เขาอาจจะไม่ดังเท่าสตีฟ จ๊อบส์ หรือบิล เกตส์
แต่ แอนดี้ โกรฟ ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกด้านอินเทอร์เน็ต อดีตซีอีโอของ Intel และเจ้าของหนังสือ “Only the Paranoid Survive” เป็นคนที่ผมชื่นชมในฐานะนักคิดนักปฏิบัติยุคดิจิทัลคนแรก ๆ ที่ผมติดตามผลงานและแนวคิดอย่างจริงจังคนแรก ๆ ในยุคไซเบอร์
เมื่อเขาจากไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในวัย 79 จึงทำให้ผมย้อนรำลึกถึงแนวคิดที่เคยเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขา ผมเคยแปลชื่อหนังสือ Only the Paranoid Survive ให้เพื่อนฟังว่า “คนขี้ตระหนกเท่านั้นที่อยู่รอดได้”
ในช่วงหนังสือออกใหม่ ๆ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน คำทำนายทายทักว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่เรียกว่า disruption นั้นเพิ่งจะเกิดใหม่ ๆ
และส่วนใหญ่ไม่มีใครเชื่อว่าเทคโนโลยี จะสามารถสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมทุก ๆ ด้านได้ขนาดที่เราเห็นอยู่ขณะนี้
เพราะช่วงนั้นยังไม่มี iPhone ไม่มี Twitter ไม่มี Facebook และ ไม่มี Google
แต่หนังสือเล่มนี้สอนให้ผมเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมรับกับ “ลมแห่งความผันผวน” ที่มาพร้อมกับโลกไซเบอร์
และมันก็มาจริง ๆ ...มาอย่างแรงเกินกว่าที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ด้วยซ้ำไป
แอนดี้ โกรฟ พูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “บทเรียนที่เราได้มีง่าย ๆ ว่าเราต่างก็ต้องเปิดตัวเองให้พร้อมจะรับกับลมแห่งความเปลี่ยนแปลง”
ก่อนที่จะกลายเป็นภาษาดุเด็ดเผ็ดมันทุกวันนี้ว่า “Adapt or die!”
ที่ผมแปลให้พรรคพวกในที่ทำงานว่า “ไม่ปรับก็พับฐาน”
หรือวลีที่ว่า “ธุรกิจล้มเหลวมีสองเหตุผล หนึ่งคือพวกเขาทิ้งลูกค้า หรือสองลูกค้าทิ้งพวกเขา”
พูดด้วยภาษาง่าย ๆ แต่ได้ความหมายมากกว่าที่จะเขียนบรรยายเป็นวรรคเป็นเวรเหมือนตำราวิชาบริหารทุกวันนี้
อีกประโยคหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นที่ทำให้ผมนั่งหัวเราะเกือบตกเก้าอี้
“How can you motivate yourself to continue to follow a leader when he appears to be going around in circles?”
แปลว่า “คุณจะกระตุ้นให้ตัวเองยังเดินตามผู้นำของคุณได้อย่างไร เมื่อเขาดูเหมือนจะเดินวกไปวนมาอยู่ที่เก่านั่นแหละ”
ทำให้ผมคิดถึงสุภาษิตไทยที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด”
ซึ่งใช้ไม่ได้กับหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะในเรื่องการตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำอะไร ที่จะผลักดันให้ตนเองไปสู่ความก้าวหน้าทันกับความเปลี่ยนแปลง
เพราะเชื่อว่าเดินตามผู้ใหญ่โดยไม่เลือกว่าเป็นผู้ใหญ่แบบไหนนี่แหละที่แม้หมาจะไม่กัด แต่ก็ไปไม่ถึงไหน เพราะไม่กล้าแซงหน้าหรือไม่คิดจะเดินออกนอกซอยเดิม ๆ นั้นเลย
เขาเป็นคนที่ใช้คำว่า Inflection Point หรือ “จุดหักเห” เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการปรับตัวให้ทันกับจังหวะที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
ก่อนจะมีคำว่า Tipping Point ของ Malcolm Gladwell ที่สื่อความหมายถึง “จุดหักเห” อีกมุมหนึ่ง
แอนดี้พูดไว้ว่าคนที่เคยสำเร็จในยุคหนึ่ง มักจะเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงไม่ทันในอีกยุคหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่ามีความเป็นจริงอยู่ไม่น้อยในชีวิตความเป็นจริง
เขาบอกว่า “The person who is the star of the previous era is often the last one to adapt to change, the last one to yield to logic of a strategic inflection point and tends to fall harder than most…”
และคุณรู้ว่ามาถึง “จุดหักเห” นั้น, หากจะอยู่รอดก็ต้อง “ตื่นขึ้นมาและฟัง”
ปัญหาอยู่ที่ว่าคนจำนวนไม่น้อย ไม่รู้ว่า “จุดหักเห” ของตัวเองอยู่ที่ไหน และส่วนใหญ่มักจะโทษคนอื่นว่าทำไมไม่มาเตือนเขาก่อน
ทั้ง ๆ ที่เมื่อมีคนเตือน เขาจะย้อนกลับทุกครั้งว่า “คุณตื่นตระหนกเกินไปหรือเปล่า?”
No comments:
Post a Comment
เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ