นายกในดวงใจ

2016-08-02

‘สังคม 4 เจเนอเรชั่น’ ต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้

 เด็กสมัยนี้ทำไมถึงเป็นอย่างนี้นะ… เสียง "บ่น" เสียง "เปรย" ของผู้ใหญ่แบบนี้ เด็กๆ หลายคนคงได้ยินจนชิน ซึ่งเด็กๆ เมื่อฟังแล้ว ก็มักจะปล่อยๆ ทำเป็นหูทวนลมไปซะมากกว่า แถมอาจจะนึกในใจ "หัวโบราณ"
      
  อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะฉงนงงงวย ก็แค่คำบ่นคำเปรย จะอะไรนักหนา ทว่า...แค่คำพูดประโยคเดียวนี่แหละ มันสะท้อน "ปัญหาสังคม" ในปัจจุบัน
        ในการประชุมวิชาการประจำปี สตรี เยาวชน และครอบครัว ครั้งที่ 10 จัดโดยโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สรรเพชญ ไชยสิริยะสวัสดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาบอกเล่าถึงปัญหาดังกล่าวในการพูดคุยหัวข้อ "เข้าใจเด็ก GEN Y, GEN Z"
         อาจารย์สรรเพชญบอกว่า หนึ่งในเหตุของปัญหาสังคมปัจจุบันคือ ช่องว่างระหว่างวัย ตรงนี้ทำให้คนในสังคมมีความคิด การตัดสินใจ และเรื่องอื่นๆ ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น หากเราทำความเข้าใจคนแต่ละช่วงวัย ว่าถูกหล่อหลอมมาอย่างไร ก็จะทำให้เข้าใจพฤติกรรมและความคิด เพื่อสามารถอยู่ในสังคมอย่างเข้าใจและมีความสุขได้
        สังคมในปัจจุบันนี้ แบ่งเป็นกลุ่มคน 4 เจเนอเรชั่น ได้แก่
        กลุ่มที่ 1 เจเนอเรชั่นบี (Baby Boomer Generation) หรือ "Gen-B" ซึ่งเป็นคนสูงอายุในปัจจุบัน (พ.ศ.2489-2507) คนกลุ่มนี้เป็นผลผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แต่ละประเทศต้องการเร่งผลิตประชากรเพื่อมาพัฒนาประเทศที่บอบช้ำ โดยเขาได้รับรู้ถึงความลำบากของพ่อแม่ ความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ ภาวะวุ่นวายต่างๆ ทำให้มีความอดทนสูง สู้งาน ชอบทำงานและประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากที่เกิดในช่วงเดียวกัน ทำให้มีการแข่งขันสูง
        "นอกจากนี้ คนเจนบี ยังยึดระบบชนชั้น ตรงนี้หมายถึงการทำงาน เนื่องด้วยสมัยก่อนเทคโนโลยียังไม่ทันสมัยและแพร่หลาย ทำให้องค์ความรู้ตกอยู่กับชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครอง ฉะนั้น เขาจึงเชื่อมั่นและรับฟังคำสั่งจากผู้นำหรือหัวหน้างานที่มีองค์ความรู้มากกว่า ขณะเดียวกันคนยุคนี้ใช้ชีวิตเรียบง่าย เป็นคนเก็บออมมากกว่าใช้" อาจารย์สรรเพชญอธิบาย
        /data/content/2014/06/24492/cms/e_adeikptx2457.jpgกลุ่มที่ 2 เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "Gen-X" ซึ่งเป็นคนวัยทำงานในยุคปัจจุบัน (พ.ศ.2508-2522) เป็นผลกระทบจากการผลิตประชากรล้นจนต้องคุมกำเนิด ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเริ่มทันสมัยและแพร่หลายขึ้น และเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น ทำให้คนกลุ่มนี้เริ่มมีความอดทนน้อยลง มักจะตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตต้องทน ในเมื่อมีโอกาสและตัวเลือกมากขึ้น
         "คนเจนนี้ยังทำงานด้วยตัวเอง ยึดระบบชนชั้นน้อยลง เก็บออมและใช้เท่าที่มี เลือกทำงานที่ชอบ รักอิสระ และมีความคิดสร้างสรรค์แหวกกรอบ"
         กลุ่มที่ 3 เจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือ "Gen-Y" ซึ่งเป็นคนวัยตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงเริ่มทำงานใหม่ (พ.ศ.2523-2540) คนกลุ่มนี้เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีทันสมัยและแพร่หลาย รวมทั้งองค์ความรู้ ทำให้มีความอดทนเริ่มน้อยลง สมาธิสั้นขึ้น ชอบ Copy-Paste และเปลี่ยนงานบ่อย
          "คนเจนนี้ไม่ชอบชนชั้น ซึ่งตรงนี้หมายถึงการทำงานและใช้ชีวิต โดยเด็กยุคนี้ชอบการทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกันมากกว่าฟังคำสั่งจากหัวงานหรือผู้นำอย่างเดียว และการบังคับขู่เข็ญจากพ่อแม่"
         กลุ่มที่ 4 เจเนอเรชั่นซี หรือแซด (Generation Z) หรือ "Gen-Z" (พ.ศ.2540 ขึ้นไป) ซึ่งเป็นคนกลุ่มวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงมัธยมศึกษาตอนต้น คนกลุ่มนี้เกิดมาด้วยการเลี้ยงดูที่เพียบพร้อม เทคโนโลยีทันสมัยและแพร่หลาย รวมถึงองค์ความรู้ เพียงกระดิกนิ้วก็ได้สิ่งที่ต้องการ และมีตัวเลือกมาก ทำให้คนกลุ่มนี้มักทำในสิ่งที่ชอบ ชอบความสะดวกสบาย ไม่ชอบพิธีการ และสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในคราวเดียวกัน
        อาจารย์สรรเพชญบอกอีกว่า หลายคนถามว่าวัยรุ่นสมัยนี้ทำไมถึงไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ก็เพราะคนเจนหลังๆ ไม่ชอบเรื่องชนชั้น
        "หากพ่อแม่ปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เด็กรู้สึกว่าเหมือนเป็นเพื่อนมากกว่าความเป็นพ่อแม่ เด็กก็จะค่อยๆ เปิดใจกลับเอง หรือให้คิดว่าทำไมครูแนะแนวถึงเป็นที่รักและที่ปรับทุกข์ของเด็ก ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตให้ไปคิดไตร่ตรองว่าหากบ้านใดที่ผู้ใหญ่ฟังเด็กมาก บ้านนั้นเด็กจะรักผู้ใหญ่มาก"
         "ผู้ใหญ่บางคนมักคิดว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อนพยายามยัดเยียดความเป็นตัวเองให้เด็ก แต่ปัจจุบันบริบทหลายอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้น หากยังฝืนยัดเยียดความเป็นตัวเองให้เด็กอีก ผู้ใหญ่อาจเป็นเพียงสิ่งแวดล้อมหนึ่งของเด็ก และเขาจะหันไปสนใจสมาร์ทโฟนแท็บเล็ตแทน อย่างไรก็ดี อยากให้ผู้ใหญ่ที่จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในอนาคตลดความเชื่อมั่นในตัวเองลง เริ่มรับฟังและเข้าใจเด็กก่อน ขณะที่เด็กต้องรับฟังผู้ใหญ่ในเรื่องที่ควรรู้ด้วย อาทิ มารยาท การเข้าสังคม"
         /data/content/2014/06/24492/cms/e_egiklmuwx128.jpg ส่วนอีกคำถามที่เจอมากคือ ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่ชอบอยู่นิ่ง ทำอะไรหลายอย่าง บางครั้งอ่านหนังสือไปด้วยแต่ฟังเพลงไปด้วย
          "ตรงนี้ก็อยากให้เข้าใจว่าเป็นความสามารถของคนยุคหลังๆ เด็กสามารถทำอะไรหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ยิ่งหากทำในสิ่งที่รักและสนใจแม้จะทำหลายๆ อย่างผลงานก็ออกมาดี เหล่านี้ทั้งผู้ปกครอง ครูและอาจารย์ต้องเข้าใจ"
          "คนแต่ละรุ่นมีความคิดและพฤติกรรมที่ต่างกัน แน่นอนเวลาทำอะไรไปอาจขัดหูขัดตา แต่ก็อยากให้รู้และเข้าใจธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันที่ดี" อาจารย์สรรเพชญทิ้งท้าย
          ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สู่คุณภาพเยาวชนในศตวรรษที่ 21" ว่า ลักษณะพิเศษของศตวรรษที่ 21 นั้น คนถูกหล่อหลอมโดยลัทธิวัตถุนิยม โลกเสมือนขยายตัว คนเคลื่อนที่ ความแตกต่างหลากหมายเพิ่มขึ้น ความรู้เพิ่มเร็ว แต่ผิดเร็ว
          "การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องเรียนรู้ด้วยความเข้าใจในภาวะที่หลากหลายซับซ้อน ซึ่งคุณภาพของเยาวชนในศวรรษที่ 21 คือ คนที่พัฒนาตนได้ใกล้เคียงศักยภาพที่มีอยู่มากที่สุด พัฒนาพหุปัญญารอบด้าน พัฒนาศักยภาพด้านดี ลดทอนศักยภาพด้านชั่ว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบชั่วดี และเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเป็นผู้ให้ การได้แค่ความรู้ไม่เพียงพอ แต่ต้องนำไปสู่การเกิดทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้ โดยเฉพาะการมีทักษะชีวิต"
          แตกต่างอย่างเข้าใจเพื่อสังคมที่มีความสุข


          ที่มา : เว็บไซต์มติชน

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ