โดย...ธิดา ถาวรเศรษฐ 19 ต.ค. 56
ปาฐกถาของอดึตผู้นำนักศึกษา
คนสำคัญในประวัติศาสตร์การต
่อสู้ของประชาชนเมื่อ 40 ปีล่วงมาแล้ว บอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง?
คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ให้ความสำคัญแก่การปาฐกถาในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลาครั้งนี้
โดยมีการตระเตรียมเอกสารและนำเสนอผลึกความคิดของตนในช่วงเวลานี้ การแสดงปาฐกถาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 13 ตุลาคม ในหอประชุมใหญ่ที่แน่นขนัดไปด้วยคนเสื้อแดง จึงมีความหมายแปลกใหม่ ทั้งผู้ปาฐกถาและผู้รับฟัง เพราะผู้ฟังเป็นประชาชนกลุ่มใหม่ของคุณเสกสรรค์และองค์ปาฐกก็ใหม่สำหรับคนเสื้อแดง และหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ก็เป็นสถานที่ใหม่ สรุปว่าทุกฝ่ายเป็นคนแปลกหน้าและสถานที่ก็เช่นกัน นี่จึงกล้าหาญทั้งผู้พูด ผู้ฟัง และผู้จัดงาน สำหรับหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ซึ่งร้างลาจากประชาชนมานาน และกล่าวสำหรับคนเสื้อแดงไม่มีใครสั่ง แต่ทุกคนเต็มใจใส่เครื่องแบบสีแดงกันเป็นส่วนใหญ่
น่าสนใจที่คุณเสกสรรค์ยอมรับว่าสิ่งที่จะกล่าวไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ทุกคนรวมทั้งผู้เขียนก็สนใจว่าคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คิดอย่างไรในสถานการณ์สังคมไทยขณะนี้ หลังจากผ่านการรัฐประหารมาแล้วกว่า 7 ปี ผ่านการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนและประชาชนถูกจับกุมคุมขังมาแล้วกว่า 3 ปี คุณเสกสรรค์บรรยายตั้งแต่เจตนารมณ์ 14 ตุลาที่ยังยืนยาวถึงปัจจุบัน อธิบายแนวคิดประชาธิปไตย อุปสรรคของประชาธิปไตย พลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้น คู่ขัดแย้งหลัก ความผิดพลาดของชนชั้นนำเก่าในการทำรัฐประหาร และประเมินกำลังคู่ต่อสู้ไม่ถูกต้อง กล่าวว่าทั้งหมดมิใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ฟัง แต่ ผมจำเป็นต้องเอ่ยถึงสภาพดังกล่าวเพื่อบอกพวกท่านว่า ผมยืนตรงไหน และคิดอย่างไร พร้อมทั้งข้อเสนอด้วยมิตรภาพสำหรับพลังประชาธิปไตยใหม่
1. พลังประชาธิปไตยไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่แค่พิทักษ์รักษารัฐบาลหรือนักการเมืองที่ตัวเองพอใจเท่านั้น และให้สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน และองค์ประกอบต่าง ๆ ของประชาธิปไตยด้วย (สะพานเชื่อมระหว่างการเมืองภาคประชาชนแบบเดิมกับพลังมวลชนแบบใหม่ในระบบรัฐสภา)
2. ขยายแนวร่วมหลายชนชั้นและบุคคลต่างกลุ่ม ขยายพลังประชาธิปไตยด้วยบรรยากาศเสรีนิยม
3. ให้ขบวนประชาธิปไตยเรียนรู้การใช้อำนาจอ่อนในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมและมีจังหวะก้าว
ในวันที่สองที่ลานโพธิ์ คุณเสกสรรค์เน้นเรื่องเศรษฐกิจไร้พรมแดน สรุปว่า
เป็นอุปสรรค์ต่อการขยายประชาธิปไตย
ความแตกต่างทางชนชั้นโดยการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม
แรงผลักของกระแสโลกาภิวัฒน์
น่าสังเกตว่าอุปสรรค์ต่อการขยายประชาธิปไตย 2 วัน คุณเสกสรรค์พูดต่างกัน
เดิมกล่าวถึง
1. อิทธิพลชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน
2. ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยม
3. กำลังของฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่คงเส้นคงวา
หรือว่าวันที่สองพูดให้เสื้อเหลืองฟัง จึงเน้นปัญหาเศรษฐกิจไร้พรมแดนและความเหลื่อมล้ำเป็นหลักว่าเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตย
เอาเป็นว่าให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลเพิ่มเติม เขาพูดถึงการก่อตัวของอำนาจกลุ่มทุนใหม่ก่อตัวเป็นพันธมิตรทางชนชั้นอันเหลือเชื่อระหว่างกลุ่มทุนใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์กับเกษตรกรในชนบทซึ่งเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ที่สุด เสกสรรค์ใช้ภาษา “การเมืองภาคประชาชน” “การเมืองมวลชนของชนชั้นกลางใหม่” คุณเสกสรรค์พูดถึงความเหลื่อมล้ำในตัวเลขที่ต่างจากเดิม แน่นอนว่าการพูดวันที่สองตัวเลขถูกต้อง (อ้างอิงมติชน 2550) แต่ผู้เขียนก็ขอเสนอตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รายได้เฉลี่ยและการถือครองรายได้ของประชากร จำแนกกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ (Decile by income) ปี 2554
กลุ่ม 10% ที่ 1 (จนที่สุด) รายได้เฉลี่ย 1,254 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 2 รายได้เฉลี่ย 2,453 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 3 รายได้เฉลี่ย 3,119 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 4 รายได้เฉลี่ย 3,834 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 5 รายได้เฉลี่ย 4,642 บาท/คน/เดือน
50% ที่เป็นคนจนรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท
กลุ่ม 10% ที่ 6 รายได้เฉลี่ย 5,652 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 7 คนชั้นกลาง รายได้เฉลี่ย 6,958 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 8 รายได้เฉลี่ย 8,777 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 9 รายได้เฉลี่ย 12,123 บาท/คน/เดือน
กลุ่ม 10% ที่ 10 (รวยที่สุด) รายได้เฉลี่ย 31,478 บาท/คน/เดือน
ถ้าจะพูดถึงคุณเสกสรรค์
แน่นอนอาจจะใช้เวลานานเกินไปร่วม 7 ปี สำหรับคุณเสกสรรค์ที่กว่าจะกล่าวปาฐกถาแบบนี้ ถือเป็นความในใจที่เรียบเรียงมาอย่างซื่อตรง (โดยเฉพาะวันแรก) ได้เนื้อหาและภาษาลึกซึ้งกินใจ ตั้งใจเรียบเรียงเป็นตัวอักษรก่อนเป็นคำพูดที่อ่านตาม ดึงดูดคนอย่างไม่น่าเชื่อ และคนอย่างฟังว่าจะพูดอะไรบ้าง นำเสนอทางทฤษฎีถึงพลังการต่อสู้คือ ชนชั้นกลางใหม่ วิพากษ์ชนชั้นนำเก่าที่ทำรัฐประหารและดูเบาพลังคู่ต่อสู้ แต่ก็เสนอคู่ขัดแย้งหลักว่าเป็นชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่ แต่ในวันที่สองก็พูดถึงความเป็นพันธมิตรของทุนใหม่กับมวลชน
นี่คือเชิงทฤษฎีเรื่องที่สองที่เราต้องถกเถียงกันว่าเห็นด้วยไหม?
เรื่องที่สามคือ บทบาทของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ต่อสังคมไทย ทำให้อำนาจนโยบายของรัฐมีพื้นที่น้อยลง และบทบาทของทุนนิยมเสรีที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากในสังคมไทย ทั้งหมดนี้ในทางทฤษฎีหลายอย่างก็เห็นตรงกัน แต่หลายอย่างต้องใช้ข้อมูลให้มากขึ้นจึงจะเห็นพัฒนาการทางสังคม เช่น สัดส่วนคนยากจน (ใต้เส้นความยากจนลดจากปี 2531 ซึ่งมีสัดส่วนถึง 42.21% ของประชากรมาจนถึงปี 2553 ที่เหลือ 7.8% ตัวเลขคนยากจนที่เหลือไม่ถึง 10% ก็คือปี 2547 มี 9.55%) (ตัวเลขที่ใช้เส้นความยากจนแบบเดิม)
ถือเป็นชัยชนะแรกที่มีคนยากจนต่ำกว่า 10% ปัจจุบัน “กลุ่มคนจน 7.8% ใต้เส้นยากจนและกลุ่มเกือบจน” มี 7.6% ของประชากร รวมกลุ่มคนจนและคนเกือบจนเท่ากับ 10 ล้านคน ร้อยละ 15.3 ของประชากรทั้งประเทศ
สำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน
บัญชีเงินฝาก 10 ล้านบาทขึ้นไปมี 0.09% ของบัญชีทั้งหมด แต่มีสัดส่วนร้อยละ 41.21 ของมูลค่าเงินฝากรวม
สินทรัพย์ที่ดินที่มีการครอบครองโดยประชาชนทั่วไปมี 120 ล้านไร่ โดยมีคนเพียง 10% ถือครองที่ดินจำนวนนี้มากกว่า 90%
ถ้าดูตามข้อมูลนี้ก็เป็นว่า คนยากจนลดลงชัดเจนในปี 2549 ที่ต่างจากปี 2543 มีคนจน 20.98% แต่ 2549 เหลือ 9.55% (ปี 31 มี 42.21%) นี่คือช่วงสมัยรัฐบาลไทยรักไทยนั่นเอง แต่แม้ว่าตัวเลขคนยากจนใต้เส้นความยกจนจะลดลงเป็นลำดับ แต่สัดส่วนรายได้ประชากรหรือการกระจายรายได้ยังเลวแบบเดิม
10% คนจนสุดมีส่วนแบ่ง 1.56%
10% คนรวยสุดมีส่วนแบ่ง 39.21%
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์สังคมไทย วิเคราะห์ชนชั้น ก็ต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้ เพราะต้องศึกษาเปรียบเทียบเพื่อมองเห็นพัฒนาการของสังคมและประชากร
แน่นอน หลักฐานที่ผู้เขียนนำเสนอก็จะตอบได้ส่วนหนึ่งว่า คนยากจนจำนวนหนึ่งได้ถีบตัวจากใต้เส้นยากจนมาเป็นเกือบจนและเป็นคนชั้นกลาง
คนจนจากปี 2543 ถึง 2549 ต่างกัน = 20.98% - 9.55% = 11.43% ของประชากร
แต่ถ้านับจากปี 2531 ซึ่งมีคนจนถึง 42.21% (22.1 ล้านคน) มาถึงปี 2553 (22 ปี) คนเหล่านี้ได้พัฒนามาเป็นคนชั้นกลางได้ถึง (42.21% - 7.8%) 34.41% คิดเป็นจำนวนคนก็มากกว่า 15 ล้านคน หรือจะถือเป็นชนชั้นกลางใหม่แบบที่คุณเสกสรรค์พูดได้หรือไม่ ที่ผู้เขียนยกมาเพื่อให้หลักการมองประชากรอย่างมีพลวัตรและมีพื้นฐานสถิติ
ในทัศนะผู้เขียนถือว่ากำลังหลักของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือคนจน, คนเกือบจน และคนชั้นกลาง ส่วนคนรวยจริง 10% มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 39.21%/รายได้รวม รายได้รองลงมาอีก 10% เป็นเจ้าของรายได้ 15.10% (เกือบรวย) รวม 2 กลุ่ม = 54.31% (ปี 2554)
คน 20% มีรายได้คิดเป็นกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด
ดังนั้นกำลังการต่อสู้นั้นมีมวลชนพื้นฐานผนึกกับชนชั้นกลางได้รวมกันถึงกว่า 70% ขององค์ประกอบในสังคมได้เลย จะเรียกเป็นชนชั้นกลางใหม่อย่างเดียวในทัศนะผู้เขียนคิดว่ายังไม่ตรงความจริง แต่ได้รวมกันเป็นพลังผลักดันประชาธิปไตย น่าจะมีสัดส่วนเกือบถึง 80% ของประชากรทั้งหมด
คนจน 50% ทั้งใต้เส้นความยากจนและเหนือเส้นความยากจนเล็กน้อย โดยรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 5,000 บาท/คน/เดือน บวกคนชั้นกลางอีก 30% ที่รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 10,000 บาท/คน/เดือน ก็เป็นคน 80% ที่เป็นพลังประชาธิปไตย
เราต้องการคนทุกชนชั้น คนยากจนส่วนหนึ่งได้อาศัยนโยบายของรัฐบาลและพัฒนาการของสังคมพร้อมโอกาสใหม่ ๆ ถีบตัวขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย
แต่กำลังหลักเป็นแรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคเกษตรและแรงงานในเมือง 24.59 ล้านคน (ปี 2554) ในจำนวนนี้มีคนจนเมืองประมาณ 2.7 ล้านคน คิดเป็น 31.0% ของคนจนทั้งประเทศ คนเหล่านี้ไร้ความมั่นคงในอาชีพและสวัสดิการ ยังดีที่นโยบายชุดไทยรักไทยได้ช่วยเขาเหล่านั้นให้ได้สวัสดิการในยามเจ็บป่วยและแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง แรงงานนอกระบบเหล่านี้ส่วนมากอยู่ในภาคอิสานและภาคเหนือ
นี่จึงเป็นเหตุให้ความปรารถนาแรงกล้าของพวกเขาคือรัฐบาลที่เข้าใจปัญหาความยากจนและด้อยโอกาส พร้อมที่จะเคียงข้างเขาเพื่อปลดแอกความยากคน แรงงานนอกระบบเหล่านี้ทุกข์ยากกว่าแรงงานในระบบที่มีสวัสดิการ มีประกันสังคม และมีรายได้ที่มีหลักประกันค่าแรงรองรับ
นี่จึงจะเข้าใจได้ว่า ทำไมการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานนอกระบบในชนบทและในเมืองจึงจะเป็นพลังหลักของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้ได้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริง
โดยประสบการณ์ในฐานะที่เป็นแกนนำร่วมการต่อสู้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ผู้เขียนถือว่าพลังหลักของการต่อสู้คือมวลชนพื้นฐาน คนรากหญ้า ส่วนมากเป็นคนยากจนเกินกว่า 60% ของผู้ร่วมชุมนุม ชนชั้นกลางและปัญญาชนร่วมส่วนไม่เกิน 20% ที่เหลือมีทั้งแกนนำ ผู้สนับสนุน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้สื่อข่าว ฯลฯ และส่วนที่จำแนกไม่ได้
การที่พลังหลักอยู่ที่มวลชนพื้นฐาน คนรากหญ้า ทำให้ความอดทน การปักใจเด็ดเดี่ยวเพื่อต่อสู้ให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นจึงเป็นความเข้มแข็งของคนเสื้อแดง
นี่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์จากบางส่วนของปาฐกถาของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
No comments:
Post a Comment
เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ