นายกในดวงใจ

2013-10-26

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ทุนไทยหลัง 14 ตุลา


งานสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อภิปรายลักษณะการก่อตัวและสะสมของ "ทุนไทย" ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พร้อมเสนอข้อมูล "ทุนสำนักงานทรัพย์สินฯ" ผงาดช่วง 2520 และการขยายตัวของ "ทุนใหม่" และ "ทุนภูธร" หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 40
ทุนไทยหลัง 14 ตุลา
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกตัวก่อนนำเสนอว่าจะพูดถึงทุนในลักษณะทั่วไป ไม่พูดถึงกลุ่มทุนต่างชาติ เพราะอยากโฟกัสเฉพาะทุนไทยเท่านั้น
ธนาธรทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และชี้ว่ามีงานค่อนข้างเยอะมากที่พูดถึงทุนไทย อย่างคริส เบเคอร์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ซึ่งศึกษาครอบคุลมทุนนิยมศักดินา ส่วนใหญู่เป็นการใช้แว่นของเศรษฐกิจการเมืองในการมอง ปัญหาคือหลังปี 2530 เป็นต้นมา ไม่มีงานใหญ่ๆ ชิ้นไหนที่พูดถึงการเติบโตของทุนไทยเลย งานของผาสุกอาจจะมีพูดเรื่องการปรับตัวของทุนไทยหลังปี 2540 ส่วนงานหมุดหมายที่สำคัญคือของพอพันธ์ อุยยานนทน์ ที่ศึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
หลังป่าแตก และเกิดความเสื่อมถอยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นต้นมา ไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนเลยที่พูดเรื่องทุน และความสัมพันธ์เกี่ยวกับรัฐเลยในช่วง 2530-40 แม้แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยังหาไม่ค่อยจะได้ในสังคมไทย โดยเฉพาะในมุมมองเศรษฐศาสตร์การเมืองยิ่งไม่ค่อยจะมี
เขาอธิบายว่า กลุ่มทุนจีนที่มีก่อน 2475 มีอยู่สองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มเจ้าภาษีนายอากรที่เป็นคนจีน ที่ทำหน้าที่ช่วยเก็บภาษีตามหัวเมืองให้กับรัฐไทย และกลุ่มค้าข้าวหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเริ่มขึ้นมา โดยกลุ่มนี้ก็มีหน้าที่ลำเลียงทรัพยากรจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาให้พ่อค้าต่างประเทศที่กรุงเทพฯ แต่ต่อกลุ่มแรกตายไปเพราะรัฐไทยรวมศูนย์เข้าสู่กรุงเทพฯ และทำหน้าที่เก็บภาษีเอง


ลักษณะทุนไทย 2475-2500
มีความพยายามสร้างทุนนิยมหรือเศรษฐกิจสมัยใหม่โดยรัฐ ซึ่งคณะราษฎรมีนโยบายตั้งวิสาหกิจซึ่งป็นการลงทุนโดยรัฐ กลุ่มทุนไทยจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่แวดล้อมกับการส่งออก และเมื่อเกิดการส่งออก ก็เกิดธุรกิจประกันภัย ธุรกิจธนาคาร การเดินเรือ ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ค้าข้าวมาก่อน สังเกตว่ากลุ่มนายทุนที่เกิดขึ้นมานี้ไม่มีคนไทยเลย เป็นกระฎุมพีที่นำเข้ามา ไม่มีกระฎุมพีที่เติบโตภายในไทย
นอกจากนี้ยังมีการแย่งชิงฐานเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งกลุ่มคณะราษฎร กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ กลุ่มผิน-เผ่า กลุ่มซอยราชครู และเมื่อใครมีอำนาจก็จะยึดฐานเศรษฐกิจเสมอ อย่างปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อตั้งธนาคารเอเชียและให้คุณหลุย พนมยงค์ เป็นผู้บริหาร แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ ธนาคารก็ถูกยึด เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก อย่างกรณีของชิน โสภณพนิช (ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ) สนิทกับกลุ่มราชครูมาก เมื่อสนิทมากจึงหนีไปอยู่ฮ่องกงและเปิดสาขาต่างๆ ของธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งชินก็จะดึงบุญชู โรจนเกษียร (อดีตรองนายกฯ, รมต.กระทรวงการคลังช่วง 2520-30) มาเป็นประธานบริหารธนาคารกรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง และให้บุญชูประสานกับกลุ่มอำนาจใหม่คือจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งต่อมาทำให้เขาเดินทางกลับประเทศมาได้

ทุนไทยช่วง 2510-2516
ช่วงหลัง 2500 เป็นต้นมา เกิดองค์กรจัดการรัฐแบบสมัยใหม่ อย่างสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บีโอไอ สำนักงบประมาณ ซึ่งในช่วงนี้มีนโยบายที่สำคัญคือเน้นผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า นโยบายนี้ยกกำแพงภาษีขึ้นไป จากที่เคยต่ำมากในสมัยที่ทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง นายทุนที่เป็นนายทุนไทยช่วงนี้ทั้งหมด มีอาชีพเดิมเป็นนายทุนจีนที่เป็นพ่อค้ามาทั้งหมด ซึ่งเป็นพ่อค้านำเข้า อย่างถาวร พรประภา นำเข้ารถนิสสัน ทำอู่ซ่อมรถนิสสัน และต่อมาได้ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์นิสสัน หรืออย่างวิริยประไพกิจ สหวิริยะ คือผู้นำเข้าเหล็ก โรงงานเหล็ก หรืออย่างสหยูเนี่ยน สหพัฒน์ ก็เป็นผู้นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค คือคนพวกนี้เป็นพ่อค้ามาก่อน และด้วยนโยบายส่งเสริมการผลิตทดแทนการนำเข้าของรัฐ พ่อค้าเหล่านี้จึงเปลี่ยนตัวเองมาเป็นนายทุนอุตสาหกรรม
ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของทุนไทยในช่วงนี้ คือการสวามิภักดิ์ต่ออำนาจรัฐของนายทุนจีน ข้อสังเกต คือ สิ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐและนายทุนจีนจูบปากกันได้ เพราะตอนแรกคนจีนถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมืองมาก เมื่อไม่มีความทะเยอทยานทางการเมือง รัฐหรือนายทหารที่ครองอำนาจจึงให้โอกาสคนพวกนี้ในดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจ เพราะรู้ว่าคนพวกนี้ไม่น่ามาแย่งชิงอำนาจกลุ่มทหารในช่วงนี้ เพราะสังคมไทยไม่ได้เปิดกว้างกับคนจีนพวกนี้ และในช่วงนี้ ทุกธนาคารก็ต้องให้ทุนกับจอมพลประภาส จารุเสถียร นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น

14 ตุลา 2516- พ.ค. 2540
สิ่งที่ชัดเจนมากในช่วงนี้ คือการที่นายทุนธนาคารมีความเหนือกว่าทุนอุตสาหกรรม มีการปกป้องการสะสมทุนในประเทศ ในขณะเดียวกัน เกิดการยอมรับนายทุนจีนในสังคมไทยมากขึ้น ในช่วงนี้มีลักษณะที่สำคัญคือ มีการปกป้องการสะสมทุนอยู่ห้าประการ คือ หนึ่ง การประมูลธุรกิจจากรัฐในราคาถูก คือก่อนปี 2500 รัฐตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเอง ดังนั้นที่ตั้งขึ้นมาต้องขายออกไปในช่วงจอมพลสฤษดิ์เมื่อมีการเปลี่ยนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐจะไม่ลงมาเป็นผู้เล่นเอง และทำให้เกิดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มีการให้สัมปทาน การตั้งภาษีนำเข้าสูง ปกป้องการแข่งขันจากธุรกิจต่างชาติอย่างการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กรณีธนาคารก็มีพ.ร.บ.ธนาคารพานิชย์ไทยพ.ศ. 2505
ยกตัวอย่างกรณีของเจ้าพ่อสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ สุกรี โพธิรัตนังกูร ที่เป็นเจ้าของกลุ่มทุน TBI หรือ Thai Blanket Industry สุกรีได้ร่วมทุนกับลูกเขยของจอมพลถนอม และซื้อโรงงานทอผ้าต่อจากรัฐไปผลิตผ้าห่มแจกให้กองทัพบก และเมื่อสะสมทุนได้เยอะก็ไปร่วมกับทุนญี่ปุ่นกลายเป็นไทย เมล่อน โปลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นอาณาจักรสิ่งทอที่ใหญ่มากก่อนวิกฤติปี 40
อีกกรณีหนึ่งเช่นกรณีของช่องเจ็ด เรวดี เทียนประภาส น้องสะใภ้ของจอมพลประภาส  เป็นผู้เริ่มธุรกิจนี้ แต่ปัจจุบัน สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ได้ร่วมทุนกับกฤตย์ รัตนรักษ์ กฤตย์เป็นนายทุนที่มีความสัมพันธ์กับจอมพลประภาสสูงมาก ท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร ภรรยาของจอมพลประภาส ก็ยังเป็นผู้ร่วมทุนในช่องเจ็ดด้วย และบริษัทนี้ก็ผูกขาดช่องเจ็ดมาตั้งแต่นั้น เช่นเดียวกับช่องสาม ช่องเจ็ดเป็นธุรกิจที่เริ่มออกดอกผลที่ออกมาในช่วงหลังๆ นี้ เนื่องจากไม่ต้องประมูลสัญญาหรืออะไรทั้งสิ้น เป็นสัมปทานกึ่งผูกขาด
ลักษณะอีกอย่างของทุนไทยในช่วงนี้คือเรื่องความเป็นจีน โดยก่อนหน้านี้จะรวมตัวกันผ่านสมาคมคนจีน เพื่อการได้ข้อมูลข่าวสาร ช่วยเหลือกันในเรื่องต่างๆ เนื่องจากในยุคนั้นคนจีนถูกมองว่าเปนยิวในสังคมไทย น่ารังเกียจ และคนจีนไม่มีทุนหรือความรู้ ทรัพยากรมากพอในการรวมกลุ่มกัน อย่างกลุ่มไทยฮั้ว นี่คือการรวมกลุ่มกันของทุนจีน
ซึ่งช่วง 2520-2530 เกิดการยอมรับในกลุ่มทุนจีนในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ใหม่ เป็นช่วงที่นายทุนไทยเลิกเป็นจีน เป็นคนไทยที่เป็นเชื้อสายจีน ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ไทยมากกว่า
ในช่วงนี้ เกิดการกลืนกันระหว่างกลุ่มทุน ในขณะที่สมัยก่อนเป็นการร่วมทุนกันระหว่างคนจีนหลายๆ ตระกูล มันก็จะเกิดทุนตระกูลที่เด่นๆ ขึ้นมา อย่างเตชะไพบูลกับธนาคารศรีนคร หรือล่ำซ่ำกับธนาคารกสิกรไทย 

2540- ปัจจุบัน
ทุนที่เกิดขึ้นมาในยุค 2516-2540 จะล่มสลายไปในช่วงนี้เกือบหมด ไม่ว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์ ศรีเฟื่องฟุ้ง เลี่ยวไพรัตน์ และปิ่น จักกะพาก ลองนึกดูว่าก่อนเกิดวิกฤตินั้นมีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน เมื่อเทียบกับที่ปูนซีเมนต์ไทยทุกวันนี้มีทรัพย์สินเป็นแสนล้าน ทั้งๆ ที่ปิ่น จักกะพากสร้างจากที่ไม่มีอะไรเลย นั่นแสดงให้เห็นว่าเกิดฟองสบู่จำนวนมหาศาล กลุ่มทุนเหล่านี้เกิดการล้มละลายเนื่องจากไปกู้เงินในตระกูลดอลลาร์สหรัฐมาก เมื่อเกิดการลอยตัว ทั้งต้นทุนและดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงมาก
แนวโน้มอีกอันที่สำคัญคือการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นอันเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หลังปีนี้จนถึงปัจจุบัน มองว่าเกิดนายทุนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นเยอะมาก เช่น สยาม โกลบอล เฮ้าส์ ซึ่งการเกิดขึ้นของนายทุนรุ่นใหม่ๆ นี้ไม่ได้อิงอำนาจรัฐในการสะสมทุน คิดว่าเป็นกลุ่มแรกๆ ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างคุณวิทูร สุริยวนากุล เจ้าของสยามโกลบอล ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำแห่งแรกที่มีสำนักงานที่แรกในต่างจังหวัด เป็นนายทุนกลุ่มแรกที่มาจากภูธร ซึ่งกลายมาเป็นนายทุนแถวหน้าของไทย ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ที่ใหม่มาก คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จากพฤกษาเรียลเอสเตท คนพวกนี้ขี่คลื่นคนชั้นกลางขึ้นมา และอาจเกิดขึ้นไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นายทุนใหม่ๆ พวกนี้เกิดขึ้นขณะที่นายทุนเก่าที่มีอำนาจทางการเมืองกำลังเลียแผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ กลุ่มทุนหลายๆ กลุ่มก็มีการปรับตัว พัฒนาตัวเองด้วยการนำการบริหารจัดการใหม่มาใช้และกลายเป็นกลุ่มทุนที่ก้าวหน้า อย่างไทยยูเนียนโฟรเซ่น ก็ไปซื้อกลุ่มธุรกิจเอ็มดับเบิลยูแบรนด์ในยุโรป ซึ่งกลายเป็นผู้ผลิตทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือย่างไทยเบฟฯ ไปซื้อ F&N ด้วยมูลค่าสามแสนกว่าล้านบาท
สิ่งที่เห็นของพวกทุนที่ล้มไป เพราะเกิดอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องแข่งขันในประเทศไทย จึงไม่ต้องปรับตัวให้ตัวเองมีประสิทธิภาพ อย่างธนาคารต่างๆ ที่เริ่มแข่งจริงๆ ก็เมื่อสี่ศูนย์เป็นต้นมา มีการปรับตัว ปรับระบบบัญชีให้เข้ากับมาตรฐานสากลมากขึ้น มีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์
อีกอย่างที่สำคัญคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างเช่นในปี 2553 มีงบกระจายไป 3.3 แสนล้านบาท เป็นงบที่อบต. และอบจ. ได้บริหารเงินเหล่านี้ เริ่มเก็บภาษีโดยตรงได้ด้วยตนเอง รวมถึงสาธารณสุขต่างๆ ก็ถูกส่งกลับมาให้อบต. อบจ. เหล่านี้บริหาร นี่เป็นการส่งผ่านความรู้ ทักษะ การจัดสรรงบประมาณ การจัดจ้าง การลงทุน จากที่เคยอยู่ศูนย์กลางก็กระจายออกไปสู่ท้องถิ่นในช่วงนี้ พอโยกมา ทำให้ทักษะบริหารจัดการในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นมาก

เครือข่ายนักบริหารของสนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ลงทุนหลักๆ ในธนาคารไทยพานิชย์ และปูนซีเมนต์ไทย  แต่ช่วงที่สำนักงานทรัพย์สินแอคทีฟจริงๆ คือช่วงที่เปรมขึ้นมามีอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีและทำให้สนง.ทรัพย์สินมีบทบาททางเศรษฐกิจจริงๆ โดยมีคนอย่าง เสนาะ อูนางกูล รองนายกรัฐมนตรีปี 2534-35 ปัจจุบันเป็นกรรมการปูนซีเมนต์ไทย กรรมการสนง.ทรัพย์สินฯ กลุ่มทุนลดาวัลย์ พนัส สิมะเสถียร เป็นปลัดรัฐมนตรีการคลังปี 2525-35  รัฐมนตรีกระทรวงการคลังปี 2535 ปัจจุบันเป็นกรรมการกลุ่มสยามพิวัฒน์ ปูนซีเมนต์ สหยูเนี่ยน ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งหมดนี้อยู่ในสมัยอดีตนายกฯ เปรมทั้งนั้น ซึ่งต่อมาทำงานให้กับเศรษฐกิจของสนง.ทรัพย์สินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ไทย สนง.ทรัพย์สิน หลายครั้งๆ ถูกส่งไปบริหารบริษัทที่สนง.ทรัพย์สินถือหุ้นหรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้น คนเหล่านี้เป็นคนทำให้สนง. ทรัพย์สินแอคทีฟ ซึ่งก่อน 2516 ยังไม่แอคทีฟมากขนาดนี้ เริ่มมาแอคทีฟช่วงปี 2530-40 และหากไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนพวกนี้ก็อาจจะเกิดมาไม่ได้
ธนาธรอธิบายต่อว่า เมื่อมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ กลุ่มทุนเหล่านี้จะใช้อำนาจรัฐดึงโอกาสนั้นเข้ากับตัวเองตลอด อย่างกรณีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในช่วงปี 2520 ไทยค้นพบก๊าซในอ่าวไทย แต่สิ่งที่ทำคือมีการจัดตั้งสร้างบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ รวมทุนกับทุนทีพีไอ ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กลุ่มสยามซีเมนต์ แต่สยามซีเมนต์ในตอนนั้นไม่มีความรู้อะไรเรื่องปิโตรเคมีเลย แต่ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อให้อยู่ในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ กลุ่มฮั้วกี่ คือกลุ่มธนาคารกรุงศรี ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มเหล่านี้คือกลุ่มของยศ เอื้อชูเกียรติ และหากเราไปเปิดดูชื่อของยศ เอื้อชูเกียรติ จะเห็นว่าอยู่ทุกที่ของสนง.ทรัพย์สินในการบริหารจัดการด้านธุรกิจ เพิ่มเติมเล็กน้อยคือว่า ตอนหลังยศได้ขายธุรกิจกลุ่มนี้ให้สยามซีเมนต์ไป ซึ่งตอนนี้เป็นพีทีทีอีซี โกลบอล เคมิคอล และเมื่อขายไป ตัวเขาเองก็ไปเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินและทำงานให้กับวังตั้งแต่นั้นมา
จะเห็นว่า เมื่อเกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โอกาสเหล่านี้จะถูกส่งไปให้อยู่ไปในมือเพียงไม่กี่คนตลอด ผ่านเส้นสายทางธนาคารที่กุมเอาไว้
อย่างกรณีการเกิดขึ้นของไทยเบฟฯ ก่อนปี 2520 เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของไทยเบฟฯ เป็น "โนบอดี้"  โดยก่อนหน้านั้นมีการผูกขาดธุรกิจเหล้าอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มเตชะไพบูลย์ และกลุ่มคุณเจริญ ซึ่งในช่วงนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นมากที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของเจริญ เหตุผลหนึ่งคือเจริญได้ดึงน้องชายของอาสา สารสิน ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอดีตรองนายกฯ สมัยพลเอกเปรม คือ พงส์ สารสินเข้ามาบริหาร และจะเห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สองศูนย์เป็นต้นมา และต่อมาได้บังคับให้สองธุรกิจควบรวมกัน คือเอาโรงสุราทั้งหมดทั่วประเทศมารวมกันให้กับเจริญ ซึ่งผูกขาดธุรกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทำให้เขาเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเป็นแสนล้านภายในเวลาเพียง 20 ปี
กรณีของบริษัทบ้านบึงเวชกิจ มีผู้ถือทรัพย์สินที่สำคัญทั้งหมดสี่คน ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถ เจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี นี่เป็นอีกตัวอย่างของลักษณะการรวมตัวของทุนที่ว่ามา
อย่างเรื่องอสังหาริมทรัพย์ กรณีบริษัทแลนด์แอนเฮาส์ ได้ร่วมทุนกับสนง. ทรัพย์สินตั้งกลุ่มทุนสยามพานิชย์พัฒนา ซึ่งเกิดโครงการขึ้นมามากมาย และเมื่อปี 2540 บริษัทสยามสิ่งทอได้รับการแฮร์คัท 3,400 ล้านบาท  และหากจำกันได้เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว มีข่าวเรื่องหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.4 ล้านล้าน มีคำถามว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องระลึกว่ากองทุนฟื้นฟูก้อนนั้นเป็นหนี้ส่วนหนึ่งที่เอามาอุ้มบริษัทที่ล้มไปในช่วงนี้ ค่าแฮร์คัตเหล่านี้ ไม่มีใครเปิดเผยว่าเอาไปโอบอุ้มที่ไหนกันแน่ ทั้งๆ ที่เงินเหล่านี้ก็มาจากเงินภาษีของประชาชน
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือบริษัทอย่างไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็มีการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นหน้าใหม่ๆ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินก็มักจะส่งคุณหญิงชฎาลงไปนั่งเป็นกรรมการ นอกจากนี้ก็ยังมีพงส์ สารสิน ทุนลดาวัลย์ ที่เข้ามานั่งอยู่ด้วย จะเห็นเครือข่ายแบบนี้เยอะแยะมหาศาลที่มีลักษณะการถือหุ้นแบบนี้อยู่ หรืออย่างสยามพิวรรธน์ ประธานกรรมการคือ พนัส สิมะเสถียร ชฎา วัฒนศิริธรรม

ลักษณะการสะสมทุนในไทย
ธนาธรสรุปการนำเสนอว่า สนง.ทรัพย์สินฯ เพิ่งมาแอคทีฟในช่วงทศวรรษ 2520-30 ก่อนหน้านั้นก็มีการลงทุนอยู่บ้างแต่อยู่สถานะ passive กว่า  แต่ที่แอคทีฟต่อเศรษฐกิจไทยและส่งผลต่อการพัฒนาทุนนิยมไทย คือ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ผ่านเทคโนแครตแถวหน้าที่ทำงานให้กับรัฐบาลเปรมในช่วงนั้น และดำเนินการทางธุรกิจเป็นช่องทางแบบปิดต่อกลุ่มทุนอื่นในการเติบโต สุดท้าย เมื่อเราใช้คำว่าธุรกิจการเมือง ทุนสามานย์ นักเลือกตั้ง แต่เรื่องพวกนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงเลย แทบจะหายไปในสังคมไทย และพึ่งมาจุดประกายใหม่เมื่องานของพอพันธ์เริ่มศึกษา สิ่งที่สำคัญที่สุด นอกจากเรื่องทุนแล้ว ยังมีเครื่องมือทางวัฒนธรรม ตราครุฑ เครื่องราชย์ และกลุ่มที่บอกว่าตัวเองเป็นลิเบอรัลอย่างทีดีอาร์ไอ ต้องการการแข่งขันเสรี แต่มันมีที่สิ้นสุดคือไม่เคยแตะเรื่องนี้เลย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของการหาโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกรูปแบบหนึ่งในสังคมไทยที่ไม่เคยถูกเปิดเผยเลย

หมายเหตุ
การสัมมนา "หลัง 14 ตุลา" จัดโดย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์
ในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2556 ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

No comments:

Post a Comment

เชิญแชร์ความคิดเห็นที่นี่ค่ะ