บันทึกลับปลายรัชกาล
โดยกองบรรณาธิการ จาก RED POWER ฉบับที่ 31 เดือนธันวาคม 2555
เรื่องราวของสถานการณ์การเมืองปลายรัชกาลในสยามเป็นเรื่องยากที่ชาวสยามจะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ ทั้งๆที่ควรจะได้ศึกษาเรียนรู้เพื่อจะได้เกิดสติและปรับตัวให้เป็นไปตามกลไกแห่งสังคมที่กำลังจะปรับเปลี่ยน เพื่อให้สังคมมีภาวะสันติด้วยเพราะองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวสยาม เมื่อใกล้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัชกาลก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะเกิดภาวการณ์แปรปรวนทางสังคม แต่ด้วยเพราะระบบกฎหมายและจารีตประเพณีที่ปิดกั้นประกอบกับหลักฐานการบันทึกที่มีลักษณะประวัติศาสตร์ก็หายาก ดังนั้นหลักฐานบันทึกลับที่ท่านจะได้อ่านนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนที่พระราชบิดา (ร.๕) ใกล้จะเสด็จสวรรคตโดยใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ ที่ต้นฉบับเป็นตัวพิมพ์ดีดอยู่ในความครอบครองของพระมหาเทพกษัตรสมุห หรือ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (นายเนื่อง สาคริก พ.ศ. ๒๔๔๑ – ๒๕๔๑ มีอายุรวม ๙๙ ปี ๑๑ เดือน ๑๙ วัน ) มีรูปและลายมือชื่ออยู่ด้านหลังปกแข็งที่หุ้มต้นฉบับไว้โดยเนื้อความทั้งหมดมีความยาว 300 กว่าหน้า โดยพระองค์ทรงพระนิพนธ์ถึงวัตถุประสงค์ไว้ตอนหนึ่งว่า “ ประวัติที่ฉันเขียนไว้ให้เจ้าพระยารามราฆพ
(หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) ผู้ที่ได้เคยเป็นผู้รับใช้สรอยและเป็นมิตรที่ไว้วางใจของฉันมาตั้งญี่สิบกว่าปีแล้ว” และบันทึกนี้เคยตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในนามของสำนักพิมพ์มติชน เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ดังนั้นบันทึกนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่บอกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างที่จะเปลี่ยนผ่านรัชกาลในขณะนั้นและการเตรียมการ
(หม่อมหลวง เฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ) ผู้ที่ได้เคยเป็นผู้รับใช้สรอยและเป็นมิตรที่ไว้วางใจของฉันมาตั้งญี่สิบกว่าปีแล้ว” และบันทึกนี้เคยตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในนามของสำนักพิมพ์มติชน เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ดังนั้นบันทึกนี้จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่บอกถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างที่จะเปลี่ยนผ่านรัชกาลในขณะนั้นและการเตรียมการ
กองบรรณาธิการ Red Power เห็นว่าเป็นบันทึกที่มีประโยชน์แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่หน้ากระดาษจึงขอนำบางส่วนมาตีพิมพ์โดยมิได้ดัดแปลงข้อความใดๆ แม้บางคำจะสะกดตัวอักษรแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ขอตีพิมพ์ไปตามนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕ ตามความเป็นจริง ดังต่อไปนี้
ปลายรัชกาลที่ ๕
ฐานะของฉัน
ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ นั้นขอจงเข้าใจว่าฉันตั้งอยู่ในที่แปลกอยู่, คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถท่านตั้งพระราชหฤทัยอยู่โดยแน่นอนว่าจะไว้วางพระราชหฤทัยไนตัวฉันโดยบริบูรณ, อีกทั้งตั้งพระราชหฤทัยไว้มั่นคงว่าอย่างไรๆ ก็ต้องมิให้มีผู้ใดสงสัยได้เลยว่าฉันคือรัชทายาทผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์สนองพระองค์ท่านต่อไป. ด้วยพระราชประสงค์เช่นนี้ท่านจึ่งได้ทรงแสดงด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ปรากฏแก่คนทั่วไป, เช่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จพระราชดำเนินประพาศยุโรปครั้งที่ ๒ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ฉันเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์. และในเวลาปรกติก็ได้เปนผู้แทนพระองค์ในงานพระราชพิธีต่างๆ โดยมาก, อีกทั้งทรงมอบให้เปนผู้ดูแลกำกับราชการต่างๆอยู่เสมอๆ. เมื่อใดฉันไปเที่ยวหัวเมืองก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบอำนาจให้ไปตรวจราชการ, และรายงานกราบบังคมทูลอย่างไรก็มักจะมีพระราชานุมัติ, ดังนี้ทั้งเจ้านายและข้าราชการโดยมากจึ่งอ่อนน้อมต่อฉันโดยทั่วไป, แต่ยังมีผู้ใหญ่อยู่บางคนที่กระด้างกระเดื่องและตั้งใจทำความพยายามที่จะให้ฉันต้องถูกกริ้ว, หรือให้คลายความทรงไว้วางพระราชหฤทัย, โดยแกล้งหาความต่างๆ เพื่อนำความเสียหายมาสู่ฉัน, อีกทั้งพยายามเพาะความแตกร้าวระหว่างฉันกับพี่น้องด้วยอุบายต่างๆ ซึ่งจะนำมาแสดงในที่นี้ก็ฟั่นเผือเหลือปัญญา. การที่มุ่งร้ายหมายทำการเพราะความแตกร้าวเช่นนั้น ก็เพราะผู้ที่ควรจะเล็งเห็นว่าประโยชน์ของตนคือประโยชน์ของฉันนั้น หาได้เล็งเห็นเช่นที่ควรนั้นไม่. ความตั้งใจของญาติสนิทของฉันดูมีอยู่โดยมากแต่เพียงว่า ถ้าฉันได้เปนพระเจ้าแผ่นดินแล้วตัวเขาก็จะได้ใช้ฉันเปนเครื่องมือสำหรับดำเนิรกิจการของเขาได้โดยสดวก, ฉนั้นความมุ่งหมายจึ่งมีอยู่เพียงแต่ว่าจะต้องดัดแปลง “เครื่องมือ” นั้นไว้ล่วงหน้า, หานึกได้ว่าฉันเปนมนุษไม่ใช่เครื่องมืออันทำด้วยโลหะหรือไม้ไล่อะไร เมื่อแนะนำหรือสอนให้ฉันคิดฉันเตรียมการใดๆ แล้วฉันไม่ยอมตามก็โกรธ และนินทาฉันให้ผู้น้อยฟัง. ดังนี้ในปลายรัชกาลที่ ๕ จึ่งเปนอันกล่าวได้ว่า คนอื่นๆ (คือผู้ที่ไม่ใช่ญาติสนิทหรือเสวกสนิทของฉัน) นับถือฉันว่าเปนคนสุจริตและกอบด้วยุติธรรม, แต่คนที่เรียกว่า “ พวกเรา” เห็นฉันเปนผู้ที่บกพร่องในคุณสมบัติ, เช่นว่า “อ่อนไป” บ้าง, “ดื้อไป”บ้าง, “โง่ไป” บ้าง, “เชื่อคนยุยง” บ้าง, รวมความว่าไม่ได้อย่างใจเขานั้นแหละเปนที่ตั้ง. ฝ่ายฉันผู้ถูกคน “รัก”และอยากเอาเปนเจ้าของพยายามเหนี่ยวเอาไปทางโน้นที ทางนี้ที, จนฉันเกือบต้องร้องว่า “ช่วยฉันให้พ้นจากมิตร์ของฉันทีเถิด?” ฉันเล่าข้อความเหล่านี้พอให้เธอเข้าใจได้ว่า เหตุใดในต้นรัชกาลของฉันจึ่งได้ยุ่งเหยิงนัก. บัดนี้ จะขอเล่าถึงการประชวรและสวรรคตของพระเจ้าหลวงต่อไป.
ทูลกระหม่อมเริ่มประชวร
ถ้าดูกันเผินก็ดูเหมือนว่าพระเจ้าหลวงประชวรอยู่ได้เพียง ๔ วันเท่านั้นก็เสด็จสวรรคต, แท้จริงหาเปนเช่นนั้นไม่, เพราะเมื่อก่อนเสด็จพระราชดำเนิรประพาศยุโรปนั้นได้เริ่มทรงพระประชวรแล้ว, แต่ปิดกันนักจึ่งมิได้มีใครได้รู้, ในการเสด็จไปยุโรปก็ว่าจะไปให้หมอตรวจพระอาการ, และได้ตรวจจริง, ทั้งได้พยายามรักษาด้วย. แต่ในรายงานที่โปรดเกล้าฯให้ลงพิมพ์ไนราชกิจจานุเบกษานั้น หาได้ลงตลอดตามที่หมอตรวจและออกความเห็นไม่, มีแต่ว่ามีพระอาการประชวรเล็กน้อยที่ในช่องพระนาสิกและพระศอ, กับว่าพระเส้นประสาทไม่ค่อยจะแขงแรงเพราะทรงทำงานกลางคืนและทรงพระโอสถสูบมากเกินไป, ส่วนความเห็นของหมอที่ว่ามีพระอาการพระวักกะพิการเรื้อรัง, ซึ่งแท้จริงเป็นพระอาการสำคัญอันต้องวิตกนั้น, หาได้ลงพิมพ์ไห้ผู้ใดทราบไม่. แต่ผู้ที่รู้ก็ย่อมจะได้นึกระแวงอยู่, เพราะตามข่าวคราวที่ได้มาจากประเทศยุโรปถึงการรักษาพระองค์นั้น ย่อมจะเห็นได้อยู่ว่าเปนการใหญ่กว่าที่จำเป็นเพื่อเยียวยาหรือบำบัดพระอาการเล็กน้อยเท่าที่ได้โฆษณาไว้,
ตั้งแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรกลับจากยุโรปมาแล้วก็สังเกตเห็นได้ว่า ทูลกระหม่อมมีพระอาการประชวรอย่างน่าวิตก, พูดกันอย่างศัพท์สามัญว่า เห็นชัดว่าทรงทุพพลภาพทีเดียว พระองค์ท่านเองก็ทรงทราบดีอยู่เช่นนั้น จึ่งได้ทรงพยายามบริหารพระองค์มากทีเดียว, มีเสด็จประพาศบ่อยๆ. และออกไปประทับอยู่ที่เพชรบุรี (ตามคำแนะนำของพวกเจ้าจอม “ ก๊ก อ” ),และถึงเมื่อเสด็จอยู่ในกรุงก็ไม่ใคร่จะเสด็จออกในการงานพิธีต่างๆ, มักโปรดเกล้าฯ ให้ฉันไปแทนพระองค์เสียเป็นพื้น. แต่ก็นับว่ายังประทะประทังอยู่ได้จนทรงประสพโศกอันใหญ่, คือองค์อุรุพงศ์เจ็บและตายลง ณ วันที่ ๒๐ กันยายน, พ.ศ. ๒๔๕๒. องค์อุรุพงศ์นั้นทูลกระหม่อมท่านโปรดของท่านมาก, เพราะเปนพระราชโอรสองค์เล็กและขี้โรค, จึ่งได้ทรงโฆษณาว่าจะเอาไว้ใช้เปนไม้ธารพระกร, คือเปนอุปถากส่วนพระองค์, ไม่ให้รับราชการแผ่นดินเช่นลูกเธอองค์อื่นๆ องค์อุรุพงศ์เจ็บครั้งที่สุดนั้นหลายวัน, ทูลกระหม่อมทรงเปนห่วงและเสด็จลงไปพยาบาลอยู่เองโดยมากที่ตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์, ต้องอดพระบรรทมและทรงเหน็จเหนื่อยมากอยู่. ครั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน, พ.ศ. ๒๔๕๒, มีสวดเสดาะ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา, ทูลกระหม่อมได้เสด็จเข้าไปตามธรรมเนียม. พอเริ่มสวดมนต์และโหรบูชานพเคราะห์ ทูลกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นจากพระบัลลังก์ในพระที่นั่งไพศาล เพื่อเสด็จเข้าไปเสวยที่ชานพักตามเคย. พอเสด็จลับไปก็ได้ยินเสียงตุบ, และเสียงผู้หญิงร้อง ฉันรีบวิ่งเข้าไปที่ชานพัก, เห็นทูลกระหม่อมประทับอยู่กับพื้น,ท่านรับสั่งให้ฉันช่วยพยุงพระองค์ท่านขึ้นและพาไปประทับเหยียดบนเก้าอี้, แล้วจึ่งรับสั่งเล่าว่า ในเวลาที่ทรงก้าวลงจากพื้นพระที่นั่งไพศาลไปสู่ชานพักนั้น ได้ทรงเอาธารพระกรยัน, ปลายธารพระกรลื่นไปกับพื้นศิลาพระบาทก็เลยลื่นตามไป, จึ่งได้ทรงกระแทกลง, และในที่สุดตรัสว่า “แล้วก็นางพวกเหล่านี้ก็นั่งเฉยกันหมด, ไม่มีใครมีแก่ใจมาช่วยพ่อจนคนเดียว.” ฉันกราบทูลว่า ได้เคยนึกวิตกอยู่นานแล้วเมื่อเห็นทรงธารพระกรเล็กๆ ทรงยันอย่างเต็มน้ำหนักพระองค์. เห็นว่าควรทรงเกาะคนดีกว่า. รับสั่งว่าถูกแล้ว, แต่เวลานี้ผู้ที่ได้ตั้งพระราชหฤทัยเอาไว้ใช้เปนไม้ธารพระกรก็มาทำน่าที่ไม่ได้เสียแล้ว, ฉันเห็นท่าทางว่าท่านทรงเป็นห่วงองค์อุรุพงศ์อยู่มาก, ฉันก็หมอบนิ่งอยู่จนรับสั่งให้ฉันออกไปนั่งตามที่ก่อน, ฉันจึ่งออกไป.
ตั้งแต่วันนั้นต่อมา เห็นได้ว่าทรงกะปลกกะเปลี้ยมากขึ้นเปนลำดับ, ซึ่งเปนธรรมดาอยู่, เพราะการล้มกระแทกเปนของแสลงนักสำหรับโรคไตพิการ. ในตอนหลังนี้ออกจะไม่มีใครเข้าใจผิดแล้วว่าทูลกระหม่อมมีพระอาการอันบอกเหตุว่าย่างเข้าขั้นที่สุดแห่งพระชนมพรรษา, เปนแต่ยังหวังอยู่ว่า การบริหารพระองค์ได้ทรงกระทำดีอยู่เสมอ อาจที่จะทำให้พระชนมายุยืนไปได้อีกหลายปี.
เสด็จไปประทับที่เพ็ชรบุรี
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้นทูลกระหม่อมได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรีโดยมาก, และได้เริ่มสร้างพระที่นั่ง (ซึ่งภายหลังต่อมาฉันได้ตั้งนามว่า “ศรเพ็ชร์ปราสาทฯ”). ตามข่าวคราวที่ได้ทราบมา, ท่านตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า เมื่อพระที่นั่งนี้แล้วเสร็จจะเสด็จออกไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรีเอาเป็นพระราชสำนักประจำทีเดียว, และจะเสด็จเข้ามากรุงแต่เปนครั้งคราวเท่านั้น, ส่วนราชการแผ่นดินทรงพระราชดำริห์ไว้ว่าจะมอบพระราชทานให้ฉันเปนผู้ประศาสน์สนองพระเดชพระคุณ.
อนึ่งเมื่อได้กล่าวถึงการที่ทูลกระหม่อมมีพระราชปรารภจะเสด็จไปประทับอยู่ ณ เพ็ชรบุรีนั้น, ฉันก็จำจะต้องกล่าวถึงความทรงประพฤติแห่งเสด็จแม่ของฉันในเรื่องนี้ด้วย. ฉันมีความเสียใจที่ต้องกล่าวว่า ความทรงประพฤติของเสด็จแม่ก็เปนเหตุทำให้ฉันเสียใจเป็นอันมาก. ที่จริงทูลกระหม่อมท่านทรงพระเมตตาและทรงเกรงพระหฤทัยเสด็จแม่อยู่มากตลอดกาล, ฉนั้นเมื่อทรงพระราชปรารภที่จะเสด็จไปประทับอยู่ที่เพ็ชรบุรี จึ่งได้ทรงคำนึงถึงเสด็จแม่และมีพระราชดำรัสชวนให้เสด็จออกไปเพ็ชรบุรีด้วย. เสด็จแม่ได้ยอมตามเสด็จออกไปแต่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น, ในครั้งหลังมิได้ตามเสด็จไปด้วยอีกเลย, โดยตรัสทูลอ้างเหตุแก่ทูลกระหม่อมว่า พระองค์ท่าน (เสด็จแม่) ไม่ใคร่จะทรงสบายพระหฤทัยเมื่อเสด็จไปเพ็ชรบุรี เพราะพี่หญิงพาหุรัดได้ไปประชวรที่เพ็ชรบุรีแล้วกลับมาสิ้นพระชนม์. แต่เมื่อคำนึงดูว่า การที่พี่หญิงได้ไปประชวรและสิ้นพระชนม์นั้น ได้ล่วงเลยมาแล้วตั้ง ๒๐ ปี , เหตุที่ทรงยกขึ้นอ้างจึ่งไม่สู้จะเปนผลทำให้ทูลกระหม่อมทรงเชื่อเท่าใดนัก. เสด็จแม่ได้รับสั่งกับฉันเองว่า แท้จริงเหตุที่ไม่อยากเสด็จเพ็ชรบุรีนั้น เพราะทรงขวาง “ก๊ก อ”, ซึ่งฉันเองก็เห็นพระหฤทัยอยู่บ้าง, แต่ฉันได้ทูลตรงๆ ว่าการที่ไม่เสด็จอาจเปนเครื่องทำให้ทูลกระหม่อมไม่พอพระราชหฤทัย. และอาจเปนช่องให้ผู้เป็นอมิตร์ฉวยโอกาสกราบบังคมทูลอะไรต่อมิอะไรได้. เสด็จแม่ตรัสตอบว่าอย่างไรๆ เขาก็หาเรื่องทูลอยู่เสมอแล้ว, จะเสด็จไปหรือมิเสด็จก็คงเท่ากัน. ครั้นฉันยังทูลยืนยันอยู่ว่าเสด็จดีกว่า, ท่านกลับกริ้วเอาว่าฉันเปนผู้ชาย, นึกอย่างผู้ชายที่ไม่รู้จักน้ำใจผู้หญิง, จึ่งเข้ากับพระบิดา, “จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ” ฉันก็จำใจต้องนิ่ง. ต่อมาทูลกระหม่อมรับสั่งว่าจะปลูกพระตำหนักพระราชทานเสด็จแม่หลัง ๑ ที่เพ็ชรบุรี แต่ในระหว่างเวลาที่พระตำหนักยังไม่แล้ว ทรงชวนให้ขึ้นไปประทับอยู่ด้วยกันบนพระที่นั่งก่อน, เสด็จแม่ทูลตอบว่า เมื่อพระตำหนักแล้วจึ่งจะเสด็จออกไป, ส่วนการที่จะให้เสด็จขึ้นไปประทับพระที่นั่งนั่นทรงพระวิตกอยู่ว่าจะเปนที่รบกวนพระราชหฤทัย, เพราะพระองค์เองก็มีพระโรคาพาธเบียดเบียฬอยู่, จำเปนจะต้องมีหมอขึ้นเฝ้าอยู่เนืองๆ ได้ทราบว่าทูลกระหม่อมออกจะไม่พอพระราชหฤทัยมากในการที่ได้ทรงรับตอบเช่นนี้, และทรงบ่นว่า เสด็จแม่ไม่อยากเสด็จขึ้นไปอยู่บนพระที่นั่งเพราะเกรงจะไม่สดวกในเรื่องฉีดยา (ซึ่งในเวลานั้นออกจะเริ่มเปนความจริงขึ้นแล้ว). ต่อมาภายหลังฉันได้ข่าวว่าทูลกระหม่อมทรงบ่นมาก, และมีพระราชดำรัสครั้ง ๑ ว่า “แม่เล็กเขาเบื่อผัวเสียแล้ว, อยากอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อชมบุญลูกของเขามากกว่า”. นี่เทียวเป็นข้อที่ฉันได้นึกวิตกอยู่ก่อนแล้ว, ฉนั้นพอได้ข่าวฉันก็ได้รีบเข้าไปกราบทูลเสด็จแม่ให้ทรงทราบ ในขั้นต้นออกจะทรงดาลโทษะและตรัสว่า. “เมื่อตรัสว่าฉันเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องเป็นความจริงสิ, เพราะพระราชาต้องมีพระวาจาสิทธิ์” แต่ฉันทูลแก้ไขอยู่นาน จนในที่สุดทรงยอมเห็นตามฉัน, และทรงรับว่า ถ้าทูลกระหม่อมมีพระราชดำรัสชวนอีกก็จะตามเสด็จไป, “แต่จะให้ฉันกระเสือกกระสนไปทูลขอตามเสด็จนั้น ฉันทำไม่ได้” ครั้นเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น, เสด็จแม่จึ่งเปนอันว่าได้ตามเสด็จไปเพ็ชรบุรีอีกเที่ยว ๑
ตั้งแต่เสด็จกลับจากเพ็ชรบุรีในต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ต่อมาสังเกตว่าทูลกระหม่อมไม่ใคร่จะทรงสบาย, จะว่าประชวรอะไรก็ไม่ได้, เพราะยังได้ทราบอยู่ว่าเสด็จประพาศที่พญาไทเสมอๆ (และบางวันฉันก็ได้ไปเฝ้าที่นั้นด้วย) กับกลางคืนมีลครนฤมิตร์ (ของกรมนราธิป) เข้าไปมีถวายบ้าง ลงมือเล่นราวเที่ยงคืน เลิกเช้าตั้ง ๘ นาฬิกาก็มี
ทูลกระหม่อมทรงทุพพลภาพมากขึ้น
ในระหว่างเวลาเดือนครึ่งก่อนเสด็จสวรรคตนั้นได้แลเห็นปรากฏชัดยิ่งขึ้นว่า ทรงทุพพลภาพจริงๆ จนใครๆ ก็ได้สังเกตเห็นเช่นนั้น. ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ได้มีการเปลี่ยนผิดกับระเบียบการที่เคยมีมาแต่ก่อนหลายประการ ในค่ำวันที่ ๑๙ กันยายน ซึ่งเปนวันสวดนวคหายุสมะธรรมและโหรบูชาเทวดานวเคราะห์, แต่ก่อนๆ ได้เคยสวดในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ, แต่ในปีนี้ได้มีงานในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อมิให้ต้องเสด็จขึ้นบรรไดชันๆ วันที่ ๒๐ กันยายน เช้าไม่ได้เสด็จเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง, โปรดให้ฉันไปเลี้ยงพระแทน, ต่อค่ำจึ่งได้เสด็จออกในการสวดมนตร์ฉลองพระประจำพระชนมพรรษา. วันที่ ๒๑ เช้า โปรดเกล้าฯ ให้ฉันเข้าไปเลี้ยงพระ เวลาบ่าย ๔ นาฬิกาเสด็จออกท้องพระโรงพระที่นั่งจักรี ตามที่เคยมาการออกท้องพระโรงเคยกำหนดเวลาเที่ยงตรง, ก่อนถึงเวลากรมวังจัดเจ้านายและข้าราชการเข้ายืนประจำที่, และพอยิงปืนเที่ยงพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จออกทางพระทวารขวาพระแท่นเศวตฉัตร, เสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งพุตาน, แล้วจึ่งมีการถวายพระพรชัยมงคลและมีพระราชดำรัสตอบ, แล้วเสด็จขึ้นประทับท้องพระโรงใน, ให้ฝ่ายในถวายพระพรชัยมงคล แล้วบ่าย ๑ นาฬิกาเสด็จออกรับคณทูตที่ท้องพระโรงมุขตวันออก, ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เปลี่ยนเปนเสด็จออกในท้องพระโรงกลางแห่งเดียว, คือบ่าย ๔ นาฬิกาเสด็จขึ้นประทับอยู่บนพระที่นั่งพุตานแล้วประโคมและเปิดพระทวารด้านหน้า, ตำรวจ, กรมวัง, และข้าราชการในพระราชสำนักเข้ายืนประจำที่, แล้วจึ่งได้เบิกพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั่วไปเข้าเฝ้า เมื่อเจ้านายและข้าราชการถวายพระพรชัยมงคลและมีพระราชดำรัสตอบแล้ว, พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าออกจากท้องพระโรง, และปิดพระทวารต่อนั้นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในเข้าเฝ้า. เวลาบ่าย ๕ นาฬิกา เบิกคณทูตเข้าเฝ้าในท้องพระโรงกลางด้วยเหมือนกัน. ค่ำวันที่ ๒๑ นั้นได้เสด็จออกในการเจริญพระพุทธมนตร์เฉลิมพระชนมพรรษา, แต่ทรงเครื่องปรกติ, หาได้ทรงเต็มยศไม่. วันที่ ๒๒ กันยายน เช้าฉันได้เปนผู้เข้าไปเลี้ยงพระที่สวดมนตร์ในคืนวันก่อน, ในเวลาเลี้ยงพระแล้ว ตามระเบียบก็ควรมีสรงมุรธาภิเษกที่ลานข้างด้านตวันออกแห่งพระที่นั่งอมรินทร์, แต่ในคราวนี้ย้ายไปสรงที่สวนดุสิตเงียบๆ. เวลาค่ำได้จัดให้มีเทศนา ๔ กัณฑ์ตามแบบ แต่โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปมีที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต, และครั้นถึงกำหนดเวลาก็หาได้เสด็จออกทรงธรรมไม่, โปรดเกล้าฯ ให้ฉันเปนผู้แทนพระองค์ วันที่ ๒๓ กันยายน เวลาค่ำได้เสด็จออกที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต, ทรงฟังเทศนามงคลวิเศษของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส (คือพระองค์ซึ่งภายหลังได้ทรงเปนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณเจ้า)
วันที่ ๓๐ กันยายน มีการสวนมนตร์ ถือน้ำสารท, ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันเปนผู้ไปแทนพระองค์. ในวันที่ ๑ ตุลาคม ซึ่งเปนวันถือน้ำ, ในปีนี้ก็ได้กำหนดการใหม่คือเวลาบ่าย ๒ นาฬิกาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฉันไปจุดเทียนนมัสการในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และให้นั่งกำกับการถือน้ำที่นั้น. นอกจากฉันมีเสนาบดีและผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการกับผู้บัญชาการทหารเรือไปอยู่ที่พระอุโบสถด้วย. พราหมณ์อ่านโองการแช่งน้ำ และอาลักษณ์อ่านประกาศตามเคยแล้ว, ข้าราชการขึ้นถือน้ำในพระอุโบสถตามเคย, แล้วเข้าไปถวายบังคมพระบรมอัษฐิที่ชลาหน้าพระที่นั่งสนามจันทร์เวลาบ่าย ๔ นาฬิกา พระเจ้าหลวงจึ่งเสด็จออกท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, เบิกพระบรมวงศานุวงศ์เข้าถือน้ำต่อหน้าพระที่นั่ง, แล้วข้าราชการเดิรผ่านเฝ้าเรียงตัวจนหมดแล้ว, เจ้านายฝ่ายหน้าออกจากท้องพระโรง, ปิดพระทวาร, แล้วมีการถือน้ำฝ่ายในต่อไป.
(ในที่นี้ควรอธิบายไว้ว่า แต่ก่อนนี้เคยมีการถือน้ำปีละ ๒ ครั้ง, คือในต้นปี เรียกว่า “ถือน้ำตรุษ”, กำหนดวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ครั้ง ๑ , ในกลางปี เรียกว่า “ถือน้ำสารท”, กำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ อีกครั้ง ๑ , ครั้งที่ ๑ มักติดต่อกับพิธีตรุษ. และครั้งที่ ๒ ติดต่อกับพิธีสารท.)
ในงานพิธีสารท ณ วันที่ ๒,ที่ ๓ และที่ ๔ ตุลาคมนั้นโปรดเกล้าฯให้ฉันเปนผู้ไปแทนพระองค์ทั้ง ๓ วัน.
วันที่ ๑๗ และที่ ๑๘ ตุลาคม มีงานทำบุญพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยตามธรรมเนียม, คือมีสวดมนตร์ ๓๐ รูป แล้วเทศนา ๑ กัณฑ์เหมือนกันทั้ง ๒ วัน, และพระเจ้าหลวงไม่ได้เสด็จทั้ง ๒ วัน ได้ทราบข่าวว่าประชวรพระอุทรไม่ปรกติ, แต่ก็ว่าไม่ใช่มีพระอาการมากมาย, เปนแต่เพราะมีฝนตกอยู่จึ่งทรงระวังพระองค์ไว้.
(ฉบับหน้าอ่านต่อในหัวข้อสำคัญ ทูลกระหม่อมทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายและเสด็จสวรรค
No comments:
Post a Comment
เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ