ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้แบ่ง Generation ไว้ถึง 7 Generation ด้วยกัน คือ
1) Lost Geration
2) Gratest Generation
3) Baby Boomers
4) Generation Jones
5) Generation X
6) Generation Y
7) New Silent Generation
อย่างไรก็ตามที่พูดถึงอยู่บ่อยๆ เป็นหลักสากลจะมีเพียง 4 Genaration เท่านั้น คือ Baby Boomer, Generatin X, Generation Y และ Generation Z
ตามที่ได้บอกไปแล้วว่าในแต่ละกลุ่ม Generation มีความแตกต่างกันหลายด้าน ทั้งในด้านความคิด ค่านิยม ลักษณะนิสัย ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจน สาเหตุที่คนแต่ละช่วงวัยมีความคิดและพฤติกรรมต่างกันเป็นเพราะว่า สภาพสังคมในช่วงนั้นๆ เป็นปัจจัยที่หล่อหลอมความคิดและทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้นขึ้นมา เช่น ในสมัยก่อนมีค่านิยมว่าคนที่รับราชการจะดูดี เป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงส่งผลให้ปัจจุบันรุ่นพ่อรุ่นแม่มักสนับสนุนให้ลูกรับราชการ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันมีอาชีพที่สร้างความมั่นคงได้อีกหลายอาชีพ
ดังนั้นท่านก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมความคิดของเราจึงขัดแย้งกับคุณพ่อคุณแม่อยู่บ่อยๆ ประมาณว่าคิดมาเรื่องนึงพ่อแม่ก็ไม่เคยเห็นด้วยเลยสักเรื่อง บ้างก็อ้างคำศักดิ์สิทธิ์ว่าท่านอาบน้ำร้อนมาก่อน ส่วนตัวเราก็ได้แต่แย้งในใจว่าสิ่งที่พ่อแม่คิดมาให้ไม่เห็นจะเจ๋งตรงไหนเลย!! หรือบางทีเวลาท่านเห็นลูกทำอะไรก็อาจรู้สึกขัดใจอย่างบอกไม่ถูก เช่น เล่นเกมส์ทั้งวัน ติดโทรศัพท์ พูดจาไม่เพราะ ฯลฯ พอให้คำแนะนำไป ลูกก็ได้แต่เถียงว่าใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น สุดท้ายถ้าไม่มีการปรับตัวเข้าหากัน มักจะจบลงด้วยการทะเลาะกันเสียทุกที
หวังว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้ท่านเห็นภาพเรื่องของ Generation มากขึ้นว่ามันคืออะไร คนในแต่ละ Generation ไม่เข้าใจกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทางที่ดีก็ควรเรียนรู้ความคิดความอ่านของกันและกันเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและมีความสุข ต่อไปนี้จะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับแต่ละ Generation กัน ที่เขาว่ากันว่าแต่ละ Generation แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนั้นจริงหรือไม่ แล้วจะมีวิธีปรับตัวให้เข้ากับคนในแต่ละ generation อย่างไร พร้อมกันนี้เช็คกันไปในตัวเลยว่าท่านอยู่ใน Generation ใด
เจาะลึก Generation X, Y, Z, Baby Boom
Baby Boomer หรือ Gen B
เราอาจจะได้ยินคำนี้ไม่บ่อยสักเท่าไหร่ แต่รุ่น Baby boomer ก็ถือเป็นรุ่นที่มีความสำคัญมากทีเดียว กลุ่ม Baby boomer คือ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2489 – 2507 โดยมีอายุประมาณ 49 ปีขึ้นไป หากนับจากอายุแล้วก็จะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้วนั่นเอง
สาเหตุที่เรียกคนกลุ่มนี้ว่า Baby boomer นั้นมีที่มาค่ะ เนื่องจากว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ชายต้องถูกไปเกณฑ์ทหาร พอสงครามจบลงก็กลับมาแต่งงานและมีลูกกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นคน Gen B ส่วนใหญ่จึงเกิดมาภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า Boom! เพราะเด็กเกิดใหม่เยอะมาก พ่อแม่ของคนกลุ่มนี้เจอแต่เรื่องลำบากทั้งเรื่องสงคราม การเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ครอบครัวให้ชีวิตกันอย่างแร้นแค้น ด้วยเหตุนี้คนกลุ่ม Gen B จึงมีลักษณะนิสัยอดทน จริงจัง เพราะอยู่ทันช่วงที่ได้เห็นความลำบากของพ่อแม่
ในด้านการทำงานกลุ่ม Gen B ถือว่าเป็นคนที่สู้งานมากที่สุด มีความจงรักภักดีต่อองค์กรด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีความอดทน ให้ความสำคัญกับงาน มุ่งมั่นทำจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ชอบพิสูจน์ความสามารถของตนเอง เนื่องจากเป็น Generation ที่จำนวนประชากรเยอะ ต้องแข่งขันกันทำงาน หางานทำ จึงจะเห็นได้ว่าคน Gen B ยอมทำงานหนักเพื่อได้เห็นตัวเองประสบความสำเร็จ วางรากฐานให้กับครอบครัวในอนาคต โดยอาจคาดหวังว่าไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปยากลำบากเหมือนตัวเอง และข้อดีของคน Gen B ที่ผู้บริหารในองค์กรชอบมากที่สุดคือ ไม่ค่อยเปลี่ยนงาน ในส่วนของพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา รักครอบครัว
และมีข้อมูลที่น่าตกใจอีกอย่างหนึ่งคือ ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว หมายความว่ามีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเป็นจำนวนมาก โดยสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านคนในปี 2550 มาเป็น 7.5 ล้านคนในปี 2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคนหรือมีสัดส่วน 20% ในปี 2568 ถึงเวลานั้นประเทศไทยก็เข้าข่ายประเทศสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว
Generation X หรือ Gen X
Gen X คือ กลุ่มคนที่มีอายุลดหลั่นลงมาอีกช่วงหนึ่ง เกิดประมาณปี พ.ศ.2508-2522 อายุ 34-48 ปี คนกลุ่มนี้เกิดมาในช่วงที่ไม่ลำบากเท่ารุ่น Baby boomer และยังเป็นช่วงของสันติภาพ สภาวะโลกสงบเรียบร้อย หลายๆ ประเทศเริ่มมีความมั่งคั่ง ดังนั้นการใช้ชีวิตของคนรุ่นนี้จึงเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างเล็กน้อย เช่น คอมพิวเตอร์ วิดีโอเกม วอล์คแมน เป็นต้น
ในด้านการทำงาน ยุคนี้เริ่มมีทัศนคติในการทำงานเปลี่ยนไป โดยมองว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต คน Gen X มีความทะเยอทะยานก็จริง แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตควรอิสระ ดังนั้นการทำงานจึงทำไปตามหน้าที่ หากทำแล้วไม่ก้าวหน้าก็เปลี่ยนงาน ไม่ได้ภักดีต่อองค์กรเหมือนคนรุ่นก่อน แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของคนกลุ่มนี้คือ หันมาให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น มองว่าครอบครัวสำคัญที่สุด จะเห็นได้ว่าคนรุ่นพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่มักจะรักคนในครอบครัว ทำอะไรก็คิดถึงครอบครัว ห่วงลูกหลาน นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างของคน Gen X คือรู้จักการพักผ่อน หาความสุขให้ตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนรุ่นนี้จะเติบโตมาในยุคที่เริ่มมีเทคโนโลยี แต่ก็พบว่าพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ หรือเน้นความสนุก แต่เขาเน้นใช้เพื่อการทำงาน ในทางที่มีประโยชน์ ใช้อย่างเหมาะสมพอดีกับความจำเป็น อาจเป็นไปได้ว่าสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ได้เข้าถึงทุกครัวเรือนเหมือนปัจจุบันนี้
Generation Y หรือ Gen Y
เจเนเรชั่นนี้ค่อนข้างคุ้นหูเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของคนเจน Y หรือคนรุ่นใหม่นั่นเอง โดยคนเจน Y คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2543 หรือมีอายุประมาณ 13-33 ปี หากนับดูอายุแล้วก็พบว่าคนกลุ่มนี้เป็นลูกของคนที่เกิด Gen X
ช่วง พ.ศ.นี้ คือช่วงที่วิวัฒนาการด้านเทคโนยีเริ่มเข้ามา และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากรุ่นแรกๆ คอมพิวเตอร์มีราคาสูงถึง 50,000-60,000 บาทต่อเครื่อง บ้านใครมีคอมพิวเตอร์ใช้ถือว่ามีฐานะทางบ้านดีทีเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีมีมากขึ้น ทำให้ราคาเริ่มถูกลงจนปัจจุบันใครๆ ต่างก็ครอบครองคอมพิวเตอร์ ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งมือถือ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์แอลซีดี ไอแพด เกมส์ ฯลฯ ได้อย่างง่ายดายขึ้น ดังนั้นคน Gen Y จึงเกิดมาพร้อมกับยุคเทคโนโลยีที่เพียบพร้อมทั้งอุปกรณ์ไอทีและอินเตอร์เน็ต เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เกิดมาท่ามกลางเทคโนโลยี ทำให้คนรุ่น Generation Y มีความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีไว้ว่าจะใช้ทำงาน ติดต่อสื่อสาร แต่ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญกับสังคมรอบข้างก็น้อยลง โดยไปเพิ่มความสำคัญในโลกไซเบอร์แทน นอกจากนี้ลักษณะนิสัยของคนกลุ่มนี้ยังใจร้อน กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ชอบความท้าทาย ไม่ชอบการขู่เข็ญบังคับ หากเจอพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ชอบบังคับหรือไม่เข้าใจในตัวตนก็มักจะมีอาการไม่พอใจ มีค่านิยมที่ต่างจากคนรุ่นก่อนทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิตและการทำงาน
ในด้านการทำงานคน Gen Y ถือว่าเป็นกำลังสำคัญขององค์กรยุคใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะคนกลุ่มนี้เน้นการทำงานเชิงรุก ใช้ทักษะทางความคิด มีระบบการจัดการที่ดีในแบบฉบับของคน Gen Y แม้นิสัยจะไม่ชอบงานหนักแต่รับรองเถอะว่าการใช้ความคิดบวกกับการต่อสู้กับความท้าทาย มีความสามารถในการสืบค้นข้อมูลและนำเสนอข้อมูล ทำให้ผลงานของคน Gen Y เข้าตาไม่มากก็น้อย แต่ในเรื่องความภักดีต่อองค์กรอาจสู้คนรุ่น Baby Boomer ไม่ได้ เพราะคนรุ่นใหม่ยิ่งทำงานเก่งยิ่งต้องการความก้าวหน้า หากที่เดิมทำแล้วรู้สึกไม่ขยับไปไหนหรือไม่มีคนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น คน Gen Y ก็พร้อมที่จะหาที่ทำงานใหม่ทันที
คน 3 รุ่นอยู่ด้วยกันอย่างไรให้สงบสุข
เชื่อว่าครอบครัวใหญ่หลายๆ บ้านมีปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย เช่น ลูกมักจะเถียงพ่อแม่ ตายายมักจะสอนหลานแต่หลานไม่ฟัง ปู่ย่าทนเห็นหลานเล่นแต่อินเทอร์เน็ตไม่ไหว และอีกสารพัดปัญหาในบ้านตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกัน
หลายคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัว ยิ่งทะเลาะกันบ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งขึ้นชื่อเป็นบ้านที่ไม่มีความสุข แต่ความจริงแล้วการไม่เข้าใจกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเป็นคนละ Generation การเกิดความไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่เราควรที่จะเรียนรู้นิสัยและปรับความเข้าใจกันทุกครั้งที่มีการเถียงกัน อย่าให้เลยเถิดไม่พูดจากันเพราะอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ในแต่ละบ้านควรปรับตัวเข้าหากันเพื่อสลายช่องว่างที่เกิดขึ้น ดังวิธีต่อไปนี้
1.ตระหนักถึงความสำคัญในครอบครัว สิ่งที่ควรทำประการแรกเมื่อเกิดการปะทะคารมระหว่างกันคือ ต่างฝ่ายต้องตะหนักให้มากขึ้นว่าคนที่เรากำลังปะทะคารมอยู่นั้นคือคนในครอบครัวเราเอง ซึ่งการคิดถึงความสัมพันธ์นี้สามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้ อย่างน้อยแทนที่จะเถียงเอะอะโวยวาย อาจกลายเป็นเงียบแล้วพูดน้อยลง อย่างไรก็ตามทุกๆ คนในครอบครัวควรตระหนักถึงความสัมพันธ์ในข้อนี้ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง
2.อย่าหาจุดผิดแต่ควรหาข้อดี ใครๆ ก็ไม่ชอบการจับผิด ยิ่งคนต่างวัยยิ่งมองเห็นข้อเสียของกันเยอะ หากมัวแต่มองข้อเสียก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย เช่น ลูกสังสรรค์กับเพื่อนที่ทำงานกลับถึงบ้านเที่ยงคืน หากมองเห็นข้อเสียก็จะต่อว่าลูกว่ามัวแต่เที่ยว เตร็ดเตร่ ไม่รักดี ลูกคงไม่พอใจ กลับกันลองมองเป็นข้อดีก่อนว่าลูกเราเข้าสังคมได้ ในขั้นแรกทำให้คนเป็นแม่สบายใจขึ้น แต่ก็ควรพูดเสริมเมื่อลูกกลับถึงบ้านว่ากลับดึกนั้นไม่ดี สังสรรค์ได้แต่ไม่ควรบ่อยเกิน เป็นต้น หากใช้เหตุผลมาเหนืออารมณ์ คนในบ้านจะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น
3.หาเวลาอยู่ร่วมกัน เคยได้ยินหลายกรณีที่พ่อแม่ลูกมีปัญหากันบ่อยๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง เลี้ยงแบบขาดความอบอุ่น ไม่สนใจซึ่งกันและกัน จนต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร ต่อหน้าอีกอย่าง ลับหลังอีกอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไม่เข้าใจกัน ทุกครอบครัวควรหาเวลามาอยู่ด้วยกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เช่น มาดูละคร ทานข้าว ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้คนในบ้านได้พูดคุยกันมากขึ้น และเข้าใจกันมากขึ้นนั่นเอง
หวังว่า 3 เทคนิคข้างต้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำไปใช้ เรียกว่าเป็น 3 ข้อที่ไม่ต้องลงทุนให้เปลืองสตางค์ ขอแค่ทำด้วยใจ ผู้เขียนมั่นใจว่าหากคนในครอบครัวทุก Generation ยึดแนวทางตามนี้ได้ คนต่างวัยอยู่ร่วมกันไม่มีปัญหากันแน่นอน
No comments:
Post a Comment
เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ