นายกในดวงใจ

2014-06-14

ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยากเอง...

โจน จันได วัย 45 ปี ชาวยโสธร
ขณะนี้บ่มเพาะ ความฝันอยู่บนดอย
ใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ที่ศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง
และ ศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ พันพรรณ

จากประสบการณ์การใช้ชีวิต 7 ปี อยู่กรุงเทพฯ
2 ปี ในสหรัฐ อเมริกา ยึดอาชีพล้างจานและยามเป็นหลัก

วันหนึ่งค้นพบตัวเองว่า เกษตรกรไทย
ทำงานเพื่อใช้หนี้ มากกว่าเลี้ยงตัวเอง



ชาวนาไทย ขณะนี้ทำนาปีละมากกว่า 2 ครั้ง
ต่างจากเดิม ที่บรรพบุรุษทำปีละ 2 ครั้ง
นี่บ่งบอกว่า เกษตรกรกำลังทำงาน อย่างหนัก
แต่ค่าแรง ที่ได้ก็ไม่พอใช้จ่ายต้องเสียเงินค่ายา ค่าปุ๋ย ต่าง ๆ นานามากมาย
จนเกิด คำถามว่า วันนี้เราทำงานเหนื่อยหนักเพื่อใคร..?”



โจน จันได เล่าเรื่องราวชีวิตที่เหมือนว่าได้ค้นพบวิถีใหม่ให้กับชีวิต
ที่ งานกรีนแฟร์ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาฯ เมื่อ 2 ปีก่อน

ชีวิตมันเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เราทำให้มันยากเอง
..." จาก โจน จันได

โจน จันได หรือที่หลายคนรู้จักเขาในนาม "โจน บ้านดิน" คนจนผู้ยิ่งใหญ่จากรายการ เจาะใจ เมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้ เขาคือผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดินของประเทศไทย โจน จันได เป็นผู้ปลุกกระแสบ้านดินให้ฟีเวอร์ในปัจจุบัน เขาเดินทางไปรอบโลกเพื่อนำเสนอแนวทางในการสร้างบ้านดิน  โดยเรียนรู้ชีวิตผ่านประสบการณ์ตรงนอกระบบการศึกษา จนแตกแขนงออกเป็นเครือข่ายคนสร้างบ้านดินในทุกวันนี้

เดิมที โจน จันได เกือบจะได้เป็นนักกฎหมาย เมื่อครั้งจากบ้านที่ยโสธรเข้ามาร่ำเรียนศาสตร์สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กรุงเทพมหานคร เขาใช้ชีวิตอยู่วัด กินข้าววัด และทำงานพิเศษเพื่อหาเงินค่าเล่าเรียนเอง แต่แล้วลูกอีสานคนนี้ ก็ตัดสินใจทิ้งอนาคตนักกฎหมาย และลาสังคมเมืองที่หลายคนหลงใหล  ด้วยเหตุว่าถามหาความสุขที่แท้จริงให้ชีวิตไม่เจอ !?!

ย้อนกลับไปวัยเด็ก แม้ลมหายใจแรกของเขาจะเคยได้พบกับคำว่าพึ่งตัวเองจากวิถีชีวิตพออยู่พอกินของหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดยโสธร  แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เกิดขึ้น กลับทำให้คนที่เติบโตในครอบครัวชาวนามีความอับอายในชีวิตที่เป็นอยู่ และตัดสินใจพาตัวเองห่างออกจากความเป็นอยู่เดิม โดยมุ่งหน้าไปยังชีวิตที่ศิวิไลซ์เหมือนๆ กับคนส่วนมากในสมัยนั้น

จากที่จะไม่ได้เรียนหลังจากจบชั้นประถมศึกษาเนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินส่งเสีย เขายอมโกนหัวบวชเณร ณ วัดธรรมมงคล ย่านสุขุมวิท พร้อมๆ กับเข้าไปเรียนต่อโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่สัมพันธวงศ์ศึกษา จนจบระดับ 5 (เทียบเท่ากับมัธยมปลายในปัจจุบัน) ก่อนจะลาสิกขาออกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมๆ กับการทำงานหาเงิน ทั้งพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร ไปจนถึงพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมต่างๆ

 แต่แล้วความต่างของวิถีชีวิตก็ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตที่เป็นอยู่  เวลาในแต่ละวันของเขาหมดไปกับการทำงานหนักๆ ให้ได้สิ่งตอบแทนที่เรียกว่าเงินเพียงเพื่อมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ทั้งที่ตัวเองมีบ้านโดยไม่ต้องเช่า มาจ่ายค่าอาหารได้เพียงมื้อละจาน เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ และมาจ่ายค่าเดินทางไปกลับระหว่างห้องพักกับที่ทำงาน ทั้งๆ ที่เขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้จากผืนดินของบ้านตัวเอง

"แต่ก่อนตอนอยู่กรุงเทพฯ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลา แม้แต่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ ผมยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเวลา ในที่สุด ผมก็ถามตัวเองว่า ผมรีบไปไหน ผมทำงานให้ใคร ในเมื่อผมทำงานแทบเป็นแทบตายแล้วตัวเองไม่มีอยู่ไม่มีกิน แล้วผมจะทำไปให้ใคร  พอมาคิดดู ผมรู้สึกแย่มากที่ไม่ได้ทำอะไรให้ตัวเองเลย ผมทำงานให้คนอื่นตลอด ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อไปจ่ายค่าข้าวมื้อละจาน ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อที่จะมีเงินไปซื้อเสื้อผ้า มีเงินเพื่อจ่ายค่ารถเมล์ แต่มีอะไรบ้างที่ผมทำเพื่อตัวเอง ไม่มีเลย ทำทั้งปีทั้งชาติ เงินก็ไหลออกไหลออก ทำแล้วไม่ได้อะไร ผมจะทำไปทำไม

ผมก็เลยกลับบ้านที่ยโสธร คราวนี้ผมทำเพื่อตัวเองทั้งหมดเลย  ผมอยากกินผัก ก็ปลูกผัก อยากกินปลา ก็เลี้ยงปลา ทำแค่นี้ก็เลี้ยงคนอื่นได้ แม่ น้อง และหลานของผม พวกเขามีอาหารกินเหลือเฟือ ความง่ายมันอยู่ตรงนี้ (เน้นเสียงผมมาใช้ชีวิตแบบนี้มันเหลือกินเลย แต่ผมไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตั้ง 7 ปี ทำแทบตายก็กินไม่เคยอิ่ม พอมาอยู่อย่างนี้มันคิดได้ว่าชีวิตมันง่ายแค่นี้เอง ทำงาน 30 นาทีต่อวัน แต่เลี้ยงคน 6 คนได้ แต่ 8 ชั่วโมงต่อวันในกรุงเทพฯ กลับเลี้ยงคนๆ เดียวไม่ได้"

7 ปีในกรุงเทพฯ กับชีวิตที่ยากและไม่ได้เรียนรู้อะไร ทำให้เขาตัดสินใจออกจากชีวิตที่ทำงานหนักๆเพื่อคนอื่นกลับบ้านเกิด ที่ยโสธร และพาตัวเองคืนสู่สามัญ เริ่มต้นวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายที่เขาคุ้นเคยในวัยเด็ก โดยใช้ชีวิตแบบพึ่งตัวเองและเพื่อตัวเอง

จากที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ วันละ 8 ชั่วโมง แต่เลี้ยงคนๆ เดียวแทบไม่ได้ ก็เหลือเพียงวันละ 30 นาที ซึ่งสามารถเลี้ยงคน 6 คนได้สบายๆ และวิถีชีวิตเช่นนั้น ยังเปิดโอกาสให้คนธรรมดาๆ คนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้การพึ่งตัวเองในเรื่องที่อยู่อาศัย 1 ในปัจจัย 4 อย่างบ้านดิน



 “ทุกวันนี้คนกว่าจะได้บ้านหลังหนึ่ง ต้องทำงานเก็บเงินเป็นยี่สิบสามสิบปี แสดงว่าแย่มาก อาหารก็แพงขึ้น และไม่มีความปลอดภัยเลย เราไม่รู้ว่าเขาเอาอะไรมาให้เรากิน

การพัฒนาที่เป็นอยู่ ชีวิตที่คนทุกวันนี้เป็นอยู่เป็นสิ่งที่หาสาระไม่ได้เลยเราทำไปด้วยความงมงาย ด้วยความไม่รู้เรื่องรู้ราว ทำชีวิตให้ยากขึ้นๆ ๆ ๆจนลืมไปว่าชีวิตเกิดมาทำไม ครอบครัวเป็นยังไง มีความสำคัญยังไง

ธรรมะคืออะไร ความสุขเป็นยังไง ไม่มีใครสอนเลย
คนมีแต่ซื้อๆๆๆ เพื่อให้มีความสุข แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นมั้ย?

คนบอกว่าอยากมีเสรีภาพ ต้องมีโทรศัพท์มือถือ ต้องมีอะไรมากมาย และจะมีเสรีภาพอย่างที่เขาโฆษณา แต่ความจริงมันคือเสรีภาพจริงๆ มั้ย?


มนุษย์ต้องหาเงินเป็นแสนเป็นล้านเพื่อให้มีบ้านสักหลัง ขณะที่ นก หนู สามารถทำรังได้ในวันเดียว

 “เมื่อมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าฉลาดที่สุดในโลก แต่ทำไมเราทำในสิ่งที่โง่ที่สุด

    โจนบอกว่ามันผิด ถ้ายากแสดงว่ามันผิด
 “อย่างการมีอาหาร คนทำงานในเมืองวันละ 8-12 ชั่วโมง แต่ไม่พอกินสำหรับคนเดียว ทำเพื่ออะไรกัน
แต่ผมทำสวนวันละ 30 นาที ผมมีอาหารเลี้ยงคน 7-8 คนได้สบาย ง่ายมากเลย นี่คือความง่าย
บางคนซื้อเสื้อผ้าตัวละเป็นพันสองพัน ทำงานกี่เดือนถึงจะได้เสื้อ ทำไมต้องทำให้มันยาก เราหลอกตัวเอง เราทำให้ชีวิตมันยากขึ้นๆ อย่าลืมว่าคนเรามีชีวิตไม่ยาวนักบนโลกนี้ อีกไม่นานก็ตายแล้ว แต่ทำไมเราเอาเวลาที่มีค่าสูงสุดมาทำสิ่งไร้สาระไม่เป็นประโยชน์กับตัวเรา
ใส่เสื้อผ้าสวยๆ รู้สึกยังไง ใส่เสื้อผ้าสวยแค่ไหน คนไม่สวยก็ไม่สวยเหมือนเดิม ไม่มีดั้งก็ไม่มีเหมือนเดิม เราหลอกตัวเอง หลอกคนอื่นทำไม"

อยากให้เห็นว่าชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าง่ายไม่ได้ มีความสุขไม่ได้
ความง่ายก็คือสิ่งที่เราได้มาโดยไม่ยากและก็ไม่เป็นทุกข์


                          

"ชีวิตคนเราง่าย ๆ อย่าคิดให้ยาก
เมื่อเราคิดยากเมื่อไหร่ ชีวิตจะทุกข์มากขึ้น ๆ
อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดตามที่เราฝัน ชีวิตก็เท่านี้เอง"

โจน จันได มนุษย์บ้านดินคนแรกของเมืองไทย
ผู้มีแนวความคิดในการดำรงชีวิตที่ดูแปลกแยก

เขายึดหลัก"ความง่าย"
ไม่ได้เห็นความสุขเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะความสุขมักจะคู่กับความทุกข์ ...โจน จันไดมองเช่นนั้น
*************************************************************


No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ