ตอน ความคิดเรื่องตั้งรัฐมนตรีสภา
จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)
โดยกองบรรณาธิการ RED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม 2556
จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)
โดยกองบรรณาธิการ RED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม 2556
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ขึ้นครองราชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัญหาการวางพระบรมราโชบายเพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศในรัชกาลของพระองค์ก็เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง เพราะในสมัยพระราชบิดาคือรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างคุณูปการคือได้ทรงเลิกทาสซึ่งถือเป็นพระเกียรติยศและผลงานอันยิ่งใหญ่เป็นที่ชื่นชมของพสกนิกร ดังนั้นในรัชกาลใหม่จำเป็นที่จะต้องมีพระราชดำริในแนวนโยบายใหม่ให้เสมอด้วยพระเกียรติยศของสมเด็จพระราชบิดาในเรื่องการเลิกทาส ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่องการสร้างระบอบรัฐสภาจึงก่อกำเนิดขึ้นซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีคำเรียกขานจึงใช้ภาษาทับศัพท์ของอังกฤษว่า “ปาร์ลีย์เมนต์” แต่แนวคิดนี้ก็ยังไม่ตกผนึก ดังท่านผู้อ่านจะได้เห็นข้อขัดแย้งทางแนวพระราชดำริระหว่างรัชกาลที่ 6 กับพระเจ้าน้องยาเธอสมเด็จเจ้าฟ้าชายจักรพงศภูวนาถในพระราชนิพนธ์ในหัวข้อ “ความคิดเรื่องตั้งรัฐมนตรีสภา” ดังต่อไปนี้
ในระหว่างนี้ได้เกิดมีความคิดขึ้นอย่าง ๑ ซึ่งในที่สุดก็ยังมิได้ดำเนิรการไปจนทุกวันนี้, คือเรื่องตั้งรัฐมนตรีสภา. อันที่จริงใช้คำว่า “ตั้ง” ไม่สู้จะตรงนัก, เพราะว่าแท้จริงสภานั้นได้ตั้งขึ้นแต่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วเลือนหายไปเอง, หาได้เลิกไม่ ฉนั้นก็ต้องนับว่าในรัชกาลของฉันก็ได้มีรัฐมนตรีสภาต่อมา. ในชั้นต้นๆ เมื่อแรกตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทราบว่าได้เคยมีการประชุมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ทำอะไรจริงจังเปนชิ้นเปนอัน, และพวกเสนาบดีเจ้ากระทรวงดูเหมือนจะร้องกันว่าการต้องไปประชุมในสภานั้นเสียเวลาเปล่า จึ่งไม่ใคร่จะได้ไปกัน, ลงท้ายก็เลยโรๆ เรๆ ไป เมื่อฉันกลับเข้ามาจากศึกษาที่ประเทศยุโรปแล้ว และได้เข้าไปรับราชการอยู่ในกรมราชเลขาธิการ, ฉันจำได้ว่าเคยเห็นรายงานของรัฐมนตรีสภาถวายเข้าไปทุกๆ สัปดาห มีข้อความทุกๆ ฉบับเหมือนกันว่า.-
“การประชุม. ไม่มี, เพราะไม่มีราชการในระเบียบวาระ.
“ราชการในระเบียบวาระ. ไม่มี.
“(ลงนาม) พระยาวุฒิการบดี, ผู้รั้งตำแหน่งสภานายก
“(ลงนาม) พระยาศรีสุนทรโวหาร, เลขาธิการ”
ครั้นเมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตลง น้องชายเล็กต้องการจะหาอะไรอย่าง ๑ ซึ่งจะเปนเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศของรัชกาลที่ ๖ แทนการเลิกทาสของรัชกาลที่ ๕, เธอนึกขึ้นได้ว่ารัฐมนตรีน่าจะพอใช้สำหรับประโยชน์เช่นว่านั้นได้. เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคมเธอได้ขอเฝ้าเปนส่วนตัว, และแสดงความเห็นเรื่องรัฐมนตรีนั้นยืดยาว, แต่พอจะสรุปความได้ดังต่อไปนี้.
(๑) ต้องหาอะไรเปนข้อเฉลิมพระเกียรติยศ สู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อม.
(๒) ของนั้นต้องหาให้ได้และประกาศให้ทันวันบรมราชาภิเษก.
(๓) เวลามีน้อยนึกเตรียมอะไรที่ใหม่ทีเดียวไม่ทัน, จึ่งหันไปนึกหาของเก่าที่อาจจะแปลงรูปขึ้นได้โดยง่ายและเร็ว
(๔) สมัยนี้ฝรั่งกำลังนิยมปาร์ลีย์เมนต์, แต่ในเมืองเรายังไม่ถึงเวลาที่ควรจะตั้งปาร์ลีย์เมนต์ขึ้น จึ่งเห็นว่าควรตั้งสภาอะไรขึ้นตบตาแทนไปทีหนึ่ง, จึ่งนึกขึ้นได้ว่าสภาเช่นนั้นก็มีอยู่แล้ว, คือรัฐมนตรีสภา, แต่สภานั้นยังมิได้กระทำกิจการจริงจังอะไรเลย, ถ้าได้จัดวางระเบียบเสียใหม่ ให้สภานั้นได้กระทำหน้าที่ตรวจและปรึกษาร่างกฎหมายจริงๆ ก็จะพอให้ฝรั่งเห็นว่าฉันมีความตั้งใจที่จะดำเนิรเข้าสู่ทางอันนิยมกันว่าเปนทางเจริญ. เท่ากับปฏิญญาว่าจะดำเนินราโชบายหันไปหาทางที่เขานิยมกันอยู่, และถ้าได้ประกาศการฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นนี้ทันในงานบรมราชาภิเษกได้ละก็, ตามคำของน้องชายเล็กว่า, “จะงดงามพิลึก, พะเผื่อยสิ”
ส่วนตัวฉันเองได้เคยรู้มาแล้วว่ารัฐมนตรีสภาเปนอย่างไรมาก็ไม่สู้จะตื่นเต้นในความคิดของน้องชายเล็กนักดอก. ข้อ ๑ การที่จะคิดหาอะไรทำให้เปนการเอิกเกริกโครมครามสู้กับการเลิกทาสของทูลกระหม่อมนั้น ฉันเห็นว่ายากนัก, เพราะการเลิกทาสเปนของที่ฝรั่งตื่นกันมาก, นับว่าเปนมูลรากแห่งอิศรภาพทีเดียว, จึ่งจัดเอาเปนการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญมากอย่าง ๑. แต่ในสมัยนั้นการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ทูลกระหม่อมท่านก็ได้ทรงประสิทธิ์ประสาทไปเสียมากแล้ว, จึ่งไม่มีอะไรเหลือให้ฉันทำขึ้นใหม่ได้. ข้อ ๒ การที่จะจัดการฟื้นรัฐมนตรีสภาขึ้นนั้น ฉันยังไม่แน่ใจว่าฝรั่งเขายอมเชื่อว่าเปนพยานว่าเราจะเริ่มดำเนิรราโชบายไปทางมีปาร์ลีย์เมนต์ต่อไป. ปาร์ลีย์เมนต์นั้นถ้ามีได้จะเปนการดีและสดวกแก่ฉันมาก เพราะจะได้เปนเครื่องช่วยแบ่งภาระและเอาการถูกซัดต่างๆ ไปจากฉันให้ได้บ้าง, แต่ถ้าจะเปนแต่เพียงตั้งขึ้น“ตบตา” ฉันเกรงว่าจะกลแตก, แล้วจะเลยกลายเปนเสียชื่อแทนที่จะได้ชื่อ ข้อที่ ๓ ผู้ที่จะเปนสภานายกและสมาชิกแห่งรัฐมนตรีสภานั้น ฉันรู้สึกว่าจะหายากอยู่ ในเวลานั้นฉันนึกออกอยู่คนเดียวแต่กรมราชบุรี, ที่เห็นว่าพอจะเปนสภานายกได้. น้องชายเล็กก็เห็นชอบด้วย.
ในเวลาบ่ายวันที่ ๒๕ เมื่อมีการประชุม ฉันจึ่งได้ยกเรื่องรัฐมนตรีสภาขึ้นปรึกษาด้วย สังเกตว่าผู้ที่ไปประชุมในวันนั้นไม่สู้จะตื่นรัฐมนตรีนัก, แต่ก็ไม่มีใครคัดค้านในการที่จะลองตั้งขึ้น ฉันจึ่งตกลงไว้ว่าจะให้หากรมราชบุรีเข้าไปพูดจากันดูก่อน. ที่ฉันตกลงเช่นนั้นฉันขอสารภาพว่าไม่ใช่เพราะฉันเลื่อมใสตามน้องชายเล็กว่ารัฐมนตรีสภาจะเปนเครื่องเชิดชูเกียรติยศของฉัน หรือว่าจะเปนสภาที่ใช้ตรวจร่างกฎหมายได้จริงจังนักดอก แต่ฉันนึกหวังอยู่ว่าอาจที่จะได้ประโยชน์อยู่ ๒ ประการ. ประการที่ ๑ พูดตามทางตรงไปตรงมา, คือการออกกฎหมายของเราตามที่ได้เปนมาแล้ว เจ้ากระทรวงเปนผู้ร่าง ฉนั้นมักจะนึกแต่คงความสดวกแห่งกิจการ และความสดวกของเจ้าพนักงาน ผู้ที่จะต้องดำเนิรการตามพระราชบัญญัตินั้นๆ มากกว่าความสดวกของสาธารณชน, ถ้ามีรัฐมนตรีสภาเปนผู้ตรวจร่างพระราชบัญญัติต่างๆ เสียก่อนที่จะประกาศใช้ก็อาจจะทำประโยชน์ได้อยู่บ้าง, เพราะหลายคนด้วยกันก็คงจะต้องมีผู้แลเห็นข้อขัดข้องในร่างและทักท้วงกันขึ้นบ้าง, ไม่มากก็น้อย, ประการที่ ๒ ฉันรู้สึกอยู่ในเวลานั้นว่ากรมราชบุรีนั้นทิ้งไว้ลอยๆ ไม่ให้ทำราชการนั้นไม่เหมาะ เพราะมีผู้ที่นิยมนับถือกรมราชบุรีอยู่มาก, เห็นว่าเปนผู้ที่มีความรู้เก่งต่างๆ, และถ้าทิ้งไว้ให้อยู่ลอยๆ ผู้ที่ไม่รู้ความจริงว่ากรมราชบุรีรักฉันแท้ๆ ก็อาจที่เข้าใจผิดคิดเห็นไปว่ากรมราชบุรีอยู่ในจำพวกที่แค้นและ “แอนตี้” รัฐบาล และกรมราชบุรีเองหรือก็เปนผู้ที่มีปัญญามากกว่ามีสติ, เมื่อเกิดโทโษขึ้นมาแล้วมักไม่ใคร่จะระวัง, พูดหรือทำอะไรอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ควร เช่นในเรื่องคดี “พญาระกา” ในปลายรัชกาลที่ ๕ นั้นเปนตัวอย่าง, จึ่งรู้สึกว่าถ้าหาตำแหน่งราชการให้ท่านเสียจะดีกว่า
ครั้นเวลาบ่ายวันที่ ๒๗ ตุลาคม ฉันจึ่งได้นัดให้กรมราชบุรีไปพบกับฉันที่พระที่นั่งจักรี, เล่าความปรารภเรื่องรัฐมนตรีสภานั้นให้ท่านฟัง, แล้วและชวนให้ท่านรับตำแหน่งเปนสภานายกแห่งรัฐมนตรีสภา.กรมราชบุรีพูดว่า ก่อนอื่นขอแสดงความรู้สึกจับพระทัยในการที่ได้เห็นว่าฉันมีความไว้วางใจในพระองค์ท่าน, เพราะเมื่อมาคิดดูถึงความผิดของท่านที่ได้กระทำไว้ก่อนนั้นไม่ช้านัก (คือเรื่องลาออกและเปนเหตุให้พวกตุลาการหยุดงาน) ก็มิได้มีความหวังเลยว่จะได้รับความไว้วางใจ, และการที่ได้มาแลเห็นว่าฉันยังไว้วางใจอยู่เช่นนี้ นับว่าเปนสิ่งเกินความคาดหมายของท่าน ท่านขอกล่าวต่อไปว่า ส่วนพระองค์ท่านนั้นแท้จริงมิได้รังเกียจเดียจฉันท์ หรือเกี่ยงงอนอะไรเลยในการที่จะรับราชการของฉัน, ซึ่งพระองค์ท่านมีความรักและนับถือมานานแล้วจริงๆ, แต่ขอบอกกล่าวไว้ว่าพระองค์ท่านเป็นคนไข้ บกพร่องทั้งในส่วนร่างกาย ทั้งในส่วนความคิด, ถ้าแม้ว่าฉันแลเห็นว่าท่านกระทำผิดพลาดพลั้งไปบ้างอย่างหนึ่งอย่างใดขออย่าให้เกรงใจท่านเลย ขอให้เรียกมาว่ากล่าวโดยตรงๆ เถิด. อนึ่งท่านขอว่าอย่าให้นึกว่าเปนความจำเปนที่จะต้องคิดหาหรือปั้นตำแหน่งขึ้นสำหรับท่าน, และถ้าแม้ว่าฉันเห็นว่าควรจะเลื่อนผู้ใดให้สูงขึ้นในทางตำแหน่งหรือยศหรือตราก็ขออย่าให้เปนห่วงถึงพระองค์ท่านเลย ฉันได้ตอบว่าขอให้ท่านรับเอาเรื่องรัฐมนตรีสภานั้นไปทรงพระดำริห์ดูหน่อยเถิด เผื่อว่าจะจัดการให้เปนประโยชน์ขึ้นได้บ้าง กรมราชบุรีก็ตกลงรับว่าจะไปใคร่ครวญดู
กรมราชบุรีคงจะได้ใคร่ครวญแล้วและไม่แลเห็นว่าจะจัดขึ้นให้เปนประโยชน์ได้ ท่านจึ่งเก็บเอาไปนิ่งเฉยเสียเปนนาน, แล้วในที่สุดก็บอกเปิดมาว่าไม่รับจะจัดการนั้นต่อไป, จึ่งเปนอันระงับไปคราวหนึ่ง แต่น้องชายเล็กแกไม่หายรักความคิดอันนั้นของแก, ฉนั้นต่อๆ มาแกก็ได้กวนฉันจะให้ตั้งรัฐมนตรีสภานั้นอีกเปนหลายครั้ง, ดูน้องชายเล็กแกฉวยเอารัฐมนตรีสภานั้นเปนเจ้าของเสียทีเดียว, และความที่แกอยากให้คนนิยมตามแกพอใจพูดอยู่บ่อยๆ ว่ารัฐมนตรีสภานั้นเปนขั้นที่ ๑ ของการมีปาร์ลีย์เมนต์, จนอ้ายพวกหนุ่มๆ “รักชาติ” เข้าใจว่าน้องชายเล็กเปนผู้ที่อยากให้มีปาร์ลีย์เมนต์, แต่ว่าฉันเปนผู้ที่ไม่ยอม, มันจึ่งเรียกฉันว่า“อ้าย...” และเรียกน้องชายเล็กว่า “เจ้าพ่อนะโปเลียน” ที่จริงนั้นน้องชายเล็กแกมิได้ต้องการเลยที่จะให้มีปาร์ลีย์เมนต์, เปนแต่ต้องการให้มีรัฐมนตรีสภาซึ่งแกหวังให้ประโยชน์ ๒ อย่าง อย่าง ๑. สำหรับตบตาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว. อีกอย่าง ๑ แกคิดจะใช้รัฐมนตรีสภาเปนเครื่องมือทำโทษคนที่ทำไม่ถูกใจของแก, ฉนั้นเมื่อใดโกรธเคืองเสนาบดีคนใดคน ๑ ขึ้นมาแกก็รบเร้าจะให้ตั้งรัฐมนตรีสภาขึ้น, โดยอ้างว่าจะได้มีดุ้นอะไรดุ้น ๑ ที่เสนาบดีต้องนึกเกรงใจอยู่ เพราะว่าอ้ายดุ้นนั้นมันอาจจะด่าเอาได้จังๆ โดยไม่ต้องกลัวความผิด ส่วนลักษณะของรัฐมนตรีสภานั้นน้องชายเล็กต้องการเอาแบบของรัสเซียมาใช้คือให้ตั้งข้าราชการสูงอายุเปนสมาชิก, ให้ปรึกษาตรวจร่างกฎหมายและการเงิน, และเมื่อปรึกษากันแล้วให้ถวายรายงาน ลงนามเปน ๒ พวก คือเห็นชอบฝ่าย ๑ ไม่เห็นชอบอีกฝ่าย ๑ ถ้าพระราชาทรงเห็นชอบด้วยกับฝ่ายใดก็ทรงเขียนลงทางฝ่ายนั้นว่า “และเราด้วย” แล้วฝ่ายนั้นก็ต้องชะนะ, ซึ่งไกลกับแบบแผนระเบียบการของปาร์ลีย์เมนต์เปนตรงกันข้ามทีเดียว ฉันเปนผู้ที่ไม่ชอบเล่นการตบตา ฉันจึ่งไม่สู้จะสมัคนักในการบ่นต่างๆ ให้บริษัท บริวารฟัง, จนทำให้พวกผู้น้อยที่เขลาๆ เข้าใจผิดเกือบจะทั่วไปว่าน้องชายเล็กกับฉันไม่ชอบกันเพราะน้องชายเล็กต้องการเปลี่ยนลักษณะปกครองไปตามแบบสมัยใหม่ แต่ฉันดื้อ ไม่ยอมคล้อยตาม ฉันกล่าวได้โดยแน่นอนในบัดนี้ว่าความเข้าใจผิดในข้อนี้เปนข้อ ๑ ซึ่งทำให้เกิดมีผู้กล้าคิดก่อกำเริบขึ้นภายหลัง. แต่เรื่องนี้ขอระงับไว้เพียงเท่านี้ทีหนึ่ง. และขอเล่าถึงกิจการตามลำดับต่อไป.
No comments:
Post a Comment
เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ