม่
จะคิดใหม่อย่างนี้ต้องคิดต่าง
คือ lateral thinking
lateral = ด้านข้าง
thinking = การคิด
lateral thinking จึงหมายถึงการคิดด้านข้าง

คนคิดคำนี้ขึ้นมาคือ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) ในปี 1967 ปรากฏครั้งแรกในหนังสือเรื่อง The Use of Lateral Thinking และ New Think ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องเดียวกัน

ตัวอย่างหนึ่งของ lateral thinking คือหญิงสองคนนำทารกคนหนึ่งไปหากษัตริย์โซโลมอนให้ตัดสินคดี ทั้งสองบอกว่าทารกเป็นของตน เมื่อไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทารกเป็นของใคร กษัตริย์โซโลมอนก็สั่งให้ตัดทารกเป็นสองท่อน มอบให้หญิงทั้งสองคนละท่อน หญิงคนหนึ่งบอกว่าตนไม่ต้องการทารกแล้ว ให้มอบให้อีกนางหนึ่ง กษัตริย์โซโลมอนจึงรู้ว่านางคือแม่จริง เพราะมีแต่แม่จึงต้องการรักษาชีวิตลูก

ลองดูอีกตัวอย่าง

เศรษฐีคนหนึ่งอยากได้ลูกสาวชาวนาเป็นภรรยาอีกคน ชาวนาคนนี้ยากจน เป็นหนี้สินเศรษฐีจำนวนมาก เศรษฐีเชิญชาวนากับลูกสาวไปที่สวนหินของเขา สวนนี้ปูด้วยกรวดสองสีเท่านั้นคือขาวกับดำ

เศรษฐีบอกชาวนาว่า ถ้ายกลูกสาวให้เขา เขาจะยกเลิกหนี้สินให้ทั้งหมด อีกทั้งเพิ่มค่าสินสอดให้ด้วย

แต่ถ้าชาวนาไม่ตกลง ก็จะให้ลูกสาวชาวนาเล่นเกมพนันกับเขา เศรษฐีจะหยิบกรวดสองก้อนจากสวนใส่ในถุงผ้า ก้อนหนึ่งสีดำ ก้อนหนึ่งสีขาว แล้วขอให้ลูกสาวชาวนาหยิบกรวดหนึ่งก้อนในถุงผ้า ถ้าหยิบได้ก้อนสีขาว เศรษฐีจะยกหนี้สินให้ และเธอก็ไม่ต้องแต่งงานกับเขา ถ้าหยิบได้ก้อนสีดำ เธอต้องแต่งงานกับเขา และพ่อเธอจะปลอดหนี้ด้วย

ลูกสาวชาวนาตกลงเล่นเกมนี้ด้วย

เศรษฐีจึงหยิบกรวดสองก้อนใส่ในถุงผ้า แต่หญิงสาวเห็นว่ากรวดทั้งสองก้อนเป็นสีดำ

เธอจะทำอย่างไร? ถ้าเธอเปิดโปงว่าเศรษฐีขี้โกง เธอก็ไม่ต้องแต่งงานกับเขา แต่พ่อเธอก็ยังคงเป็นหนี้ต่อไป

มีทางใดไหมที่จะแก้ปัญหานี้?

หากคิดด้วยตรรกะ ก็จะไม่พบทางออก มีแต่ใช้ lateral thinking เท่านั้นจึงช่วยได้

ลูกสาวชาวนาหยิบกรวดก้อนหนึ่งออกจากถุงผ้า แล้วแกล้งทำมันหลุดมือบนสวนกรวด เธอขอโทษเศรษฐีว่าเธอซุ่มซ่าม เธอบอกว่า แต่ไม่มีปัญหาอะไร ในเมื่อเศรษฐีใส่กรวดสีขาวกับสีดำอย่างละหนึ่งก้อนลงไปในถุง กรวดก้อนที่เธอหยิบก็ย่อมมีสีตรงข้ามกับก้อนที่อยู่ในถุง

แน่นอนเมื่อเปิดถุงออกมา กรวดในนั้นเป็นสีดำ "ซึ่งแปลว่ากรวดก้อนที่ฉันหยิบออกมาเป็นสีขาว"

เกมนี้เธอชนะสองต่อ ไม่ต้องแต่งงานกับคนเจ้าเล่ห์ และยังปลดหนี้พ่อสำเร็จ

เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิทานพื้นเมืองของพม่าเรื่อง มะสาเบะผู้ชาญฉลาด ที่พม่ามีสาวงามคนหนึ่งชื่อมะสาเบะ เป็นที่ต้องพระเนตรกษัตริย์ หมายมั่นจะได้นางมาเป็นสนม

กษัตริย์เสด็จไปหานางที่บ้าน ให้เล่นเกมเลือกหินดำขาว

หากนางหยิบหินสีดำ จะต้องเป็นนางสนมของพระองค์ ถ้าหยิบหินสีขาว ก็จะเป็นอิสระ

กษัตริย์พม่าขี้โกง ใส่หินสีดำทั้งสองก้อนในถุง มะสาเบะหยิบหินออกมาหนึ่งก้อน กำไว้ แล้วค่อยๆ แอบมอง จากนั้นก็ทำสีหน้ายินดี แล้วขว้างหินก้อนนั้นลงไปในแม่น้ำ บอกกษัตริย์ว่า "ขออภัยที่พลั้งเผลอ เมื่อกี้ข้าฯดีใจจนลืมตัว"
เรื่องจบเหมือนกัน หญิงสาวไม่ต้องแต่งงานกับคนโกง

นี่ก็คือการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ vertical thinking แต่ใช้  lateral thinking มองต่างมุม มองนอกกรอบคิดเดิม และสลัดกรอบต่างๆ ออกไป เพื่อจะใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหา

ถึงจุดนี้มีวลีสองวลีคือ vertical thinking และ lateral thinking ทั้งสองวลีนี้บัญญัติขึ้นโดย เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน

vertical thinking คือการคิดแบบตรงๆ เพื่อหาคำตอบที่รับได้ ต้องใช้การวิเคราะห์ กลั่นกรอง


เดอ โบโน เห็นว่าการคิดแบบ vertical thinking เราตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป ส่วนการคิดแบบ lateral thinking เรานำองค์ประกอบจากภายนอกเข้าไปช่วย

เจตนาของ vertical thinking คือค้นหาคำตอบที่ดีที่สุดคำตอบเดียว vertical thinking จึงเหมาะสมเมื่อมีคำตอบอยู่แล้วที่ไหนสักแห่ง เราจะมองว่า "นี่เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด" หรือเหมาะที่สุด หลังจากพิจารณาทุกอย่างแล้ว

ส่วน lateral thinking แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง มันจะพาเราไปหาคำตอบที่สร้างสรรค์กว่าคำตอบที่ 'ถูกต้อง' เพราะหลายปัญหาไม่อาจแก้โดยตรรกะอย่างเดียว

lateral thinking ต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ช่วยด้วย

lateral thinking เป็นวิธีการแก้ปัญหาหรือหาคำตอบ โดยการจินตนาการหาคำตอบ มากกว่าการค้นหาตามหลักตรรกะปกติ

มันเหมาะกับการแก้ปัญหายากๆ หรือการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เช่นไอเดียโฆษณา งานเขียน ฯลฯ

แม้ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ช่วย และบางครั้งก็ทิ้งตรรกะไปเลย แต่ความจริงมันใช้ได้ในสายงานที่ปกติไม่ค่อยยุ่งกับความคิดสร้างสรรค์ เช่น บัญชี การเงิน การคัดเลือกคน การสอนวิชาต่างๆ แม่ค้าขายขนมดั้งเดิม

แม้แต่การขบคิดธรรม!
บางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อก็ยังหนีไม่ค่อยพ้นจากกรอบคิดเดิม เช่น ความเชื่อว่าชีวิตจะดีหากทำความสะอาดจิต

ฟังดูก็ไม่ผิด แต่มันก็เป็นวิธีคิดที่มีกรอบอยู่
นี่มิได้บอกว่าต้องหนีกรอบ แค่บอกว่าวิธีคิดนี้ยังอยู่ในกรอบ
ในตัวอย่างนี้ทางหนึ่งที่หลุดจากกรอบก็คือการตั้งคำถามอื่นว่า มีทางอื่นอีกไหมที่ได้ผลอย่างเดียวกันโดยไม่ต้องทำความสะอาดจิต

ผู้อ่านอาจคิดว่าเหลวไหล ก็คงต้องยกตัวอย่างจริง

ในวงการเซนยุคต้นของจีน มีความคิดแบบนี้ ศิษย์เซนคนหนึ่งนามเสินซิ่วเขียนโศลกไว้ว่า

"กายนั้นคือต้นโพธิ์
จิตคือกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูอยู่เสมอ
อย่าให้ฝุ่นละอองลงจับ"

('โพธิ์' ในทางเซนมีความหมายถึงการตรัสรู้หรือการรู้แจ้ง 'กระจกเงา' หมายถึงจิต)

เด็กรับใช้คนหนึ่งชื่อฮุ่ยเหนิงอ่านโศลกนี้แล้วก็บอกให้เพื่อนช่วยเขียนเป็นเชิงแย้งว่า

"โพธิ์นั้นไม่มีต้น
กระจกเงาก็ไม่มี
สรรพสิ่งแต่แรกมาคือความว่างเปล่า
ฝุ่นละอองจะลงจับบนสิ่งใด"

หากมองในมุมของ lateral thinking โศลกบทนี้ก็ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ไม่มีจิต

ถ้าไม่มีจิต ก็ไม่ต้องทำความสะอาด
บางทีสิ่งที่เรียกว่า 'จิต' ไม่ได้ดำรงอยู่จนกระทั่งเราปรุงแต่งมันขึ้นมา

ในกาลต่อมาฮุ่ยเหนิงก็เป็นพระสังฆปริณายกรุ่นที่ 6 แห่งจีน และเป็นพระเซนที่มีภูมิปัญญาสูงที่สุดคนหนึ่ง

ตัวอย่างนี้บอกว่า เราสามารถตั้งคำถามได้เสมอ แม้กับหลักธรรมที่มีรากฐานมายาวนาน

------------------------

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อสถาปนิกออกแบบสนามหญ้าและทางเดิน แต่พบว่าคนจำนวนมากเดินข้ามสนามหญ้าเพราะมันเป็นทางลัด สถาปนิกส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาโดยสร้างรั้วล้อมสนามหญ้า หรือติดป้ายห้ามเดินข้าม lateral thinking อาจมองว่า การเดินข้ามสนามหญ้าชี้ว่ามันเป็นทางเดินที่ดีที่สุดแล้ว ก็เปลี่ยนทางลัดให้เป็นทางจริงไปเลย

ปัญหาก็คือปัญหา แต่ตรรกะมิใช่เครื่องมือเดียวที่แก้ปัญหา


No comments: