2013-08-13

'ลีกวนยู' คาดกองทัพไทยรับ 'ทักษิณ' กลับบ้าน

อดีตผู้นำสิงค์โปร์ ลีกวนยู ชี้ทักษิณ ชินวัตร พลิกโฉมการเมืองไทย ปลุกผู้คนตระหนักถึงอำนาจผูกขาดทรัพยากรของชนชั้นนำกรุงเทพ ถมช่องว่างคนรวย-คนจน ยกฐานะคนชั้นล่างเป็นคนชั้นกลาง

ในหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกวางตลาดเมื่อเร็วๆนี้ ชื่อ "One Man's View of the World" อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของสมญานาม "บิดาแห่งสิงค์โปร์สมัยใหม่" ลีกวนยู ได้แสดงทัศนะต่อความเป็นไปในโลกในหลายแง่มุม ในตอนหนึ่ง เขาได้กล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร ในบทที่ 5 "Thailand : An Underclass Stirs" หน้า 185-191
ในบทความซึ่งเรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Strait Times ดังกล่าว ลีเริ่มต้นด้วยการชี้ว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณได้พลิกโฉมการเมืองไทยไปอย่างถาวร ก่อนยุคทักษิณนั้น การประชันขันแข่งทางการเมืองจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำกรุงเทพ และปกครองเพื่อผลประโยชน์ของทุนชาติ แต่ทักษิณได้เข้าไปเปลี่ยนสถานะเดิม ด้วยการผันทรัพยากรที่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางกรุงเทพเคยตักตวงให้ไปสู่คนยากจน ทำให้ชาวนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

@  ชาวสิงค์โปร์เข้าคิวซื้อหนังสือของลีกวนยู เมื่อ 6 สิงหาคม ที่ Istana Presidential Palace

ลีบอกในหนังสือซึ่งจัดพิมพ์โดย Singapore Press Holdings เล่มนี้ว่า ก่อนหน้ายุคทักษิณ นโยบายเน้นความเติบโตของกรุงเทพของรัฐบาลต่างๆก่อนหน้าเขา ได้ทำให้เกิดช่องว่าง ทักษิณได้ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงช่องว่างนี้ และความไม่เป็นธรรมของนโยบายดังกล่าว แล้วเสนอนโยบายที่จะถมช่องว่างนี้เสีย นโยบายของทักษิณได้มุ่งให้ประโยชน์แก่คนยากจนในชนบทอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน, ทุนเรียนต่างประเทศสำหรับนักเรียนจากชนบท, บ้านเอื้ออาทร, และ 30 บาทรักษาทุกโรค

ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณมองว่า เขาได้สร้างความฉิบหายแก่ประเทศ ซึ่งไม่อาจยอมได้ คนเหล่านั้นบอกว่า เขาเป็นนักประชานิยม นโยบายของเขาจะทำให้ประเทศล้มละลาย แต่เมื่อคนพวกนั้นขึ้นครองอำนาจจากเดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 พวกเขาก็ยังคงดำเนินนโยบายเหล่านี้ต่อไป คนพวกนี้กล่าวหาทักษิณว่า คอรัปชั่น ทำเพื่อธุรกิจของครอบครัว ไม่ชอบบริษัทของเขา โจมตีว่าเขาแทรกแซงสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามยาเสพติดและการแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งมองข้ามสิทธิมนุษยชน แม้กระนั้น บรรดาชาวนาซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลยังคงเลือกเขาในปี 2548 แต่ท้ายที่สุด ชนชั้นนำกรุงเทพไม่อาจทนรับชายผู้นี้ได้ ทักษิณได้ถูกยึดอำนาจในการรัฐประหารในปี 2549

นับแต่นั้น เมืองหลวงของประเทศไทยได้เผชิญความโกลาหล มีการประท้วงของมวลชนเสื้อเหลืองซึ่งต่อต้านทักษิณในนามของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ และการประท้วงของคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนทักษิณ แต่ทว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2554 ได้ส่งน้องสาวของเขา ยิ่งลักษณ์ ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้เลือกวิถีทางใหม่ที่ทักษิณได้เลือกให้แก่ประเทศไทย ชาวนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ลิ้มรสชาติของการเข้าถึงทุน จะไม่ยอมปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป จนถึงขณะนี้ ทักษิณและพันธมิตรของเขาได้ชนะเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งซ้อน ความพยายามของฝ่ายต่อต้านทักษิณนับว่าไร้ผล

แม้สังคมไทยได้เกิดความปั่นป่วน แต่มีแนวโน้มสดใสในระยะยาว คนเสื้อแดงจะยังคงมีมากกว่าคนเสื้อเหลืองไปอีกยาวนาน เพราะฝ่ายหลังพึ่งพาแรงสนับสนุนที่หดแคบลงเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่มีทัศนะบูชาราชตระกูลน้อยลง

ลียังได้กล่าวถึงกองทัพไทยด้วยว่า มีบทบาทนำในการเมืองไทยมาช้านาน มุ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่มาแห่งความเข้มแข็งของกองทัพ อย่างไรก็ดี กองทัพไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กองทัพไม่อาจต้านทานเจตจำนงของผู้เลือกตั้งได้อย่างยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งเวลาผ่านไป     กองทัพจะมีนายทหารรุ่นใหม่ๆขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญๆ นายทหารรุ่นหนุ่มมีความคลั่งไคล้ในสถาบันกษัตริย์น้อยลง

อดีตผู้นำสิงค์โปร์กล่าวต่อไปว่า พวกผู้นำเหล่าทัพจะยังคงยืนกรานรักษาอภิสิทธิ์ต่างๆ และจะไม่ยอมถูกลดสถานะเป็นเพียงกองทัพธรรมดา อย่างไรก็ดี พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรของทักษิณ และเป็นไปได้ว่า ในท้ายที่สุด กองทัพจะยอมรับการกลับสู่ประเทศไทยของทักษิณ หากเขาให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่แก้แค้น

ลีกล่าวในที่สุดว่า ประเทศไทยไม่มีวันหวนกลับสู่การเมืองแบบเก่าแล้ว ซึ่งเป็นการเมืองที่ชนชั้นนำกรุงเทพผูกขาดอำนาจ ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามแนวทางที่ทักษิณได้ขับเคลื่อนไว้ ช่องว่างในมาตรฐานการครองชีพของผู้คนทั้งประเทศจะหดแคบลง ชาวนาจำนวนมากจะได้รับการยกระดับเป็นชนชั้นกลาง และจะช่วยหนุนส่งการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยจะมีอนาคตสดใส.

ขอขอบคุณผู้แนะนำแหล่งที่มา : Andrew MacGregor Marshall

No comments: