นายกในดวงใจ

2018-01-01

จากเจ้าของโรงแรม... สู่แดนประหาร

                   



                            

“พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ” จากนักโทษประหารสู่ผู้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม กับคำยืนยันว่า “คุกเปลี่ยนคนไม่ได้”ณัฐเมธี สัยเวช

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมตามโครงการส่งเสริมพลังอำนาจ “ผู้ตัดสิน” และ “ผู้ถูกตัดสิน” ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวิทยากรท่านหนึ่งในการประชุมดังกล่าวนั้นก็คือ คุณพัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ อดีตผู้ต้องขังที่เคยต้องโทษประหารชีวิต





พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยพีบีเอส (https://goo.gl/wDQX8B)

พ.ศ. 2545 คุณพัทธ์อิทธิ์เป็นคนหนุ่มอนาคตไกลทายาทกิจการโรงแรมในจังหวัดพิษณุโลกผู้ตกเป็นผู้กล่าวหาในคดีจ้างวานฆ่า ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดจริง จึงตัดสินให้ประหารชีวิต ทำให้คุณพัทธ์อิทธิ์ต้องเดินทางเข้าสู่โลกอีกใบในทันที จากหนุ่มนักเรียนนอกที่กลับมากอบกู้กิจการทางบ้านให้ฟื้นคืนจากพิษวิกฤติต้มยำกุ้ง เพลย์บอยเลือดร้อนผู้ work hard, play hard คำพิพากษาครั้งนั้นทำให้อิสรภาพของเขากลายเป็นเพียงความทรงจำกึ่งความฝัน ทั้งที่เขามั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ถึงขนาดยืนยันกับทางครอบครัวอย่างเต็มที่ว่าอย่าทำการ “วิ่งเต้น” ในรูปแบบใดๆ ทั้งที่ทางบ้านนั้นสามารถทำได้ด้วยกำลังทรัพย์สินและสายสัมพันธ์ที่มี
หลังจากมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คุณพัทธ์อิทธิ์ยังคงยืนยันจะสู้ต่อเพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ทำลายความเชื่อมั่นของเขาอีกครั้ง รวมทั้งบ่อนเซาะกัดกินศรัทธาอันโลกนี้บอกให้คนมีต่อความดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการพิพากษายืนตามการตัดสินของศาลชั้นต้น
แต่แม้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำนานถึงสี่ปี หนึ่งเดือน ยี่สิบเจ็ดวัน และมีโซ่ตรวนล่ามข้อเท้าตลอดเวลาเช่นเดียวกับนักโทษประหารคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ในที่สุด ศาลฎีกาก็กลับคำพิพากษา ตัดสินว่าคุณพัทธ์อิทธิ์ไม่มีความผิด ทำให้เขาได้กลับมาสัมผัสกับอิสรภาพอีกครั้ง
ทว่า แม้การตกเป็นผู้ต้องขังได้ทำให้ทัศนคติชีวิตของคุณพัทธ์อิทธิ์เปลี่ยนแปลงไป แต่มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะแบบที่สังคมเชื่อว่าการให้คนเราเข้าไปใช้ชีวิตแย่ๆ อยู่ในเรือนจำจะทำให้คนเรากลับตัวกลับใจ คุณพัทธ์อิทธิ์บอกในรายการเจาะใจว่าสำหรับเขาในตอนนั้น การเข้าไปอยู่ในเรือนจำทำให้มีสภาพเหมือน “พยัคฆ์ติดปีก” ความใจร้อนของตนยังคงเดิม เพิ่มเติมคือใจร้อนอย่างไรให้รอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย ตัวอย่างของ “ปีก” ที่คุณพัทธ์อิทธิ์ยกมาในรายการเดียวกันนั้นคือความรู้ว่าจะฆ่าคนอย่างไรไม่ให้กฎหมายเอาเรื่องได้ และในการประชุม เขายังเปิดเผยถึงความคิดเมื่อตอนที่ได้รับอิสรภาพว่ายังมีความต้องการจะไป “เอาคืน” คนอีกสี่คนที่ทำให้เขาต้องเข้าไปเผชิญชีวิตในเรือนจำ ซึ่งเมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว ก็คงไม่เกินไปนักหากจะสรุปว่า วิธีคิดแบบที่เราใช้ในการดำเนินงานในคุกแบบที่เป็นที่อยู่ ไม่ได้ให้ผลดังที่เราเชื่อมั่นและคาดหวังกัน ทั้งยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักหนากว่าเดิมด้วย
บางคนอาจรู้สึกเห็นแย้งว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคุณพัทอิทธิ์นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดี นั่นก็คงเป็นส่วนหนึ่ง แต่จากการที่ได้ฟังเขาเล่าทั้งหมดในการประชุมนั้น คุณพัทธ์อิทธิ์ยืนยันว่าการปฏิบัติกับผู้ต้องขังในเรือนจำเหมือน “เป็นของเหลือจากสังคม” ดังที่ใช้กันอยู่นั้นไม่มีทางจะทำให้คนกลับตัวกลับใจได้ มิหนำซ้ำจะยิ่งทำให้คนมีความโกรธแค้นมากขึ้นไปอีก
คุณพัทธ์อิทธิ์เห็นในสิ่งที่เราอาจสรุปเป็นคำพูดได้ว่าในเรือนจำนั้นไม่มีกระบวนการทางจิตใจและความคิดที่จะทำให้ผู้ต้องขังได้เข้าใจว่าที่ตนเองทำนั้นผิดจริงๆ ทั้งยังมีลักษณะการอยู่กันอย่างกดขี่เป็นลำดับขั้น จนเขาต้องตั้งคำถามว่าแล้วผู้ต้องขังที่ตกอยู่ในสภาพแบบนั้นจะกลับคืนสู่สังคมด้วยความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานภายในเรือนจำ โดยคุณพัทธ์อิทธิ์ ยกตัวอย่างเรื่องการตัดผ้าเย็บผ้า ที่ผู้ต้องขังจะได้รับค่าตอบแทนวันละ 3-5 บาท หรือแม้การอบรมฝึกอาชีพต่างๆ ที่แม้จะมีอยู่จริงแต่เมื่อพ้นโทษออกมาแล้วสังคมก็ยังคงไม่ให้โอกาสกับอดีตผู้ต้องขัง ก็ทำให้ต้องวนเวียนกลับไปอยู่ในวงจรของการกระทำผิดซ้ำในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรือนจำไม่สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้ดังที่มักกล่าวกัน เพราะยิ่งปฏิบัติเหมือนผู้ต้องขัง “ไม่ใช่คน” เขาก็ยิ่งไม่เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี
“ในทางกฎหมายแล้ว 
การถูกส่งไปอยู่ในคุกนั้นเป็นคนละเรื่องกับการให้ไปอยู่ในคุกแย่ๆ เพื่อให้คุณทุกข์ทรมาน 
การลงโทษก็คือการที่คุณต้องสูญเสียอิสรภาพ 
ถ้าเราปฏิบัติต่อผู้คนในตอนที่อยู่ในคุกเยี่ยงสัตว์ พวกเขาก็จะประพฤติตนอย่างสัตว์ 
แต่ที่นี่เราให้ความใส่ใจแก่คุณในฐานะสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน”
อาร์น ควาร์นวิก นีลเซน (Arne Kvernvik Nilsen)
ผู้ปกครองแห่งคุกบาสเตย (Bastøy) ประเทศนอร์เวย์
ที่มา: https://goo.gl/XTnxbg
นอกจากนี้ จากกรณีของตนเอง คุณพัทธ์อิทธิ์ยังได้แสดงความเห็นใจผู้พิพากษา ทว่าก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัด หรือกระทั่งจุดอ่อนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม นั่นก็คือการที่ผู้พิพากษานั้นจะพิพากษาโดยตัดสินจากสำนวนคดีที่ได้รับมาเป็นหลักใหญ่ จนทำให้เกิดผลเป็นการพิพากษาที่ผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
ในตอนหนึ่ง คุณพัทธ์อิทธิ์บอกว่าตนนั้นโชคดีกว่าผู้ต้องขังหลายๆ คน เพราะตนนั้นพ้นโทษออกมาแล้วก็ยังมีที่ไป มีบ้านอยู่ มีงานทำ ยังคงมีครอบครัว ในขณะที่ผู้ต้องขังบางราย เช่น ชาวเขารายหนึ่งที่คุณพัทอิทธิ์ยกตัวอย่างนั้น ครอบครัวแตกสลายกระจัดกระจายกันไปตั้งแต่ตอนที่ตนเองยังต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษไปแล้วก็ไม่รู้ว่าชีวิตของเขาจะเป็นเช่นไรต่อไป
ซึ่งจากเรื่องราวดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่มีปลายทางเป็นเรือนจำได้ดังนี้
  1. ก่อนการคุมขัง: ในขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาเพื่อพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดจริงหรือไม่นั้น ยังมีช่องว่างระหว่างผู้พิพากษากับหลักฐานและพยานในคดีอยู่มาก กล่าวคือยังเป็นการทำงานอย่างแยกส่วนกันระหว่างผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนสอบสวนสำนวนคดี และช่องว่างนี้สามารถทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการพิจารณาพิพากษาจนอาจนำไปสู่ผลการตัดสินที่ผิดพลาดได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นางพิมลรัตน์ วรรธนะหทัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้ยกตัวอย่างแนวทางของประเทศฝรั่งเศส ที่ผู้พิพากษาสามารถลงไปสืบคดีเองได้ และมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในคดีอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสามารถช่วยอุดช่องว่างดังกล่าวได้
  2. ระหว่างการคุมขัง: แม้ไม่ได้กล่าวออกมาโดยชัดเจน แต่เห็นได้ว่าทุกสิ่งที่คุณพัทธ์อิทธิ์กล่าวนั้นล้วนมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “สิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง” ซึ่งเรื่องราวของคุณพัทธ์อิทธิ์นั้นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างอันเป็นรูปธรรม ที่แสดงถึงปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคม โดยเป็นผลจากการที่มุ่งใช้การลดทอนความเป็นมนุษย์ให้เกิดความหลาบจำ มากกว่าจะส่งเสริมความเป็นมนุษย์เพื่อให้เห็นคุณค่าทั้งต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น ดังที่คุณพัทธ์อิทธิ์บอกว่าการทำเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของการเป็นคนดี
  3. หลังพ้นจากการคุมขัง: ปัญหาสำคัญของที่ผู้ต้องขังซึ่งพ้นโทษไปแล้วต้องเผชิญก็คือ “การขาดโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่” ซึ่งการขาดโอกาสนี้อาจสรุปสาเหตุได้ 3 ประการ คือ 1. สังคมไม่ยอมรับ 2. ทักษะที่ได้รับการฝึกอบรมมาจากในเรือนจำนั้นไม่เพียงพอต่อการนำไปตั้งต้นชีวิตใหม่ หรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 3. ไม่มีหนทาง ไม่มีความรู้ ว่าตนเองควรจะต้องไปเริ่มต้นที่ไหน ซึ่งสาเหตุ 3 ประการนี้นั้นมักทำงานผสมปนเปกันไปมา ในกรณีเช่นนี้นั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศญี่ปุ่น ที่นายอิซาโอะ โซเอจิมะ ได้ร่วมกับอดีตผู้ต้องขังอย่างอาสึชิ ทาคายามะ ก่อตั้ง Human Harbor Corporationก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 Human Harbor Corporation เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ทำหน้าที่รวบรวมและกำจัดขยะจากอุตสาหกรรม เกิดจากความปรารถนาของนายโซเอจิมะที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาให้เหล่าอดีตผู้ต้องขัง ที่ต้องประสบปัญหาความยากลำบากในการหางานทำหลังจากพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ





อิซาโอะ โซเอจิมะ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Human Harbor Corporation กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาการหางานทำของอดีตผู้ตั้งขัง
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ TEDxFukuoka http://tedxfukuoka.com/en/?p=2025

สำหรับคุณพัทธ์อิทธิ์นั้น สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทำให้ตนเองคิดได้ จนนำมาสู่การให้อภัย และเปลี่ยนตัวเองจากหนุ่มเพลย์บอยเลือดร้อนไปเป็นผู้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรม ก็คือธรรมะ แต่คุณพัทธ์อิทธิ์ก็บอกว่าธรรมะนั้นมีลักษณะ 360 องศา คือไม่ใช่เรื่องที่พูดกับทุกคนแบบเดียวกันแล้วทุกคนจะเข้าใจไปในทางเดียวกัน ส่วนตัวของคุณพัทธ์อิทธิ์นั้นเห็นว่าตนเองนั้นพบกับธรรมะอย่างถูกจังหวะเวลาจึงสามารถเปลี่ยนแปลงมาเป็นเช่นนี้ได้ ซึ่งนัยตรงนี้นั้นเราสามารถมองต่อไปได้ว่า การจะนำธรรมะมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาใดๆ หรือในกรณีนี้คือการแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ต้องขังล้นคุกนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะทำกว้างๆ
ในภาพรวมอย่างการนำเสื้อไซส์เดียวไปสวมให้แก่คนทุกคน หากแต่เป็นเรื่องของการตัดเสื้อให้พอดีกับขนาดตัวของผู้สวมใส่ หรือก็คือนอกจากจะใช้ธรรมะให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแล้ว เรายังจะใช้ธรรมะแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ หากแต่ต้องทำร่วมกันไปกับมาตรการอื่นๆ ด้วย ซึ่งในกรณีนี้ มาตรการอื่นๆ ที่ว่าก็คงเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวไปแล้วนั่นเอง

=============================================

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ กับชีวิตที่เปลี่ยน หลังพ้นโทษประหาร



พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ Johjai1991 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

          ถึงแม้ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย เกิดบนกองเงินกองทองที่สามารถเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างให้กับเขาได้... แต่บางทีโชคชะตาก็อาจจะเล่นตลกชนิดเปลี่ยนชีวิตของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากลูกคนรวยที่ทำอะไรตามใจ ไม่เคยกลัวใครหน้าไหน อยู่บนจุดที่สูงที่สุดในฐานะเจ้านายและผู้บริหาร แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด... ในฐานะนักโทษประหาร นับวันรออิสระภาพที่จะมาถึงเมื่อไรก็ไม่รู้ สำหรับเรื่องราวชีวิตของ คุณพัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ ซึ่งเขาบอกว่าชีวิตเขาเคยผ่านจุดที่แย่ที่สุด ต่ำที่สุดในชีวิตมาแล้ว.. แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนความคิดเขาได้ จนเขามารู้จักกับคำว่า "ธรรมะ"

          รายการเจาะใจ (วันที่ 7 และ 14 กุมภาพันธ์) ได้นำเสนอเรื่องราวของ คุณพัทธ์อิทธิ์ ลูกชายเจ้าของโรงแรมชื่อดังใน จ.พิษณุโลก ที่ก่อนหน้านี้เขาเคยใช้ชีวิตแบบเสเพล ไม่สนใจใคร และพร้อมที่จะพุ่งชนกับทุกคนได้ทุกเมื่อ หากเพียงเขารู้สึกว่า "ไม่พอใจ" เท่านั้น อีกทั้งไม่เคยเชื่อถึงคำว่า "ศรัทธา" และไม่เคย "ศรัทธา" แม้แต่อะไรก็ตาม 

          "ผมไม่ศรัทธาในความดี และผมไม่ศรัทธาในความรัก การที่มีใครสักคนคอยดูแลเรา ห่วงเรา แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมา ส่วนพ่อกับแม่นั้น ด้วยความที่บ้านผมเป็นคนจีน เขาก็จะเน้นเรื่องสนิทสนมกลมเกลียวกันในครอบครัว พยายามจะตีกรอบอะไรไว้ให้ ทั้ง ๆ ที่ผมคิดว่าทีรุ่นพ่อรุ่นแม่ยังทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ทำไมต้องมาตีกรอบให้ผม และอย่าเอาคำว่าความรัก มาจำกัดกรอบอ้างสิทธิในชีวิตของผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของธรรมะ หรือศาสนา จะให้สวดมนต์ สวดกันไปเพื่ออะไร สวดไปเพื่อพบนิพพานซึ่งจะมีหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือสวดมนต์เพื่อขอหวย ขอให้ได้ดิบได้ดี ชีวิตมันง่ายขนาดนั้นเลยหรอ แค่สวดมนต์ก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ" คุณพัทธ์อิทธิ์ กล่าว 

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ

          คุณพัทธ์อิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ตอนเป็นวัยรุ่น ถ้าใครมาล่วงเกินอะไรก็จะจัดหนักให้เลย จัดหนักตามระดับริกเตอร์ ชกต่อยกับคนที่ไม่เคยรู้จักเป็นประจำ เรื่องที่งี่เง่า ๆ ที่สุด ก็คือ มีคนขับรถปาดหน้า ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเขาปาดเพราะอะไร อาจจะปาดเพราะหลบรถอีกคันมาก็ได้ แต่ตนไม่พอใจไง เร่งเครื่องแซงปุ๊บ เบรกกะทันหันปั๊บ แน่นอนเขาไม่เบรกหรือหักหลบอะไร เพราะเขาไม่คิดว่าจะมีคนบ้าทำแบบนี้ คราวนี้พอรถชนท้าย ตนก็ถีบประตูรถลงมา พร้อมกับกระชากประตูรถ แล้วลากคนขับลงมาพร้อมต่อยไม่ยั้งด้วยความโมโห 

          ส่วนเรื่องการศึกษานั้น ถือว่าตนเองเป็นคนหัวดีเรียนเก่ง โดยคุณพ่อได้ส่งตนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้วยสภาพแวดล้อมอะไรหลาย ๆ อย่าง ทำให้ตนเที่ยวแบบสุดขั้ว ทั้งกินเหล้า เสพกัญชา แต่ก็ไม่ลืมที่จะตั้งใจเรียนแบบสุดขั้วเช่นกัน ซึ่งการเรียนในครั้งนั้น คนอื่นเค้าจบกัน 2 ปี แต่ตนใช้เวลาเพียงปีเดียว พอเรียนจบก็กลับไป แล้วก็บินไปเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ต่อ เนื่องจากเป็นประเทศที่การโรงแรมที่ดีที่สุด ด้านครอบครัวก็อยากจะให้จบมาแล้วมาช่วยกิจการโรงแรม จึงทุ่มเรื่องเรียนของตนอย่างไม่อั้น และสุดท้าย ตนก็กลายเป็นท็อปไฟว์ของมหาวิทยาลัย มีโรงแรมใหญ่ต่าง ๆ ติดต่อขอเชิญให้ไปทำงานทั่วโลก... 

          แต่จุดเปลี่ยนสำคัญตอนนั้นคือโรงแรมที่บ้านกำลังจะเจ๊ง ถึงแม้ว่าตนจะเป็นคนที่ไม่ศรัทธาอะไร แต่สิ่งที่ตนพอมีอยู่บ้างนั้นก็คือความกตัญญู ซึ่งตนก็เลือกที่จะกลับมาช่วยงานที่บ้าน แทนที่จะไปทำงานกับโรงแรมดังระดับโลก 

          "ตอนนั้นมาถึงโรงแรมที่บ้านไม่มีอะไรแล้ว แทบจะไม่เหลือเลย รถตู้โรงแรมก็โดนยึดไปหมด ด้วยความที่เพิ่งจบใหม่ แถมยังมีดีกรีดีก็เลยไฟแรงเป็นพิเศษ ยึดตัวเองเป็นหลัก พูดเสมอว่าเราจบการโรงแรมมานะ ไม่เชื่อเราจะเชื่อใคร ซึ่งอาทิตย์แรกที่เรียกประชุมกัน ใครมาสาย 5 นาที ก็จะติ๊กชื่อไว้ และก็จะเข้มงวดมาก เช่น ฝ่ายขายตอบคำถามไม่ได้ตามที่ผมต้องการ ผมก็ไล่ออกยกทีม คนที่โดนไล่ออกก็ไม่พอใจ โวยวายผม ผมไม่กลัว พูดเลยมึงมีปัญหาไม่พอใจมาเลย พร้อมต่อยเสมอ สำหรับคนอย่างพวกมึงกูว่างตลอด 24 ชั่วโมง" 

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ

          การใช้ชีวิตในเมืองไทยในฐานะผู้บริหารโรงแรมของ คุณพัทธ์อิทธิ์ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 21 ปี เป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบมาก เพราะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาแบบเต็ม ๆ แถมยังได้เที่ยวแบบสุดขีด แต่ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขาก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อเขาทำงานเข้าสู่เดือนที่แปด.. 

          "ผู้จัดการโรงแรมผมโดนยิงตาย ตอนนั้นผมตกใจทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นที่โรงแรมเรา แต่หลัก ๆ แล้วกังวลเรื่องชื่อเสียงมากกว่า พอผ่านไปสักสองสัปดาห์ ตำรวจก็มาจับยามที่ผมเคยไล่ออกไป ซึ่งยามคนนั้นมันเป็นขโมย แล้วผมก็ไม่ได้ไล่เขาออกอย่างนุ่มนวล แต่ไล่ตามประสาผม สุดท้ายยามก็โดนจับ ตอนนั้นยามมองหน้าแล้ว พร้อมบอกผมว่า... กูจะเอาคืนให้เจ็บไปเลย หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ถูกหมายเรียกข้อหาจ้างวานฆ่าในเงินจำนวน 3,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็นห้องผม รถยนต์ผม บอกว่าผมเตรียมปืนไว้ให้ ซึ่งผมต้องไปอยู่ในห้องคุมขังทันที 11 วัน พร้อมรอให้ศาลไต่สวน ส่วนผู้จัดการที่เสียชีวิตนั้น เป็นพี่เลี้ยงของผม ถือว่าเป็นผู้มีพระคุณของผมคนหนึ่งเลยทีเดียว" 

          คุณพัทธ์อิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า การที่ถูกข้อหาจ้างวานฆ่านั้น ตนไม่หนักใจเลย เพราะตนไม่ได้ทำ เลยรู้สึกชิล ๆ เพราะคิดว่ารอดแน่ วันสุดท้ายที่อยู่ในห้องคุมขัง ตนก็บอกพ่อให้เอาชุดมา พร้อมกับตั๋วเครื่องบิน คือเตรียมจะกลับบ้านกันหมด แต่สรุปแล้วเหมือนโลกได้แยกของเป็นสองใบ เพราะศาลชั้นตนระบุว่า จำเลยมีความผิดจริง มีโทษประหารชีวิต ซึ่งตอนนั้นอะไร ๆ ก็ขัดแย้งกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักฐาน หรือสำนวนต่าง ๆ แต่สุดท้ายในเมื่อศาลตัดสิน ก็ต้องยอมรับสภาพ

          "สำหรับโทษประหารชีวิตนั้น ผมไม่สามารถอยู่ที่ จ.พิษณุโลก ได้ เพราะเขาจำโทษสุงสุดแต่เพียงโทษตลอดชีวิต ส่วนโทษประหารชีวิตต้องไปอยู่ที่คุกบางขวาง พร้อมกับตีตรวนผมทันที โซ่และเหล็กกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของผม ไปไหนมาไหนก็ต้องติดตัวมันไปตลอด ส่วนในห้องขังนั้นลำบากเสียยิ่งกว่าลำบาก แต่ก็ต้องอยู่ให้ได้ อยู่ด้วยความหวังว่าเดี๋ยวพ่อก็จะมาช่วยประกันตัว เราไม่ได้ทำอะไรผิด" 

          จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี รอแล้วรอเล่า คุณพัทธ์อิทธิ์ ก็ยังไม่รับอิสรภาพ ถึงแม้ว่าจะให้พ่อวิ่งเต้นสักเท่าไร แต่ก็ดูว่าจะหมดหนทางที่จะได้รับการประกันตัว ส่วนชีวิตในห้องขัง มันบีบคั้นหัวใจอย่างมาก เมื่อเวลาเพื่อนร่วมห้องขังถูกนำตัวไปแดนประหาร... แล้วก็ไม่ได้กลับมาอีก บางคนก็ถึงกับตรอมใจตาย เพราะเขาไม่รู้เขาจะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร 
 
          พอจำคุกได้ประมาณ 1 ปีกว่า ศาลอุทธรณ์ ก็เรียกตัวไปอ่านคำพิพากษา แต่เหมือนฟ้าฟาดลงมากลางใจ เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนคำตัดสินของศาลชั้นต้น ให้ตนรับโทษประหารชีวิต ต่อจากนั้นตนก็เปลี่ยนความคิด เพราะตนไม่อยากให้พ่อแม่ทุกข์ใจ และไม่อยากนอนรอความตาย ตนพยายามเล่นกีฬา พยายามหาความสุขในห้องขัง... แต่แล้วในวันที่จำคุกได้ 4 ปี 1 เดือน 27 วัน ทางผู้คุมก็เข้ามาเรียกให้ไปอ่านคำพิพากษาฎีกา ซึ่งเป็นศาลสุดท้าย หากตนไม่ถูกยกฟ้อง ตนก็ต้องถูกประหารชีวิต โดยในครั้งนี้ ตนสั่งไม่ให้พ่อวิ่งเต้นอีกแล้ว เพราะตนมีชีวิตเดียว เกิดมายังไงก็ตาย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความหวังอยู่บ้าง โทษประหารชีวิต หากได้รับอภัยโทษก็จะเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาก็ 50 สิบ 25 ปี ยังไงก็ได้ออก... และในที่สุดวันที่เขาได้รับอิสรภาพก็มาถึง เมื่อศาลสั่งยกฟ้อง ให้ตนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในที่สุด 
  
          ชีวิตในคุกนั้นไม่เพียงแต่กำจัดอิสระภาพของเขาเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นให้ความรู้ต่าง ๆ ในเรื่องที่ไม่ดี นั่นก็คือการทำผิดอย่างไรให้เนียนมากยิ่งขึ้น... พอออกจากคุกมา ไม่ใช่ชีวิตเขาจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนอย่างที่ใครเข้าใจ แต่เขากลับทำตัวตามแบบที่เขาต้องการเหมือนเดิม... โดยคิดแค่ว่าไม่ต้องทำชั่ว แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำดี 
 

พัทธ์อิทธิ์ จินต์วุฒิ

          จุดที่เปลี่ยนในชีวิตของเขาอีกครั้งหนึ่ง แตกต่างกับจุดแรกที่โดนคุมขังอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือการที่เขาได้รู้จักกับ "ธรรมะ" โดยตลอดทั้งชีวิตของเขา เขาแอนตี้การสวมชุดขาว เข้าวัดฟังธรรม และสวดภาษาบาลีเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุด... ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เขาได้พบกับพระ.. และตอนนั้นนอกจากชีวิตของจะเปลี่ยนแล้ว เขายังได้เปลี่ยนทัศนคติ และพยายามขับเคลื่อนวงล้อของพุทธศาสนาได้ดำเนินต่อไปด้วย 

          "ออกจากเรือนจำได้ประมาณ 1 ปี ช่วงนั้นพี่ชายเขาประสบปัญหาในครอบครัว ร้องไห้อยู่หลายวัน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ยายสอนว่าธรรมะจะช่วยพ้นทุกข์ พี่ชายเลยเสิร์ชกูเกิลค้นหาว่าธรรมะสอนอะไร อาจารย์คนไหนที่น่าสน เลยเสิร์ชไปเจออาจารย์ที่น่าสนใจอยู่สองคน คนแรกคือพระอาจารย์ปราโมท โช คนที่สองคือ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ซึ่งพระอาจารย์คนแรกเขามีลูกศิษย์ลูกหาเยอะแล้ว พี่ชายเลยไปพบพระอาจารย์คนที่สองแทน" คุณพัทธ์อิทธิ์ 

          คุณพัทธ์อิทธิ์  กล่าวต่อไปว่า พอพี่ชายกลับมาเขามีความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ความทุกข์ของเขาหายไปเลย ตนก็คิดว่าทำไมธรรมะถึงเปลี่ยนใจคนได้เร็วขนาดนี้ แต่ก็ไม่ได้เชื่ออะไรมาก เพียงแค่คิดว่าพี่ชายทำใจได้ก็ดีแล้ว ต่อมาตนก็ไม่โอกาสไปพบพระอาจารย์นวลจันทร์ ซึ่งเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่นั่งคุยกับท่าน มันทำให้เราได้เห็นอะไรบางอย่าง ตนเป็นคนชอบตั้งคำถาม พอตนพูดอะไรไป ท่านก็จะตอบโต้มาด้วยธรรมะเสมอ คือมีคำตอบตอบให้ตนทุกอย่าง... มันทำให้ตนคิดว่า ธรรมะก็น่าสนใจดีเหมือนกัน 

          จากคนที่แอนตี้การนุ่งขาวห่มขาวก็เลือกที่จะเดินเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม โดยพระอาจารย์บอกว่า เราไม่จำเป็นตั้งนั่งซ้ายทับขวา ขวาทับซ้าย เราไม่จำเป็นต้องเดินจงกลมแบบใคร ๆ เขา หรือเราไม่จำเป็นต้องหลับตาเพื่อนั่งสมาธิ ตนเลยสามารถนั่งสมาธิแบบไม่รู้ตัวนานถึง 2 ชั่วโมง และสิ่งที่ตนได้จากการนั่งสมาธินั่นก็คือการรีรันความเลวของตน ที่เคยทำมา มันทำให้ตนคิดได้ว่า ควรจะทำอะไรเพื่อพ่อแม่ เพื่อคนอื่นบ้าง 

          สุดท้ายนี้ จากคนที่ผ่านจุดที่แย่ที่สุดในชีวิต แต่ก็ไม่คิดที่จะปรับปรุงตัว กลับทำทุกอย่างแบบตามใจ โดยไม่คำนึงผลกระทบของใคร แต่เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จาคำคำเดียวคือว่าคำว่า "ธรรมะ" โดยคุณพัทธ์อิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ผมค้นพบความสุขมหาศาลจากการนั่งสมาธิ หลังจากนั้นพ่อแม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของผม ผมกลับบ้านมานั่งสมาธิ และสวดมนต์ ต่อจากนั้นผมก็มีโครงการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรม โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ กินฟรี อยู่ฟรี ขอแค่อยากจะแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่น ๆ ก็เท่านั้น"



              


                

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ