บทความที่นำมาเสนอจากหนังสือเรื่อง
“Don’t Sweat the Small Stuff”
แต่งโดย Richard Carlson
แต่งโดย Richard Carlson
“นิสัย” เกิดจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า โดยจะเกิดขึ้นเองตามสภาวะธรรมชาติ และเกิดขึ้นบ่อยครั้งเสียจนเราไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดปกติหรือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่หารู้ไม่ว่านิสัยที่ไม่ดีของเราเหล่านี้ จะเป็นตัวบั่นทอนพลังชีวิต ทำให้เราหมดกำลังใจ และทำให้เราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ดังนั้น ผู้แต่งจึงชี้ให้เห็นถึงนิสัยที่ไม่ดี และมิจฉาทิฐิที่ควรแก้ไขดังนี้
1. ความคิดที่ว่า เมื่อประสบปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที ในช่วงที่ประสบปัญหา จิตใจจะวกวนสับสน เครียด อึดอัด มึนงง เศร้าสลดหดหู่ ไม่ควรที่จะขบคิดแก้ไขปัญหาใดๆ เพราะยิ่งคิดยิ่งมึนงง มองไม่เห็นทางออก หรือถ้าคิดออก ความคิดที่ได้ก็ไม่เฉียบคม
วิธีแก้ หยุดคิด ทำใจให้สบายๆ ปล่อยวาง เมื่อจิตใจสงบจึงค่อยเริ่มแก้ไขปัญหา แก้ไขปัญหาที่พอจะแก้ไขได้ก่อน ปัญหาที่รุนแรงและเรื้อรังยากที่จะแก้ไขได้โดยทันที ก็ให้ค่อยๆ แก้ไขไปทีละเปลาะสองเปลาะ เมื่อปัญหาลดน้อยลง จะทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น ปัญหาที่ยากย่อมต้องใช้เวลา ความพยายาม ความอดทน และความต่อเนื่องเป็นธรรมดา จงยอมรับความเป็นจริงทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรา คิดถึงเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด ที่อาจจะเกิดขึ้น (Worst case scenario) แล้วทำใจยอมรับให้ได้ เมื่อนั้นจิตใจจะสงบ และในความเป็นจริง มันอาจจะไม่เลวร้ายอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้ จะทำให้เรายิ่งมีกำลังใจที่จะขบคิดแก้ไขปัญหาต่อไป
2. หงุดหงิดรำคาญใจ ทุกสิ่งทุกอย่างขัดหูขัดตาไปหมด ไม่ได้ดั่งใจเอาเสียเลย บุคคลที่มีความคิดประเภทนี้ จะมีจิตใจคับแคบ ไม่รู้จักให้อภัยผู้อื่น เอาตนเองเป็นที่ตั้ง ชี้ถูกชี้ผิดอยู่ตลอดเวลา นิดหนึ่งก็ไม่ได้ นิดหนึ่งก็ไม่ยอม จิตใจร้อนรุ่มหาความสุขไม่ได้ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้หรืออยากทำงานด้วย มีศัตรูเต็มไปหมด สุขภาพเสื่อมโทรม โรคภัยรุมเร้าเพราะมีความเครียดอยู่ตลอดเวลา
วิธีแก้ รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครสามารถทำตามใจเราได้ทุกอย่าง ทำอะไรก็ตามให้อยู่ในระดับกลางๆ พอดีๆ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง พูดจาให้นุ่มนวลอ่อนหวาน สบายๆ ไม่ต้องเอาเป็นเอาตาย เอาจริงเอาจังไปเสียทุกเรื่อง
3. บ้างาน คิดว่าตนเองมีงานล้นมือ ทุกอย่างมีแต่ความรีบเร่งจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง คนที่รีบเร่งทำงานหลายๆ อย่าง แต่ทำไม่เสร็จซักอย่าง งานส่วนใหญ่มักจะไม่มีสาระ ไม่สำคัญ ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะการรีบเร่งทำงานอยู่ตลอดเวลา จิตจะไม่ว่าง กิริยาจะร้อนรน ขาดสติสัมปชัญญะ ขาดความระมัดระวังทำให้ไม่รู้ตัวว่า ตนกำลังทำสิ่งที่ไร้สาระอยู่ เมื่อพลังงานส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ งานที่ออกมาก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อโดนตำหนิก็เกิดความเครียด ทำให้ต้องรีบสร้างผลงานมากขึ้นเพื่อชดเชยความผิด แต่ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด วนเวียนเป็นวงจรที่ไม่มีที่สิ้นสุด
วิธีแก้ เลือกทำในสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต ถามตนเองว่าสิ่งที่กำลังทำ กำลังพูด และกำลังคิดอยู่นี้จะทำให้รามีความสุขขึ้น เป็นคนดีมากขึ้น มีสติปัญญามากขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ตัดทิ้งเสีย เช่น การนินทาว่าร้ายเจ้านาย เป็นต้น ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพราะสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลไปยังอนาคตแน่นอน ให้บอกตนเองเสมอว่า ในโลกใบนี้มีงานต่างๆ อีกมากมายที่ทำเท่าไรก็ทำไม่หมดหรอก ทำแต่สิ่งสำคัญเท่านั้นก็พอ ให้ตระหนักถึงสัจธรรมที่ว่า ถึงแม้เราจะจากโลกใบนี้ไป โลกมันก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีตัวเรา อย่าสำคัญตัวเองมากนัก หยุดทำงานทุกอย่าง นั่งสงบนิ่งดูลมหายใจ (อานาปานสติ) สัก 15 นาที เจริญมรณานุสติโดยการคิดว่า ถ้าจะต้องตายในอีก 7 วันข้างหน้า เราอยากทำสิ่งใดมากที่สุด (แต่วิธีนี้จะไม่เหมาะกับบุคคลที่เป็นโทสะจริต เพราะมีมรณานุสติเป็นอารมณ์อยู่แล้ว)
4. คิดเอาตัวเองเป็นใหญ่ และคิดอาฆาตแค้นพยาบาทคนอยู่ตลอดเวลา
ความคิดนี้เป็นความคิดในแง่ลบ (Negative Thinking) ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนพลังชีวิต ทำให้เราเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ และเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว การกระทำ คำพูดและแววตาจะแสดงออกมาด้วยความก้าวร้าวรุนแรง
วิธีแก้ ให้ระมัดระวังความคิดในแง่ลบ เมื่อมีความคิดเหล่านี้โผล่ขึ้นมาเองไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องคิดต่อ ให้เปลี่ยนเรื่องคิดทันที ให้หันมาคิดในแง่บวกแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดเองตามธรรมชาติ จะต้องสร้างขึ้นมา ทำใจให้ยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความคิดที่เป็นอกุศลเช่น ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตพยาบาท ความมีอัตตาตัวตน และความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้รวมทั้งตัวเราเอง ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราจึงไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินผู้อื่นว่า ถูกหรือผิด หากเรายอมรับความเป็นจริงในข้อนี้ได้ เราจะรู้จักการให้อภัยผู้อื่น และให้อภัยตัวเอง รู้จักสำรวมคำพูดและการกระทำมากขึ้น พยายามประคับประคองความคิดที่ดีให้อยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
5. คิดดูถูกผู้อื่น และชี้ถูกชี้ผิดอยู่ตลอดเวลา ความคิดเหล่านี้จะทำให้เรามีจิตใจที่คับแคบ ไม่มีเมตตาต่อผู้อื่น มีความเครียดเป็นอาจิณ
วิธีแก้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เลิกเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หัดเข้าใจความคิดและอารมณ์ของผู้อื่นว่า ทำไมเขาถึงพูดหรือทำเช่นนั้น และถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา เราอาจจะทำแบบเดียวกับเขาก็ได้ เป็นต้น ยอมรับว่าโลกใบนี้ไม่มีใครที่คิดเหมือนกับเราไปเสียทุกเรื่อง ดังนั้น การมีความคิดที่ขัดแย้งกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครถูกใครผิด หัดฟังมากกว่าพูด รู้สึก เห็น รับรู้ทุกอย่างแต่อย่าคิดต่อ ไม่ต้องหาเหตุผลไปซะทุกเรื่อง พิจารณาอารมณ์ของตนเองว่าในขณะนี้เราสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ เพื่อหยุดความคิดซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งอัตตาตัวกูของกู
6. คิดเอาชนะผู้อื่น การโต้เถียงเอาชนะผู้อื่น เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ และยังเป็นการสร้างศัตรูโดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีแก้ พูดเท่าที่จำเป็นต้องพูด พูดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง หัดฟังมากกว่าพูด และเอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการโต้เถียงกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
7. คิดทวงบุญคุณจากผู้อื่น การทวงบุญคุณจะทำให้จิตใจคับแคบ เต็มไปด้วยความอึดอัด ไม่พอใจ ลังเล สงสัย จิตใจสกปรกขุ่นมัว เพราะเป็นการทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน
วิธีแก้ ช่วยเหลือโดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้ให้ ในที่นี้คือตัวเรานั่นเอง ควรให้เพราะอยากช่วยเหลือ ไม่ต้องมีตัวเขา เรา ท่าน ช่วยเหลือโดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้รับ คนไหนพอช่วยได้ให้ช่วยไปเลย ไม่ต้องจำกัดว่าช่วยเพราะเป็นญาติเรา หรือช่วยเพราะเขาทำดีกับเรา เป็นต้น ช่วยแล้วหันหลังกลับไม่หวังผลตอบแทน
8. คิดกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง การคิดวิตกกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จะทำให้จิตใจว้าวุ่น สับสน เต็มไปด้วยความหวาดกลัว จิตใจล่องลอยไม่อยู่กับปัจจุบัน
วิธีแก้ รู้เนื้อรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ ทำแล้วเกิดผลอะไร ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คิดโกรธเกลียดหมั่นไส้ผู้อื่น ความโกรธ เกลียด รำคาญและไม่ชอบหน้าบุคคลที่เคยทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ เป็นนิสัยที่เกิดได้กับมนุษย์ทุกคน แต่เมื่อมีความคิดเหล่านี้ผุดขึ้นในจิตใจ เราควรระมัดระวังไม่ให้แสดงออกมาทางสีหน้า แววตา น้ำเสียงและการกระทำ นอกจากนั้น เราควรมองบุคคลผู้นั้นในแง่บวก เช่น คนที่ตำหนิติเตียนเรานั้น อาจจะกำลังสอนให้เรารู้จักทำงานให้เป็นระเบียบมากขึ้น หรือคนที่นินทาว่าร้ายเรานั้น อาจจะกำลังสอนให้เรารู้จักวางตัว พูดเท่าที่จำเป็น เพราะเขารู้เรื่องของเราหมด จึงเอาไปคุยกันจนสนุกปาก เป็นต้น
9. คิดน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง การคิดน้อยใจในชะตากรรมของตัวเองเช่น เกิดมายากจน รูปร่างไม่ดี หน้าตาไม่สวย เรียนหนังสือไม่เก่ง หรือทำอะไรก็สู้คนอื่นเขาไม่ได้ เป็นต้น การคิดเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของตัวเองแล้ว ยังทำให้ชีวิตจมปลักไม่ก้าวหน้าไปไหน เพราะมัวแต่ย้ำคิดย้ำทำแต่สิ่งเดิมๆ
วิธีแก้ จงพอใจในสิ่งที่ตนมี และอย่าคิดเปรียบเทียบกับคนอื่น ระลึกและจดจำในสิ่งที่ดีๆ ที่เราได้รับจากคนรอบข้าง รู้จักและยอมรับตนเองทั้งจุดเด่น และจุดด้อย พัฒนาและใช้จุดเด่นของเราให้เป็นประโยชน์ และปรับปรุงจุดด้อยหรือหาสิ่งอื่นมาทดแทน เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต ลืมอดีตที่ขมขื่นเพื่อทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คิดในแง่บวก และพยายามประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา
10. นิสัยมองโลกในแง่ร้าย และคิดว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเห็นแก่ตัว การคิดเช่นนี้จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความคิดในแง่ลบให้มากขึ้นเป็นทวีคูณ มองความจริงไม่ตรงตามความเป็นจริง ปัญหาเล็กๆ ก็ตีโพยตีพายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต จิตใจคับแคบ หาความสุขไม่ได้ เพราะจะคอยจับผิดผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
วิธีแก้ คิดถึงประสบการณ์ดีๆ ที่เราได้รับจากคนรอบข้าง เช่น คิดถึงบุคคลที่มีบุญคุณหรือมีน้ำใจกับเรา เป็นต้น พยายามมองโลกในแง่บวก อย่าปล่อยให้จิตมันคิดไปเอง
11. คิดว่าโลกนี้มีแต่ปัญหาเต็มไปหมด แก้เท่าไรก็ไม่หมดเสียที การคิดเช่นนี้นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังจะเป็นตัวบ่อนทำลายกำลังใจของเราเองเสียอีก
วิธีแก้ ให้มองปัญหาเสมือนด่านทดสอบความอดทน ตัวฝึกฝนทักษะในการแก้ปัญหา และเป็นแหล่งปัญญาที่หาไม่ได้จากในหนังสือ มองปัญหาในแง่บวกว่า มันอาจจะเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า ก่อนที่ความหายนะจะเกิดขึ้นก็ได้ ปัญหาทำให้เราเห็นข้อบกพร่องที่เราอาจมองข้ามไป มองปัญหาเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ อันไหนพอแก้ได้ก็ทำไปก่อน คิดในแง่บวกและตั้งจิตว่า จะประคับประคองจิตใจให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา
12. คิดว่าเราเก่งกว่าผู้อื่น ฉลาดกว่าผู้อื่น หรือร่ำรวยกว่าผู้อื่น การคิดเช่นนี้จะส่งผลให้พฤติกรรมที่แสดงออกมา เต็มไปด้วยความหยิ่งยโสโอหัง อวดดี ถือตัว มองผู้อื่นด้วยสายตาดูถูกดูแคลน วาจาจะรุนแรงและสามหาว บุคคลรอบข้างจะรังเกียจ หมั่นไส้ และอิจฉาริษยา ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว
วิธีแก้ ระมัดระวังคำพูด ความคิดและการกระทำ ต้องมีสติรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา หัดมองตัวเอง เลิกเปรียบเทียบกับผู้อื่น อย่าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น
13. การด่าทอ เหน็บแนม ประชดประชัน และวิพากษ์วิจารณ์ เป็นอกุศลวาจาที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับผู้อื่น ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนั้น ความคิดเหล่านี้ยังเป็นที่มาของความโกรธ ความเกลียด และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมนุษย์อีกด้วย
วิธีแก้ คิดก่อนพูดและไม่ต้องพูดทุกอย่างที่เราคิด ถ้าพูดแล้วไม่สร้างสรรค์นิ่งเสียจะดีกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ในโลกนี้ไม่มีใครชอบถูกวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ตัวเราเอง.
No comments:
Post a Comment