2020-06-20

คนค้นฅน : มรดกของพระพยอม l FULL ( 14 มิ.ย. 63 )



หากพูดถึงพระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง น้อยคนที่ไม่รู้จัก พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี ผู้มีลีลาการเทศนาธรรมอย่างตื่นเต้น เร้าใจ จนมีคำสอนออกมามากมายเพื่อสั่งสอนพุทธศาสนิกชน และคำสอนที่ฮิตและเป็นจดจำเป็นอย่างดีก็คือ "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่า จะได้ไม่บ้าไม่โง่" ที่ทำให้ผู้คนจำได้ขึ้นใจเป็นอย่างดี

นอกจากจะมีชื่อเสียงในด้านเทศนาธรรมแล้ว พระพยอมมีหลักการทำงานคือ ‘เผยแผ่ สงเคราะห์ พัฒนา’ โดยมีการจัดตั้ง ‘มูลนิธิสวนแก้ว’ ที่ถูกรับรองเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างแท้จริง

วัดสวนแก้ว ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี วัดแห่งนี้จึงเป็นตามเจตนารมย์ของพระพยอมที่ไม่ต้องการสร้างเจดีย์ ไม่สร้างโบสถ์ ไม่สร้างวิหาร ไม่สร้างเมรุ แต่ต้องการจะ ‘สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างอนาคต’ ให้กับผู้คนบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ จากพื้นที่ 10 กว่าไร่เมื่อหลายสิบปีก่อน กลายเป็น 210 ไร่ในปัจจุบัน และอีก 3,900 ไร่ ใน 11 สาขาทั่วประเทศ ที่อุทิศกับการเกื้อกูลให้กับประชาชนผู้ยากไร้และเดือดร้อน ที่ท่านต้องดูแลกว่า 2,000 คน


ชื่อของ พระพยอม กัลยาโณ อาจจะห่างหายไปจากสื่อสารมวลชนบ้างในบางเวลา แต่ทุกครั้งที่มีเกิดความยากลำบาก ประชาชนมีความทุกข์ร้อน ชื่อของ พระพยอม กัลยาโณ จะต้องปรากฏขึ้นมาเสมอ และต้องลุกขึ้นมาประกาศว่าใครที่กำลังตกงาน ว่างงาน เดือดร้อน ยากลำบาก หรือคิดว่าอับจนหนทาง ไม่มีที่ไป ไม่รู้จะทำอะไร ให้มาที่วัดสวนแก้ว จะมีทั้งงาน อาหาร ที่อยู่อาศัย และเงินให้ ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ


ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา พระพยอม กัลยาโณ ไม่เคยหยุดที่จะทำอะไรเพื่อพุทธศาสนิกชน หรือคนที่ตกทุกข์ได้ยากแม้แต่วินาทีเดียว อาณาจักรของวัดสวนแก้วทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากการเนรมิตขึ้นมาเอง แต่เกิดจากการลงมือทำ ลงมือเปลี่ยนแปลง ที่ต้องใช้พละกำลัง ต้องใช้ศักยภาพ ต้องใช้พลังศรัทธามากมายมหาศาลขนาดไหนถึงจะสามารถทำสิ่งที่ปรากฎให้เห็นในวันนี้ได้ ภายใต้การทำงานของพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง


ทุกวันนี้ วัดสวนแก้ว สามารถขับเคลื่อนได้อย่างไร ความน่าสนใจอยู่ที่กิจกรรมมากมายมหาศาลที่ต้องการการจัดการ และการดูแลที่ซับซ้อนจากนักจัดการมืออาชีพขนาดไหน ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร ติดตาม ‘มรดกของพระพยอม’ กับเรื่องราวชีวิตการทำงานและวัตรปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมงของ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) กับงาน ‘เผยแผ่ สงเคราะห์ พัฒนา’ ได้ในรายการ ‘คนค้นฅน’ วันอาทิตย์ ที่ 14 มิถุนายน 2563 เวลา 13:00 น. ทางช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30



======================================================================

ประวัติ[แก้]

พระราชธรรมนิเทศ เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2492 อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี บรรพชาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 และอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ณ วัดสังวรพิมลไพบูลย์ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี สำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. 2516 และได้ไปจำพรรษาอยู่กับท่านพุทธทาสที่สวนโมกขพลารามในการปฏิบัติธรรม แล้วจึงได้กลับมาทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาวัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี
ทั้งนี้ ท่านอาจารย์พยอม กัลยาโณ เป็นศิษย์คนสำคัญท่านหนึ่งของท่านพุทธทาสด้วยเช่นกัน[1]

การยกย่อง[แก้]

พระพยอมได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักเทศน์และพระผู้เสียสละ ดังกวีนิพนธ์ โดย อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์[ต้องการอ้างอิง]
พระผู้สร้างผู้ทำนำคนทุกข์ให้รู้ทางสร้างสุขพึ่งตนได้
เอาเหงื่อต่างน้ำมนต์พ้นพิษภัยเอาชนะทุกข์ได้ด้วยการงาน
เป็นที่พระพิศาลธรรมพาทีเป็นพระดีที่รักของชาวบ้าน
ไม่ออกนอกแก่นธรรมนอกตำนานท่านอาจารย์พระพยอม กัลยาโณ

วัดสวนแก้ว และมูลนิธิสวนแก้ว,องค์กรสาธารณประโยชน์[แก้]

วัดสวนแก้ว ตั้งอยู่ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี แต่เดิมวัดนี้ชื่อ "วัดแก้ว" เป็นวัดร้างมา 80 ปี จนกระทั่งหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และพระภิกษุอีก 3-4 รูป ได้เข้ามาพำนักแต่พื้นที่ของวัดเต็มไปด้วยสวนต่างๆ หลวงพ่อไม่สามารถจะบูรณะได้ เพราะขาดบุคลากร ที่จะช่วย พัฒนา เมื่อปี พ.ศ. 2521 พระพยอม กัลยาโณ และเพื่อนพระภิกษุอีก 2 รูปได้เดินทางมาจากสวนโมกขพลาราม เพื่อขอทำโครงการบวชเณร ภาคฤดูร้อนที่วัดแห่งนี้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2522 หลวงพ่อได้มอบหมายให้พระพยอมและเพื่อนพระภิกษุเป็นผู้ดูแลรักษาวัด เนื่องด้วยหลวงพ่อเทียนนั้นดำริจะเดินทางกลับจังหวัดเลย
ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดสวนแก้ว และได้จัดตั้งมูลนิธิสวนแก้ว ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ
  • เพื่อเผยแผ่ศีลธรรมในศาสนา
  • เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจแก่ผู้กระทำความดี
  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนดีมีสัมมาชีพ
ในปี พ.ศ. 2548 “มูลนิธิสวนแก้ว” ได้ถูกรับรองเป็น “องค์กรสาธารณประโยชน์” (ทะเบียนเลขที่ 0163) ตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2548 ภายใต้ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 6 ประการ คือ
  1. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา
  2. เพื่อส่งเสริมศีลธรรม จรรยาอันดี
  3. เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีไทย
  4. เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
  5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
  6. จัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษา
วัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ตลอดทางเดินเข้าสู่ตัววัดมีไม้ใหญ่เขียวครึ้ม ติดป้ายคำขวัญเป็นข้อความเตือนสติพร้อมทั้งยังมีภาพวาดที่สวยงามอยู่ภายในวัด ด้านหน้าวัดมีร้านขายของที่ระลึก และร้านค้าเล็กๆมากมาย เมื่อเดินเข้าไปด้านในวัด จะพบลานโค้งและพระอุโบสถธรรมชาติ ซึ่งแต่ละวัน จะมีพุทธศาสนิกชนมาฟังเทศน์ฟังธรรมกันเป็นจำนวนมาก

สมณศักดิ์[แก้]

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระพิศาลธรรมพาที[2]
  • 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชธรรมนิเทศ พิเศษกิจจานุกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]

อ้างอิง[แก้]

  1.  โสมชยา ธนังกุล. มรดกธรรมจากท่านพุทธทาส. แสตมป์ & สิ่งสะสม. ปีที่ 1 (+42) ฉบับที่ 3. พฤษภาคม 2555. ISSN 2229-2780. หน้า 48
  2.  "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF)ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 112 (ตอนพิเศษ 47 ง): หน้า 9. 13 ธันวาคม พ.ศ. 2538. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2561.
  3.  "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์" (PDF)ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 121 (ตอนที่ 17 ข): หน้า 8. 15 กันยายน พ.ศ. 2547. สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2561.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

No comments: