นายกในดวงใจ

2014-03-05

สื่อไทยกับการต่อสู้ของประชาชน

ธิดา ถาวรเศรษฐ 29 สิงหาคม 2554

        นับจากคุณทักษิณ ชินวัตรได้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนต้องถูกทำรัฐประหาร เกิดรัฐบาลต่อๆมา กระทั่งบัดนี้พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล บทบาทของสื่อกระแสหลักของประเทศไทย น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
          ตั้งแต่ปูกระแสให้เกิดการต่อต้าน และขับไล่ คุณทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่ง ทำตัวเป็นหัวหน้าขบวนการเคลื่อนไหว ต่อต้าน ด้วยตนเอง ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ปลุกระดมคนเคลื่อนไหว เพื่อ ขับไล่รัฐบาลทักษิณ เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร ควบคุม ทำตัวเป็นผู้จัดการประเทศไทย ผู้ชี้แนะทางการเมืองของประเทศไทย นี่คือบทบาทของสื่อ ค่ายผู้จัดการ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เคยเชียร์คุณทักษิณ ชินวัตรอย่างคลั่งไคล้  แต่เมื่อสูญเสียเวลารายการที่ช่อง9 และไม่ได้เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องที่ขยายตัวจากช่อง11 ในระบบดิจิตอล การณ์ก็เปลี่ยน
นี่อาจจะกล่าวได้ว่า ฐานะสื่อที่ผิดหวังการได้ผลประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสื่อ ก็เลยเปลี่ยนบทบาทจากสื่อมาเป็นกลุ่มกดดันทางการเมือง และเป็นผู้เปลี่ยนแปลง ผู้ควบคุมการเมืองในประเทศไทย
          ยิ่งกว่านั้นในการเคลื่อนไหวก็ใช้บทบาทสื่อของตนเองในการนำคนต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ได้มาจากการเลือกตั้ง
          บทบาทของสื่อค่ายผู้จัดการ จึงใช้บทบาทสื่อเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองและผลประโยชน์ของตนชัดแจ้ง
          ค่านเนชั่นก็น่าสนใจ ที่เสียประโยชน์จากไม่ได้บริหารไอทีวี นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านนายทุนที่ได้อำนาจรัฐจากการเลือกตั้ง ใช้บทบาทสื่อในการโจมตีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
          ทั้งสองค่ายนี้ มีสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ดาวเทียม สื่ออินเตอร์เนต ที่มีชื่อเสียง
          ค่ายโพสต์ แม้ไม่แสดงบทบาทเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้ง ด้วยปัญหารการเสียผลประโยชน์โดยตรงไม่หนักหน่วงดังเช่น สองค่ายแรก แต่นายทุนใหญ่ของโพสต์ก็เป็นเครือข่ายระบอบอำมาตย์ และผู้ทำงานสื่อหลายคนมาจากหน่วยงานความมั่นคงในเครือข่ายระบอบอำมาตย์เช่นกัน


          ค่ายมติชน ก็มีส่วนผสมของบุคคลากร แนวคิดแตกต่างกัน บางเวลา บุคคลากรระบบคิดแบบอำมาตย์ก็มีบทบาทสูง ยามอยู่ในช่วงรัฐประหาร และรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย  บุคคลากรแนวเสรีนิยมและก้าวหน้าก็ต้องถอยไปอยู่หลังๆ เมื่อการต่อสู้ของประชาชนขึ้นสู่กระแสสูง และบทบาทของประชาชนแสดงอำนาจมากขึ้น ก็จะผลักดันให้บุคคลากรฝ่ายประชาชนได้แสดงบทบาทในพื่นที่ของสื่อค่ายนี้มากขึ้น
          สื่อโทรทัศน์ วิทยุ ไทย เป็นกิจการผูกขาดที่น่าสนใจเช่นกัน ผลพวงจากอำนาจเผด็จการทหารในอดีต ทำให้มีสถานีโทรทัศน์ของทหาร สถานีวิทยุทหาร เป็นช่องทางหาผลประโยชน์และครอบงำ ความคิดประชาชน ให้อยู่ภายใต้ระบอบอำมาตย์และหน่วยงานความมั่นคงตามแนวคิดทหารไทยที่ เป็นอำนาจนิยมและอนุรักษ์นิยม
          สำหรับสื่อโทรทัศน์ช่องอื่นๆ เช่น 3,7,9,11 ก็ล้วนแต่เป็นเครื่องมือของกลไกอำมาตยาธิปไตยเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการผูกขาดสัมปทาน
          กล่าวได้ว่า สื่อต่างๆล้วนสังกัดค่ายผลประโยชน์ของทุนกลุ่มต่างๆ และล้วนเชื่อมโยงกับเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเป็นผู้ควบคุมกลไกรัฐตัวจริงมายาวนาน และยังครองอำนาจจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีกลุ่มทุนใหม่มาเป็นรัฐบาลก็ตาม
          พูดง่ายๆก็คือ “สื่อของทุนกลุ่มไหน ชนชั้นไหน ก็รับใช้ทุนกลุ่มนั้น ชนชั้นนั้น นั่นเอง” นี่จึงไม่ใช่เรื่องที่อนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ จะมาประนาม ค่ายใดค่ายหนึ่ง โดยไม่สนใจว่า ค่ายอื่นๆเป็นอย่างไร และตนเองมีสัมพันธภาพกับเครือข่ายระบอบอำมาตย์อย่างไร
การกล่าวโจมตี ค่ายมติชน ข่าวสด ในฐานลำเอียง โดยการนับภาพ นับเรื่อง นับโฆษณาว่าไม่เท่ากัน โดยไม่ลืมหูลืมตา ดูความจริงว่า สื่อไทยนั้นไม่ใช่เอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ตัวสื่อเอง หลายค่าย แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์เปิดเผยแม้แต่ต่อการเคลื่อนไหวมวลชนเอง
แน่นอนว่า เราต้องพูดถึงบุคคลากรที่ทำหน้าที่สื่อด้วยเช่นกัน  เอาเป็นว่า สื่อสังกัดค่ายไหน ก็เลือกบุคคลากรที่จงรักภักดีกับเจ้าของสื่อ และมีแนวคิดแบบเดียวกับเจ้าของสื่อนั้นๆ นี่เป็นการชี้นำความคิด การกระทำ คำพูด จะถูกครอบงำด้วยระบอบใหญ่แห่งผลประโยชน์ของกลุ่มของทุนของชนชั้นตน
จึงไม่แปลกที่ ค่ายเครือข่ายผู้จัดการ เอเอสทีวี ก็จะมีบุคคลากรที่จงรักภักดีต่อ สนธิลิ้มทองกุล และแนวทางจารีตนิยมสุดโต่ง แบบเจ้าของสื่อ  หาไม่ก็ต้องถูกอัปเปหิ  ค่ายเนชั่นก็ต้องเป็นปฏิปักษ์กับคุณทักษิณ ที่เริ่มด้วยความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ แต่มีบุคคลากรบางคนที่ไม่จารีตนิยมสุดโต่ง เพราะค่ายนี้เดิมก็เป็นเสรีนิยม แต่ความขัดแย้งยังมีเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก แนวคิดยังไม่ใช่จารีตนิยมสุดโต่ง จึงมีบุคคลากรเสรีนิยมส่วนหนึ่งปะปนอยู่ได้
บุคคลากรภายในสถานีโทรทัศน์ต่างๆนั้น ถ้าไม่สนับสนุนระบอบอำมาตยาธิปไตย  ก็อยู่ไม่ได้ยาวนาน และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลทั้งช่อง11 และช่อง9 รวมทั้งไทยพีบีเอส หรือทีวีไทย กลายเป็นว่า 3 ช่องเป็นของระบอบอำมาตย์ชัดๆ ดูได้จากบอร์ดและคณะผู้บริหาร มีที่มาจากผลพวงของการรัฐประหาร และรัฐบาลอำมาตย์ของคณะรัฐประหารและพรรคประชาธิปัตย์ แต่สถานีเอกชนที่มุ่งผลประโยชน์เป็นสำคัญ ก็จะ แสวงหาบุคคลากรเด่นๆมาร่วม แต่ภาพรวม โฆษก พิธีกร ละคร สารคดี ก็ล้วนถูกครอบงำโดยความคิดอนุรักษ์นิยม จารีตนิยม ไม่ใช่เสรีนิยม
ที่สำคัญยังมีบทบาท ยั่วยุ ปลุกระดม ใส่ร้ายป้ายสี เลือกข้าง ชัดเจนในการสัมภาษณ์นักการเมือง และรายการวิเคราะห์ต่างๆ
ดังปรากฏข่าว นักข่าวหญิงช่อง7สี ซึ่งแสดงออกมากเกินไป ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์กับสาวนักข่าวคนนี้ ที่สัมภาษณ์ ณ. โรงแรมแห่งหนึ่งริมถนนวิภาวดี นักข่าวถามว่า “นปช.จะลอกคราบใหม่ ใช่หรือไม่?” ผู้เขียนเลยตอบว่า “นปช.ไม่ใช่งูที่จะลอกคราบได้ คุณถามอย่างนี้หมายความอะไร?” ที่จริงนี่เป็นคำถามเพื่อโจมตีแบบดูถูกเหยียดหยาม ผู้เขียนตอบอะไรมากกว่านี้อีก จำไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่า “เราไม่ใช่งูที่จะลอกคราบได้” ผู้สื่อข่าวอื่นๆก็หันมาดูเป็นตาเดียวกัน แล้วเธอถามคนเดียวเป็นไฟแลบ ยาวเหยียดไม่เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวคนอื่นถาม ผู้เขียนเลยบอกว่า “คุณน่าจะพอได้แล้ว ให้คนอื่นเขาถามบ้าง”
บุคคลากรบางท่าน ในค่าย T news ก็ชัดว่าเป็นการเมืองค่ายสีน้ำเงิน ปรักปรำ โกหกใส่ร้าย คนเสื้อแดงตลอด พิธีกรค่ายเนชั่นหลายคนก็เช่นกัน พูดจา โกรธแค้น ด่าว่า คนเสื้อแดงและแกนนำอย่างสาดเสียเทเสีย
อย่าไปโกรธเขาเลย เขาใกล้บ้าเสียแล้ว เพราะโกรธที่ฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะ ให้มันอาฆาตแค้นไปเถิด  เขาโกรธจัด เพราะเขาพ่ายแพ้ แบบที่ไม่มีหนทางชนะได้อีกแล้ว จุดยืนผิด เลือกข้างผิด ทั้งยังทะนงตนอวดเก่ง ก็ต้องอาละวาดเช่นนี้
แต่ถ้าเขาคิดได้ กลับตัวกลับใจ ก็ให้อภัย ขอให้มาร่วมกับประชาชนบนหนทางเดินที่ถูกต้อง ก่อนที่จะถูกดินกลบหน้า ภายใต้ฝ่าเท้าของมวลชน.

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ