2013-10-01

พระพุทธลีลาในการชนะมาร


ตำนานกล่าวว่า ในคืนวันเพ็ญที่พระพุทธเจ้าจะได้ตรัสรู้นั้น ตอนหัวค่ำ พระองค์ทรงได้รับ หญ้าคาฟ่อนหนึ่ง จากคนตัดหญ้าชื่อ นายโสตถิยะ ทรงลาด หญ้าคา กำนั้น ลงที่ใต้โคน ต้นโพธิ์ใหญ่ แล้วประทับ นั่งสมาธิ คืนนั้นเอง พญามารวสวดี ได้มาทวงหญ้าคา ที่พระองค์ ทรงรองนั่งสมาธิ มารว่า ที่นั่งตรงนั้นเป็นของเขา ครั้นไม่ได้ดังใจ ก็ยกกองทัพ เสนามาร มารบพระพุทธเจ้า อย่างมืดฟ้ามัวดิน ในการต่อสู้ พระพุทธเจ้า ได้ทรงอ้าง พระธรณี เป็นสักขีพยาน แม่พระธรณี ได้ปรากฏตัวขึ้นมา บีบน้ำจากมวยผม น้ำได้ไหลบ่าท่วมท้นทั่วไป เกิดจระเข้ร้าย ว่ายออกมา จับเสนามารกิน เป็นอาหาร จนผลที่สุด มารแพ้ พญามารเสียใจ เป็นอันมาก ได้ไปนั่งร้องไห้อยู่ ที่ทางแยกแห่งหนึ่ง พวกลูกสาวมารรู้ว่า พ่อเสียใจ จึงพากันอาสา จะตามไปยั่วยวน ให้พระศาสดาตบะแตกให้ได้ ครั้นไปถึงแล้ว ลูกสาวมารทั้งสาม ก็นิรมิตผู้หญิง ขึ้นคนละร้อย รวมผู้หญิง สามร้อยคน ล้วนแต่ต่างวัย ต่างจริตกัน สวยๆ ทั้งนั้น แต่สวยคนละแบบ ที่ทำเช่นนั้น ก็เพราะคิดว่า พระสิทธัตถะ คงจะโปรด ใครสักคนหนึ่ง เป็นแน่ แต่ทำมายา สุดฝีมือแล้ว ก็ไม่ได้ผล เป็นอันว่า พระองค์ทรงชนะมาร และได้ตรัสรู้เป็น พระพุทธเจ้า ในคืนนั้น


เรื่องนี้เป็นอีกเรื่อง ที่ควรวิจารณ์ และที่วิจารณ์นั้น ไม่ใช่หาทางชม พระพุทธเจ้าอย่างเดียว เพราะเราจะชม หรือไม่ชม พระพุทธเจ้า ก็ทรงเป็น พระพุทธเจ้าแล้ว ท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่เรื่องของเราสิ ยังมีปัญหา เราทุกคน ก็มีมาร คอยดักหน้า ดักหลังอยู่แล้วทั้งนั้น ถ้าเรายังไม่คิดทำ ความดี มารก็ยังเฉยๆ คือไม่แสดงตัว แต่ถ้าเราเริ่ม จะทำความดีเมื่อไร มารก็จะเริ่ม งานของเขา เมื่อนั้น ใครทำความดีน้อย มารก็ตัวเล็ก แต่ถ้าใครคิด ทำความดีใหญ่โต มารมันก็ตัวโต เหมือนกับเรา เลี้ยงลูกวัว นั่นแหละ ตอนที่ลูกวัวยังเล็ก เงามันก็เล็ก ถ้าลูกวัว ตัวโตขึ้นเงา มันก็โตขึ้น ตามส่วน เรื่องของมาร ก็เหมือนกัน ใครจะเจอมารเล็ก หรือมารใหญ่ และเมื่อใด อยู่ที่การคิดหาความดี ของผู้นั้นเอง แต่มีน่ะมีแน่ อย่าว่าแต่คนอย่างเราๆ ท่านๆ เลย แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านวิเศษเลิศล้นกว่าเรา ไม่รู้ว่ากี่ล้านเท่า ท่านยังเจอ นับประสาอะไร คนอย่างเรา ซึ่งยังถางป่า ขุดดิน กินเงินเดือน อยู่กับ ชาวบ้าน ที่จะรอดสายตาของมารนั้น เมินเสียเถอะ การวิจารณ์พุทธจริยา ตอนนี้ ก็มุ่งตรง คือ มุ่งที่จะถอด เอาวิธีของท่าน มาเป็นของเราบ้าง เวลานี้ ลูกหลานเหลน ของพญามารวสวดี ก็ยังมีอยู่เต็มแผ่นดิน

ปัญหานี้มีอยู่ว่า ลวดลายของมารมีอย่างไรบ้าง? และ เมื่อมารแสดงลวดลายอย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงชั้นเชิง ในการต่อสู้อย่างไร จึงได้ ชัยชนะอย่างงดงาม ทั้งๆ ที่พระองค์อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น?

วิจารณ์

ข้าพเจ้าอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า การต่อสู้ระหว่างมารวสวดีกับพระพุทธเจ้านั้น นับว่าเป็นการต่อสู้ขั้นสุดยอดที่มีการต่อสู้กัน คือ ข้างมารก็เป็นยอดมาร ข้างพระก็เป็นยอดพระ และในวันนั้นมารก็รู้ตัวว่า พระศาสดาจะได้ตรัสรู้แล้ว หากว่ามารไม่สามารถกั้นกางไว้ ได้ และ เจตนาที่แท้จริงของมาร ก็คือ ไม่ยอมให้พระตรัสรู้ เป็นอันขาด ฉะนั้น ในทางแสดงลวดลาย มารก็จะแสดงอย่างสุดฝีมือ เรียกว่า เทกระเป๋าสู้กัน ทีเดียว ไม่มีขยักไว้ ข้างฝ่ายพระก็เหมือนกัน ตามหลักฐาน ที่บันทึก ชัยชนะ ของพระพุทธเจ้าไว้คือ ชัยมงคลคาถา แสดงว่าตลอด พระชนม์ชีพของ พระพุทธองค์แปดสิบพรรษา พระองค์ต้องเผชิญกับ การต่อสู้ครั้งใหญ่ยิ่ง รวมแปดครั้ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกันดูแล้ว การต่อสู้กับ มารวสวดี ครั้งนี้เป็น การต่อสู้ที่ใหญ่ยิ่งที่สุด เพราะ

1. การต่อสู้ครั้งอื่นๆ พระองค์มีพระสาวกและผู้ช่วยเหลืออื่นๆ คอยช่วยเหลืออยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยในการต่อสู้จริงๆ ก็ช่วยสนับสนุน หรือพูดอย่างธรรมดาว่า ช่วยเชียร์ แต่การต่อสู้คราวนี้ เป็นการต่อสู้กับศึกใหญ่ตามลำพัง ไม่มีแม้แต่กองเชียร์

2. การต่อสู้ครั้งนี้พระองค์ไม่มีอิทธิพลใดๆ คือพระองค์ยังเป็นปุถุชนอยู่ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ฤทธิ์เดชใดๆ ก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ปุถุชนคือ ศัตราวุธ หรือฤทธิ์อริยชน คืออำนาจทางใจ ไม่มีทั้งนั้น เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและสติปัญญาของพระองค์แท้ๆ

3. การต่อสู้นั้นเป็นการต่อสู้กับผู้มีฤทธิพลเหนือกว่า และเป็นคนพาลร้อยเปอร์เซ็นต์

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก เพราะวันหนึ่งข้างหน้า คนอย่างเราก็อาจเจอกับเหตุการณ์ทำนองนี้เข้า บ้างเหมือนกัน

ปัญหาแรกคือ เรื่องลวดลายของมาร ลวดลายของมารนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อแล้วก็มีอยู่สามอย่าง หรือสามชั้นเรียงตามลำดับ ดังนี้

ลำดับที่ 1 ทวงสิทธิ, ลำดับที่ 2 อิทธิพล, ลำดับที่ 3 กลมายา

เรื่องของมารนั้นไม่ว่า มารเล็กมารใหญ่ และไม่ว่ามารสมัยก่อนหรือมารสมัยนี้ ก็มีลวดลายอยู่สามลำดับเท่านี้ คือเขาจะขึ้นต้นด้วย การ ทวงสิทธิ แล้วก็ใช้อิทธิพล ถ้าไม่สำเร็จ ก็ใช้กลมายาขั้นสุดท้าย ในการชนะนั้น ก็ต้องชนะทั้งสามขั้น จึงจะเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ถ้าเขาแพ้ใน ขั้นทวงสิทธิแล้วก็อย่าชล่าใจ นึกว่าเราชนะ ให้ระวังแผน 2 จะต้องตามมาอย่างแน่นอน เสร็จแผน 2 แล้วก็ให้ระวังแผน 3 ถ้าเขาปล่อยมาหมด ทั้งสามแผนแล้ว เป็นอันหมดกระเป๋ามาร เราสบายใจได้

ลำดับ 1 การทวงสิทธิ คือการที่มารทวงเอาที่ที่พระองค์ประทับนั่งสมาธินั่นเอง คือเมื่อพระองค์ตัดสินพระทัยเด็ดขาดว่า เป็นตายร้ายดี อย่างไร พระองค์ก็จะทำสมาธิให้เสร็จสิ้น ในวันนั้น และ ณ ที่ประทับนั้น เมื่อทรงตั้งพระทัยแน่วแน่แล้ว ก็พอดีมีคนถวายกำหญ้าคา ให้พระองค์ รองนั่งสมาธิ พอพระองค์ได้หญ้าคาแล้ว ก็ เสด็จไปหาที่เหมาะๆ สักแห่งหนึ่ง จึงทรงเลือกได้โคนต้นโพธิ์ใกล้ๆ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั่นเอง โพธิ์ต้นนั้น เป็น ต้นไม้เกิดเอง ไม่มีเจ้าของ และไม่มีใครใช้การอะไร พระองค์ทรงเห็นว่า ตรงนั้นเหมาะดี ครั้นทรงเลือกที่ได้แล้ว ก็ลาดกำหญ้าคา ลง แล้วประทำนั่งบนหญ้าคานั้น

ในโอกาสนั้นเอง มารก็ปรี่เข้ามาเริ่มลวดลายลำดับ 1 ทีเดียว คือการทวงเอาที่นั่งตรงนั้น แกหาว่า พระสิทธัตถะมาแย่งที่นั่งของแก อ้าง หลักฐานพยานยืนยันเป็นตุเป็นตะว่า ที่นั่งนั้นเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดของแกทีเดียว...

พระพุทธเจ้าก็ทรงยืนยันว่า ที่นั่งนั้นเป็นของพระองค์ มีผู้ถวายกำหญ้าคามาจริงๆ... แต่มารก็ไม่รับรู้... ส่วนคำที่ตัวด่า เขาไม่ได้ยิน มารถาม พระว่า ที่พระว่า ที่นั่งนี้เป็นของท่าน ใครเป็นพยาน? ด้วยคำถามนี้ แกคงจะคิดว่า พระพุทธเจ้า คงจะอ้างใคร สักคนสองคน เป็นพยาน เช่น นางสุชาดา หรือคนใช้ของ นางสุชาดา (ซึ่งนำข้าวมธุปายาส มาถวาย เมื่อตอนเช้าวันนั้น) หรือไม่ ก็คงจะอ้าง นายโสตถิยะ ซึ่งเป็น คนตัดหญ้า อยู่แถวนั้น และได้ ถวายหญ้า แก่พระองค์ และเมื่อพระองค์ อ้างพยาน มารคงจะหน่วงเหนี่ยว ให้มีการสอบสวน ปากคำ กันต่อไป ในที่สุด พระองค์ ก็จะไม่ได้ ตรัสรู้ แต่พระองค์ ทรงไหวทัน พระองค์ตรัสตอบว่า ที่นี่เราไม่มีพวกพ้อง ญาติพี่น้อง ก็ไม่มีสักคน เราอยู่ตัวคนเดียว เราจึงขออ้าง แผ่นดิน นี่แหละ เป็น พยาน ถ้ามารอยากรู้ ก็ถามแผ่นดินดูซิ...

มารเสียท่า ในการทวงสิทธิ์ คิดว่า พระจะหลงลูกไม้ แต่เมื่อพระองค์ ทรงใช้ชั้นเชิง ที่เหนือกว่า คือทรงอ้างแผ่นดิน เป็นพยาน มารก็เกิด อาการ งุนงง แผ่นดินของมัน ไม่หือ ไม่อือ จะเอาชนะกัน ได้อย่างไร เมื่อไม่สำเร็จ ก็ใช้แผน 2 ต่อไป

ลำดับ 2 การใช้อิทธิพล คือ การยกพวกเข้าปล้น เอาที่นั่งที่มารทวงนั้น มารวสวดี ได้ทุ่มเทพลมาร มาอย่างมืดฟ้ามัวดิน กะจะเอาให้ แหลกราญ ในพริบตา พลช้าง พลม้ามากันหมด ในตอนนี้ ตำรากล่าวไว้ เป็นปุคลาธิษฐานว่า แม่พระธรณี ได้ขึ้นมา บีบมวยผม ให้น้ำไหล ออกมา ท้วมท้นทั่ว บริเวณ ทำให้พวกมาร จมน้ำตาย ที่เหลือ ก็แตก กระจัดกระจายไป.

มารผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เสียอกเสียใจเป็นการใหญ่ ในที่สุดก็ถึงแผนเผด็จศึกสุดท้าย คือกลมายา.

ลำดับ 3 การใช้กลมายา คือ มารจะหันมาญาติดีกับคู่ปรปักษ์ ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งที่คู่ต่อสู้มักจะเผลอ... เรามักจะพูดกันว่า ศัตรู มาเป็นมิตร...

มารได้ส่งลูกสาวของตนไปถวายพระพุทธเจ้า คือมารมีลูกสาวอยู่สามสาว เป็นสามใบเถา ให้ไปทำยั่วยวนพระองค์ให้ใจแตกให้ได้ ข้าง ลูกสาวก็เนรมิต ผู้หญิงขึ้น อีกคนละร้อย รวมเป็น 300 คน แต่ละคนมีวัย รูปร่าง จริตจะก้านต่างๆ กัน รวมความว่า มีสามร้อยแบบ ซึ่งลูกสาวมาร ก็มั่นใจว่า ต้องสำเร็จแน่... แต่เมื่อปล่อยเข้า หาจนหมดตัวแล้ว แหยกลับมาทั้งนั้น ลูกสาวมาร ก็งุนงง แกคงจะคิด ประหลาดใจว่า ผู้ชายอาไร... ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น!

เป็นอันว่า มารหมดฝีมือเพียงเท่านี้...

ปัญหาที่น่าจะวิจารณ์ต่อไป คือเรื่อง ชั้นเชิงของพระพุทธเจ้าในการต่อสู้มาร

ชั้นเชิงของพระพุทธองค์ที่ถือว่า ยอดเยี่ยมกว่ามารนั้น อยู่ตรงที่ว่า พระองค์ไม่ทำพระองค์ ให้เป็นมาร ปล่อยให้มาร เป็นมารไป ส่วนพระองค์ รักษาความเป็นพระไว้ หมายความว่า อย่างไร? หมายความว่า ตั้งแต่เดิมมา พระองค์เป็นพระ คือทำแต่ความดี ครั้นโดนมาร ตีหน้ามาร เข้าใส่ พระองค์ คงยังรักษา ความเป็นพระ ไว้ทุกอย่าง นับตั้งแต่ถูกมาร เริ่มหาเหตุ ในตอนแรก มารโกหกว่า หญ้าคาเป็นของแก แต่พระองค์ ไม่โกหก คงพูด คำจริง ตลอดเวลา นี่แหละที่ว่า พระคงเป็นพระ ถ้าหากเป็นคนอื่นสิ พอโดนตู่สิทธิเท่านั้น ก็อาจคิดหา คำโกหก ที่แนบเนียนกว่า เข้าหักล้าง เอาชนะ กลายเป็นการ ประชันคำโกหกกัน ถ้าหากสู้แบบนี้ ก็ไม่ใช่ พระสู้กับมาร กลายเป็น มารกับมาร สู้กัน เพราะต่างคน ต่างโกหก ด้วยกัน ขี้โกหกทั้งคู่ แล้วใครจะเป็นพระ?

ในตอนมารยกเข้าปล้นบัลลังก์หญ้าคาก็เหมือนกัน มารมันยั่วพระพุทธองค์ ที่จริงฝีมือในทางรบทางต่อสู้พระองค์ก็หนึ่งเหมือนกัน เคยชนะ การประลองฝีมือมาแล้ว ถ้าถูกมารกวนโมโหมากๆ เข้า แล้วพระองค์ก็กระโดดลงจากบัลลังก์ ไปวางมวยกับมารเข้า พระองค์ก็จะกลายเป็นมาร ในทันที พระไม่มีแล้ว กลายเป็นมารกับมารตีกัน เพราะ แต่ละฝ่ายก็ใช้กลยุทธแบบมาร

และตอนโดนลูกสาวมารก่อกวนก็เหมือนกัน ถ้าพอลูกสาวมารมาเต้นระบำยั่ว พระเกิดนึกสนุกกระโดดลงไปเต้นระบำรำวงกับเขา พระก็หมดกลายเป็นมารเกี้ยวมาร

ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกดูก็แล้วกัน นึกไปที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ที่ตรัสรู้โน่น สมมติว่า พระกระโดดลงไปด่ากับมาร ต่อยกับมาร หรือจับ ระบำกับมาร แล้วจะมีพระที่ไหนไปนั่งชนะมาร เพราะพระก็สึกไปเป็นมารเสียแล้ว มารน่ะแกอยากให้พระทำอย่างนั้น แต่ชั้นเชิงของพระ เหนือ กว่า คือไม่ทำตามที่ มารอยากให้ทำ คงสู้แบบพระคือ พระองค์คงรักษาความเป็นพระอยู่ตลอดเวลา นี่ซิมารถึงได้ช้ำใจนัก เคยเล่นงาน ใครๆ มานัก แล้ว มาโดนชั้นเชิงแบบพระเข้าถึงกับร้องไห้

ด้วยเหตุนี้แหละโบราณท่านจึงกล่าวเป็นคำพังเพย ไว้ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร หมายความว่าในบางกรณีการต่อสู้ พระต้องยอมแพ้ คือแพ้อยู่ในความเป็นพระ การที่พระองค์ไม่ทรงกระโดดลงไปวางมวยกับมารนั้น สายตาของบางคนอาจคิดว่า พระไม่สู้ แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง พระองค์ก็ยังทรงใช้ยุทธวิธีแบบ แพ้เป็นพระ คือยอมแพ้ เพื่อให้พระคงเป็นพระ มารอยากชนะๆ ไป พระไม่เกี่ยว และด้วยยุทธวิธีแบบ แพ้เป็นพระ นี่แหละ พระองค์จึงเป็นผู้ชนะมารโดยเด็ดขาดในที่สุด และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไว้เป็นอนุสาวรีย์ให้คนกราบไหว้อยู่เกือบทั่วโลก

ต่อไปนี้ เราจะถอดเอาพุทธจริยามาเป็นทางดำเนินชีวิตบ้าง

ข้อแรกที่น่าสนใจคือ เรื่องมาร เราต้องนึกไว้เสมอว่า ในโลกนี้มีมารคอยรังควานผู้ทำความดี เราจะสร้างตัว สร้างชาติ สร้างศาสนา และคิด สร้างความดีใดๆ ก็ตาม อย่าลืมว่า เราจะต้องประสบอุปสรรคขัดขวางหรือผู้คิดร้าย เมื่อยังไม่ปรากฏมีก็ให้ระวังไว้ และฉวยโอกาสทำความดีให้มาก ครั้นมีมารมาจริง คือถูกมุ่งร้ายคิดร้าย ก็ให้นึกว่ามันเป็นธรรมดาโลก คิดเสียว่าคนชั้นพระพุทธองค์ ยังต้องถูกมารรังแก จะได้ไม่ท้อใจ

ข้อที่สอง เรื่องวิธีชนะความร้ายของคนอื่น ข้อนี้ ต้องนึกถึงกฎธรรมดาไว้ว่า สิ่งที่ตรงกันข้ามเท่านั้นที่จะชนะกันได้ น้ำชนะไฟ สว่างชนะมืด เย็นชนะร้อน และ ดีชนะร้าย คือเราต้องหาสิ่งที่ตรงกันข้าม เมื่อเขาสาดร้ายมา ก็คว้าหาดีมาต่อสู้ แต่ในเรื่องนี้ยังมี ความคิดผิด ของ คนถูก อยู่ อย่างหนึ่ง คือการชนะคนร้ายนั้น เราก็รู้เหมือนกันว่า ต้องทำตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่ทำผิดวิธี เช่นมีคนด่าเรามา เราโมโหจึงด่าตอบ แกด่าฉันๆ ก็ด่าแก อย่างนี้ท่านผู้ฟังเห็นว่า เป็นการตรงกันข้ามไหม? บางท่าน อาจนึกว่าใช่ ถ้าพวกเดียวกันมันก็คงไม่ด่ากัน ที่ด่ากันนั้นแสดงว่า ตรงกันข้าม แล้ว ความจริงที่เข้าใจอย่างนี้ผิด เพราะความจริง เขาไม่ได้เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกัน เพราะตรงกันข้ามกับด่า ก็คือ ไม่ด่า ที่ต่างคนต่างด่าอยู่นั้น แสดงว่า เขาพวกเดียวกัน คือพวกขี้ด่าด้วยกัน มันก็ว่ากันนุง

เพราะฉะนั้น หากท่านบังเอิญถูกมารเล่นงานเข้า อย่าลืมมวยครู คือชั้นเชิงของพระศาสดาผู้พิชิตมารมา แล้ว คือเราต้องทำตัวให้เป็นฝ่าย ตรงกันข้ามกับมารไว้ หมายความว่ามารร้าย แต่ฝ่ายเราดี.

จากหนังสือ บทบาทพระบรมครู

โดย พ..ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา



No comments: