นายกในดวงใจ

2014-02-24

Me and My Country



Me and My Country (1) 

ผมขอเริ่มตอนที่หนึ่งโดยการเล่าเรื่องเบื้องหลังการเจรจากับญี่ปุ่นในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิครับ 

ปี 2544 ผมได้ประกาศว่าจะยกเลิกการประกวดราคาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งประกวดราคาโดยรัฐบาลก่อนเป็นวงเงิน 54,000 ล้านบาทเศษ โดยออกแบบรองรับผู้โดยสารได้ 35 ล้านคน ซึ่งขณะนั้นผมเห็นว่าแพงและจำนวนผู้โดยสารที่รองรับได้น้อยไป เกรงจะไม่พอ เปิดปุ๊บก็ต้องเต็มปั๊บ ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้นก็วิ่งมาพบผมและขอคัดค้านเพราะเรากู้เงิน JBIC อยู่ โดยบอกว่าจะยกเลิกเงินกู้ 

ผมก็นั่งคิด เนื่องจากเรายังไม่พ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ ก.ค. 40 แต่ถ้าเรากลัวไม่ได้กู้เงิน เราก็ต้องสร้างสนามบินที่แพงเกินจริงและรองรับผู้โดยสารได้น้อยเกินไป เพราะจะสร้างใหม่ทั้งทีอุตส่าห์รอกันมาตั้ง 40 ปี ขณะนั้นผมอ่านออกว่าทูตญี่ปุ่นกลัวว่าประกวดราคาใหม่บริษัทญี่ปุ่นจะไม่ชนะประมูล เรื่องการไม่ให้กู้เงินคงจะไม่จริง 


ผมก็เลยบอกไปว่าผมจำเป็นต้องยกเลิกการประมูลและแก้แบบใหม่ให้รองรับผู้โดยสารจาก 35 ล้านคนเป็น 45 ล้านคน ถ้าญี่ปุ่นไม่ให้กู้ก็ไม่เป็นไร ผมใช้เงินแบงค์กรุงไทยกับแบงค์ออมสินก็ได้ ผมก็เลิกการประมูล แก้แบบเป็น 45 ล้านคน และให้มีการประมูลใหม่ 

ผลปรากฎว่าราคาลดลงจาก 54,000 ล้านบาท เป็น 36,666 ล้านบาท ประหยัดไป 17,000 ล้านบาทเศษ พร้อมกับรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 10 ล้านคน จาก 35 เป็น 45 ล้านคน ซึ่งขนาดเพิ่มแล้ววันนี้หลังจากเปิดไม่กี่ปีก็เต็มแล้ว ทั้งๆที่ไปใช้ดอนเมืองด้วย 

และในที่สุด ท่านทูตญี่ปุ่นคนเดิมก็กลับมาขอร้องให้เราใช้เงินกู้ JBIC ต่อไปเหมือนเดิม (การเจรจาต้องรู้ความต้องการของเขาและของเรา) 

ถ้าท่านจำได้ช่วงผมเป็นนายกฯใหม่ๆ ผมได้ประกาศว่าไทยจะไม่ยอมกู้เงินนอกเด็ดขาดยกเว้นสัญญาที่มีอยู่เดิม ทั้งๆที่ตอนนั้นเรามีเงินสำรองอยู่ 27-28 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่เรามีหนี้ต่างประเทศมากกว่าเงินสำรองเรามาก รวมทั้งหนี้ IMF ถึง 12,000 ล้าน 

ผมเข้าใจโลกทุนนิยมดีครับ มันเปรียบเสมือนว่าเมื่อแดดออก มีแต่คนจะเอาร่มมาให้เราถือเต็มไปหมดทั้งๆที่เราไม่ต้องใช้ แต่ยามฝนตก เราอยากได้ร่มสักคันก็ไม่มีใครให้ยืม เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างคำว่า Trust & Confident ให้ได้ เงินถึงจะมา 

ผมเลยใช้นโยบายว่า กัดฟันไม่กู้เงินนอกเท่านั้น ต่างประเทศก็เริ่มมั่นใจขึ้น เงินต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาประกอบกับการปรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้นให้สอดคล้องกัน ทำให้พ่อค้านำเข้าและส่งออกที่เก็บเงินไว้ต่างประเทศก็เริ่มนำกลับเข้ามา เสถียรภาพเงินบาทก็แข็งขึ้น เงินสำรองก็มากขึ้นจนเราสามารถใช้หนี้ IMF ได้ ซึ่งตอนเกิดวิกฤตตอนเราต้องยืมเงิน IMF ทุกคนก็คิดว่าต้องใช้เวลาเป็นสิบๆปีกว่าจะใช้หนี้ได้ 

ตอนที่ผมตัดสินใจใช้หนี้หลายคนก็ห้ามผมว่าทำไมต้องรีบใช้ เดี๋ยวเงินสำรองจะพร่องมากไปไม่พอใช้ บังเอิญผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก ผมก็เลยสั่งให้ใช้หนี้ทั้งหมดทีเดียว หม่อมอุ๋ยขอต่อรองเป็นอีก6 เดือน ผมก็เลยบอกว่าผมประกาศเลยนะว่าอีก 6 เดือนจะชำระ 

ก็เลยเกิดการชำระหนี้ IMF ก่อนครบกำหนดถึง 2 ปี ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดีขึ้นมาก เงินก็เริ่มไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนเรากลายเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น Net Creditor Nation คือเป็นประเทศที่มีเงินฝากเป็นเงินตราต่างประเทศมากกว่าเงินกู้ต่างประเทศ โดยรวมตัวเลขทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วย เป็นครั้งแรกของไทย 

สรุปก็คือว่าถ้าเรามียุทธศาสตร์การเงินและการทำงานที่ควบคู่กันได้ดี เราจะสร้างTrust & Confident ให้กับองค์กรของเรา(ซึ่งในที่นี้ก็คือประเทศ) แล้วเราจะเติบโตได้ เพราะจะมีเงินทุนเข้ามาให้เราได้ใช้บริหารและสร้างรายได้อย่างไม่จำกัดครับ วันนี้เอาเท่านี้ก่อนครับ






Me and My Country (2)
17 ต.ค. 56

วันนี้ผมออกเดินทางด่วนจากไปกล่าวสุนทรพจน์และร่วมถกการทำให้ประเทศในเอเชียสู่ความเป็น One Asia ก็เลยอยากจะเล่าเบื้องหลังการจัดตั้ง ACD ( Asia Cooperation Dialogue) ในปี 2545 ให้ท่านฟังครับ 

ผมเห็นว่าทวีปเอเชียเป็นทวีปเดียวที่ไม่มี Forum ที่มีสมาชิกรวมกันทุกประเทศที่อยู่ในเอเชียซึ่งไม่เหมือนกันทวีปอื่นที่มี Forum ที่ประกอบด้วยสมาชิกทุกประเทศในทวีปนั้น ทั้งๆที่เราเป็นทวีปที่มีประชากรรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของประชากรโลก มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกันก็เกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลก เป็นทวีปที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ ศาสนาทุกศาสนาก็มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชียแทบทั้งนั้น และสิ่งมหัศจรรย์ของโลกส่วนใหญ่ก็อยู่ในเอเชีย 

แม้กระนั้นเราก็ยังมีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ UN ถือเป็นความยากจนมากกว่าทุกทวีป เพราะเรามีปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายภูมิภาค ทำไมเราไม่วางความขัดแย้งไว้ก่อน หันมาพูดคุยกันให้เกิดการร่วมกันพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ด้วยกัน ซึ่งผู้นำต้องคิดไปไกลกว่าเขตแดนประเทศตัวเอง One Asia จึงจะเกิดได้

ผมเลยเริ่มต้นคุยกับประเทศใหญ่สุดคือจีน พอจีนเริ่มให้ความสนใจผมก็คุยกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็สนใจ ผมจึงรีบมาคุยกับอาเซียน อาเซียนให้การสนับสนุนเต็มที่ ผมรออยู่พักใหญ่จีนกับญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจเต็มที่ ผมก็เลยไปอินเดีย นายกรัฐมนตรี อตล เพหารี วัชปายี ในขณะนั้นก็ตกลงทันที ผมก็รีบมาประชุม Bo'ao Forum ที่ไหหลำ แล้วมาพบกับนายกฯ จู หรงจี ของจีน นายกฯโคะอิซุมิของญี่ปุ่นก็นั่งอยู่ด้วยกัน ผมบอกไปเลยว่า อาเซียนและอินเดียตกลงใจแล้ว นายกฯจู หรงจี และนายกฯโคะอิซุมิก็บอกผมพร้อมกันเดี๋ยวนั้นว่าจีนและญี่ปุ่นตกลง แค่นี้ผมก็ได้ประเทศหลักๆแล้ว ต่อมาเกาหลีก็ตกลง จีนบอกผมเพราะรู้ว่าอินเดียเข้ามาแล้วก็ให้เชิญปากีสถานด้วย ผมก็เลยไปเชิญซึ่งเขาก็ตอบรับทันที ต่อมาจึงขยายมาชวนประเทศที่มีนายกฯเป็นเพื่อนกันแถวเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก เช่น บาห์เรน การ์ตา และทาจิกิสถาน ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เรามีความริเริ่มและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ 

พอมาตอนที่มีการรัฐประหาร ทางคณะรัฐประหารก็คงอยากจะทำลายสิ่งดีๆที่ผมทำไว้ก็จะไปขอยกเลิก ACD เลยโดนตอกหงายมาจากประเทศสมาชิกว่า ACD ถึงแม้ไทยจะเป็นผู้ริเริ่มแต่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ มันเป็นองค์กรของทุกประเทศสมาชิก ผมพยายามจะปลุกให้เกิดความเป็นหนึ่งของเอเชียให้ได้จึงต้องหาเสียงเพิ่มสมาชิกไปเรื่อยๆจนปัจจุบันมีอยู่ 28 ประเทศแล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กระทรวงต่างประเทศของเราต้องทำงานต่อเนื่องจริงจังต่อไปครับ

ผมขอเล่าเบื้องหลังขำๆให้ฟังเรื่องหนึ่ง คือตอนที่ผมไปเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ผมได้รับการบอกจากทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี บอกว่าถ้าผมเข้าไปคุยกับท่านนายกฯวัชปายีแล้วแปลกใจ ท่านจะไม่พูดอะไรซัก 10 นาทีนอกจากสั่นหัวแบบคนอินเดีย เพราะเป็นลักษณะของท่าน ขอให้ผมพูดต่อไปเรื่อยๆเดี๋ยวท่านก็จะพูดขึ้นมาเอง ผมบอกว่าผมทนไม่ได้หรอก แค่ 2-3 นาทีไม่พูดตอบ ผมก็ไม่ยอมแน่ ท่านทูตก็เลยตกใจ ผมบอกว่าผมมีวิธีของผมสิน่า!

พอวันไปพบกันจริงท่านก็เป็นเช่นนั้น ผมพูดอะไรท่านก็สั่นหัวแบบอินเดีย ซักหนึ่งนาทียังไม่พูด ผมก็เลยบอกว่า Your Excellency, Let me ask you something ท่านก็เลยพูดว่า What? ผมก็เลยบอกว่า At this age why haven't you been married? ซึ่งตอนนั้นท่านประมาณ 70ปี ท่านก็หัวเราะและตอบว่า I had been in opposition side for more than 40 years. Sometimes I'd been jailed. Nobody wants to marry me. เท่านั้นก็เสร็จผม ผม Break the ice ได้ ท่านก็เลยเริ่มพูดกับผมเลยกลายเป็นคนที่สนิทกันเป็นพิเศษ จนท่านมาเยือนเมืองไทยแล้วขอไปเชียงใหม่บ้านเกิดผมด้วย

ที่เล่าให้ฟังก็เพียงอยากบอกว่าเวลามีตำแหน่งสูงๆ ทุกคนถูกบังคับด้วย Protocol ทำให้ Stiff จึงทำให้ความเป็นมนุษย์ (Human) มันลดน้อยลงแต่จริงๆแล้วทุกคนคือมนุษย์ ถ้าเราสามารถจับความเป็นมนุษย์และสร้างความสัมพันธ์แบบ Human to Human ได้ เราจะมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ ผมมักจะได้ผู้นำที่เป็นคนที่เงียบๆพูดน้อยวางตัวขรึมเป็นเพื่อนสนิทจนถึงทุกวันนี้

ทั้งๆที่ผมพ้นจากความเป็นนายกฯมาตั้ง 7 ปีแล้วครับ





Me and My Country (3) 

ผมมาอยู่ญี่ปุ่น 3 วัน มาเห็นเศรษฐกิจญี่ปุ่นคึกคักขึ้นเยอะ สอบถามผู้คนถึงความพึงพอใจ ก็พบว่าคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าดีขึ้น พอใจ 

ก็เลยทำให้นึกถึงตอนที่ผมเป็นนายกฯใหม่ๆ ผมจับทฤษฎีโลกทุนนิยมว่าเศรษฐกิจเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง จิตวิทยาที่ว่าจะต้องให้เกิดบรรยากาศแห่งความเชื่อมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust & Confident) 

พอท่านนายกฯ Abe เข้ามา ท่านปรับค่าเงินเยนที่แข็งเกินกว่าเศรษฐกิจที่แท้จริง ถ้าเป็นภาษาของอาชญวิทยา เราเรียกกันว่า Shock Therapy คือการรักษาบำบัดโดยวิธีที่รุนแรง พอดีผมมีโอกาสได้คุยกับท่านนายกฯ Abe ด้วยตัวเอง ก็เลยถามท่าน ท่านตอบดีมาก 

ท่านเลี่ยงคำว่าลดค่าเงินซึ่งเป็นการที่อาจถูกต่อว่าจากประเทศคู่ค้าได้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ลดแค่ค่าเงิน ท่านใช้ทฤษฎี Inflation Targeting ด้วยการตั้งค่าอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% เพราะเดิมอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเป็น 0% หรือบางทีก็ติดลบหน่อยๆ ก็เลยทำให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว เงินถึงจะเฟ้อขึ้นมาระดับ 2% ได้ ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกทฤษฎี ความเชื่อมั่นจึงเกิดกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างแรง รัฐบาลจึงเป็นที่นิยมของประชาชนซึ่งรอความหวังทางเศรษฐกิจมานาน 

ตอนที่ผมเข้ามาเป็นนายกฯใหม่ตอนนั้น เศรษฐกิจยังไม่ยอมฟื้นจากวิกฤติ หลังจากที่ผมตรวจสอบสภาพคล่องในสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชน ผมรู้สภาพปัญหาที่เงินของพ่อค้าส่งออกไม่ยอมส่งกลับเข้าไทย และก็สถาบันการเงินต่างประเทศก็ยังไม่มีความเข้าใจและไว้วางใจเศรษฐกิจไทย ผมเลยประกาศความแข็งแรงทันทีว่า เราจะช่วยตัวเอง เราจะฟื้นเศรษฐกิจตัวเอง โดยการไม่ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากใคร และจะไม่กู้เงินต่างประเทศเป็นอันขาด ทำให้วงการเงินต่างๆช๊อค นึกว่าเรายังจะวิ่งกู้อยู่ คนไทยก็มีความมั่นใจขึ้นจึงเริ่มมีการขยับตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น 

ผมเริ่มปฏิบัติการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทันที โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่ถูกดูแคลนว่าจะเอาตังค์ที่ไหนมาทำ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และตามมาด้วยหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) แล้วรีบตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ซื้อหนี้ออกจากธนาคารเพื่อให้ธนาคารเริ่มปล่อยกู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นการ Shock Therapy เช่นกัน หุ้นก็เริ่มขึ้น ค่าเงินบาทก็เริ่มแข็งตัวแบบมีเสถียรภาพ เงินที่พ่อค้าส่งออกไม่ยอมเอาเข้ามาก็เข้ามา 

พอเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ผมจึงประกาศใช้หนี้ IMF เศรษฐกิจจึงแข็งอย่างต่อเนื่องมาหลายปี 

ก็ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเศรษฐกิจจะดีได้ต้องสร้างบรรยากาศให้เกิด Trust and Confident ในระบบเศรษฐกิจเราให้ได้ครับ 

ไหนๆผมก็ได้คุยกับท่านนายกฯ Abe แล้ว ผมก็เลยสอบถามเรื่องวีซ่าเข้าญี่ปุ่นที่มีการปล่อยข่าวลือว่าจะยกเลิกการไม่ให้วีซ่า กลับมาต้องมีวีซ่าเหมือนเดิมเพราะมีคนไทยเข้าไปแล้วไม่ออกมาหลายคน ซึ่งก่อนผมจะถามท่าน ผมก็เลยขอข้อมูลส่วนของเราก่อนก็พบว่า การอยู่เกินกำหนดมีทั้งสองฝ่าย คือทั้งญี่ปุ่นมาไทยและไทยไปญี่ปุ่น อัตราของการอยู่เกินของไทยไปญี่ปุ่นมีไม่มากกว่าตอนที่ต้องมีวีซ่ามากนัก และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนไทยไปญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นถือว่าน้อยมาก ท่าน Abe ก็ตอบผมว่าไม่ได้วิตกและไม่ได้คิดเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้เลย ก็ไม่รู้ใครปล่อยข่าวลือจนคนไทยตกใจมาถามผมจำนวนมาก ผมก็เลยไปถามมาด้วยตนเองมาเล่าให้ฟังว่าไม่ต้องวิตก 

คนสิงคโปร์ไปไหนเกือบทั่วโลกไม่ต้องมีวีซ่า ทำไมคนไทยต้องขอวีซ่าอีกตั้งหลายประเทศ ดังนั้นนับวันรัฐบาลก็จะเจรจายกเลิกวีซ่า 2 ฝ่ายกับประเทศหลักๆมากขึ้นเรื่อยๆครับ ปีใหม่ 2014 นี้จีนกับไทยจะยกเลิกวีซ่าต่อกันแล้วครับ


หากท่านจะแชร์ความเห็นด้านล่าง แอดมินจะมีกำลังใจมากค่ะ


1 comment:

  1. กราบตรงหัวใจขอบคุณท่านทักษิณค่ะ....

    ReplyDelete

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ