นายกในดวงใจ

2013-11-20

เปิดประวัติ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปมที่มา ส.ว.


เปิดประวัติ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปมที่มา ส.ว.


 
1. นายจรูญ อินทจาร ประธาน อายุ 69 ปี เคยทำคดีประวัติศาสตร์มาแล้ว นั่นคือคำร้องวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นพิธีกรรายการอาหาร "ชิมไปบ่นไป" และหลังจากนั้นก็เคยวินิจฉัยคำร้องให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เป็นเวลา 5 ปี ส่งผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเช่นกัน และเคยวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการว่าจ้างบริษัทเมซไซอะ อำพรางการบริจาคเงิน 258 ล้านบาท โดยเห็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องของอัยการสูงสุด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกกต.ยังไม่มีความเห็นในคดี แต่ก็เคยวินิจฉัยว่าการตรา พ.ร.ก. กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.บริหารหนี้เงินกู้ โดยครม.นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน สามารถกระทำได้
มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 291 ด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่จะกระทำได้ โดยการลงประชามติ และเคยวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ สิ้นสุดลง เพราะถูกคุมขังโดยหมายศาล ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกพรรค และขาดสมาชิกภาพไปด้วย
2. นายจรัญ ภักดีธนากุล อายุ 63 ปี ประวัติการพิจารณาวินิจฉัย กรณีนายสมัคร และพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาทแล้ว และยังเป็นเสียงข้างน้อย ที่วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีหวยบนดินและพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนหน้านี้ ก็เคยวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคำร้องกล่าวหาว่าอำพรางเงินบริจาค 258 ล้านบาท
3. นายเฉลิมพล เอกอุรุ อายุ 68 ปี ประวัติการพิจารณาวินิจฉัย กรณีนายสมัคร กรณียุบพรรคพลังประชาชน กรณีแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างทั้งฉบับไม่ได้ และกรณีสมาชิภาพของนายจตุพรแล้ว ยังเป็นหนึ่งในตุลาการที่ร่วมวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท เป็นเหตจำเป็นเร่งด่วนและสามารถทำได้
4. นายชัช ชลวร อายุ 65 ปี นอกจากประวัติการพิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง กรณีนายสมัคร และยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว ยังเป็นเสียงข้างน้อย ที่วินิจฉัยกระบวนการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งจะยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ และวินิจฉัยว่าสามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านหลักเกณฑ์ตามมาตรา 291 ได้ ทั้งนี้ยังเป็นเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่า นายจตุพรยังคงสมาชิกภาพ แม้จะถูกคุมขังโดยหมายศาลก็ตาม และวินิจฉัยว่าพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถออกพ.ร.บ.บริหารจัดการเงินกู้ได้ เพราะไม่เป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน
5. นายนุรักษ์ มาประณีต อายุ 64 ปี วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว ยังเป็นเสียงข้างน้อยชี้ว่า นายวราเทพต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย วินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างทั้งฉบับ ผ่านมาตรา 291 ได้ มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง วินิจฉัยกรณีพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ได้ วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคำร้องอำพรางการบริจาค 258 ล้านบาท
6. นายบุญส่ง กุลบุปผา อายุ 63 ปี เคยวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ไม่รับวินิจฉัยกรณีแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ และมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.กับนายจตุพร วินิจฉัยว่าการตราพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯสามารถกระทำได้
 
7. นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อายุ 68 ปี เคยวินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน วินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่ได้ และมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง ส่วนกรณีการตราพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนสามารถกระทำได้ แต่วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเงิน 258 ล้านบาท
 
8. นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี อายุ 65 ปี วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเป็นเสียงข้างน้อยชี้ว่า นายวราเทพต้องพ้นจากตำแหน่ง และเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง ส่วนการวินิจฉัยกรณีตราพ.ร.ก. กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯสามารถกระทำได้ ด้วยเหตุจำและเป็นเร่งด่วน
 
9. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อายุ 60 ปี เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ยังไม่ได้ร่วมวินิจฉัยคำร้องใด แต่เป็นนักวิชาการ ด้านนิติศาสตร์ แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า เป็นนักวิชาการในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ