นายกในดวงใจ

2015-05-02

คนไทยใช้คำว่า “ริกเตอร์” ในเรื่องแผ่นดินไหว ผิดมาตลอด


คุณจะไม่พบคำว่า ริกเตอร์ (richter) ในข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวของฝรั่งไม่ว่า CNN BBC หรือญี่ปุ่น ก็ไม่มีทั้งนั้น
ในบทความเกี่ยวกับแผ่นดินไหวสำคัญ อย่างสึนามิสุมาตรา 26 ธันวาคม 2004 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นแสนๆหรือแผ่นดินไหว 11 มีนาคม 2011 ที่ญี่ปุ่น คุณก็หาคำว่าริกเตอร์ไม่เจอ

ถ้ามี มันจะอยู่คู่กับว่า scale เสมอ

ทำไมเป็นแบบนั้น

ก็เพราะแม้แต่คนที่ชื่อ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) เจ้าของคำๆนี้ ยังแนะนำให้ใช้คำว่า แมกนิจูด เรียกขนาดแผ่นดินไหว ไม่เคยบอกให้ใครเอานามสกุลตัวเองไปใช้เรียกเลย

จะเล่าให้ฟัง

ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ เป็นคนที่มีจิตใจฝักใฝ่ด้านดาราศาสตร์ ชอบการดูดาวเป็นชีวิตจิตใจ และอยากมีอาชีพทางด้านดาราศาสตร์  แต่โชคชะตาพลิกผัน จากฟ้าจากอวกาศมาสู่ดิน เมื่อโรเบอร์ต มิลลิแกน ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (ริกเตอร์เรียนระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ อยู่ในสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย) ขอให้เขาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่ห้องปฏิบัติการด้านแผ่นดินไหว ณ สถาบันที่เขาเรียนอยู่


เมื่อมาทำงานที่ห้องปฏิบัติการด้านแผ่นดินไหว  ริกเตอร์ได้พบกับทีมงานของ แฮรี วูด ผู้ปฏิบัติงานอยู่ก่อนแล้ว ทีมของวูดกำลังทำโครงการวิจัยด้านแผ่นดินไหวบริเวณแคลิฟอร์เนียใต้ โดยใช้เครื่องตรวจแผ่นดินไหวแบบบิดของวูด-แอนเดอร์สัน (สูตรของริกเตอร์ต่อๆมาก็อ้างอิงจากเครื่องมือตัวนี้)

การวัดขนาดแผ่นดินไหวในสมัยนั้น วัดเป็น “มิลิเมตร” ของปากกาที่ขีดไปบนกระดาษ ปากกานี้ต่อมาจากเครื่องวัดแผ่นดินไหว ถ้าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ปากกาก็ขีดเส้นสูงเรียกว่าแอมปริจูดสูง ถ้าเบาๆ เส้นก็จะเตี้ยๆ คือแอมปริจูดต่ำ

ตอนนั้น มีเครื่องวัดแบบงวูด-แอนเดอร์สันอยู่ 7 เครื่อง วางอยู่กระจายกันในแคลิฟอรเนี่ยร์ ริกเตอร์เสนอว่า ขนาดแผ่นดินไหวที่วัดได้แต่ละเครื่อง มันเป็นเส้นสูงไม่เท่ากัน เพราะห่างจากจุดแผ่นดินไหวไม่เท่ากัน อย่างนั้น ควรหาทางจัดการให้ทราบขนาดจริงๆ โดยหักลบระยะทางจากเครื่องวัด ( ริกเตอร์เอาผลวิจัยของ ดร.วาดาติ แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงการเปรียบเทียบแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยอาศัยค่าการเคลื่อนที่ของพื้นดินตามระยะทาง มาประยุกต์ใช้ ) แต่ก็มาติดที่บางครั้ง ขนาดของแผ่นดินไหวใหญ่เกินจะวาดในกระดาษ เนื่องจากมีค่าตั้งแต่ 1 ถึง พันล้าน

ปัญหาเรื่องนี้ ริกเตอร์นำไปปรึกษา ดร.กูเตนเบอร์ก และก็ได้คำแนะนำ ให้ใช้ค่าแบบล็อกการิธึม (Logarithms) ซึ่งจะสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ เพราะค่าตัวเลช 1 พันเมื่อเท็กล็อกก็จะได้แค่ 3 หนึ่งล้านก็แค่ 6 ร้อยล้าน ก็แค่ 8 กลายเป็นเลขหน่วยน้อยๆในการพูดและอ้างอิง

เป็นอันว่า ริกเตอร์สามารถสรุปวิธีการหาขนาดของแผ่นดินไหว วู้ดก็แนะนำต่อว่าควรมีชื่อเรียกขนาดของแผ่นดินไหวที่คิดขึ้นได้นี้ (แตกต่างจาก “ความรุนแรง” ของแผ่นดินไหว ขนาดคือขนาด อย่าสับสน) ริกเตอร์ก็เห็นด้วย

ด้วยความที่เป็นคนรักด้านดาราศาสตร์ ริกเตอร์เสนอให้ใช้คำว่า “แมกนิจูด” แบบเดียวกับความสว่างของดวงดาว มาเรียกขนาดของแผ่นดินไหว ที่คิดคำนวนขึ้นมาได้นี้ เป็นอันว่าในที่สุดก็เกิดการวัดขนาดแผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นมา ในปี 1935 นั่นเอง

แต่ ผลงานแรกของริกเตอร์นี้ เป็นผลมาจากการตรวจแผ่นดินไหวเฉพาะในแคลิฟอร์เนียใต้ (ระยะไม่เกิน 600 กิโลเมตร) และได้จากการตรวจวัดของเครื่องตรวจแผ่นดินไหวแบบบิดของวูด-แอนเดอร์สัน ถ้าเอาไปวัดที่อื่น ค่าก็จะใช้ไม่ได้ หรือใช้เครื่องมืออื่น ก็ใช้ไม่ได้อีก จึงเรียกค่าขนาดแผ่นดินไหวของที่ริกเตอร์คิดค้นได้เป็นสูตรแรกนี้ว่า ขนาดแผ่นดินไหวแบบท้องถิ่น หรือ Local Magnitude หรือย่อว่า ML

ปีต่อมาคือ 1996 ริกเตอร์ได้พยายามหาวิธีวัดขนาดแผ่นดินไหวที่เอาไปใช้ได้ทั่วโลก และจากความร่วมมือของ ดร. กูเตนเบอร์ก ก็ได้พบวิธีการใหม่ สูตรใหม่ คือ ใช้ค่าแอมปลิจูดของคลื่นพื้นผิว (Surface Wave หรือ S-Wave) ที่มีช่วงคลื่นประมาณ 20 วินาที มาสร้างสูตร และก็ได้วิธีวัดขนาดแบบใหม่ที่ชื่อ Surface Wave Magnitude หรือย่อว่า MS ขึ้นมาอีก 1 สูตร

แต่หลังจากปีนั้น ริกเตอร์ก็ไม่ค่อยได้เข้าไปร่วมหาวิธีการวัดขนาดเพิ่มเติมกับดร. กูเตนเบอร์กอีก แต่ทางกูเตนเบอร์ก ไม่ได้หยุดแค่นั้น เขายังพยายามนำคลื่นแผ่นดินไหวแบบอื่นๆ เฟสอื่นๆ เช่น คลื่น P-Wave คลื่น pp มาพัฒนาหาทางวัดขนาดแผ่นดินไหวให้หลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบัน มีมาตราการวัดขนาดแผ่นดินไหวมากมาย เช่น ML,MS,mb แต่ละมาตราก็มีข้อจำกัดต่างๆกัน เช่น บางมาตราไม่สามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆได้  หลังๆมีการพัฒนามาตราวัดขนาด Mw ขึ้นมาหรือที่เรียกว่าขนาดแบบโมเมนต์ (Moment Magnitude) ซึ่งเป็นมาตราที่ใช้ช้วัดขนาดแผ่นดินไหวใหญ่ๆได้ดีโดยผิดเพี้ยนน้อยที่สุด

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้ง เอเยนต์แต่ละเจ้า จะใช้มาตราที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสมในการรายงานขนาด เช่น ใช้มาตราคลื่นผิว MS ใช้มาตราท้องถิ่น ML (หรือมาตราริกเตอร์) หรือ มาตราโมเมนต์ ซึ่งบางครั้งหลังแผ่นดินไหวอาจต้องใช้เวลาในการรอค่าและคำนวนซ้ำ เราจึงมักเห็นขนาดแผ่นดินไหวที่รายงานโดย USGS หรือ EMSC หรือ Geofon หรือเอเยนต์อื่นๆ ในชั่วโมงแรกๆของแผ่นดินไหวออกมาไม่เท่ากัน แต่จะค่อยๆปรับจนเท่ากันในที่สุด

เมื่อยังไม่แน่ใจว่าใช้แมกนิจูดไหน หรือมาตราไหนในการวัดขนาด การรายงานข่าวก็ไม่ต้องใส่ชื่อมาตราลงไป แค่บอกว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเท่าไร หรือ แมกนิจูดเท่าไร ก็พอแล้ว

เช่น “เมื่อเวลา 09:38 เกิดแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น” เป็นต้น หรืออาจใช้ตัวย่อว่า M เฉยๆ ถ้ายังไม่รู้ว่ามาตราไหนแน่ เช่น M7.2 ก็ได้ หรือจะใช้ภาษาไทยล้วนก็ไม่ผิด เช่น “เมื่อเวลา 09:38 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น”

อย่าบังอาจไปโกหกใครว่า มันเป็นมาตราริกเตอร์ เป็นอันขาด จนคุณแน่ใจว่าเค้าใช้ ML แน่ๆแล้ว เพราะมันอาจเป็น MS ก็ได้ หรือ MK Md ได้หมด คุณจะรู้ว่าเป็นริกเตอร์หรือไม่ก็ต่อเมื่อทางเอเยนต์ ระบุมาแน่ๆว่าเป็น ML

ที่แย่กว่านั้น คนไทยจำนวนมาก ตัดคำว่า “ตามมาตรา” ออกไป อาจเพราะความสะดวกปาก คำว่าริกเตอร์สำหรับคนไทย เลยกลายเป็นเมตร เป็นกิโลกกรัม เป็นหน่วยแผ่นดินไหวไปซะงั้น เช่นที่ได้ยินจนชินหูว่า แผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์

การย่อคำแบบนั้น มันผิดหลักการทุกหลักการ ….อย่างแรง

สรุป "แม็กนิจูด" เป็นหน่วยวัด ส่วน"ริกเตอร์"เป็นมาตราที่ใช้วัด

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ